สำนักงานเกษตรอำเภอแวงใหญ่
สำนักงานเกษตรอำเภอแวงใหญ่ สำนักงานเกษตรอำเภอแวงใหญ่

การปลูกข้าว


ที่มาของข้อมูล สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น

การปลูกข้าว
นิยมปลูก 2 วิธี คือ ปักดำ และหว่านข้าวแห้ง

1. การปลูกข้าวแบบปักดำ
     คือ การทำนาโดยการตกกล้าแล้วนำต้นกล้าไปปักดำในแปลงนาที่เตรียมไว้
ขั้นตอนการปฏิบัติการทำนาแบบปักดำ
1.1 การเตรียมแปลงกล้า
     1.1.1 ไถดะ ประมาณกลางเดือนมิถุนายนแล้วปล่อยทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อให้วัชพืชงอก
     1.1.2 ไถแปร คราด ทำเทือก และเก็บวัชพืชออก
1.2 การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว
     1.2.1 เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ทำพันธุ์ควรเปลี่ยนทุก 3 ปี
     1.2.2 คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากสิ่งเจือปนต่างๆ ได้แก่ ข้าวปน เมล็ดวัชพืช และความผิดปกติของเมล็ดถ้ามีมากให้เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ใหม่
     1.2.3 ความงอกของเมล็ดต้องสูงกว่า 80% ทดสอบโดยใช้กระดาษชำระหรือเศษผ้าวางในจานวางเมล็ด 100 เมล็ด หยดน้ำให้ชุ่มแล้วเก็บไว้ในที่ร่ม คอยเติมน้ำให้ชุ่มเสมอภายใน 7 วัน ตรวจดูเมล็ดถ้างอกมากกว่า 80 เมล็ด ใช้อัตราเมล็ดหว่านกล้าตามปกติ ถ้าน้อยกว่า 80 เมล็ด จะต้องเพิ่มเมล็ดที่จะหว่านกล้าให้มากขึ้น ถ้างอกน้อยกว่า 60 เมล็ด ให้เปลี่ยนพันธุ์ใหม่
1.3 การเตรียมเมล้ดหว่านกล้า 
     1.3.1 กำหนดเวลาให้เมล็ดงอกและสามารถนำไปหว่านกล้าได้เมื่อเตรียมแปลงกล้าเสร็จพอดี
     1.3.2 เอาเมล็ดที่เตรียมไว้ใส่กระสอบป่านหลวมๆ นำไปแช่น้ำ 1 คืน หุ้ม 1-2 คืน ขณะหุ้ม หมั่นรดน้ำ และพลิกกระสอบเพื่อให้เมล็ดงอกสม่ำเสมอ
1.4 การหว่านกล้า

  

     1.4.1 แบ่งแปลงกล้าเป็นแปลงย่อย กว้าง 1.0 - 1.5 เมตร ยาวไปตามทิศทางลมให้มีการระบายอากาศดีเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นกล้าเป็นโรคได้ง่าย
     1.4.2 อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ 5 - 10 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 100 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
     1.4.3 หว่านเมล็ดที่เพาะไว้ลงในแปลงกล้าให้สม่ำเสมอ ถ้าท้องที่มีนก หนู มากหรืออยู่ในช่วงฝนตกให้ลูบเมล็ดข้าวจมลงในแปลงเสมอหน้าดิน จะช่วยลดความเสียหายจากสาเหตุดังกล่าว
1.5 การดูแลแปลงกล้า

     1.5.1 หลังหว่านกล้าต้องรดน้ำแปลงกล้า เช้า - เย็น หรือให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ และรักษาระดับน้ำให้สม่ำเสมอ ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำให้ใส่ปุ๋ย 16-20-0 หรือ 16-16-8 อัตรา 20 กรัม/ตารางเมตร
1.6 การดูแลรักษา
     1.6.1 การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1
               - ดินเหนียว ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ไร่ละ 20 กิโลกรัม (หว่านปุ๋ยแล้วคราดให้ปุ๋ยจมลงดินก่อนปักดำ 1 วัน)
               - ดินทราย ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ไร่ละ 20 กิโลกรัม
     1.6.2 ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 (ระยะแตกกอ) ใส่ปุ๋ยสูตรเดิม (16-20-0 หรือ 16-16-8 ตามชนิดของดิน) ไร่ละ 5 กิโลกรัม หรือปุ๋ยยูเรียไร่ละ 5 กิโลกรัม โดยสามารถเน้นหว่านปุ๋ยบริเวณที่ข้าวไม่งามให้มาก เพื่อข้าวจะได้งามสม่ำเสมอกัน
     1.6.3 ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 (ระยะข้าวตั้งท้อง) ใส่ปุ๋ยยูเรียอีกครั้ง  อัตราไร่ละ 5 กิโลกรัม 
2. การปลูกแบบหว่านข้าวแห้ง
     การทำนาหว่านข้าวแห้ง เป็นการทำนาโดยหว่านเมล็ดข้าวแห้งลงไปบนแปลงนาทีไถพรวนเตรียมดินไว้อย่างดี อาจเป็นดินแห้ง หรือดินชื้น  แต่ไม่มีน้ำขังไม่ต้องย้ายต้นกล้าข้าวไปปักดำใหม่ ทำให้ประหยัดเวลาในการปักดำ
วัตถุประสงค์การทำนาหว่านแห้ง
     - เพื่อแก้ปัญหาสภาวะฝนทิ้งช่วง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูการ
     - เพื่อแก้ปัญหาการทิ้งนาร้าง เพราะไม่มีกล้าปักดำ หรือกล้าแก่เกินไป
     - เพื่อแก้ปัญหาขาดแรงงานในการปักดำ
     - เป็นการประหยัดแรงงานและเวลา  เพราะลดขั้นตอนในการเตรียมแปลงกล้า  เพาะกล้า  ถอนกล้า  และปักดำ
ขั้นตอนการปฏิบัติในการหว่านข้าวแห้ง
     2.1 การเตรียมดิน
            2.1.1 ไถดะหล้งฝนตกใหญ่ครั้งแรก  และรอให้วัชพืชงอก  หรืออย่างน้อยก่อนหว่านข้าว  15-20 วัน
            2.1.2 หลังจากวัชพืชงอกแล้ว  ไถแปรและคราด เพื่อย่อยดินให้มีขนาดเล็กพอเหมาะและกำจัดวัชพืชที่งอกแล้วให้หมด
     2.2 การเตรียมเมล็ดพันธุ์
            เตรียมเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอ  โดยปฏิบัติเช่นเดียวกันกับทำนาดำ
     2.3 การหว่าน
            หว่านเมล็ด  15 - 20 กิโลกรัม/ไร่  ให้กระจายสม่ำเสมอกันแล้วคราดกลบ  ระยะเวลาที่หว่านข้าวแห้งสามารถหว่านรอฝนได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  จนถึงระยะที่ฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม  ถึงกลางเดือนสิงหาคม
     2.4 การดูแลรักษา
            2.4.1 ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 (หลังข้าวงอก 20 กรัม)
                       - ดินเหนียว  ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ไร่ละ 20 กิโลกรัม
                       - ดินทราย ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-8  ไร่ละ 20 กิโลกรัม
            2.4.2 ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 (ระยะข้าวแตกกอ)  ใส่ปุ๋ยสูตร (16-20-0/16-16-8)  ไร่ละ  5  กิโลกรัม  หรือปุ๋ยยูเรียอัตราไร่ละ 5 กิโลกรัม โดยสามารถเน้นหว่านปุ๋ยบริเวณที่ข้าวไม่งามให้มาก  เพื่อข้าวจะได้งามสม่ำเสมอ
            2.4.3 ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 (ระยะข้าวตั้งท้อง) ใส่ปุ๋ยยูเรีย  ไร่ละ 5 กิโลกรัม 
ข้อควรพิจารณา
          1. การทำนาหว่านข้าวแห้งให้ได้ผล  จำเป็นต้องมีการเตรียมดินอย่างดี  ปรับพื้นที่ปลูกให้สม่ำเสมอ  สามารถกำจัดวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพ
          2. การใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งมากหรือน้อยกว่าที่กำหนดไว้ได้แต่ต้องให้ข้าวงอกงามพอดี  ไม่เฝือใบ  ใส่ปุ๋ยเมื่อมีน้ำขังในนา และควรกำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ยทุกครั้ง  ถ้าน้ำมากหรือดินแห้งควรเลื่อนการใส่ปุ๋ย
          3. เกษตรกรต้องหมั่นตรวจดูข้าวในนาอย่างสม่ำเสมอ  เมื่อมีปัญหาจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที  เช่น  ถ้ามีปัญหาโรค  แมลง  เล็กน้อย  ควรใช้สารสกัดจากพืชในการป้องกันกำจัดถ้ามีปัญหาซึ่งอาจจะทำความเสียหายให้แก่ข้าวอย่างรุนแรง  จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด  จึงจะใช้สารเคมี  ซึ่งจะต้องใช้ในอัตราที่แนะนำไว้ในขวดหรือกล่องบรรจุ
คำสำคัญ (Tags): #คู่มือชาวนา
หมายเลขบันทึก: 346650เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2010 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

              ข้อมูลที่ดีมากๆ  ขอบคุณมากนะคะ

       

        

        

       ก่อนจะมาเป็นเมล็ดข้าวให้เราหุง ชาวนาเหนื่อยน่าดูนะคะ

       แต่ก็น่าภูมิใจประเทศไทยของเรา ส่งข้าวออกมากที่สุดในโลก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท