รูปแบบเทคนิคการจัดการความรู้ในสถานศึกษาเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูในสถานศึกษาให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้


สถานศึกษาเป็นหน่วยสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา  เนื่องจากโรงเรียนมีหน้าที่จัด การเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ โดยมีผู้บริหารโรงเรียนและครูเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนจะต่ำหรือสูงจึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารและครูเป็นสำคัญ   โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ของครูจะต้องอาศัยความรู้และกระบวนการที่เหมาะสมในการจัดการความรู้  ซึ่งจะต้องดำเนินงานร่วมกับนักเรียน ผู้บริหารโรงเรียน และชุมชน ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติ ผู้นำ ผู้ร่วมมือ ดังนั้น บทบาทในการจัดการความรู้ของครูจึงอาจกล่าวได้ดังนี้

                1.  การจัดการความรู้ของตนเอง เป็นการจัดการความรู้ในระดับบุคคล ในฐานะผู้นำในการจัดการเรียน การสอนและทำงานร่วมกับผู้เรียน ครูผู้อื่นในโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน และชุมชน

                2.  การจัดการความรู้ในชั้นเรียน เป็นการจัดการความรู้ร่วมกับผู้เรียนในชั้นเรียน โดยเป็นผู้นำ ผู้สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดกระบวนการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน

                3.  การจัดการความรู้ของโรงเรียน เป็นการจัดการความรู้ระดับองค์กร โดยร่วมมือกับผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

                4.  การจัดการความรู้ในชุมชน เนื่องจากโรงเรียนเป็นส่วนสำคัญของชุมชนมีบทบาทหน้าที่จัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของชุมชน   รวมทั้งมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนครูจึงมีบทบาทร่วมกับโรงเรียนในการจัดการความรู้ในชุมชน

                เมื่อครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและมีความจำเป็นจะต้องเป็นครูจัดการความรู้ในระดับต่าง ๆ  ครูจะต้องพัฒนาตนเองให้มีความสามารถและทักษะในการจัดการความรู้สูงขึ้น  ซึ่งมีเทคนิคสามารถกระทำได้ ดังต่อไปนี้

                1. ขั้นการกำหนดความรู้ ครูจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรแต่ละระดับ เพื่อนำมากำหนดความรู้ที่ต้องการในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งให้ความร่วมมือกับโรงเรียน และบุคคลอื่นในการคิดวางแผน กำหนดความรู้ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน

                2. ขั้นการแสวงหาความรู้ ครูจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการแสวงหาความรู้ พัฒนาความรู้สามารถของตนเองให้เข้าถึงความรู้  โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  การแสวงหาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ  ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพื่อนร่วมงานโดยการยอมรับในความรู้ความสามารถซึ่งกันและกัน

                3. ขั้นการสร้างความรู้ ครูจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความรู้  นวัตกรรมของสถานศึกษา  เข้าร่วมประชุมสัมมนา ประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดขึ้น เช่น การประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน เป็นต้น

                4.ขั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครูจะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา และเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สมาคมหรือชมรมทางวิชาชีพครู จัดขึ้นอยู่เสมอ รวมทั้ง ดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะอื่น ๆ เช่น การเขียนบทความทางวิชาการเผยแพร่ในวารสารของสภาวิชาชีพ การแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

                5.ขั้นการเก็บความรู้ ครูจะต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถเก็บความรู้อย่างเป็นระบบในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีในการเก็บความรู้ในรูปแบบเว็ปไซต์ วีดีทัศน์ แถบบันทึกเสียง และคอมพิวเตอร์เป็นต้น รวมทั้ง ครูจะต้องจัดทำแฟ้มพัฒนางาน จัดทำเอกสารประกอบการสอนที่ได้จากการสร้าและการแลกเปลี่ยนความรู้

                6.ขั้นการนำความรู้ไปใช้ ครูจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมโดยการนำเสนอความรู้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ การประชุมสัมมนา หรือการประชุมเสนอผลงานเป็นการเฉพาะ รวมทั้ง มีการเผยแพร่ความรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น วารสาร เว็บไซด์ จดหมายข่าว เป็นต้น

                เทคนิคดังกล่าวข้างต้น ถ้าครูกระทำอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดทักษะและความชำนาญในการจัดการความรู้เพิ่มขึ้น เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (learning worker) ในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 341673เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท