โจทย์ในการวิจัยสิทธิในทรัพย์สินของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ


คนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ สองคำนี้มีความแตกต่างกันในด้านสิทธิ ในบันทึกต่อไป ผู้เขียนจะเล่าถึงความแตกต่างให้ฟังค่ะ

      ช่วงนี้อาจหายหน้าไปจาก G2K สาเหตุเพราะที่ทำงานกำลังเปิดสอบซี 8 อีกครั้ง คราวนี้จึงเร่งทำ proposal ส่งที่ทำงาน และครั้งนี้เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ทำงานเอาใจช่วยอย่างมาก บอกว่าคงไม่เจออำนาจมืดอีกนะ

      วันนี้ขอเริ่มงานเขียน thesis ต่อหลังจากหายหน้าไปพักใหญ่ สำหรับโจทย์ในการวิจัยที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้คือ คนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติมีสิทธิในเงินอย่างไร จากโจทย์นี้มีวิธีการศึกษา คือ การศึกษาสิทธิในเงินในประเทศไทยมีเรื่องอะไรบ้าง

       ประเทศไทยมีบริการทางการเงินที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคาร ไปรษณีย์ ประกันภัย และโรงรับจำนำ ซึ่งการให้บริการของแต่ละสถานที่ก็จะมีกฎ ระเบียบในการเข้าไปทำธุรกรรมเอาไว้แตกต่างกัน แต่คนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ มักมีปัญหาในการเข้าไปขอใช้บริการ เนื่องจากไม่มีเอกสารที่หน่วยงานนั้น ๆ ต้องการ

      ทั้งที่ในความเป็นจริงบุคคลเหล่านี้ มีเอกสารแสดงตนบ้างแล้ว แต่เอกสารที่เขามี หน่วยงานที่ให้บริการไม่รู้จัก ไม่เข้าใจว่าใช้ได้ เพราะหน่วยงานที่ให้บริการยังยึดติดหลักฐาน คือ บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้าน (ทร.14) โดยยังไม่รู้จักบัตรของคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จึงปฏิเสธการให้บริการทางการเงินแก่คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

      ก่อนทำ thesis เรื่องนี้ ตัวผู้เขียนก็งงและสับสน ช่วงหลังติดตามอาจารย์แหวว ไปเข้าร่วมการประชุมด้วย ทำให้พอเข้าใจความเป็นมา และเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลกลุ่มนี้บ้าง ยอมรับว่าเรื่องของคนกลุ่มนี้ต้องเข้าไปคลุกคลีจึงจะเข้าใจลึกซึ้ง ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าตัวเองเข้าใจลึกซึ้ง แต่พอเข้าใจว่าสิ่งที่อาจารย์ต้องการสื่อสารให้เขียนมีอะไรบ้าง

      จากคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้เลย ตอนนี้ผู้เขียนพอจะมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังผ่านบันทึกใน G2K โดยขอเล่าการดำเนินการในให้ความช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้ของนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า มีการดำเนินการอย่างไร ความคืบหน้าของการดำเนินงาน

       พวกเราคนไทยไม่ได้ทิ้งคนกลุ่มนี้ค่ะ แต่กำลังพยายามให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถที่มี เพี่อให้คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติมีสิทธิขั้นพื้นฐาน เฉกเช่นคนไทยคนหนึ่งเหมือนกัน

 

หมายเลขบันทึก: 342316เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2010 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท