เมื่ออัมพฤกษ์มาเยือน


การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมะหม้าจึงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

          “ในแต่ละวันถ้าจะวัดระยะทางในการเขยิบไปมาภายในบ้านคิดว่าน่าจะเป็นกิโลเห็นจะได้ จะทำอะไรก็ขัดใจ รู้สึกอึดอัด” เป็นคำพูดของหญิงวัย 70 ปี

          มะหม้าเป็นเบาหวานมา 18 ปี มารับบริการในคลินิกเบาหวานโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์เป็นประจำ ขาดนัดบ้างเป็นบางเดือนแต่ก็รับประทานยาสม่ำเสมอ ในเรื่องการปฏิบัติตัว มะหม้าควบคุมอาหารได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะควบคุมไม่ได้ น้ำตาลมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  และจะได้เข้ากลุ่มช่วยเหลือกันเอง อยู่เป็นประจำ จากการพูดคุยในกลุ่ม มะหม้าจะทราบปัญหาของตนเองเมื่อเพื่อนในกลุ่มที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้มาคุยให้ฟัง  มะหม้าบอกว่าจะพยายามลดน้ำตาลให้ได้ ข้าพเจ้าพยายามเสริมพลังให้มะหม้าในเรื่องการควบคุมคุมอาหาร และการออกกำลังกาย มะหม้าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงได้หลังจากเข้ากลุ่มได้ 2-3 เดือนถัดมา  แต่ยังอยู่ในระดับ สูงมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  หลังจากนั้นน้ำตาลในเลือดเริ่มสูงอีก  มะหม้าเป็นคนชอบทำ อาหารและทำได้อร่อย  เป็นคำชมของเพื่อนบ้านที่ข้าพเจ้าได้ยินอยู่เป็นประจำ  มะหม้ามีชื่อเสียงในการทำอาหารติดอันดับในหมู่บ้าน เมื่อมีงานในหมู่บ้าน มะหม้าต้องเป็นแม่ครัวใหญ่เป็นประจำ ด้วยนิสัยที่เป็นคนที่ชอบทำอาหารของมะหม้า ทำให้มะหม้าชอบสรรหาอาหารมาทำและรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยอยู่เสมอและไม่สามารถควบคุมอาหารได้สักที

           และแล้ววันนั้นก็มาถึงวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของมะหม้า วันนั้นเป็นวันเริ่มถือศิลอดเดือนรอมฎอน  มะหม้าเริ่มมีอาการชาปลายมือ จะหยิบแป้งทำขนมก็หยิบไม่ติด หยิบแล้วหล่น หยิบแล้วหล่น จากนั้นก็เริ่มยกแขนไม่ขึ้นจนกระทั่งชาถึงขาข้างซ้าย  ในที่สุดก็ไม่สามารถขยับแขนและขาได้

          ข้าพเจ้าได้ถามมะหม้าจากการได้ไปเยี่ยมมะหม้าครั้งแรก ในช่วงเดือนแรกที่มะหม้าเริ่มเป็นอัมพฤกษ์ มะหม้ายิ้มรับด้วยความดีใจ มะหม้ารู้สึกอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มะหม้าเล่าด้วยน้ำเสียงชัดเจนและหนักแน่นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็เกิดจากการไม่ยอมควบคุมอาหาร ไม่ออกกำลังกาย ทั้งที่ทั้งหมอและพยาบาล ได้แนะนำ ได้สอน แต่ยังดื้อ เอาแต่ใจตนเอง ไม่ยอมเอาชนะใจตนเอง กินทุกอย่างที่อยากจะกิน  ผลที่เกิดขึ้นก็มาตกที่ตัวเราเองนั่นแหละ อัลเลาะห์ก็ทำให้เห็นแล้วกับสิ่งที่เราได้ทำลงไป

           มะหม้าเริ่มเป็นอัมพฤกษ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2552  ข้าพเจ้าพูดคุยถามความรู้สึก ให้กำลังใจ  แนะนำการ ควบคุมอาหาร  สอนวิธีจัดอาหารควบคุมน้ำตาล  และการออกกำลังกาย  ด้วยวิธีการชักรอกให้ลูกมะหม้า  ลูกของมะหม้าก็กระตือรือร้นจัดการทำให้ในวันต่อมา  ซึ่งในช่วงนี้ลูกๆทุกคนให้ความเอาใจใส่และเป็นกำลังใจให้มะหม้าตลอดถึงแม้ลูกบางคนเลิกงานตอนกลางคืนยังอุตส่าห์แวะมาเยี่ยมมะ “มะหม้าพูดด้วยความภาคภูมิใจในตัวลูกๆทุกคน  เมื่อข้าพเจ้าได้เจอกับลูกๆของมะหม้า ก็จะถามถึงมะหม้าทุกครั้ง และพยายามเสริมแรงให้ลูกมะหม้าคอยเป็นกำลังใจและคอยกระตุ้นให้มะหม้าได้ออกกำลังกายและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด  อาการมะหม้าค่อยๆดีขึ้นตามลำดับจากเดิมขยับแขนขาซ้ายไม่ได้ก็สามารถยกได้เล็กน้อย มะหม้าบอกว่าอยากจะดีขึ้นจะได้ไม่เป็นภาระให้ลูกมากเกินไป อย่างน้อยก็ได้ช่วยเหลือตัวเองบ้าง และที่สำคัญโรคนี้เป็นแล้วหายยาก อาจจะดีขึ้นได้แต่ส่วนใหญ่ไม่เหมือนเดิม แต่มะขอเพียงให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบ้าน ลูกๆจะได้ไม่ต้องมาเฝ้าตลอดเวลาก็นับว่าเพียงพอแล้วสำหรับมะ  ลูกๆได้ไปทำมาหากินอย่างสบายใจไม่ต้องมีใครมาว่าปล่อยให้มะอยู่ตามลำพัง ข้าพเจ้าได้แนะนำให้ลูกของมะหม้าทำราวสำหรับหัดยืน  ลูกของมะหม้าให้เพื่อนที่เป็นช่างที่โรงแรมมาช่วยทำให้ ไม้ก็เอาจากที่เหลือจากการก่อสร้าง มะหม้าจึงมีราวสำหรับยืนและหัดเดินโดยไม่ต้องจ่ายเงิน  มะหม้ายิ้มอย่างภาคภูมิใจ   มะหม้า เปลี่ยนแปลงตนเองอย่างเอาจริงด้วยการควบคุมอาหาร  จากเดิมมะเคยกินข้าวมื้อละ 2 จานพูนตลอด กับข้าวก็เป็นอาหารอร่อยๆทั้งนั้นมีพร้อมทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา  แต่ตอนนี้มะกินข้าวเพียง 1/3 ของจานที่มะเคยกิน แล้วกินผักลวกเป็นถ้วย น้ำพริกก็เปลี่ยนสูตรใหม่ใส่กะปิ เท่าปลายนิ้วหัวแม่มือ แล้วก็กินแต่ปลา ถ้ามีใครเอา หอย ปู ปลาหมึกมาให้  หรือใครซื้อมามะหม้าบอกว่า  เมินไปเลยคนในบ้านจะกินอะไรมะก็ไม่กิน  มะจะกินเฉพาะ ที่มะกินได้  ในบางครั้งลูกตักข้าวเกินปริมาณที่กินอยู่เป็นประจำเพราะลูกกลัวมะกินไม่อิ่ม  มะก็จะไม่กิน  มะก็เข้าใจลูกแต่พอมะกินตามปริมาณของมะ ลูกก็ตักตามปริมาณนั้นเอง  เมื่อก่อนมะน้ำตาล  200 กว่า  ตอนนี้เหลือแค่ 85 เองมะว่าได้ผลจริงๆ

          เมื่อมีเพื่อนบ้านมาเยี่ยมเขาก็บอกว่าให้กินๆไปเถอะอย่าไปควบคุมให้ทรมาน มะหม้าบอกว่าจะรู้สึกโกรธมากที่เขาคิดอย่างนั้น  อยากจะบอกเขาว่าคนที่ไม่เป็นก็น่าจะคุมให้ดีตั้งแต่แรกจะได้ไม่เป็น  ทุกอย่างป้องกันดีกว่ามาแก้ไข

           การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมะหม้าจึงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ข้าพเจ้าจึงขออนุญาตมะหม้าในการนำการปรับพฤติกรรมของมะหม้ามาคุยให้ผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ากลุ่มช่วยเหลือกันเอง  มะหม้ายิ้มด้วยความดีใจและบอกว่า  “เอาไปเลย เอาไปบอกคนอื่นเขาจะได้ไม่เป็นอัมพฤกษ์เหมือนอย่างมะ”

 

                                                                                      รจนา  จันทรักษ์

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 343292เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2010 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 08:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท