การสัมมนาวิชาการว่าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3G ครั้งที่ 3 ขึ้นในหัวข้อ "การศึกษาทางไกล และการศึกษาผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ" (Tele-education and Mobile education)


การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3G

กล่าวถึง เทคโนโลยี 3G มาแล้ว การบริหารเทคโนโลยี สารสนเทศก็แล้ว นวัตกรรมใหม่ ๆ ในสมัยนี้ ก็ควรพัฒนาตาม จึงอยากนำเสนอการสัมมนาของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เกี่ยวกับการนำ 3G  มาใช้กับการศึกษา ลองอ่านดูนะคะ

เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทางไกล และการศึกษาผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่

 

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดการสัมมนาวิชาการว่าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3G ครั้งที่ 3 ขึ้นในหัวข้อ "การศึกษาทางไกล และการศึกษาผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ" (Tele-education and Mobile education)

เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ เพิ่มการรับรู้ในด้านศักยภาพและข้อจำกัดของเทคโนโลยีในอันที่จะก่อให้เกิดแนวคิดและทางเลือกที่ดีที่จำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3G สำหรับการศึกษาทางไกล เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนก่อให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการศึกษาต่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการศึกษาของชาติให้มีความหลากหลายทั้งในรูปแบบการเรียนการสอนโดยไม่จำกัดวิธีการ สถานที่ ตลอดจนช่วงเวลาในการเข้าถึงการเรียนการสอนอีกด้วย
          เพื่อการให้ระบบการเรียนการสอนทางไกลเป็นไปได้และประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สมดุลกันหลายๆ ด้านทั้งทางด้านเทคโนโลยี ระบบโครงข่าย วัสดุอุปกรณ์ทั้งต้นทางและปลายทาง การประสานงานระหว่างหน่วยงาน เรื่อยไปจนถึงบุคลากรและเนื้อหาในรูปแบบที่เหมาะสมกับการศึกษาในระบบทางไกลที่สอดคล้องกับสภาวะของประเทศ
          ในการสัมมนาครั้งนี้มีการนำเสนอเทคโนโลยีเหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นสื่อในการศึกษาทางไกลและการศึกษาผ่านระบบโทรศัพท์มือถือหลายรูปแบบ จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะนำเสนอข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทางไกลซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปเช่น การใช้ดาวเทียมเป็นสื่อในการเรียนการสอนทางไกลแล้วยังมีการนำเสนอข้อมูลและตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการนี้ เช่นการใช้เทคโนโลยีไวแมกซ์ (WIMAX) และเทคโนโลยี 3G รวมถึงการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนำร่องเพื่อการประยุกต์ใช้โครงข่ายยุคใหม่ (Next Generation Network-NGN) ที่เป็นการผสมผสานเอาเครือข่ายหลายรูปแบบมาประยุกต์ใช้งานร่วมกันเพื่อลดจุดบอด และเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันในการศึกษาทางไกลและการศึกษาผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของ กทช.เองอีกด้วย
          เทคโนโลยี 3G นั้นเหมาะสมสำหรับการนำมาพัฒนาประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษาทางไกล เนื่องจากอุปกรณ์การสื่อสารมีแพร่หลายตัวเทคโนโลยีสามารถนำเสนอบริการมัลติมีเดียแบบเคลื่อนที่ได้หลากหลายมาก เนื่องจากสามารถส่งผ่านข้อมูลได้ที่ระดับความเร็วมากกว่า 144 kbps ในทุกสภาวะ 384 kpbs ในสภาวะเคลื่อนที่และสูงถึง 2Mbps ในสภาวะกึ่งเคลื่อนที่ มีผู้ให้บริการด้านเครื่อข่ายและอุปกรณ์อยู่แล้วเป็นจำนวนมาก และมีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งแม่ข่ายและลูกข่ายอยู่ตัวแล้วในเวลานี้ มีความต้องการในเชิงการตลาดอยู่ในตัวสูงทำให้โอกาสในการดำเนินงานมีความเป็นไปได้สูงตามไปด้วยเนื่องจากมีความคุ้มค่าในเชิงการตลาด ทำให้มีผู้ต้องการเข้าร่วมในโครงการสูง
          อย่างไรก็ตามการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3G สำหรับการศึกษาทางไกลยังคงมีข้อจำกัดสำคัญอยู่บางประการนอกเหนือจากข้อเท็จจริงของการมีแบนด์วิธจำกัดตามธรรมชาติของเทคโนโลยีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการลงทุนเพื่อขยายโครงข่ายต่อเนื่องในพื้นที่ชนบทห่างไกล ซึ่งนอกจากจะจำเป็นต้องลงทุนมากเพื่อการติดตั้งโครงข่ายแล้ว การปรับปรุงโครงข่ายให้ทันสมัยเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ก็เป็นการการลงทุนมูลค่าหมาศาลตามไปด้วย นอกจากนั้น อุปกรณ์สำหรับผู้ใช้บริการปลายทางที่เป็นโทรศัพท์มือถือยังมีข้อจำกัดทำให้ต้องดัดแปลงรูปแบบและเนื้อหาในการเรียนการสอนทางไกลให้เหมาะสมกับการนำเสนอผ่านโทรศัพท์มือถืออีกด้วย
          เทคโนโลยีไวแมกซ์ (WIMAX) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีการปรับปรุงพัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้กันแล้วมากถึง 145 ประเทศจน กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานเดียว (United Standard) ทั่วโลกแล้วในเวลานี้ ในโครงการทดลองเพื่อประยุกต์ใช้ไวแมกซ์ ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) พบว่า จุดแข็งของไวแมกซ์ก็คือความสามารถในการครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ สามารถติดตั้งโครงข่ายได้ง่ายและยืดหยุ่นได้มากกว่า รวมถึงต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าเทคโนโลยี 3G และไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตใช้คลื่นความถี่ใหม่ เนื่องจากสามารถใช้คลื่นความถี่เดิมที่มีอยู่แล้วได้จุดอ่อนโดยธรรมชาติของเทคโนโลยีไวแมกซ์ ก็คือการที่เทคโนโลยีและเทคนิคต่างๆ ยังไม่นิ่งมีโอกาสผันแปรสูง มีสภาวะแวดล้อมในการจัดการโครงข่ายที่ซับซ้อนกว่า และการที่ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ อาจทำให้เกิดปัญหาการรบกวนซึ่งกันและกันของคลื่นความถี่ได้สูงมาก แต่ข้อด้อยที่สำคัญที่สุดเห็นจะได้แก่การขาดเสถียรภาพของโครงข่าย โดยเฉพาะเมื่อจำเป็นต้องสื่อสารในระยะทางไกล
          กทช.มองเห็นศักยภาพและจุดอ่อนของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้จึงริเริ่มให้มีการผสมผสานเครือข่ายเพื่อการศึกษาทางไกลหลายเทคโนโลยีเข้าด้วยกันเพื่อศึกษาและประเมินผลการปรับเปลี่ยนจากโครงข่ายดั้งเดิมเป็นโครงข่ายไอพี โดยมอบหมายให้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินโครงการทดลองขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งนอกจากจะมีการทดสอบเชิงวิศวกรรมของการผสมผสานระหว่างโครงข่ายไวไฟ (WIFI) ไวแมกซ์ (WIMAX) และ CDMA 1XVDO กับ EDGE เข้าด้วยกันเพื่อทดสอบ ROAMING อินเทอร์เน็ต, FTP, VDO chat และ VoIP ว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดแล้ว ยังมีการทดสอบการประยุกต์ใช้โครงข่าย NGN ทั้งที่เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อประเมินการใช้บริการของนักเรียนในจังหวัดภูเก็ตศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโครงข่ายเดียวกัน การจัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ทำความเข้าใจโครงการและการจัดทำสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีโทรคมนาคมอีกด้วย
          โครงการทดสอบและประเมินผลการปรับเปลี่ยนโครงข่ายเป็นโครงข่ายไอพีที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากจะทำให้เกิดป้องเรียนเสมือนขึ้นเป็นครั้งแรกของไทยแล้วยังก่อให้เกิดมิติใหม่ทางด้านการศึกษาผ่านเนื้อหาที่เป็นมัลติมีเดีย มีการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยการใช้เทคนิคกระบวนการกลุ่มปฏิสัมพันธุ์ การเรียนรู้แบบ Interactive และการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาขึ้นระหว่างสถานศึกษาในลักษณะของเครือข่ายกัลยาณมิตร เพื่อการใช้ทรัพยากรร่วมกันและเชื่อมโยงการถ่ายโอนองค์ความรู้สู่องค์กร ชุมชนและท้องถิ่นได้อีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษาทางไกล และการศึกษาทางไกลผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในอนาคต
          นอกจากผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับรู้ถึงศักยภาพและข้อจำกัดเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว ยังเรียนรู้การประยุกต์ใช้การสื่อสารผ่านดาวเทียม เพื่อลดต้นทุนการสร้างโครงข่ายเพื่อการเรียน การสอนทางไกลในชนบท หรือการใช้การสื่อสารผ่านดาวเทียม WINDS เพื่อสร้างเครือข่ายการศึกษาชั้นสูงทางไกลข้ามประเทศระหว่างไทย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์
          นอกจากนั้นยังมีผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องในโครงการเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทางไกล นำเสนอโครงการตัวอบ่างเพื่อให้ข้อมูล และเป็นแบบอย่างในการขยายการศึกษาและเพิ่มศักยภาพของคนในชาติอีกหลายโครงการที่น่าสนใจอาทิ การเรียนรู้ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือของบริษัทโดโคโมะ ในประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการเรียนการสนทนาภาษาอังกฤษ การใช้โทรศัพท์มถือถือเพื่อการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตา การเรียนรู้โดยใช้ภาพวิดีโอ การบรรยายทางวิชาการการฝึกอบรมการจัดทำเว็บไซต์ ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
          กรณีศึกษาในต่างประเทศที่น่าสนใจ ยังมีตัวอย่างการใช้กรามีนโฟนเพื่อจัดทำศูนย์ข้อมูลข่าวสารชุมชน (CIC) ของบริษัทเทเลนอร์ในบังกลาเทศ ที่ก่อให้เกิดศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนในชนบท เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ พัฒนาการประกอบอาชีพและการจ้างงานถือเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่น่าสนใจอีกโครงการ
          สำหรับในประเทศไทยมีกรณีศึกษาเป็นต้นแบบเพื่อให้ศึกษาถึงประโยชน์ และจุดอ่อนต่างๆ สำหรับนำไปปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนทางไกลมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของสำนักงาน กทช.ที่ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่นอกจากจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสู่โรงเรียนมัธยมในพื้นที่ชนบท และพัฒนาเครือข่ายครูแล้ว ยังใช้ในการปรับปรุงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียน และองค์กรต่างๆ ในชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายอีกด้วย
          นอกจากนั้นยังมีโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคามของสำนักงาน กทช.โครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมและโครงการนำร่องด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศเพื่อการศึกษาในโรงเรียนสายสามัญระดับมัธยมศึกษาในเขต กทม.และปริมาณ ซึ่งกทช.ร่วมมือกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจัดทำขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของนักเรียน นักศึกษาแล้วยังมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงระบบการศึกษาเข้ากับเครือข่ายเพื่อสังคมชั้นนำของโลกอีกด้วย
          เหล่านี้ล้วนเป็นเจตนารมณ์ของ กทช.ในอันที่จะนำเอาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งหลายมาประยุกต์ใช้เพื่อผลประโยชน์ในการยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคมไทยนั่นเอง

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 19 ส.ค. 2552

หมายเลขบันทึก: 337381เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณบันทึกดีๆที่แบ่งปันค่ะ

ครูกระเเต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท