ปรัชญาการสอนลูกที่แตกต่าง


เลี้ยงลูกอย่างฮ่องเต้ กับ เลี้ยงลูกให้เป็นฮ่องเต้

ผมได้ยินคำพูดประโยคหนึ่งจากเพื่อนครู เขาพูดว่า "คนไทยเลี้ยงลูกอย่างฮ่องเต้ แต่คนจีนเลี้ยงลูกให้เป็นฮ่องเต้" ก็คงเป็นประโยคพื้นๆที่ไม่น่าสนใจอะไรหรอก หากเผอิญผมไม่ได้ดูหนังจีนเรื่องหนึ่งในคืนก่อนนั้น เป็นหนังที่สะท้อนวิถีชีวิตพ่อหม้ายลูกติดชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งหาเลี้ยงลูกอยู่เพียงลำพังด้วยความยากจนข้นแค้น ปากกัดตีนถีบภายในบ้านร้างที่ไม่มีแม้แต่พัดลมคลายร้อน ประตูหน้าต่างผุพัง เป็นกรรมกรหาเลี้ยงชีพไม่มีแม้แต่ทีวีทั้งสองคนพ่อลูกจึงต้องแอบไปดูทีวีของเพื่อนบ้านจากข้างถนนใกล้บ้านนั่นเอง

แม้จะยากจน แทบไม่มีจะกิน แต่พ่อของเขาก็พยายามสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ เช่นต้องทำการบ้าน ต้องแปรงฟัน ต้องอาบน้ำซักผ้าด้วยตนเอง สอนให้เข้านอน ตื่นนอนเป็นเวลา ให้ความสำคัญเรื่องการเรียนโดยเฉพาะคะแนนสอบของลูก ลูกต้องสอบให้ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าที่พ่อตั้งเป้าเอาไว้ วางเงื่อนไขให้ลูกมุ่งมั่น "ต้องทำไห้ได้" ขณะไปโรงเรียนก็พร่ำสอนให้ลูกเป็นคนดี ไม่ให้รังแกคนอื่น ห้ามมีเรื่องกับคนอื่น ในขณะเดียวกันลูกก็ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนนักเรียนที่มีฐานะร่ำรวยกว่าอยู่เป็นประจำ เขาไม่ได้ตอบโต้แต่อย่างใด เพียงแต่ขอร้องเขาว่า "อย่ารังแก อย่าทำเขาเขาไม่ได้ทำอะไรผิด"แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เพื่อนเหล่านั้นพูดจาถากถางดูถูกพ่อของเขา เขาจะตอบโต้ทันทีด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เขาปฏิบัติตามคำสอนของพ่อทุกประการด้วยความอดกลั้นและอดทน

มีอยู่ตอนหนึ่งพ่อพาลูกชายไปเดินเที่ยวหน้าห้างฯ แล้วลูกชายก็หายไป ปรากฏว่าด้วยที่ยังเป็นเด็กจึงไปหยิบของเล่น เล่นอยู่ในห้างด้วยความเพลิดเพลิน พ่อก็ตามไปพบ ลูกจึงอ้อนวอนกับพ่อว่า "พ่อครับผมอยากได้ของเล่นอันนี้ พ่อซื้อให้ผมหน่อยได้ไหม แล้วผมจะไม่ขออะไรจากพ่ออีก" พ่อตอบว่า "พ่อไม่มีเงิน เราไม่มีเงินนะลูก" ลูกชายทำตาละห้อย ในขณะที่พ่อดึงแขนลูกชายออกไปจากห้าง สายตาของเด็กน้อยไม่ละจากของเล่นเลย น้ำตาไหลพราก เพราะความที่อยากได้จึงสะบัดแขนจากการจับของพ่อวิ่งมายังของเล่นชิ้นเดิม พ่อวิ่งตามมาแย่งเอาของเล่นจากลูกเพื่อคืนให้ทางห้าง สองคนพ่อลูกแย่งของเล่นกันอยู่ตรงนั้น แล้วในที่สุดพ่อก็ลงโทษด้วยการตีลูกที่ขาโดยใช้ฝ่ามือฟาดไป 3 ที ลูกก็ร้องไห้ท่ามกลางผู้คนที่ไปจับจ่ายใช้สอย

มาถึงตอนนี้ แม่บ้านของผมก็พึมพำออกมาว่า "สงสารเขาจังถ้าเป็นลูกของเรา เราคงทนไม่ได้ที่จะซื้อให้ ถึงไม่มีเงินก็จะขายทองมาซื้อให้ลูก" ผมเหลือบดูแม่บ้านที่คว้าเอาลูกน้อยจากผมเข้าไปกอด แล้วก็ยังพูดกับลูกอีกว่า "ลูกอยากได้ไหมลูก ถ้าลูกอยากได้แม่จะซื้อให้" ในสภาวะอารมณ์ที่กำลังสงสารเด็กอย่างจับใจ ผมเปลี่ยนอารมณ์ทันที เห็นความคิดของแม่บ้านในวิธีการเลี้ยงลูกของเขา ผมคิดว่าผมจะต้องหาเงินไว้ให้มากๆ ไม่เช่นนั้นครอบครัวผมลำบากแน่   เป็นความคิดหนึ่งในช่วงเวลานั้น

หนังยังเดินเรื่องต่อไป  พออีกไม่นานพ่อของเด็กชายคนนี้พลัดตกตึกที่กำลังก่อสร้างเสียชีวิต คุณครูรู้ข่าว ด้วยความเป็นห่วงจึงไปหาลูกศิษย์ที่บ้าน เพื่อแจ้งข่าวร้าย เมื่อรู้ข่าวลูกชายจึงเสียใจที่พ่อจากไปอย่างปัจจุบันทันด่วนน้ำตาไหลพรากอีกครั้ง โอ้หนอชีวิตนี้ไม่เหลือใครอีกแล้ว ด้วยความเป็นห่วงครูพยายามพูดว่าจะให้ครูช่วยเหลืออะไร ให้ครูอยู่เป็นเพื่อนไหม เด็กตอบว่า "ไม่เป็นไรหรอกครับ ครูกลับบ้านเถอะผมอยู่คนเดียวได้"พร้อมกับขออนุญาตปิดประตูบ้าน เข้าไปนั่งอยู่บนเตียงนอนเก่าๆครุ่นคิดวางแผนเรื่องของตัวเองว่าจะอยู่กินอย่างไรโดยไม่มีพ่อ

ลืมเล่าไปว่า เด็กคนนี้เขามีเพื่อนเป็นมนุษย์ต่างดาว (IT) ที่สงสารเขา จึงแอบไปปลุกวิญญาณของพ่อที่โรงพยาบาลเพื่อให้กลับมามีชีวิตดังเดิม เช้าวันนั้นในขณะที่เขาตื่นนอนเขาก็ต้องตกใจเมื่อเห็นพ่อมานอนอยู่เคียงข้าง เขามองพ่อด้วยความลังเลอยู่พักหนึ่ง ด้วยความดีใจเขาโผเข้าสวมกอดพ่อด้วยความรักและความดีใจ  ....ผมง่วงหลับไป เรื่องตอนจบ ผมคาดเดาเอาว่าเด็กคนนี้คงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน พลิกชีวิตจากเด็กยากจน สามารถมีฐานะมีหน้ามีตาทางสังคม มีครอบครัวที่อบอุ่น ที่สำคัญ "มีความกล้าแกร่ง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก"และ "มีความกตัญญูรู้คุณคน"

ผมได้ครุ่นคิดในใจว่า ที่เด็กคนนี้เป็นเช่นนี้ได้ เนื่องจากหลักการสอน และกระบวนการสอนของพ่อแท้ๆ บวกกับความเอื้ออาทรจากครู ที่เข้าใจเด็ก (รู้จักเด็กเป็นรายบุคคล) แต่....กลับรู้สึกเป็นห่วงลูกของตัวเอง ซึ่งจะต้องถูกแม่สอนด้วยวิธีของแม่ "วิธีเลี้ยงลูกอย่างฮ่องเต้" ไม่ใช่ "วิธีเลี้ยงลูกให้เป็นฮ่องเต้"  ผมจะเปลี่ยนความคิดและวิธีการของแม่ของลูกชายผมให้เหมือนคุณพ่อชาวจีนนั้นได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ผมจะต้องขบคิดต่อไปแต่...สิ่งหนึ่งที่ผมได้คำตอบ คือวิธีการสอนของชาวจีนผู้นั้น มาจากหลักการของขงจื๊อ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวจีนนั่นเอง ตรงกับรายงานการวิจัยของสภาการศึกษาว่าทำไม เด็กจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียตนามถึงมีคุณภาพกว่าเด็กไทยคำตอบก็คือ เขาใช้ปรัชญาขงจื๊อเสี้ยมสอนขัดเกลาเด็กของเขาอย่างมุ่งมั่นมาตั้งแต่เล็กนั่นเอง

คนไทยและครูไทยล่ะ เราจะใช้ปรัชญาอะไรเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อการสอนเด็ก เรามีปรัชญาทางพระพุทธศาสนาที่ดีอยู่แล้ว ถ้าจะยืมของเขามาใช้บ้างอย่างบูรณาการก็น่าจะดีนะ ลองไตร่ตรองดูนะครับ

อาจารย์เก

หมายเลขบันทึก: 341752เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบว่าหนังที่ดูเรื่องอะไรเหรอคะ ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท