การจัดการความรู้โดยเรื่องเล่าเร้าพลัง(3)บ้านเลือก...พื้นที่แห่งการเป็นผู้นำการริเริ่มจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นแห่งแรกๆของประเทศ


ด้วยที่บ้านเลือกเราเน้นที่กระบวนการที่ขบวนชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้คิดเอง ทำเอง พึ่งพาตนเองและมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนการขับเคลื่อนเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของพวกเรา ดังนั้นการดำเนินงานของพวกเราจึงอยู่บนความเป็นเอกลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของเราได้อย่างแท้จริง

วันที่ 21 ก.พ. 2553 ที่ผ่านมาผมได้ร่วมกับคณะทำงานจัดการความรู้ของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้จัดเวทีการจัดการความรู้ในลักษณะการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือสุนทรียปรัศนาและสาธก(AI) เป็นการจัดเวทีการจัดการความรู้ ครั้งที่ 6 แล้วครับ ครั้งนี้เป็นเวทีสุดท้าย งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยของผม ในหัวข้อเรื่อง“การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล”ผลจากเวทีครั้งนี้ในตอนท้ายผู้เข้าร่วมเวทีได้ช่วยกันสรุปบทเรียนประสบการณ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก ว่ามีเรื่องอะไรที่น่าจะนำมาทำให้เป็นเรื่องเล่าที่เร้าพลังได้ ซึ่งสรุปเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังได้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกันครับ นี่เป็นเรื่องที่ 3 ครับ........ 

การจัดการความรู้โดยเรื่องเล่าเร้าพลัง เรื่องที่ 3

บ้านเลือก...พื้นที่แห่งการเป็นผู้นำการริเริ่มจัดทำเป้าหมาย

และตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นแห่งแรกๆของประเทศ

        การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตำบลบ้านเลือก ก็คงเหมือนชุมชนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการที่เป็นผู้ถูกพัฒนาโดยผู้อื่นมาโดยตลอด  ตำนานการพัฒนาของภาคประชาชนกับแนวคิด ทิศทางการพัฒนาที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของงานพัฒนา “พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก”นั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่การเข้าสู่กระบวนการทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองเมื่อปี 2548 โดยความร่วมมือกับเครือข่ายแผนแม่บทชุมชน 4 ภาค จากกระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง ทำให้ชุมชนได้ทราบถึงเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของชุมชน จากการได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนบ้านเลือก เกิดการยอมรับเกิดความภาคภูมิใจกับตัวตนในความเป็น “ชุมชนวัฒนธรรมลาวเวียง” ทำให้ทราบถึงข้อมูลต่างๆทั้งข้อมูลทางเศรษฐกิจเช่นรายได้ รายจ่าย หนี้สิน เงินออม  ข้อมูลทางสังคม  ข้อมูลกลุ่มองค์กรชุมชนเป็นต้น  เมื่อนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงทำให้พวกเราได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาและศักยภาพของชุมชน ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาของขบวนชุมชนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

      เมื่อปี 2549 คณะทำงานได้มีการสำรวจข้อมูลองค์กรชุมชนทั้งตำบล แล้วมาทำการวิเคราะห์ความเข้มแข็งกลุ่มองค์กรชุมชนทำให้เราได้ทราบว่าที่ตำบลบ้านเลือกของเรามีกลุ่มองค์กรชุมชนมากถึง 139 กลุ่ม จากกลุ่มองค์กรชุมชนที่สำรวจทั้ง 139 กลุ่มนั้นพบว่ามีกลุ่มองค์กรชุมชนที่ได้รับรองความเป็นกลุ่มองค์กรที่มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนเป็นจำนวนมากถึง 87 กลุ่ม  ที่น่าสนใจเป็นพิเศษเมื่อเรามาทราบจากเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. จากฐานข้อมูลพอช.พบว่า ตำบลบ้านเลือกมีกลุ่มองค์กรชุมชนจากการสำรวจข้อมูลองค์กรชุมชน139 กลุ่มนั้นเป็นตำบลที่มีกลุ่มองค์กรชุมชนมากที่สุดในประเทศไทยและจากการรับรองสถานภาพองค์กรชุมชนจำนวน 87 กลุ่มนั้นก็เป็นตำบลที่มีกลุ่มองค์กรชุมชนที่ผ่านการรับรองสถานภาพองค์กรชุมชนมากที่สุดในประเทศไทยเช่นกัน  พวกเราอดคิดไม่ได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตำบลบ้านเลือกเราต้องมีอะไรดีในตัวแน่ๆจึงได้ชื่อว่าเป็นตำบลที่มีจำนวนกลุ่มองค์กรชุมชนมากที่สุดในประเทศไทย

      สำหรับตำนานการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของตำบลบ้านเลือกนั้น เกิดขึ้นจากที่พวกเราได้รับแรงบันดาลใจจากท่านอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ครานั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 ท่านได้ไปเยี่ยมที่ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งที่นั่นมีสภาผู้นำชุมชนท้องถิ่นตำบลหนองสาหร่าย(ในตอนนั้นที่ยังไม่มี พรบ.สภาองค์กรชุมชนจึงเรียกชื่ออย่างนั้น)พวกเราแกนนำชุมชนในจังหวัดราชบุรีก็ได้ไปต้อนรับท่านเลยได้รับคำแนะนำจากท่านในครั้งนั้น

      ตอนนั้นพวกเราเดินทางไปให้กำลังใจท่าน เพราะท่านกำลังผลักดันพรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ...แต่ท่านถูกคัดค้านจากสายมหาดไทยอย่างหนัก มีการชุมชนคัดค้าน พรบ.สภาองค์กรชุมชนนี้ตามศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศกว่า 40 จังหวัด แม้กระทั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ยังถูกคัดค้าน ทำให้พวกเราอดคิดไม่ได้ว่านี่เป็นกฏหมายของชุมชนแท้ๆทำไมจึงถูกต่อต้านอย่างหนักถึงขนาดนี้ ท่านและคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบครูชบ ยอดแก้ว ครูมุกดา อินต๊ะสารพร้อมคณะจึงได้เดินทางมาตั้งหลักสู้ร่วมกับพี่น้องขบวนชุมชนที่ตำบลหนองสาหร่าย  อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีดินแดนแห่งชัยชนะจากยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

       ท่านอาจารย์ไพบูลย์   วัฒนศิริธรรม  ท่านสนใจที่สภาผู้นำชุมชนท้องถิ่นตำบลหนองสาหร่ายได้มีการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาเรียกว่าตัวชี้วัดความดี มีความดี 22 ด้านและมีตัวชี้วัด 63 ตัว และท่านยังบอกว่าแนวทางการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดของตำบลหนองสาหร่ายนี้ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฎานหรือที่เรียกว่า จีเอนเอช(GNH)ที่เริ่มจากการทำเป้าหมายตัวชี้วัดเช่นเดียวกัน ซึ่งท่านพร้อมคณะเคยไปศึกษาดูงานมาตั้งแต่เมื่อ 25- 29 สิงหาคม2549  อดีตกษัตริย์ที่นั่นเคยตรัสไว้ว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ มีความสำคัญมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาติ"

      ท่านยังบอกอีกว่าประเทศไทยโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป  กำลังเตรียมการจัดการประชุมนานาชาติ เรื่อง ความสุขมวลรวมประชาชาติ ครั้งที่ 3 ขึ้นในประเทศไทย ในหัวข้อการประชุม คือ “สู่การปรับเปลี่ยนระดับโลก : โลกทัศน์ที่นำมาซึ่งความแตกต่าง” (The 3rd International Conference on Gross National Happiness “Towards Global Transformation : WORLDVIEWS MAKE A DIFFERENCE”) ระหว่างวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2550 ณ จังหวัดหนองคายและกรุงเทพมหานคร  แนวทางการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมจึงเป็นทิศทางการพัฒนาแนวใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากนานาประเทศ

      การไปต้อนรับท่านอ.ไพบูลย์ลงพื้นที่ ที่ตำบลหนองสาหร่ายในครั้งนั้น พวกเรารู้สึกประทับใจในเรื่องสภาองค์กรชุมชนและเรื่องการจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดความสุขมวลรวมเป็นอย่างมากโดยในตอนท้ายของวันนั้นท่านอ.ไพบูลย์ได้เสนอให้แต่ละชุมชนได้ทำการทดลองจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดเหมือนตำบลหนองสาหร่าย โดยให้เป็นการจัดทำกันแบบง่ายๆที่ชุมชนจัดทำกันเอง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่

     พอพวกเรากลับมาเมื่อมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลตาม พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 พวกเราจึงจัดทีมไปเรียนรู้ที่ตำบลหนองสาหร่ายอีกครั้ง กับคุณศิวโรจน์  จิตนิยม ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสาหร่าย(ในสมัยนั้น)แล้วพวกเราก็นำความรู้เรื่องสภาองค์กรชุมชนตำบลและการจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดของตำบลหนองสาหร่ายมาประยุกต์ใช้ในตำบลบ้านเลือกของเรา  และได้ปรับเปลี่ยนการเรียกชื่อจากตัวชี้วัดความดีมาเป็นตัวชี้วัดความสุข

       ต่อมาเมื่อท่านอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ท่านพ้นจากตำแหน่งรองนายกแล้ว ท่านทราบว่าที่ตำบลบ้านเลือกของเราได้มีการริเริ่มจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาตามคำแนะนำของท่านอย่างต่อเนื่อง ท่านจึงได้มาแวะเยี่ยมพวกเราเมื่อ 26 พ.ค. 52 ที่วัดพระศรีอารย์ ท่านจึงเป็นปูชนียบุคคลของชาวตำบลบ้านเลือกด้วยท่านได้จุดประกายความคิดให้เกิดความรัก ความสามัคคีเป็นแรงบันดาลใจให้คณะทำงานพร้อมที่จะทำงานให้สำเร็จตามที่ชุมชนตั้งไว้ การมาแวะเยี่ยมให้คำแนะนำของท่านอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ในครั้งนั้นได้ทำให้การจัดทำเป้าหมาย 9 ด้านและตัวชี้วัดความสุข 16 ตัวชี้วัดของพวกเรามีความชัดเจนยิ่งขึ้น

       พวกเราภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของตำบลบ้านเลือกให้บรรลุผล  เพื่อจะทำให้มีความก้าวหน้าเทียบได้กับการจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติหรือจีเอนเอชของประเทศภูฎาน  ถึงแม้หลักคิดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของพวกเราจะเหมือนกับการจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฎานและมีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน  หากแต่กระบวนการทำงานนั้นมีความแตกต่างกัน ด้วยที่บ้านเลือกเราเน้นที่กระบวนการที่ขบวนชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้คิดเอง ทำเอง พึ่งพาตนเองและมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ดังนั้นการดำเนินงานของพวกเราจึงอยู่บนความเป็นเอกลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของเราได้อย่างแท้จริง

      พวกเรารู้สึกขอบพระคุณท่านอาจารย์อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม แม้สุขภาพท่านจะไม่ค่อยจะแข็งแรงแต่ท่านก็ยังอุตส่าห์มาเยี่ยมให้คำปรึกษาพวกเราในหลายครั้ง และเรารู้สึกภาคภูมิใจกับการได้ร่วมสร้างตำนานของตำบลบ้านเลือก...พื้นที่แห่งการเป็นผู้นำริเริ่มการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นแห่งแรกๆของประเทศ

 

หมายเลขบันทึก: 341427เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะคุณสุเทพ

ครูกระเเตเชื่อว่าชาวบ้านมีศักยภาพ แต่ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง บางท่านมีความสามารถในขั้น "ปราชญ์"

เครือข่ายองค์กรชุมชนหลายแห่งได้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จล้วนมาจากหมู่บ้านแทบทั้งสิ้น เริ่มจาก

การเรียนรู้จากรากเง้าของตนเอง ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน การฟื้นความรักถิ่นฐานบ้านเกิด การฟื้นความรู้อาหารการกิน

ยารักษาโรค วิธีทำมาหากินต่างๆ ไปถึงการเก็บข้อมูลพืชพันธุ์ธัญญาหาร ผลผลิต ทรัพยากร จนเกิดความรู้ความเข้าใจตนเอง และ

วางแผนในการจัดการ "ทุน" เหล่านี้ของตนเอง ปัจจุบันครูกระเเตได้เห็นและได้ร่วมมือกับชาวบ้านเรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ในการ

พัฒนา เพราะวิธีการเก่าที่รัฐบาลครอบงำมันเป็นวิธีพัฒนาแบบเงินนำหน้า ปัญญาตามหลัง มานานแล้ว กระบวนทัศน์ใหม่ในการ

พัฒนานี้มีการไปจัดกระบวนการเรียนรู้ ไปทำวิจัยชุมชน ทำให้เกิดเวทีในหมู่บ้าน เป็นการเก็บข้อมูลยิ่งละเอียด

ยิ่งได้แผนแม่บทที่ดีค่ะ ผลที่ออกมา output คือแผนแม่บทชุมชน เป็นแผนที่ชาวบ้าน พัฒนาขึ้นมาเองจาก การวิเคราะห์ข้อมูล

หมู่บ้าน เชื่อมโยงเข้าด้วยกันจนกลายเป็นความรู้ใหม่ที่โยงเข้าด้วนกันเป็นองค์รวมทำให้เกิดปัญญา เป็นแผนพัฒนาที่ตั้งอยู่บนค่า

ความเป็นจริง บนศักยภาพที่แท้จริง บนข้อมูลที่แท้จริง และทำให้เป็นจริงได้มากที่สุดค่ะ อาจารย์ดร.เสรี พงศ์พิศ เคยสอนไว้ว่า

ชุมชนเข้มแข็งไม่ได้เกิดจากการวิเคราะห์ปัญหาเพราะปัญหามีให้เห็นตำตาอยู่ทุกวัน แต่ชุมชนเข้มแข็งเริ่มจากการค้นพบศักยภาพ

ของตัวเอง ค้นพบภูมิปัญญาของตนเอง ค้นพบแนวทางที่จะพัฒนาตนเองจาก "ทุน" เดิมที่มีอยู่ อย่าเหมือนการพัฒนาเดิมๆที่

ผ่านมา ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งพัฒนายิ่งจน ยิ่่งรักษายิ่งเจ็บ ก็เลย โง่ จน เจ็บ อย่างที่ใครๆเขาพูดถึงเราในสมัยก่อนค่ะ

ขอแสดงความยินดีกับการขับเคลื่อนเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของตำบลบ้านเลือกนะคะ

ภูผาลม ณ.ดงหลวง (ครูกระเเต)

ตามมาอ่านตอนต่อจากวันก่อน การทำงานเพื่อสังคม ถ้าให้ดีต้องมีเครือข่ายมากๆๆๆครับ

 

ชุมชนเข้มแข็งเริ่มจากการค้นพบศักยภาพของตัวเอง   ค้นพบภูมิปัญญาของตนเอง   ค้นพบแนวทางที่จะพัฒนาตนเองจาก "ทุน" เดิมที่มีอยู่

ขอบคุณครับคุณมาตายี(ครูกระแต)P

การทำงานเพื่อสังคม ถ้าให้ดีต้องมีเครือข่ายมากๆๆๆครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับอ.ขจิตP

คงต้องร่วมด้วยช่วยกันครับ

 

 

ขอขอบคุณอาจารย์สุเทพ ไชยขันธ์ และทีมงานทุกท่านที่จุดประกายและหนุนเสริมให้ชาวตำบลบ้านเลือก ได้รับความรู้ในการดำเนินงานด้านต่างๆ   ชาวบ้านเลือกขอบันทึกความดีที่ท่านและทีมงานให้กับชุมชนด้วยหัวใจจริง

 

 

 

คุณสุเทพครับ ขอให้กำลังใจคุณสุเทพครับ เรื่องนี้เมื่อสำเร็จและเผยแพร่ออกไปในวงกว้างจะเป็นกุศลสำหรับสังคมไทยอย่างมากครับ

ผมเองก็ได้แรงบันดาลใจจากท่านไพบูลย์เช่นกันครับ

โครงการต่างๆที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ถ้าเกิดจากการให้โดยไม่สอบถามความต้องการในชุมชน บางพื้นที่ก็ยังไม่สามารถทำได้เอง พอเจ้าของทุนถอนตัว กิจกรรมต่างๆก็จะแผ่วๆและหายไป แนวคิดองค์กรสภาตำบล เป็นตัวอย่างที่ดีควรขยายผล เป็นกำลังใจนะคะ

ขอบคุณครับอ.ดร.โยP

  • เป็นการวิจัยและพัฒนาการนำKM_AIมาใช้กับการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นในระยะแรกๆครับ คงต้องทำให้คมชัดยิ่งขึ้นต่อไป
  • ขอบคุณครูบาอาจารย์AI_ "สุนทรียสาธกหรือสุนทรียปรัศนี"ครับทั้งอ.ไพบูลย์ คุณหมอวิจารณ์ คุณหมอโกมาตร อ.หมออุทัยวรรณและอ.ดร.โยด้วยครับ
  • งานนี้ทำให้ผมมีความเชื่อมั่นในเครื่องมือAIมากขึ้นเลยที่เดียว

ขอบคุณครับสำหรับ "กำลังใจ"จากคุณpooP

  • ยิ่งค้นหาเรื่องราวที่ดีๆยิ่งค้นพบครับ
  • วันนี้(6มี.ค.)แวะที่บ้านเลือกอีก แกนนำบอกว่าเราน่าจะเพิ่มเรื่องเล่าเร้าพลังอีกเรื่อง อาจารย์ เราลืมไป
  • บ้านเลือก เป็นย่านคนสวยโพธาราม นะอาจารย์ ตอนนี้ "พระแพง"_ศุภรดา เต็มปรีชานางเอกหนัง "วุ่นนักรักข้างตลาด" หนังเรื่องนี้กำลังออกอากาศทางช่อง 9 อยู่นะ
  • ผมยอมรับเลยว่าเรื่องดารา เรื่องความสวยความงาม ไม่ค่อยจะถนัดเลยไม่รู้จะให้คำแนะนำให้เป็นเรื่องเล่าเร้าพลังได้อย่างไร เรื่องเล่าเรื่องที่ 8...และเรื่องต่อๆไป..... ชาวชุมชนต้องช่วยกันเขียนแล้วครับ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท