นวัตกรรมการเรียนรู้ สู่การศึกษาที่แท้จริง


                                   นวัตกรรมการเรียนรู้ สู่การศึกษาที่แท้จริง

 

             ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ผนวกกับความพากเพียรอุตสาหะได้รังสรรค์สิ่งใหม่ๆออกมาในโลกอยู่ตลอดเวลา เราเรียกสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ว่า "นวัตกรรม" นวัตกรรมตรงกับคำว่า "innovation" ในภาษาอังกฤษ โดยที่ในภาษาอังกฤษคำกริยาว่า innovate นั้นมีรากศัพท์มาจากคำภาษาลาตินว่า innovare ซึ่งแปลว่า "to renew" หรือ "ทำขึ้นมาใหม่" คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิด คิดว่านวัตกรรมเป็นคำที่เกี่ยวข้องเฉพาะสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นในวงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในเรื่องนี้สมเด็จพระเทรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอธิบายไว้ในการแสดงปาฐกถาเรื่อง "เทคโนโลยี นวัตกรรม กับการพัฒนาประเทศ" ในการประชุมประจำปีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 มีใจความตอนหนึ่งว่า
           "... คนเรานั้นจะต้องมี นวัตกรรม คือต้อง innovative หรือต้องรู้จักสร้างสรรค์ ต้องมีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ว่าก็ต้องสามารถปรับโลกให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นอยู่หรือความพอใจความสุขสบายของตัวเองเหมือนกัน ต้องแก้ปัญหาด้วยความคิด พอทางหนึ่งตันก็ต้องหาทางใหม่ ไม่งอมืองอเท้ายิ่งใน ภาวะวิกฤต ยิ่งต้องการนวัตกรรม ซึ่งไม่เฉพาะแต่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เป็นนวัตกรรมของทั้งระบบโดยรวม ตั้งแต่สังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม..."
            นวัตกรรมทางด้านการเรียนรู้ก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัย "วิถีคิด" ที่ออกนอกกรอบเดิมพอสมควร คือจะต้องออกนอก "ร่อง" หรือช่องทางเดิมๆที่เคยชิน เรียกได้ว่าจะต้องพลิกกระบวนทัศน์ (shift paradigm) ที่มีอยู่เดิมเกี่ยวกับการเรียนรู้เสียใหม่ จากที่เคยเข้าใจว่า การเรียนรู้ก็คือการศึกษาเพียงเพื่อให้ได้รู้ไว้ มาเป็นการเรียนรู้ที่นำมาใช้พัฒนางาน พัฒนาชีวิต ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้แบบหลังนี้จึงเป็นความรู้ชนิดที่แนบแน่นอยู่กับงาน เกี่ยวพันอยู่กับปัญหา เป็นความรู้ที่มีบริบท (context-riched) ไม่ใช่ความรู้ที่อยู่ลอยๆ ไม่สัมพันธ์หรืออิงอยู่กับบริบทใดๆ (contextless) การเรียนรู้ตามกระบวนทัศน์ใหม่นี้จึงมักจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาตัวโจทย์ขึ้นมาก่อนโดยใช้ปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเป็นหลัก เรียกได้ว่ามีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น จึงเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการเรียนรู้นี้ขึ้น การเรียนรู้ประเภทนี้เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้แบบอุปสงค์ (demand-side learning) คือ มีความประสงค์ มีความต้องการที่จะทำอะไรบางอย่าง แล้วจึงเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา ซึ่งจะตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบที่เราคุ้นเคยกันดีในระบบการศึกษา ที่มักจะเน้นการถ่ายทอดความรู้จากครูไปสู่นักเรียน คือจากผู้รู้ไปสู่ผู้เรียน คือมีลักษณะเป็นการเรียนรู้แบบอุปทาน (supply-side learning) ซึ่งข้อเสียที่เห็นได้ชัดเจนของการเรียนรู้แบบนี้ก็คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูต้องคอยป้อน(ยัด) ความรู้เหล่านี้เข้าปาก(หัว) ผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา โดยมักจะใช้การประเมิน การวัดผล หรือการสอบ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ "ผลัก" หรือ "ดัน" ให้คนหันมาสนใจตั้งใจเรียน การเรียนรู้แบบนี้ครูจึงมีหน้าที่หลักในการ "ผลัก" หรือ "push" ให้เกิดการเรียนรู้ มากกว่าที่จะปล่อยให้ผู้เรียน "ฉุด" หรือ "ดึง" (pull) ตัวเองไปโดยใช้ความสนใจหรือความต้องการที่จะเรียนรู้เป็นตัวดึง ซึ่งก็คือแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนเองโดยไม่ต้องให้ใครมาออกแรงผลัก ออกแรงดันดังเช่นที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้

หมายเลขบันทึก: 339767เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2010 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท