การจัดการความรู้ด้วยเรื่องเล่าเร้าพลัง(7)จาก"ความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฎาน” สู่ “ความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นบ้านเลือก”


“ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาร่วมกัน และเป็นไปได้ว่าจะเป็นสิ่งสูงสุดที่เราต้องการ ขณะที่เราต้องการสิ่งอื่นๆ เพียงเพื่อเป็นวิถีไปสู่การเพิ่มความสุขเท่านั้น”

วันที่ 21 ก.พ. 2553 ที่ผ่านมาผมได้ร่วมกับคณะทำงานจัดการความรู้ของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้จัดเวทีการจัดการความรู้ในลักษณะการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือสุนทรียปรัศนาและสาธก(AI) เป็นการจัดเวทีการจัดการความรู้ ครั้งที่ 6 แล้วครับ ครั้งนี้เป็นเวทีสุดท้าย งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยของผม ในหัวข้อเรื่อง“การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล”ผลจากเวทีครั้งนี้ในตอนท้ายผู้เข้าร่วมเวทีได้ช่วยกันสรุปบทเรียนประสบการณ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก ว่ามีเรื่องอะไรที่น่าจะนำมาทำให้เป็นเรื่องเล่าที่เร้าพลังได้ ซึ่งสรุปเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังได้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกันครับ นี่เป็นเรื่องสุดท้ายครับ   เป็นเรื่องเล่าที่อาจไม่เร้าพลังเท่าไหร่เพราะต้องการถ่ายทอดกระบวนการวิธีการ จัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดความสุขมวลรวมที่เป็นประสบการณ์จากบ้านเลือก แล้วสรุปเป็นแนวทางให้คนอื่นได้รับรู้

การจัดการความรู้โดยเรื่องเล่าเร้าพลัง  เรื่องที่ 7

จาก"ความสุขมวลรวมประชาชาติของภูฎาน” สู่ “ความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นบ้านเลือก”

ในการขับเคลื่อนความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก  พวกเรามีหลักการและแนวคิดการพัฒนาที่สำคัญดังต่อไปนี้

  • แนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติหรือGNH (จีเอนเอช)ของประเทศภูฎาน
  • แนวคิดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของท่าน อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

สรุปแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ : ประสบการณ์จากประเทศภูฎาน

ท่าน  เลียงโป จิกมี วาย ธินเลย์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฎาน เคยกล่าวไว้ว่า

 ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาร่วมกัน  และเป็นไปได้ว่าจะเป็นสิ่งสูงสุดที่เราต้องการ  ขณะที่เราต้องการสิ่งอื่นๆ  เพียงเพื่อเป็นวิถีไปสู่การเพิ่มความสุขเท่านั้น 

        ประเทศภูฎานดำเนินนโยบายบริหารประเทศภายใต้กรอบความคิดเรื่อง ความสุขมวลรวมของประชาชาติ ที่ตั้งเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคือ ความสุขของชาวภูฎาน โดยมีวิธีสร้างความสมดุลระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีกับความทันสมัย วัตถุนิยมกับจิตวิญญาณและระหว่างความมั่งคั่งทางทรัพย์สินกับคุณภาพของชีวิต ชาวภูฎานเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวของหลายประเทศ ปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวภูฎานประสบผลสำเร็จมาถึงจุดนี้ได้แก่ ภาวะผู้นำที่เข้มแข็งของกษัตริย์ภูฎาน การได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งทุนต่างๆอย่างต่อเนื่อง และมีความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ

        การบริหารนโยบายร่วมกันระหว่างส่วนต่างๆด้วยทฤษฎีสังคมเชิงพุทธ พึ่งพิงกันเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับสังคมด้วยทัศนะที่ว่าความสุขที่แท้จริงมิใช่วัดค่าความสุขนั้นด้วยทรัพย์สินเงินทองที่มากล้นหรือเครื่องบรรณาการอันหรูหรา แต่เพียงมีความสุขเรียบง่าย มีรอยยิ้ม กินอิ่ม นอนหลับ พึ่งพาตนเองได้ มีการศึกษาดี มีคุณภาพชีวิตที่งดงาม ล้วนเป็นความภาคภูมิใจของผู้คนในประเทศที่กล่าวถูกขานว่าเป็นดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า (land of thunder dragon)

          ท่าน  เลียงโป จิกมี วาย ธินเลย์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฎาน ยังเคยกล่าวไว้อีกว่า

 พระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังซุก.....ทรงเป็นผู้ริเริ่มปรัชญา  แนวคิดและนโยบายการพัฒนาของประเทศมาเกือบสามทศวรรษ  พระองค์ทรงสำนึกอยู่เสมอว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของรัฐบาลคือความสุขของประชาชน  ความเชื่อเช่นนี้เองที่บันดาลพระทัยให้พระองค์ทรงสรุปว่า  “ความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญยิ่งกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ”  ความสุขต้องมาก่อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ...

         สิ่งที่น่าสนใจคือวันนี้ภูฎานได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า  ทิศทางที่จะนำเราไปสู่สังคมอุดมคติ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของสังคม” สามารถที่จะเริ่มได้แล้วที่ภูฎาน โดยแนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาติ” ซึ่งมีหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการมีเครื่องมือสำคัญด้วยการพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุข ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีคุณประโยชน์แท้จริงและได้รับการยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

จาก"ความสุขมวลรวมประชาชาติ"  เป็น “ความสุขมวลรวม ชุมชนท้องถิ่น”

         สำหรับในสังคมไทยบ้านเราชุมชนที่ตำบลบ้านเลือกแม้จะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆชุมชนหนึ่งแต่ก็สามารถที่จะบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้ว่าการจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมโดยชุมชนท้องถิ่นนั้นสามารถทำได้ โดยสามารถริเริ่มในขั้นตอนเล็กๆของกระบวนการจัดทำตัวชี้วัดความสุขให้เป็นจริงได้ในขั้นหนึ่ง  หากแต่ละพื้นที่แต่ละท้องถิ่นมีการจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมของแต่ละชุมชนท้องถิ่น “เป็นความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น”ของแต่ละที่แล้ว  หากเมื่อมารวมกันทั้งมวลก็จะกลายเป็น"ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ในที่สุดนั่นเอง   

การจัดทำเป้าหมาย และตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น มีหลักการสำคัญอะไรบ้าง

        อ.ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรมได้นำเสนอหลักการสร้างเป้าหมาย และตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้เป็นแนวทางให้ชาวตำบลบ้านเลือกไว้ สำหรับการประยุกต์ใช้ มีหลักการสำคัญทั้งหมด 7 หลัก ดังนี้

        1. คิดเอง ทำเอง 

        2. ร่วมมือ รวมพลัง

        3. อะไรก็ได้  เมื่อมาร่วมคิด  ร่วมทำตัวชี้วัด ไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว  โดยมีเสาหลักของตัวชี้วัดที่ประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ ความดี  ความสุข  และความสามารถ

        4.  คิดจริง ทำจริง 

        5. เรียนรู้ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

        6. ร่วมสร้างขบวนการ 

        7. แข็งขันบันเทิง 

การจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น ทำกันอย่างไร

          ถึงแม้หลักคิดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของพวกเราจะมาจากหลักการของความสุขมวลรวมประชาชาติประเทศภูฎานและมีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน  หากแต่กระบวนการทำงานนั้นมีความแตกต่างกัน ด้วยที่บ้านเลือกเราเน้นที่กระบวนการที่ขบวนชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้คิดเอง ทำเอง พึ่งพาตนเองและมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ดังนั้นการดำเนินงานของพวกเราจึงอยู่บนความเป็นเอกลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของเราได้อย่างแท้จริง

          จากการถอดองค์ความรู้ในเรื่องกระบวนการ  ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นนั้น  พวกเราสามารถสรุปกระบวนการ  ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ 6  กระบวนการ ดังต่อไปนี้

1. การศึกษาวิเคราะห์ชุมชน  เป็นการประเมินการพัฒนาในปัจจุบันของชุมชนโดยการวิเคราะห์ปัญหาและทุนทางสังคม ประวัติความเป็นมา(ประวัติศาสตร์ชุมชน) และบริบทของพื้นที่ การวิเคราะห์ระบบภูมินิเวศน์วัฒนธรรม และทุนทางสังคม / ผู้รู้ องค์ความรู้ประสบการณ์งานพัฒนารวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อชุมชนในประเด็นต่างๆ

2. กำหนดเป้าหมายหรือทิศทางการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น และการกำหนดวาระการพัฒนาของชุมชน  เป้าหมายร่วมกันของขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละพื้นที่ คือประชาชนในพื้นที่นั้นมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และเราต้องร่วมกันสร้างเป้าหมายที่ดีและชัดเจนโดยถามตนเองว่า เป้าหมายเราดีไหม  ชัดเจนไหม ที่สำคัญคือเราต้องรวมพลังกันให้ได้ เรื่องที่ทำจะง่าย  แต่จะยากถ้าเราเห็นไม่ตรงกันหรือมีความเห็นขัดแย้งกันก็จะเป็นปัญหาตั้งแต่ต้น

3. การจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและวิธีการดำเนินงานที่สำคัญ  รวมทั้งการระบุแหล่งที่มาของข้อมูลตัวชี้วัดเพื่อการวัดผล  ทั้งนี้ในการจัดทำตัวชี้วัดนี้ขบวนชุมชนอาจต้องการจัดเวทีหมุนเวียนรายชุมชน ในลักษณะ"เวทีประชาคมหมู่บ้าน"เพื่อการสื่อสารและสร้างการยอมรับร่วมกันแล้วสรุปเป็นตัวชี้วัดร่วมของคนทั้งตำบลและจัดเวทีรวมเพื่อเชื่อมโยงกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่             

4. การกำหนดวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล ตัวชี้วัด  ว่าข้อมูลนั้นได้มาอย่างไร  ทำอย่างไรจึงจะมีข้อมูลสนับสนุนการวัดผลอย่างต่อเนื่องได้  โดยสามารถระบุได้ว่าจะมาจากแหล่งใด  โดยวิธีการใด  ฯลฯ

5. การจัดระบบสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาของกลุ่มองค์กรชุมชนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนตามแผนงาน  ให้บรรลุผลตามตัวชี้วัด

6. การจัดระบบการติดตาม / ประเมินผลภายในตามตัวชี้วัดเพื่อติดตามความก้าวหน้าตามตัวชี้วัด ทบทวนผลการดำเนินงานที่ชุมชนดำเนินการว่ามีกิจกรรมใดที่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการ    มีการจัดเก็บข้อมูล  บันทึกข้อมูลจากการติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อใช้เปรียบเทียบและประเมินผลและการจัดทำรายงานผล  เสนอผลต่อชุมชน / ผู้เกี่ยวข้อง/ภาคีการพัฒนารวมทั้งการสรุปบทเรียน(AAR)และการสรุปเป็นชุดองค์ความรู้เชิงประสบการณ์เพื่อการขยายผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนต่อไป

กระบวนการทั้งหมดนี้จะเสริมกันและส่งผลถึงกันและกัน  ให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายของการพัฒนาของพวกเราซึ่งก็คือความสุขของคนทั้งมวลในตำบลบ้านเลือก หรือ “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” นั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 341992เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2010 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับท่านท่านอาจารย์ สุเทพ

ปวดขาเดินไม่ไหวอยู่หลายวันครับท่าน

แต่แปรเปลี่ยนความคับแค้นเป็นพลัง ได้อ่านหนังสือหลายเล่มที่มาตั้งไว้ไม่ได้อ่าน

แก่งคอย ลับแล ซัไรท์ก็มีโอกาสได้อ่านจบครับท่าน

สวัสดีรับท่านผู้เฒ่าวอญ่า

  • โบราณว่า "ปวดขา ให้ปาขวดทิ้งไปไกลๆจะได้หาย"(เอาให้ไกลให้หายไปในป่าเลยนะ)
  • หนังสือซีไรท์ปีนี้ไม่ได้อ่านเลย...
  • มัวแต่อ่านอะไรก็ไม่รู้ แต่หนังพอจัดเวลาได้ดูบ้างครับ

"บัง วอญ่า ปวดขา นั่งปาขวด ขายังปวด ขวดยังปา ยาไม่ทาน

เชื่อโบราณ ว่าปาขวด ปวดไม่นาน ไม่ได้การ ขาไม่หาย อดขายขวด.........

  • ให้หายเร็วไวครับบัง วอญ่า
  • ชีพจรจะได้ลงเท้าอีกครั้ง...
  • หรือจะปีนเขาไปเลย
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท