เพิ่มพลัง AI ให้แรงด้วย "พลังซัก"


Appreciative Inquiry

ความท้าทายสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการทำ Appreciative Inquiry ให้ได้ผลคือ “การพยายามทำตามตำราของฝรั่ง” ครับ เอาล่ะครับ ไม่ทำตามตำราแล้วจะให้ทำตามใคร เช่น ถามตามตำราเผ๊ะ แปลออกมา แล้วเอาไปถามคนไทยเลยกลับค้นพบว่า “คนตอบงง” หลายคนแปลตามตำรา พอเอามาทำจริงกลับได้ AI ที่เอาไปขยายผลไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำใหม่ เช่นถามออกมาว่าอะไรเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดตั้งแต่ทำงานที่นี่มา ก็ได้คำตอบออกมาในแนวที่ “ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม” เอาล่ะครับ แล้วจะเอาไปทำอะไรต่อครับ คำตอบดีๆ แบบนี้ หลายคนเจอลูกนี้ก็หลงครับ ได้คำตอบ อยู่ในที่ประชุมตื่นเต้นกับบรรยากาศที่ดี แต่พอเริ่มให้กลุ่มเริ่มทำ 3 D ที่เหลือ ก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อ บางที่ก็ทำไปตามขั้นตอนจนจบ แต่ได้แผนที่เอาไปทำจริง ไม่ได้อีกครับ

สำหรับตัวอย่างนี้ถ้าเป็นผม ผมจะแนะให้ซักต่อในเชิงเป็นจุดเปลี่ยนครับ เช่นจะให้ถามต่อว่า “วันไหน วินาทีไหน ที่เกิดภูมิในที่สุดที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน วันนั้นตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น” หรือ ถามซักโดยเน้นหาจุดเปลี่ยน เช่น “เอาล่ะช่วยขยายความหน่อยสิครับ ให้เล่าจุดเปลี่ยนนิดหนึ่งว่าเกิดอะไรขึ้นจากภาวะที่เราเฉยกับทีม แล้วเราเกิดรู้สึกภูมิในในทีมขึ้นมา” ประมาณนี้ครับ การถามแบบนี้จะได้อะไรที่ชัดเจนเอาไปขยายผลได้จริงครับ

 อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกทม ผมไปช่วยอาจารย์ของผมที่ม.อัสสัมชัญ เป็นกระบวนกรใช้ AI ในการพัฒนาแผนกลยุทธ์ให้โรงเรียน ก็ทำกันตามปรกติ มีคนเข้า 200 ครับ เช้าก็ทำ AI Summit บรรยากาศดีมาก พอบ่ายก็กระบวนกรแต่ละคนก็พาคุณครูเข้าห้องเล็กๆ เพื่อทำแผนของชั้นปี ผมประจำอยู่ห้องครูป. 1 ก็ระดมสมองทำ AI ต่อครับ เป็นการเอาสิ่งที่ค้นพบในตอนเช้าเอามาทำเป็นแผนครับ ก็เห็นแววครับว่าทำต่อไม่ได้ เพราะมีสิ่งที่ค้นพบในตอนเช้าตัวหนึ่งที่ทั้งหมดสรุปกันมาคือ “สอนให้เด็กมีคุณธรรม” พอจะเอามาทำเป็น Dream ก็จะได้เหมือนกัน คือ “เราต้องสอนให้เด็กคุณธรรม” พอถึง Design คราวนี้แหละครับ ไม่รู้จะทำยังไง

 

ตรงนี้ผมเลยให้ทำ AI ตรง Design กันอีกครับ โดยยกตัวอย่างให้คุณครูที่เป็นกระบวนการฟัง โดยถามเขาว่า “คุณครูครับ สมัยเด็กๆ อะไรเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องคุณธรรมของคุณครูครับ ช่วยเล่าประสบการณ์ที่ดีที่สุดของคุณครูมาด้วย” คุณครูก็เล่าว่า “เด็กๆ ผมชอบไปวัดกับคุณยาย มีครั้งหนึ่งไปเจอหลวงพ่อ หลวงพ่อสอนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการให้ทาน วันต่อมาผมเลยเอาของเล่น ของกินไปแบ่งปันเพื่อน ผมรู้สึกดี มีความสุขครับ ตั้งแต่นั้นมาผมก็ชอบแบ่งปันให้กับคนอื่นก่อน ทำให้ผมมีนิสัยดีๆอย่างนี้ติดตัวมาถึงปัจจุบัน”

จับภาพตรงนี้นะครับ ผมเลยบอกนี่ละครับคุณครู นี่คือแนวทางล่ะการปลูกฝังคุณธรรมเรื่องการให้ทาน ลองขยายผลทำ Design อย่างนี้ครับ เช่นอาจออกแบบกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม ให้นักเรียนร่วมวางแผนกัน คิด “การให้ 10 อย่าง” ที่จะทำให้เพื่อน และคุณครูภายในสองเดือน จากนั้นแต่ละสัปดาห์ให้ผลัดกันออกมาเล่าความรู้สึกกับคุณครูและเพื่อนๆ ครับ ปรากฏว่าการทำ AI ซ้อน AI แบบนี้คุณครูชอบมาก ทำให้ต่อยอดออกแบบ กิจกรรมเอาไปทำได้จริงได้ง่ายกว่าเดิมครับ  นี่คือการทำ AI แบบพวกเราครับ แต่ก่อนก็ทำตามตำราเป๊ะ โครงการแรกก็รู้ว่ามันเอาไปทำต่อไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เราทำกันมาแล้วได้ผลครับ เราผสม Appreciative Inquiry (AI) กับ Appreciative Coaching (AC) ครับ แนวนี้ล่ะครับ

สรุปครับการทำ AI+AC คือไม่ว่าจะขั้นไหน สิ่งที่ต้องทำคือ “ซักจนได้คำตอบที่เป็นรูปธรรมครับ” ไม่งั้นจะได้อะไรที่ดี แต่ลอยๆ เอาไปทำอะไรไม่ได้ครับ เอามันทุก D เลยครับ จะต่อยอดได้ตรงเป้า และเอาไปใช้ได้ผลจริงครับ

คุณล่ะคิดอย่างไร

คำสำคัญ (Tags): #appreciative inquiry
หมายเลขบันทึก: 345152เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2010 06:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีครับท่านอาจารย์ ดร.โญ มาร่วม คิด สร้างสรรค์ พัฒนาสังคมไท ให้ไกล อวิชชา ครับ

  • ช่วงนี้ 17-19 มี.ค.53 ผมอยู่วังยาง นครพนม
  • ผมมาคิดค้นกระบวนการเรียนรู้การแก้ไขปัญหาของชุมชนที่นี่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกินโดยสภาองค์กรชุมชนตำบลครับ
  • เป็นการศึกษาเรียนรู้ร่วมกับชาวชุมชน ซึ่งประยุกต์หลักAIใช้กับชาวบ้านครับ
  • เวลาถามชาวบ้านมักจะตอบว่า "จั๊ก"  "มืดตื้บ"ต้องค่อยๆตั้งคำถามเรื่องความสำเร็จเล็กๆใกล้ๆตัว  แล้วค่อยๆขยับจากแกนนำขยายสู่ขบวนชาวบ้านจากเนื้องานเชิงรูปธรรมการแก้ไขปัญหา

สวัสดีคุณสุเทพ

อาจใชเทคนิค Snow ball sampling ช่วย เดี๋ยวเล่าให้ฟังตอนต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท