จาก HA สู่ SHA


ความยั่งยืนที่อาจจะไม่ต้องลงทุนด้วยเทคโนโลยีราคาแพงทันสมัย แต่ใช้ความเรียบง่าย ลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นลง หันมาเข้าใจในคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ ใกล้ชิดธรรมชาติ วิถีชีวิต มีความรัก ความเอื้ออาทรเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล( องค์การมหาชน) มีความปราถนา มีความท้าทาย และรวมทั้งมีความฝัน ที่จะเห็น โรงพยาบาล หรือองค์กรด้านสุขภาพของประเทศไทย มีความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยเป็นพื้นฐานที่สำคัญ มีมาตรฐานคุณภาพในการดูแลผู้รักษาพยาบาลผู้ป่วย คนไข้ ผสมผสาน มิติด้านจิตใจ เพื่อให้เกิดความอ่อนโยน  มีเมตตา เข้าใจในความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง

 ทำงานร่วมกับ ชุมชน และสังคมได้โดยไม่แปลกแยก เกิดการปรับเปลี่ยน ไปสู่ระบบการดูแลผู้ป่วย ที่มีความประณีต ละเอียดอ่อน และงดงาม โดยอยู่บนพื้นฐานความรักและความเข้าใจกัน  โรงพยาบาลจะเป็นสถานที่ที่ให้ประชาชนมากกว่าการรักษาความเจ็บป่วย แต่จะเป็นสถานที่เรียนรู้ เป็นแบบอย่างในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ  รวมทั้งมีสิ่งแวดล้อม ที่ดี ที่เยียวยาผู้คนได้

เพราะว่าผู้ที่เข้าไปรับบริการในโรงพยาบาลนั้น มิได้มีเพียงคนไข้ที่เจ็บป่วยเท่านั้น  แต่จะรวมถึงญาติพี่น้อง ที่แม้ว่าจะไม่ได้เจ็บป่วยเอง แต่ก็มีความทุกข์อกทุกข์ใจ ไม่น้อยกว่า หรืออาจจะมากกว่าคนที่เป็นผู้ป่วยเสียเอง

โรงพยาบาลในอนาคตข้างหน้าต่อจากนี้ไป ควรที่จะขยายแนวคิดของการดูแลรักษาผู้ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ จากโรคร้ายที่รุมเร้า ไปสู่การดูแลในลักษณะองค์รวม  มีความสุขใจทั้งผู้ให้บริการ ที่ทำงานด้วยใจที่เมตตา มีปิติในสิ่งที่ได้ทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สำหรับผู้รับบริการมีความสุข พอใจ และยินดีใน

สถาบันฯจึงพยายามสนับสนุนให้โรงพยาบาลพัฒนาสู่ความยั่งยืน  โดยการผสมผสานมิติจิตใจในการทำงานประจำวันให้มากขึ้น มีความละเอียดอ่อน ความประณีต มีสติปัญญา และรู้เท่าทัน มีเหตุผลในการทำงาน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

หากโรงพยาบาลนำแนวคิดนี้มาหล่อหลอมผสมผสานกับการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานของสถานบริการแล้ว เชื่อได้ว่า ความงดงามเหล่านี้ จะสามารถนำพาให้การพัฒนาคุณภาพไปสู่ความยั่งยืน

ความยั่งยืนที่อาจจะไม่ต้องลงทุนด้วยเทคโนโลยีราคาแพงทันสมัย  แต่ใช้ความเรียบง่าย ลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นลง หันมาเข้าใจในคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่  ใกล้ชิดธรรมชาติ วิถีชีวิต มีความรัก ความเอื้ออาทรเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

Sustainable Health care & Health Promoting by Appreciation and accreditation ( SHA) หรือ”โครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน “ จึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สถาบันฯ สนับสนุนให้โรงพยาบาลได้นำลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

มีความหมาย จากคำย่อดังนี้ คือ

S   safety ความปลอดภัย ในระดับที่เกิดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด

S    Standard      การใช้มาตรฐานคุณภาพ มาตรฐานวิชาชีพในการทำงานประจำวัน

S    Spirituality& Humanistic ด้านจิตใจ

S    Self Sufficiency and back to basic approach  แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

S    Sustainable ความยั่งยืน

HA & HPH     มาตรฐานโรงพยาบาลคุณภาพและการสร้างเสริมสุขภาพ

Appreciative  การชื่นชมยินดี  มุมมองเชิงบวก

Accreditation       การรับรองคุณภาพโรงพยาบาล

 

วิวัฒนาการ การพัฒนาระบบคุณภาพของประเทศไทยได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จาก การสร้างระบบความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล  การทบทวนความเสี่ยงเพื่อมิให้เกิดซ้ำอีก  การทำงานเป็นทีม ระบบการสื่อสารที่ดี ระบบการนำองค์กรที่ชัดเจน

ในระยะต่อมามีการผสมผสาน มาตรการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เข้าไปในทุกระบบงาน เชื่อมโยงกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วย  ขยายการดูแลดดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและพฤติกรรม  มีการวางระบบงานของโรงพยาบาล ให้เกิดประโยชน์ต่อคนไข้และผู้รับบริการ และชุมชนมากที่สุด เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพย่างจริงจัง

ทิศทางขององค์กรมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การนำองค์กรที่แสวงหาความร่วมมือ การใช้การเรียนรู้ร่วมกัน อันเป็นการพัฒนาทางจิตปัญญา การสร้างพื้นที่อันแข็งแกร่งด้วยความร่วมมือ จากเครือข่าย การสร้างพลังอำนาจให้กับคนไข้และประชาชน

บุคลากรในโรงพยาบาล เข้าใจและทำงานโดยใช้มิติทางด้านจิตใจมากขึ้น จากการที่มีผู้ได้รับรางวัล Humanized health care Award จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ ๓   นับได้ว่า คนที่ทำงานในโรงพยาบาล ได้พลิกฟื้น นำเอาคุณค่า ที่ดีงามของชาวไทย อันได้แก่ ความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน มาทำงานในชีวิตประจำวันได้อย่างงดงาม ลึกซึ้ง

การเรียนรู้ และสร้างพลังเชิงบวกในงานคุณภาพอีกด้านหนึ่งคือการนำ “ เรื่องเล่า “ หรือ Narrative Medicine เข้ามาเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทีมงาน เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน เข้าใจ เกิดความปิติ และความสุขในการทำงาน มีกำลังใจอุทิศแรงกายและแรงใจในการดูแลผู้ป่วย และความเข้าใจ เข้าถึง จิตใจผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีความหมายที่ลึกซึ้ง และสามารถนำมาใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบสุขภาพได้ด้วย

ในโครงการ SHA จึงส่งเสริมให้โรงพยาบาลทำงานด้วยความพอดี เข้าใจความต้องการของผู้ป่วย ชุมชน เข้าถึงสภาพปัญหาที่แท้จริง ทำงานโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ทรัพยากร ไม่เบียดเบียนตัวเอง และผู้อื่น ใช้ความรู้ และมีเหตุผลในการทำงานทุกขั้นตอน พัฒนาจิตใจของตนเองให้มีคุณธรรม ไม่หวั่นไหวในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความซื่อสัตย์ สุจริต  ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีสติปัญญาในการอยู่ร่วมกัน

คนไข้และญาติที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ อยู่ในสภาพวิตกกังวล หวาดหวั่นต่อการสูญเสีย  มีความทุกข์อันเกิดจากโรคทางกาย จิตใจมีความกังวล ต้องการที่พึ่ง

การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา ( Healing Environment) คือการสร้างสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ที่มีบรรยากาศความเป็นมิตร มีความอบอุ่น มีความรัก และความสะดวกสบาย ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตเมื่ออยู่ที่บ้าน  ไม่ปิดกั้นคนไข้ หรือแยกคนไข้ออกจากสังคม ให้โอกาสในการใกล้ชิดธรรมชาติ อันเป็นโอสถขนานเอกของมวลมนุษย์ เป็นสิ่งที่จะช่วยเยียวยาให้คนไข้ และญาติ คลายความทุกข์ได้

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา ยังหมายความรวมถึง ความประณีตในการจัดระบบอำนวยความสะดวก สถานที่  แสงที่พอเหมาะพอดี  กลิ่นต่างๆที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล รสชาดของอาหารที่เหมาะสมกับอาการเจ็บป่วย ภาพที่สื่อถึงความเบิกบาน สดชื่น เช่นภาพดอกไม้  รวมถึงสัมผัสและการสื่อสาร ที่อ่อนน้อม น่ารัก จากจิตใจที่งดงามของแพทย์ พยาบาล และทีมงานที่มีใจเมตตากรุณา

ในการประชุมวิชาการประจำปี ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ( HA Forum) ครั้งที่๑๑ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ ๙-๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ ศูนย์การ ประชุมอิมแพค  เมืองทองธานี นี้ เรื่องราวต่างๆ ของเส้นทางและวิธีการที่จะนำระบบสุขภาพไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมประชุมประมาณ ๗๐๐๐ คน

 

โดย  ดวงสมร  บุญผดุง   รองผู้อำนวยการด้านส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ    ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาพสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 342266เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2010 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

SHA ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่อีกครั้งให้กับวงการสาธารณสุขบ้านเรานะคะเเม่ต้อย กุ้งต้องขอชื่นชมผู้ที่ริเริ่มโครงการนี้นะคะคงไม่ใช่ใครที่ไหน ก้อ...เเม่ต้อยของเราคนเก่งนี่เองค่ะ ยกนิ้วให้ค่ะ 9- 12 นี้ กุ้งคิดว่าคงเป็นงานใหญ่ที่อาจไม่เคยเห็นในประวัติศาสตร์ HA FORUM เจอกันนะคะเเม่ต้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท