สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูปเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม


สปกช.เป็นองค์กรที่มีลักษณะพิเศษ

ห่างหายจากการบันทึกนานเหมือนกัน ได้รับภารกิจจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้ไปช่วยงานสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม    (สปกช.) ตามคำสั่งกรมฯที่ 956/2552 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2552 เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป โดยถือว่าเป็นอีกภารกิจหนึ่ง

สปกช.เป็นใคร  เป็นองค์กรที่มีลักษณะพิเศษ จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

สปกช.มีหน้าที่อะไร ทำหน้าที่ศึกษาสถานการณ์ แสวงหาแนวทางแก้ไขและเสนอแนะนโยบาย กฎหมายที่เหมาะสม

และเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 มีการเปิดตัว สปกช.แก่สาธารณชนโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ ประเทศต้องปฏิรูปอย่างไรเพื่อเกษตรกรไทยพ้นวิกฤต” ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร มีเจ้าภาพร่วมคือคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนประมาณ 300 คนจากเครือข่ายเกษตรกร นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชนและผู้สนใจ เริ่มจากคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์กล่าวเปิดการประชุมว่าเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2552 คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติได้เห็นชอบในการตั้งสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม(สปกช.)และขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและทำงานเชิงยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกับเกษตรกรและภาคีทั้งหลาย

การปาฐกถาพิเศษเรื่องการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรโดยศาสตราจารย์ น.พ. ประเวศ วะสี กล่าวว่าความยั่งยืนของสังคมเกษตรกร คือความยั่งยืนของสังคมทั้งหมดเป็นคำกล่าวที่นอร์มัน อัพฮอฟ ประกาศไว้ ถือเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพราะการเกษตรเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทำให้เกิดความยั่งยืนของสังคม มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยเราที่สามารถผลิตอาหารเหลือกิน แม้จะยกเลิกระบบเงินตราทั้งหมดเราก็อยู่ได้ตามคำกล่าวของ ม.จ.สิทธิพร กฤษดากรกล่าวไว้  “ เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” ในมุมมองชีวิตของเกษตรกร ต้องทำให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรอยู่รอดต้องมีการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง ชุมชนคือภาคประชาชน องค์กรท้องถิ่นคือภาครัฐ องค์กรท้องถิ่นต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปหนุนชุมชนเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยต่อหนึ่งจังหวัด ทุกชุมชนต้องทำเพื่อบริโภคเองหรือเรียกว่า Production for Consumption ทำให้เกิดเกษตรยั่งยืนคือเน้นการผลิตเพื่อบริโภค ที่เหลือจึงขาย ควรมีการวิจัยว่าในที่ดิน 1 ไร่จะทำอะไรจึงจะเพียงพอสำหรับ 1 ครอบครัว เวลาที่เหลือจากการทำการเกษตรสามารถไปทำอาชีพอื่นได้ เกษตรกรต้องรวมตัวกันเองสามารถต่อรองนโยบาย มีข้อมูลข่าวสาร มีการสังเคราะห์ประเด็นนโยบายสู่การปฏิบัติและสู่ระดับชาติ ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากองค์กรไตรภาคี รัฐ  วิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน โดยมีกองทุนเก็บจากสินค้าที่จำหน่ายต่างประเทศและมีความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจชุมชน ผู้บริโภคในเมืองและเศรษฐกิจมหภาคให้เกื้อกูลกัน โดยท่านได้กล่าวถึงภารกิจของ สปกช.คือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งหมด สร้างสัมมาทิฐิ ความยั่งยืนของเกษตรกรคือความยั่งยืนของคนทั้งหมด จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม

 

การเสวนาโต๊ะกลมเรื่องแนวทางการรับมือกับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่มีต่อเกษตรกรไทย โดยมีนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

เริ่มจากนายภาวิญญ์ เถลิงศรี ผู้อำนวยการส่วนเจรจาสินค้าเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าไม่มีการค้าเสรีอย่างที่พูดกัน ทุกประเทศก็มีมาตรการขจองตนเองทั้งนั้น สำหรับไทยเองเราก็มีหลายมาตรการที่ยังไม่สามารถยกเลิกได้ เราต้องเอาเกษตรกรเป็นตัวตั้งและคนในท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญมากที่สุด สินค้าเกษตรหลายตัวเราต้องมีมาตรการควบคุมต่ออีกระยะหนึ่งเช่น กาแฟ น้ำมันปาล์มน้ำมัน  ชา ข้าว ส่วนนายนิกร จำนง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในเขตการค้าเสรีเรายังไม่ทราบว่าเราได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เรายังไม่รู้ว่าปัญหาเราคืออะไร และยังขาดเอกภาพในการดำเนินการ จากการประเมินพบว่าสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมดได้เปรียบ ส่วนภาคเกษตรโดยรวมไม่เสียเปรียบแต่มีบางกลุ่มบางตัวได้รับผลกระทบเช่นกลุ่มแรกมีผลกระทบรุนแรงที่สุดคือข้าวส่งผลต่อเกษตรกร 3.7 ล้านครัวเรือนในเนื้อที่ 64 ล้านไร่ ไหมดิบ ปาล์มน้ำมัน และเมล็ดกาแฟ ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลางได้แก่ มะพร้าว กลุ่มกระทบน้อยคือน้ำนมดิบ น้ำมันมะพร้าวและกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบและได้ผลเป็นบวกคือลำไยแห้ง กากถั่วเหลือง ฯลฯ นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่าเกษตรกรรมยั่งยืนไม่ขยายผลไปมาก จึงต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์และรัฐบาลเข้ามาช่วยจึงจะสามารถขยายผลได้ และ เสนอมาตรการคือการยกเลิกการโฆษณาสารเคมีและการเก็บภาษีสารเคมีจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น 

นายวัลลภ พิชญ์พงศา นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กล่าวว่ายังไม่ชัดเจนว่าไทยจะได้ประโยชน์จากAFTA จริงหรือไม่  เสนอให้ไทยและเกษตรกรมีการมองผลกระทบระยะยาวและต้องเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูลไว้ก่อน รวมทั้งต้องคิดล่วงหน้าไว้ด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซุกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่ามาตรการรองรับการเจรจาการค้าเสรีมี 2 ส่วนคือมาตรการรองรับที่เขตแดน และมาตรการภายในประเทศ  มาตรการแรกทำได้อย่างรอบคอบโดยกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมาแต่น่าเสียดายที่มาตรการภายในประเทศไม่เตรียมการเท่าที่ควร สินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์คือสินค้าที่ต้นทุนสูงกว่าเพื่อนบ้าน ต้องเตรียมรับมือโดยการลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนการตลาดและทำข้อมูลคุณภาพ ควรมีการทบทวนผลด้านลบของนโยบายบางเรื่องเช่นมาตรการประกันรายได้และประกันราคา รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการขาดทุนการผลิตให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น

ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายกลุ่มซึ่งจะได้เล่าสู่กันฟังต่อไปคะ

ธุวนันท์ พานิชโยทัย

18 ก.พ.53

หมายเลขบันทึก: 337634เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2010 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 07:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ ผอ.ธุวนันท์

  • นำประสบการณ์ ยาวนาน จากกรมส่งเสริมการเกษตร ไปใช้กับงานใหม่ๆ ท้าทายดีครับ
  • อยู่ตรงไหนก็ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ครับ
  • ถ้าผ่านมาทาง สุราษฎร์ ส่งข่าวด้วยนะครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • คิดถึงอาจาย์อยู่เสมอมา
  • ขอบคุณที่นำความรู้ดีๆมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง
  • ขอให้มีความสุขกับงานที่ทำนะครับ

คุณเขียวมรกต

ขอบคุณมากคะ คงได้ร่วมงานกันอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท