พัฒนาการของการประกันภัย


ระบบการประกันภัยในบ้านเรา มีการพัฒนาหลักเกณฑ์และการกำกับดูแลเป็นระยะ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพและมีการกำกับกูแลที่ชัดเจน จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในช่วงที่ผ่านมาอีกครั้ง
       กิจการประกันภัยเริ่มมีในประเทศไทยมายาวนานแล้ว โดยในปี พ.ศ. 2467 [1] ได้มีการบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้น มี บรรพ 3 ลักษณะ 20 เป็นเรื่องประกันภัยรวมอยู่ด้วยเป็นการรับรู้ข้อตกลงในเรื่องประกันภัยว่า เป็นสัญญาที่ผูกพันชอบด้วยกฎหมาย
      โดยได้มีบทบัญญัติลักษณะห้างหุ้นส่วนบริษัท มาตรา 1014 กล่าวไว้ว่า ห้ามมิให้ตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท เพื่อทำการประกันภัยขึ้น เว้นแต่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเริ่มควบคุมการก่อตั้งบริษัทประกันภัยไม่ให้ตั้งโดยเสรี แต่ยังมิได้ควบคุมการดำเนินกิจการโดยตรง
       สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ปี พ.ศ. 2467 ข้างต้น ได้ถูกยกเลิกและใช้บทบัญญัติบรรพ 3 ที่ตรวจชำระใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2472 ซึ่งบรรพ 3 ที่ตรวจชำระใหม่ก็มีบทบัญญัติลักษณะที่ 20 ว่าด้วยประกันภัยตั้งแต่มาตรา 861 ถึงมาตรา 897 และมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
      ต่อมาปี พ.ศ. 2492 กระทรวงเศรษฐการซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาการเกี่ยวกับการประกันภัยได้กำหนดเงื่อนไขควบคุมกิจการประกนภัยขึ้นใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดมากขึ้นกว่าเงื่อนไขฉบับปี 2472 แต่ก็ยังขาดหลักการสำคัญอีกหลายอย่าง
       ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2507 รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยและร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิตเข้าสู่การพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีกฎหมายควบคุมการประกอบการประกันภัยทั้ง 2 ประเภทนี้ขึ้นไว้โดยเฉพาะ ซึ่งในที่สุดร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับนี้ก็ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2510       
       เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน จึงมีบทบัญญัติหลายประการไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันประกอบกับได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะของสำนักงานประกันภัยเป็นกรมการประกันภัย
       ดังนั้น จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 แทนพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของธุรกิจประกันภัย ตลอดจนมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความคล่องตัว
       และสามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้สามารถควบคุมและกำกับดูแลกิจการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
       ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ได้เปลี่ยนจากการสังกัดกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ไปสังกัดกระทรวงการคลัง ภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ.2550 เนื่องจากธุรกิจประกันภัย (และประกันชีวิต) มีลักษณะเป็นธุรกรรมทางการเงินประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศ
       โดยเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันวินาศภัย และประกันชีวิต โดยในช่วงที่ผ่านมามีพัฒนาการทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย การอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยองค์กรเฉพาะคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการคลัง จึงมีความเหมาะสมเพราะมีอิสระและคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

 


[1] อำนวย สุภเวชย์ , คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย.

พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร : บริษัท สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991 จำกัด . 2551 ,

http://www.oic.or.th/th/home/index.php

หมายเลขบันทึก: 343040เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท