เรียนรู้สาระพื้นฐานความสำคัญของสื่อการเรียนรู้


สื่อการศึกษา

สื่อการสอน

                   สื่อการสอนจัดเป็นเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  เพื่อสร้างความเข้าใจ  ความรู้สึก  เพิ่มพูนทักษะ  และรวมทั้งตกผลึกกระบวนการคิดแบบย้อนกลับ  จากประสบการณ์หรือสถานการณ์การเรียนรู้ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดผลเชิงพัฒนาด้านความคิด  ที่นำสู่การส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  และค่านิยมแก่ผู้เรียน  อาจกล่าวได้ว่า  สื่อทางการเรียนรู้มีการคัดแยกประเภท  ซึ่งการ     คัดแยกประเภทต้องมีการศึกษาคุณลักษณะความแตกต่างกัน  รวมทั้งการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่สื่อเป็นความหมายและคุณลักษณะตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ. 2544  ที่จัดทำเป็นคู่มือพัฒนาการเรียนรู้โดยศูนย์พัฒนาหนังสือ  กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ  (2545 : 6 – 19)  ได้กล่าวไว้อย่างสำคัญไว้ว่า  สื่อที่มีคุณลักษณะที่ดีล้วนต้องมีความครบถ้วนด้านการพัฒนาผู้เรียนให้ได้ประโยชน์จากสื่อต่อการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์  ซึ่งบริบทอันอาจกล่าวได้ว่าสื่อจะต้องจัดสร้างที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่จะต้องถือว่าผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุด  และการสร้างและผลิตสื่อนั้นจะต้องให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมสร้างประดิษฐ์และตัดสินใจ  รวมในการวางแผนการเรียนและการประเมินผลการเรียนของตน  ซึ่งแสดงออกได้อย่างอิสระเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพที่เรียนรู้ตามสภาพจริง  จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและผู้เรียนจะต้องมีประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสังคม  ธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้ตนเองทำงานร่วมงานกับผู้อื่นได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขในสังคม

                   จากความสำคัญของสื่อตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ. 2544  กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ  (2545 : 6 – 7)  กล่าวต่อไปว่า  สื่อนั้นเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้  ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้  ความเข้าใจ  ความรู้สึกเพิ่มพูนทักษะกระบวนการสร้างสถานการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียนในเชิงความคิด  การคิดไตร่ตรอง  การคิดสร้างสรรค์  และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  ตลอดจนเสริมสร้างคุณธรรม  จริยธรรม  และค่านิยมแก่ผู้เรียนมีความเข้าใจต่อสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้

                   ในปัจจุบันนั้นสื่อการเรียนรู้มีความหลากหลาย  เพื่อเหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ  เช่น

                   1.  ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความคิดรวบยอดได้ง่ายขึ้น  รวดเร็วขึ้น

                   2.  ช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นสิ่งที่กำลังเรียนรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นกระบวนการ

                   3.  ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง

                   4.  สร้างสภาพแวดล้อมและประสบการณ์การเรียนรู้ที่แปลกใหม่  น่าสนใจ  และทำให้อยากรู้อยากเห็น

                   5.  ส่งเสริมการมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้เรียน

                   6.  เกื้อหนุนผู้เรียนที่มีความสนใจและความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันให้เรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน

                   7.  ช่วยให้ผู้เรียนบูรณาการสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ  ให้เชื่อมโยงกัน

                   8.  ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการใช้สื่อและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ  เพื่อการค้นคว้าเพิ่มเติม

                   9.  ช่วยให้ผู้เรียนได้รับการเรียนรู้ในหลายมิติจากสื่อที่หลากหลาย

                   10.  เชื่อมโยงโลกที่อยู่ไกลตัวผู้เรียนให้เข้ามาสู่การเรียนรู้ของผู้เรียน

 

                   ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าประโยชน์ของสื่อนั้นยังปรากฏบทบาทที่ยังกระตุ้นให้ผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาด้านต่าง ๆ  ได้อย่างสังเขปในการสอนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนา  ได้แก่

                   1.  ความรู้  สื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้เชิงเนื้อหา  ความรู้เชิงกระบวนการและความรู้  เชิงประจักษ์  จากการเรียนรู้กลุ่มวิชา  กลุ่มสาระต่าง ๆ 

 

                   2.  ทักษะ  สื่อการเรียนรู้ในกลุ่มวิชาต่าง ๆ  ช่วยส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ  ให้แก่ผู้เรียน  ได้แก่  ทักษะพื้นฐานตามกลุ่มสาระการเรียนรู้  ทักษะการคิด  ทักษะการสื่อสาร  ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ทักษะการจัดการ  ทักษะในอาชีพ  เป็นต้น

                   3.  คุณธรรม  จริยธรรมและค่านิยม  สื่อต่าง ๆ  นอกจากจะให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาความรู้  และทักษะแล้วยังมุ่งให้ผู้เรียนรักการเรียนรู้เห็นคุณค่าในตนเอง  ภูมิใจในความเป็นไทย

 

                   นอกจากนี้ลักษณะของสื่อนั้นมีความสำคัญต่อการสอนที่อาจกล่าวได้  ประเภทของสื่อก็มีความสำคัญและมีลักษณะที่มนุษย์ได้จากการสังเกตและนำสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นคน  สัตว์  สิ่งของ  สถานที่  เหตุการณ์  ที่อาจประมวลและจำแนกตามการจัดกลุ่มประเภทตามการเลือกใช้ได้  ดังนี้

                   1.  สิ่งตีพิมพ์  หมายถึง  หนังสือและเอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ  โดยใช้ตัวหนังสือที่เป็นตัวเขียน  หรือตัวพิมพ์เป็นสื่อแสดงถึงความหมาย  เช่น  เอกสาร  หนังสือ  ตำรา  หนังสือพิมพ์  นิตยสาร  วารสาร  จุลสาร  จดหมาย  จดหมายเหตุ  บันทึก  รายงาน  รวมทั้งวิทยานิพนธ์  เป็นต้น

                   2.  สื่อเทคโนโลยี  หมายถึง  สื่อการเรียนรู้ที่ผลิตขึ้นควบคู่กับเครื่องมือโสตทัศนวัสดุ  หรือเครื่องที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ  เช่น  แถบบันทึกภาพพร้อมเสียง  (วิดีทัศน์)  แถบบันทึกเสียง  สไลด์  สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

                   3.  สื่ออื่น ๆ  ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน  สื่อทั้งสองประเภทที่กล่าวข้างต้นที่อำนายความสะดวก  ท้องถิ่นที่ขาดแคลนสิ่งตีพิมพ์  และสื่อเทคโนโลยีอีก  4  ประเภทใหญ่ได้พอสังเขป  ดังนี้

                                3.1  สื่อบุคคล  หมายถึง  บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ  ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดสาระความรู้  แนวคิด  เจตคติและวิธีปฏิบัติตนไปสู่บุคคลอื่น  เช่น  ผู้บริหาร  ครูผู้สอน  ตัวผู้เรียน  แม้แต่นักการภารโรง  และกระทั้งบุคลากรในท้องถิ่น  ความชำนาญเชี่ยวชาญในอาชีพต่าง ๆ

                                3.2  สื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  หมายถึง  สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  สภาพที่อยู่รอบตัวผู้เรียน  เช่น  สัตว์ชนิดต่าง ๆ  พืชผัก  ผลไม้  ปรากฏการต่าง ๆ  เช่น  แผ่นดินไหว  ห้องเรียน  ห้องปฏิบัติการ  ชุมชน  สังคม  วัฒนธรรม

                                3.3  สื่อกิจกรรม/กระบวนการ  หมายถึง  กิจกรรมหรือกระบวนการที่ครู  ผู้เรียนกำหนดเพิ่มเสริมประสบการณ์เรียนรู้  ใช้ในแบบฝึกทักษะที่จะต้องใช้กระบวนการคิด  การปฏิบัติ  การเผชิญสถานการณ์  และการประยุกต์ความรู้ของผู้เรียน  เช่น  การแสดงละคร  บทบาทสมมุติ  การสาธิต  สถานการณ์จำลอง  ฯลฯ

                                3.4  สื่อวัสดุ/เครื่องมือและอุปกรณ์  หมายถึง  วัสดุที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อประกอบการเรียนรู้  เช่น  หุ่นจำลอง  แผนภูมิ  แผนที่  ตาราง  สถิติ  กราฟ  ฯลฯ    ซึ่งความหมายและความสำคัญข้างต้นยังมีผู้แสดงแนวคิดที่สอดคล้อง

สมเชาว์  เนตรประเสริฐ  (2539 : 229 – 244)  ได้อธิบายในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการสอน  ดังนี้

                   1.  สื่อการสอน  เดิมใช้คำว่า  อุปกรณ์การสอนหรือโสตทัศนุปกรณ์  ซึ่งหมายถึง  สื่อกลางที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจง่าย  ถูกต้องตามประสงค์ที่สุด

                   2.  ประเภทของสื่อการสอน  ในที่นี้ได้แบ่งสื่อการสอนออกเป็น  3  ประเภท

                                2.1  วัสดุ  หมายถึง  สิ่งที่สิ้นเปลืองทั้งหลาย  เช่น  บัตรคำ  แผนภูมิ  รูปภาพ  แผ่นโปร่งใส  เป็นต้น

                                2.2  อุปกรณ์  ในที่นี้  อาจสรุปได้พอสังเขป  นั้นหมายถึง  บรรดาเครื่องมือทั้งหลาย  ทั้งที่เป็นเครื่องอื่นและยังหมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในตัวเอง  เช่น  เครื่องฉลายภาพยนตร์  เครื่องสไลด์  เครื่องฉายข้ามศีรษะ  เป็นต้น

                   3.  สื่อประสม  หมายถึง  สื่อที่มี  2  อย่างขึ้นไป  ใช้ในการสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  การใช้สื่อควรใช้หลายอย่างประสมกัน  เพราะเหตุที่ว่าสื่อแต่ละชิ้นจะเหมาะสมเฉพาะเรื่อง  และสื่อจะต้องส่งเสริมกันและกันด้วย

 

                   ข้อดีของสื่อประสม

                   1.  ช่วยทำให้การเรียนการสอนเป็นตอน

                   2.  ช่วยทำให้การสอนมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน

                   3.  ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีความสุข  มีกิจกรรมที่หลากหลาย

                   4.  การเรียนจะต้องสิ้นสุดเป็นเรื่อง ๆ

 

                   ข้อจำกัดในการใช้สื่อประสม

                   1.  การผลิต  ต้องจัดทำและใช้สื่อหลายอย่าง  ใช้เวลาผลิตมากจำต้องอาศัยประสบการณ์ของครูในการผลิต

                   2.  จะต้องเตรียมเนื้อหาและการวางแผน  ก่อนถึงเวลาที่จะต้องสอนจริง

                   3.  ต้องดำเนินการสอนตามที่กำหนดไว้

                   4.  ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการผลิตสื่อเดี่ยว

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 338713เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2010 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท