การทำธุรกิจประกันภัย


ธุรกิจประกันภัยในช่วงนี้ขอแนะนำให้ทำการศึกษา เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่มีการดำเนินการตามกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยก็ควรเข้าไปกำกับดูแลอย่างจริงจัง
      ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตได้เปลี่ยนจากการสังกัดกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ไปสังกัดกระทรวงการคลังภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา
       การประกอบธุรกิจประกันภัย มีลักษณะเป็นธุรกรรมทางการเงินประเภทหนึ่งซึ่งมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ โดยหลักการและเหตุผลการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย คือ การเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของบริษัท และการคุ้มครองประชาชน
       ปัจจุบันหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยสำนักงานฯ มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับ ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบธุรกิจประกันภัยตามนโยบายและมติคณะกรรมการ
       ภาครวมของธุรกิจประกันภัยในส่วนของการทำธุรกิจประกันชีวิตจะมีสภาพของการแข่งขันและการผูกขาดค่อนข้างสูง โดยมีกฎหมายว่าด้วยประกันภัย ประกอบด้วย
       1) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (การประกันภัย)
           1.1) กฎหมายว่าด้วยนิติกรรมสัญญาทั่ว ๆ ไป
           1.2) กฎหมายลักษณะประกันภัย ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 20 มาตรา 861 – 897
        2) กฎหมายเฉพาะ
            2.1) พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
            2.2) พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535
            2.3) พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
            แผนแม่บทการพัฒนาประกันภัย[1]              
            ในการประกอบธุรกิจประกันภัยมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาประกันภัย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2549 – 2554)  กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทนำในการพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ และการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในทุกระดับ” โดยแผนแม่บทฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ คือ
             (1) บริษัทประกันภัยมีความมั่นคงเข้มแข็งทางการเงินมีการดำเนินการอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน มีขีดความสามารถพร้อมแข็งขัน และเป็นที่เชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชน
             (2) ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทในการพัฒนาสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ แบะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนมากขึ้น
             (3) ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของระบบประกันภัยมากขึ้น และได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันภัยครบถ้วน รวดเร็ว และเป็นระบบ
             (4) มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน กลไกการตลาด กฎเกณฑ์กติกา และบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้ธุรกิจประกันภัยสากล สามารถแข่งขันกันพัฒนาศักยภาพคุณภาพ การดำเนินการ และการบริหารจัดการได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม และไม่มีการผูกขาด
              (5) องค์กรกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศ มีความอิสระและการบริหารจัดการที่ดี เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ บุคลากรมีความรู้ ทักษะเชี่ยวชาญสูง ทันโลก ทันสมัย มีขีดสมรรถนะที่ดีพร้อมเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์                                

 

[1] อำนวย สุภเวชย์ . คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย.
พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร : บริษัท สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991 จำกัด . 2551 .
 
หมายเลขบันทึก: 343052เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท