คุณลักษณะผู้บริหารที่ดี


ผู้บริหารที่ดี ต้องมีความปรีชาสามารถ และองอาจสง่างาม

คุณลักษณะของผู้บริหารที่ดีตามแนวคิดของข้าพเจ้ามีดังนี้

1.1   การรู้จักพัฒนาตนเอง  ผู้บริหารต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ รักความก้าวหน้า หมั่นศึกษาค้นคว้า    เพื่อพัฒนาตนเองให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง  ด้วยสังคมปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้     เปิดกว้างสำหรับทุกคน บุคลากรในโรงเรียนส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ผู้บริหารจึงควรพัฒนาตนเองในด้านการศึกษาให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารการศึกษา ทั้งนี้มิใช่เพียงเพื่อปริญญาเท่านั้นแต่เพื่อให้เป็นผู้ทรงภูมิรู้   มีความคิดที่ก้าวไกล สามารถนำพาสถานศึกษาไปสู่เป้าหมายปลายทางได้อย่างเป็นระบบ และรวดเร็ว โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างประหยัด คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

1.2  เก่งและมีวิสัยทัศน์  หมายถึง การเป็นผู้บริหารที่มีความรอบรู้ คือ รู้จริง  รู้กว้าง รู้ลึก    ของทุกเรื่องในระบบการบริหารงานของโรงเรียนที่รับผิดชอบ  สามารถมองเห็นภาพความสำเร็จ  ในอนาคตขององค์กรได้  ผู้บริหารจะต้องมีความเก่งทั้ง 3 ประการ  คือ เก่งตน   เก่งคน  และเก่งคิด  เป็นคุณลักษณะสำคัญที่ผู้บริหารทุกคนพึงมี  บุคคลที่บริหารงานสำเร็จ          ตามเป้าประสงค์ได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติในการครองตน  ครองคน รู้จักธรรมชาติ จุดเด่น จุดด้อยของผู้ร่วมงาน และครองงาน รู้จักการวางแผนงานที่รัดกุมชัดเจน   ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้มองเห็นแนวทางในการพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างเป็นระบบและประสบผลสำเร็จในอนาคตได้

1.3   เป็นยอดนักจัดการ   ความสามารถในด้านการบริหารจัดการที่ผู้บริหารพึงมีคือ การมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการทั้งคนและงาน  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริหารตัดสินใจบริหารจัดการ   ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  รวมไปถึงการบริหารจัดการและวางแผนงานทุกด้านในโรงเรียนได้อย่างเป็นระบบ  มีความสามารถวัดและประเมินผลงานได้อย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ  พร้อมทั้งรายงานหน่วยงานต้นสังกัดได้ทันตามกำหนดเวลา  มีระบบงานสารสนเทศ  ที่เป็นปัจจุบันและทันสมัย  สามารถสืบค้นข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจสั่งการ      ได้ทันเหตุการณ์  ทั้งนี้การบริหารจัดการงานทุกอย่างล้วนมีเป้าหมายสูงสุด ที่การยึดประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดแก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.4        เป็นผู้ประสานที่ดี  ในโรงเรียนหนึ่งๆ  จะมีคน 10 คนหรือ 100 คนก็เหมือนกันคือ ผู้บริหารจะต้องทำงานกับคน  แต่ที่ไม่เหมือนกันคือ  ผู้บริหารคนใดจะสามารถประสานให้คนเหล่านั้นเข้ากันได้มากที่สุดเท่านั้น ถ้าผู้บริหารมีเทคนิค มีความสามารถในการครองใจคนโดยใช้หลักการ “ประสานใจสู่การประสานคน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว  สิ่งที่จะได้ตามมา   คือ       ความสามัคคีในหมู่คณะที่จะรวมพลังกันขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านการศึกษาสู่ ความสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์

1.5  รู้จ้กนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมนำใช้  ยุคนี้เป็นยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ เราสามารถย่อโลกกว้างใหญ่    มาไว้ตรงหน้าเราได้  ผู้บริหารจึงไม่ควรละเลยหรือมองข้ามคุณค่าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการ  ควรนำมาปรับเปลี่ยนหรือประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานที่รับผิดชอบให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบของการคิดค้น จัดหา ผลิตสื่อ เครื่องมือ เทคนิควิธีการต่าง ๆ อย่างหลากหลาย โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนและองค์กร

1.6       ฉับไวแก้ไขสถานการณ์ มีทักษะการตัดสินใจท่ามกลางความวิกฤต  จากความเคลื่อนไหวของสังคมรอบด้านภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้ผู้บริหารต้องพัฒนาตนเองและเปิดใจยอมรับในความสำคัญของข้อมูลสารสนเทศและนำมาใช้เพื่อการตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์หรือวิกฤตต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น    การตัดสินใจที่ผิดพลาดย่อมนำมาซึ่งการสูญเสียผลประโยชน์ เสียทรัพยากร  เสียโอกาส  ตลอดจน     เสียความรู้สึกที่ดี หรือแม้กระทั่งเสียความมั่นใจในตนเองไป  ซึ่งไม่อาจจะเรียกกลับคืนมาได้   การคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับผู้เรียนและส่วนรวมก่อนการตัดสินใจ การเลือกสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างฉับไวทันต่อสถานการณ์และอยู่ในเวลาที่กำหนด จึงเป็นคุณลักษณะสำคัญยิ่งที่ผู้บริหารพึงมี

1.7       พัฒนางานอย่างสร้างสรรค์   มีวิธีจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ จะต้องรู้จักมองหลายๆ ด้านซึ่งก็จะพบความแตกต่าง มีการคิดหรือวางแผนการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงศักยภาพพื้นฐานขององค์กร และความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้สูงขึ้นในระดับที่คาดหวัง ทั้งนี้จะต้องเกิดจากการร่วมมือของทุกคนที่เกี่ยวของอย่างแท้จริง ใช้ระบบประชาธิปไตยในการทำงาน ยอมรับ  ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ตระหนักในปัญหาและความจำเป็นของโรงเรียนที่จะต้องพัฒนา วางแผนร่วมกัน แผนงานที่วางไว้ต้องสามารถปฏิบัติได้จริง และเน้นผลถาวร ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความสำเร็จอยู่ที่ผู้บริหารสามารถพัฒนางานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ความทุ่มเท เสียสละและเต็มใจปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง  เต็มความสามารถของบุคลากรในองค์กร

1.8   ยึดมั่นประโยชน์ผู้เรียนเป็นหลัก  งานทุกงานในโรงเรียนล้วนเป็นฟันเฟืองที่ทำงานเกี่ยวพัน              และต่อเนื่องกันเพื่อประโยชน์สูงสุด คือ พัฒนาผู้เรียนให้ ดี เก่ง และการเรียนรู้อย่างมีความสุข   ตามศักยภาพแห่งตน การตัดสินใจทำงานใด ๆ ในโรงเรียนจึงต้องคำนึงถึงจุดนี้เป็นหลัก หากงานนั้นทำให้ “ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ แท้จริง ” ได้ นั่นคือ สิ่งที่ผู้บริหารควรกระทำเป็นลำดับแรก  ผู้บริหารจึงควรตระหนักและปลุกจิตสำนึกของบุคลากรและเพื่อนร่วมงานให้เห็นคุณค่าของการพัฒนาผู้เรียน  นำพาให้ทุกคนปฏิบัติงานทุกอย่างภายใต้อุดมการณ์นี้      อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดผลเชิงประจักษ์

1.9  รู้จักปรับเปลี่ยนเพื่อการพัฒนา  บางครั้งมุมมองใหม่ในสถานการณ์เดิม อาจส่งผลให้เกิด   การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้  ผู้บริหารควรเป็นผู้ฉับไวในการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส หรือฉกฉวยโอกาสที่จะพัฒนาองค์กรได้ทุกสถานการณ์  การตระหนักในปัญหา และรู้เท่าทัน     การเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบด้าน การมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  จะส่งผลให้ผู้บริหารสามารถวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนดำเนินกิจกรรมได้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต  ได้อย่างสร้างสรรค์

1.10  เก่งวิชาการ   งานวิชาการคือ หน้าที่หลักหรือเป็นหัวใจของโรงเรียน ผู้บริหารจะละเลยยกให้ครูทำหน้าที่กันไปตามมีตามเกิดไม่ได้  เพราะผู้บริหารคือผู้นำ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ด้านวิชาการในระดับที่สามารถให้คำปรึกษาแนะนำแก่ ครูในโรงเรียนได้ ซึ่งความรู้เหล่านี้หาได้ไม่ยากทั้งจากการสนทนาแลกเปลี่ยน การเข้ารับการฝึกอบรม  การศึกษาดูงาน การศึกษาจากเอกสาร ตำรา การสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตหรือแม้แต่การทดลองสอนจริงในชั้นเรียน ล้วนเป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดความรอบรู้แตกฉานในด้านวิชาการทั้งสิ้น เมื่อผู้บริหารเชี่ยวชาญวิชาการ มีการสังเกตชั้นเรียน นิเทศการสอน ตรวจแผน        การสอน อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาแล้ว ก็ย่อมรู้เทคนิค วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ดี และเหมาะสม สามารถให้คำปรึกษาแนะนำที่ดีแก่ครูและเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง ครูเองก็จะต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข ตลอดจนพัฒนาตนเองให้สามารถทำงานในหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น    ตามคำชี้แนะของผู้บริหาร ผลดีที่จะตามมาก็คือ การได้รับการถ่ายทอดความรู้ ทักษะกระบวนการ และเจตคติที่ดีของนักเรียนนั่นเอง  

1.11   ผู้ร่วมงานรักใคร่  การที่จะบริหารงานบุคลากรเพื่อนำไปสู่การพัฒนางานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น จะต้องมีเทคนิคด้านการจูงใจเป็นสำคัญ  ผู้บริหารจะต้องพูดจริง ทำจริง มีความจริงใจ และอย่าคิดว่าเราสูงกว่าเขา ให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน สร้างความรู้สึกในความเป็น เจ้าของร่วมกันขององค์กร  ไม่ลืมสิ่งสำคัญคือการบำรุงขวัญ ชีวิตและจิตใจ การมีน้ำใจ การเห็นอกเห็นใจผู้ร่วมงาน เป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่เยี่ยมยอด ความรักใคร่ของผู้ร่วมงานทุกคน   ที่มีต่อผู้บริหารเป็นการนำมาซึ่งพลังแห่งความร่วมมือเพื่อการสร้างสรรค์องค์กร ดังคำกล่าวที่ว่า   “ได้ใจ ได้คน ได้งาน ”

1.12   รู้จักใช้กระบวนการวิจัยในการพัฒนางาน  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 4 มาตรา 30 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า  “ผู้บริหารต้องสนับสนุนให้ครูทำวิจัยและใช้วิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนางาน”  ผู้บริหารจึงควรพัฒนาตนเองให้มีความรู้งานด้านการวิจัย สนับสนุนให้บุคลากรทำงานวิจัยด้านการศึกษาและนำข้อความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาพัฒนาผู้เรียนและองค์กร พร้อมทั้งสามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นแนวทางการปฏิบัติงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ทำ  อันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ แก่หน่วยงานทางการศึกษาต่อไป

1.13  ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี  หากผู้บริหารประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ และค่านิยมที่ดีในตนเอง     ย่อมนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาของบุคลากรทุกฝ่ายทั้งในและนอกสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี  การสร้างแรงบันดาลใจสู่ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคมแห่งการศึกษา การทุ่มเทพลังกาย พลังใจให้กับงานอย่างเต็มที่ เต็มเวลา เต็มความสามารถ  เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อยังประโยชน์ของส่วนรวม และยึดหลักแห่งความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แบบอย่างที่ดีหรือเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ผู้บริหารในยุคปัจจุบันควรนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติตนเพื่อความสำเร็จของการบริหารหน่วยงาน

       หากผู้บริหารมีคุณลักษณะครบทั้ง 13 ประการดังที่กล่าวมาแล้ว  ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้บริหารที่มีคุณลักษณะที่ดี  มีความปรีชาสามารถ  มีความองอาจสง่างาม  มีคุณธรรมจริยธรรม และมีจิตวิญาณความเป็นผู้บริหาร   และย่อมส่งผลให้สถานศึกษามีคุณภาพและประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่งและมีความสุขไปด้วย สมดังเจตนารมย์ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้อย่างแท้จริง หากยังไม่ครบ หรือขาดด้านใดด้านหนึ่ง ก็มิใช่เรื่องยากที่จะปรับปรุงพัฒนาศักยภาพด้านนั้น ๆ ให้สูงขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นคุณลักษณะของผู้บริหารบางประการ เพื่อความสมบูรณ์ของระบบการทำงานจึงถือเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ผู้บริหารสามารถทำได้แน่นอน ทั้งนี้มิใช่เพื่อพัฒนาตนเป็นผู้นำที่เก่งที่สุด มิใช่เพื่อให้สังคมยกย่อง แต่เพื่อให้สถานศึกษาของท่านพัฒนางาน อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล และส่งผลดีในการที่จะนำพาเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติไปสู่เป้าหมายของการจัดการศึกษา คือ ผลิตคนที่มีคุณภาพออกมาสู่สังคมไทยได้อย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 344724เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท