ศิลปท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านต้องสูญหายไปเพราะอะไรกันแน่ ตอนที่ 1 ความไม่จริงจัง


ตามหาให้พบให้เจอ แล้วแสดงความจริงใจในการปฏิบัติ ให้กำลังใจให้การสนับสนุน

ศิลปะท้องถิ่นเพลงพื้นบ้าน

สูญหาย เพราะเหตุใดกันแน่

ตอนที่ 1 ความไม่จริงจังในการรักษาไว้ให้คงอยู่

ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

          พูดกันมากเหลือเกิน และพูดกันมานานว่า ศิลปะท้องถิ่น เพลงพื้นบ้านใกล้ที่จะสูญหายไปทุกที บางท่านถึงกับกล่าวว่า อีกไม่นานเมื่อหมดยุคของดิฉัน เมื่อหมดยุคของผม เพลงพื้นบ้านสูญแน่ ไม่มีใครเล่น ไม่มีคนที่จะมารับหน้าที่ต่อ ไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเต้นกำ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย เพลงขอทาน ลำตัด ฯลฯ จะหาดูไม่ได้ ไม่มีให้ดูอย่างในวันนี้อีกแล้ว

          ปัญหานี้เป็นที่รู้กันมานาน นานกว่า 10 ปีแล้วที่มีประกาศเตือนให้รู้ตัวว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องมาร่วมกันสานต่องานเพลงพื้นบ้านและศิลปะท้องถิ่นด้านต่าง ๆ กันอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เท่าที่ผ่านมาเหมือนรู้ว่า จุดบกพร่องอยู่ตรงไหน สาเหตุมาจากอะไร แต่ใครกันเล่าที่จะอาสาแก้ปัญหาให้ตรงจุด ใครกันเล่าที่จะมาแต่งเติมในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้เกิดความสมบูรณ์ได้ 

         

          ส่วนราชการเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีงบประมาณรองรับในแต่ละโครงงานที่เขียนเสนอขึ้นไปอย่างมีน้ำหนัก บางโครงการชื่อเพราะมากอ่านแล้วเคลิบเคลิ้มหลงใหล บางโครงการมองดูเหมือนว่าพุ่งไปที่เป้าหมายโดยตรงถึงเยาวชน ถึงครอบครัว ถึงนักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเข้ามารับรู้เข้ามาสัมผัสกลิ่นไอของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง แต่ในส่วนของความเป็นจริง เป็นเพียงวงนอก เข้าไปไม่ถึงแก่นแท้ของการสืบสานที่จริงจัง เพียงแต่ได้เสนอโครงการ ได้ดำเนินงาน ได้รายงานผลด้วยข้อความ เสนอตัวเลขและรูปภาพ เอกสารเล่มหนามีเนื้อหามากมาย

         

          เวลาผ่านมากว่า 10 ปี ไม่มีคนรุ่นใหม่ที่แต่ละโครงการดำเนินงานมาอย่างสวยหรู ใช้เงินงบประมาณจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง ตามเหตุผลและความจำเป็น มิได้เป็นไปตามตัวเลขที่นำเสนอ ความจริงกับตัวเลขมันคนละทางกัน ตัวเลขปรุงแต่งได้ แก้ไขได้ แต่ความจริงที่เป็นรูปธรรมนานสักแค่ไหนก็ยังคงเดิมอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ไม่มาก แต่ตัวเลขที่ส่งผลอย่างน่าเชื่อถือ อาจไม่มีความจริงให้เห็นเลยก็เป็นได้

          ที่จังหวัดของผม มีการจัดอบรม มีคนเก่งกล้าที่จะบอกกับผู้อื่นว่า ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเพลงพื้นบ้าน เป็นผู้เชี่ยวชาญภูมิปัญญาด้านการแสดงท้องถิ่น ให้ความรู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ จัดอบรมนักเรียนและประชาชนมากมาย ได้ปริมาณคนเป็นจำนวนมาก แต่ตัวของท่านไม่มีทายาทเดินมาติด ๆ เลยสักคน ได้แต่ตั้งหน้าอบรมขยายผลงานความรู้ไปได้มากมาย แต่หาผลผลิตที่เป็นรูปธรรมยังไม่ชัดเจน เพราะศิลปะการแสดง โดยการสอนคนให้แสดงความสามารถได้ 15-30 นาที ยังไม่ใช่การสืบสานงานเพลงที่แสดงความยั่งยืน ความยั่งยืนคือ จะต้องทำได้อย่างมีคุณภาพยาวนานเล่นได้เป็นงาน เป็นวัน เป็นคืนและจะต้องคงอยู่อย่างถาวรตลอดไป

          บางท่านกล้าที่จะกล่าวต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมากว่า ท่านมีคามสามารถสอนเพลงพื้นบ้านให้กับนักเรียนทั้งห้อง บางท่านบอกว่าสอนให้ทั้งโรงเรียน ทั้ง 2 ประเด็นน่าจะไม่คลุมเครือ เพราะเรื่องของศิลปะพื้นบ้าน เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด ฯลฯ สอนตีคลุมมั่ว ๆ ไปก็ไม่ได้ผล จะต้องเป็นการสอนให้ซึมซับไปทีละน้อย และผู้รับจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป มิใช่ใครก็ได้เข้ามาฝึกหัดสอนได้หมด (เป็นไปไม่ได้) ตรงนี้ตามไปดูร่องรอยที่เหลือได้ว่า จากวิธีการนี้ทำแล้วยังเหลืออะไรให้เห็นอยู่บ้างนอกจาก ความว่างเปล่า พูดอีกอย่าง คือ “ไม่คุ้มค่า” แต่ก็ยังคงมีคนทำ เพราะไม่มีคนตามไปตรวจสอบ มีแต่คนยกย่อง

          มันก็แปลกนะครับ ทีบางคนเล่นเพลงพื้นบ้านบนเวทีการแสดงได้มากกว่า 10 ชนิด นานกว่า 30 ปี ไม่น้อยกว่า 1000 ครั้ง/งาน กลับมีคณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง พูดว่า “เขาผู้นี้ไม่มีคณะเล่น”  อีกความเห็นบอกว่า “ผมไม่เคยเห็นคน ๆ นี้เล่นเพลงเลย”

         ทั้งที่คนที่ผมกล่าวถึง เขาเป็นแชมป์ (ชนะเลิศ) ประกวดเพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่งของจังหวัดและออกงานแสดงทั่วไป ลงหนังสือพิมพ์ ออกอากาศรายการวิทยุ ออกอากาศรายการโทรทัศน์มากว่า 100 ครั้ง/รายการ (วันนี้มีคลิบวีดีโอการแสดงในอดีตให้ดูในอินเทอร์เน็ทเป็นหลักฐานมากมาย)

          ผมต้องยกเอาบางคำพูดของผู้ให้คุณให้โทษมากล่าว และต้องขอยกเอาคำอ้างของบางท่านมากล่าว ก่อนที่เวลามันจะสายเกินไป ความจริงก็คือ ความเป็นจริง ต้องสามารถมองเห็น สัมผัสได้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานสักแค่ไหน ร่องรอยของความสำเร็จก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่นั่นเอง ภาพการแสดงบนเวทีในระดับต่าง ๆ นับครั้งไม่ถ้วน

         

          แล้วทำไมจึงหันไปรับรองเอกสารว่า มีคุณค่ามหาศาลมากกว่า ความเป็นจริงที่ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องเสียเงินเพื่อค้นหาคำตอบ เพราะคำตอบมันรอให้ท่านไปดูด้วยตา ไปสัมผัสกลิ่นไอดั้งเดิมได้อยู่แล้ว แต่แล้วกลับมองข้าม เมินไปเสียอย่างนั้น ของจริงโดดเด่นสูงส่งอยู่บนเวทีการแสดงงานแล้วงานเล่า ปีแล้วีเล่า นานนับ 10-20 ปี ทั้งที่ไม่มีใครไปถึง ณ จุดนั้นได้ กลับทำเป็นมองไม่เห็น ไม่รับรู้ ไม่สนใจว่าใครจะทำอะไร

          ความไม่จริงจังในการรักษาไว้ให้คงอยู่ เป็นตัวแปรสำคัญที่ฉุดให้เกิดความสูญเสีย

          - ความไม่จริงจังในการให้การสนับสนุนส่งเสริมศิลปะพื้นบ้านของท้องถิ่นตนเอง

          - ความไม่จริงจังในการให้โอกาส กลายเป็นการกีดกันให้พ้นทาง อย่างไม่น่าที่จะเป็น

          - ความไม่จริงจังในความคิดและการกระทำ วางแผนอย่างหนึ่งแต่กระทำอีกอย่างหนึ่ง

          - ความไม่จริงจังในการนำเสนอข้อมูลไม่มีเหตุผลความจำเป็น ไม่เชื่อความจริง

          - ความไม่จริงจังในอนาคตว่า จะถูกปล่อยทิ้งตามยถากรรมเหมือนในอดีตอีกหรือไม่

          ศิลปะท้องถิ่นจะยังคงอยู่ได้ ถ้าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่มีงบประมาณอยู่ในมือ ผู้ที่ให้คุณให้โทษ ให้รางวัลแก่บุคคล จะต้องมองภาพจริงให้แจ่มแจ้ง ชัดเจน หาให้พบให้เจอ แล้วแสดงความจริงใจ ในการปฏิบัติ ให้การสนับสนุนตามที่ตาท่านเห็นว่า บุคคลผู้นั้นเขาได้ ทำจริง ทำมานานโดยไม่มีใครให้ความสนใจเลยตลอดเวลาที่ผ่านมา เพียงเท่านี้ศิลปะท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านก็อยู่ได้ต่อไปอีกยาวนาน

(ติดตาม สาเหตุ ที่ทำให้ศิลปะท้องถิ่นต้องสูญหายไป ในตอนที่ 2)

หมายเลขบันทึก: 341316เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท