ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

สันติวิธีบนเส้นทางสามแพร่งในสังคมไทยปัจจุบัน


สันติวิธีบนเส้นทางสามแพร่งในสังคมไทยปัจจุบัน
โดย
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
+++++++++++++++++++

 

๑. เกริ่นนำ 

                      นักการเมือง นักการศึกษา และนักวิชาการด้านสันติภาพในสังคมไทยได้นำเสนอคำว่า “สันติวิธี”  ในสังคมหลายมิติ และหลายสถานการณ์ด้วยกัน  เช่น ประเวศ วะสีได้แนะนำรัฐบาลเกี่ยวสถานการณ์ภาคใต้ว่า “รัฐบาลควรถอนกำลังทหารออกมา โดยปรับแนวทางแก้ปัญหาด้วยการใช้  ‘สันติวิธี’”[1]  หรือ กรณีที่ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ได้กล่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่า “อยากให้อโหสิกรรมกันและพยายามเจรจาด้วย ‘สันติวิธี’… และควรจะปรึกษาหารือกันด้วย ‘สันติวิธี’ ”[2]

                      ประเด็นที่น่าสนใจในสถานการณ์ปัจจุบันนี้คือ นักคิด และนักปฏิบัติการด้านสันติวิธีได้ตีความสันติวิธี และการปฏิบัติบนบาทฐานของสันติวิธีในแง่มุมที่หลากหลาย  ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้เกิดคำถามที่นำไปสู่การเขียนบทความในครั้งนี้ และพบคำตอบที่สำคัญว่า สันติวิธีในสังคมไทยปัจจุบันนี้ “เปรียบประดุจทางสามแพร่ง”  เพราะเป็น “สามแพร่ง” ที่มีแง่มุมในการตีความและการปฏิบัติที่มีลักษณะเหมือนกันและแตกต่างกันในบางประเด็น  และบางครั้งดูประหนึ่งว่า “ยากที่จะบรรจบ และค้นพบทางออกร่วมกัน”

                      การทำความเข้าใจสันติวิธีบนเส้นทางสามแพร่ง จะทำให้เราได้มองเห็นมุม หรือเหลี่ยมต่างๆ ของสันติวิธีที่เป็นพื้นฐานของการตีความและปฏิบัติการในบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันนี้ว่า  “สันติวิธีในเส้นทางสามแพร่งนั้นมีความหมายอย่างไร  และมีความเป็นมาอย่างไร   วิธีคิดและแนวปฏิบัติเหมือนกัน หรือสอดคล้องกันอย่างไร  มีแนวทางที่จะบรรสานสอดคล้องกันได้หรือไม่ อย่างไร

 

๒. แพร่งที่ ๑:  สันติวิธีในความหมายของนักสันตินิยม

                      “สันตินิยม” หมายถึง “แนวคิดหรือการกระทำที่ต่อต้านสงคราม  กระบวนการที่ว่าด้วยการต่อต้านสงครามนั้น เป็นการปฏิเสธรูปแบบของสงครามในทุกรูปแบบ”[3] เหตุผลสำคัญที่ต่อต้านเพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้สงครามเพื่อทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ อันเป็นการผิดกับหลัก     ทางศาสนา  ฉะนั้น  นักสันตินิยมได้แสดงออกว่า “ไม่เห็นด้วย” ในหลายรูปแบบ เช่น  การประท้วงด้วยการไม่ไปทำสงคราม หรือไม่ไปคัดเลือกด้วยด้วยวิธีการดื้อเพ่ง (Civil Disobedience)[4]  หรืออาจจะแสดงออกด้วยการประท้วง การทำสัญลักษณ์เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย การไม่ให้ความร่วมมือต่อรัฐในแง่มุมต่าง ๆ

                      ประเด็นสำคัญของวิธีนี้ก็คือการไม่ใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติการ  ถึงกระนั้น นักสันตินิยมบางกลุ่มได้สนับสนุน และหาทางออกให้แก่วิธีการเหล่านี้ด้วยการใช้ยุทธวิธีในการเจรจาเพื่อที่จะหยุดยั้งสงครามเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น[5]  อย่างไรก็ดี  นักสันตินิยมบางกลุ่มก็อาจจะเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในประเทศของตน   แต่นักคิดบางกลุ่มอาจจะเห็นด้วยกับการที่จะจัดคานธีอยู่ในกลุ่มสันตินิยมเพราะใช้หลักการดื้อเพ่งอันเป็นวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง[6] ในขณะที่นักคิดบางกลุ่มไม่เห็นด้วย เพราะการไม่ใช้ความรุนแรงของคานธีนั้น เป็นการนำไปใช้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ มิได้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านสงคราม และในขณะเดียวกันวิธีการดังกล่าวก็มิใช่วิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างประเทศต่างๆ แต่ประการใด

                      กระบวนการสันตินิยมอาจจะไม่สอดคล้องกับแนวคิดของคานธีทั้งหมด เพราะคานธีเองมิได้ปฏิเสธรูปแบบของสงคราม เพราะเขาเห็นด้วยในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้ ดังจะเห็นได้จากการที่เขาพยายามสนับสนุนอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยมุ่งหวังจะให้อังกฤษปลดปล่อยประเทศตนเองให้เป็นอิสระ      ซึ่งประเด็นนี้ทำให้นักสันติวิธีกลุ่มอื่น ๆ ไม่สามารถยอมรับได้ว่าคานธีเป็นหนึ่งในบรรดานักสันตินิยม

 

 

 

๓.  แพร่งที่ ๒:  สันติวิธีในความหมายของการปฏิบัติการที่ไร้ความรุนแรง

                      สิ่งที่คานธีมีความแตกต่างจากนักสันตินิยมกลุ่มอื่น ๆ ก็คือ การใช้ปฏิบัติการ                ไร้ความรุนแรง หรือ อหิงสา[7] เป็นเครื่องมือในการผลักดัน เพื่อเรียกร้องเอกราชจากประเทศอังกฤษจนประสบความสำเร็จ  จะเห็นว่าอหิงสานั้นจัดได้ว่าเป็นหลักการสำคัญที่เป็นแนวคิดเพื่อ                การปฏิบัติการโดยไร้ความรุนแรง อันเป็นการแสดงออกทั้งในเชิงบวก กล่าวคือ ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อศัตรู และเชิงลบคือ การไม่ทำร้ายศัตรูด้วยอาวุธ ซึ่งปฏิบัติการ หรือเครื่องมือสำคัญที่คานธีนำมาใช้ก็คือ “หลักสัตยาเคราะห์” หรือ การดื้อเพ่ง ( Civil Disobedience)[8]

                      ในขณะที่แนวคิดเรื่อง การไร้ความรุนแรง (Non-Violence)[9] การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นชุดของความเชื่อพื้นฐานเบื้องต้น (สมมติฐานเบื้องต้น) เกี่ยวกับศีลธรรม อำนาจ  และความขัดแย้งที่กลุ่มผู้สนับสนุนได้นำไปปฏิเสธการใช้ความรุนแรง  ในความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายทางการเมืองและสังคม   แนวคิดนี้ได้รับการประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินการแก้ไขความขัดแย้งโดยปราศจากการใช้ความรุนแรงในราวยุคกลางของศตวรรษที่ ๒๐

                      นักคิดปฏิบัติการไร้ความรุนแรงตามแนวนี้ที่มีชื่อเสียงคือ “ยีน ชาร์ป”    ชัยวัฒน์      สถาอานันท์ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวคิดนี้ว่า “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ถือกำเนิดภายในกระบวนทัศน์ที่ไม่ยอมรับว่าความรุนแรงเป็นวิถีทางเดียว หรือวิถีทาง “สุดท้าย”  ที่จะแก้ปัญหา   ข้อขัดแย้งต่าง ๆได้ หากแต่ถือว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นการต่อสู้แก้ไขข้อขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งในการเผชิญหน้ากับข้อขัดแย้งทางสังคมการเมืองประเภทต่าง ๆได้

                      ฉะนั้น จะเห็นว่า การปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของเขานั้นแตกต่างจากนักสันตินิยมคนอื่นๆ หรือการไม่ใช้ความรุนแรงของศาสนิกอื่น ๆ บางกลุ่มที่ไม่เพียงแต่จะชักจูงด้วยเหตุผลเท่านั้น หากแต่เป็นการกระทำบางอย่างที่ใช้วิธีการต่างกัน เช่น คนที่เคยเสียภาษีอาจจะไม่ยอมเสีย

                      ด้วยเหตุนี้เขาจึงเสนอปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ๓ วิธี คือ (๑) การประท้วง หรือชักจูงโดยไม่ใช้ความรุนแรง  (๒) การไม่ให้ความร่วมมือ (Noncooperation) ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง (๓) การแทรกแซงโดยไร้ความรุนแรง

                      การนำเสนอของ “ยีน ชาร์ป” ดังกล่าวนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่“แนวคิดเรื่องอำนาจ”  กล่าวคือ แนวคิด และการปฏิบัติการเหล่านั้น จะใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจที่ผู้นำได้ใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ประชาชนในสังคม  จะเห็นว่า การแสดงออกด้วยลักษณะต่าง ๆ เช่น  การไม่ดื้อแพ่ง และการไม่ยอมปฏิบัติตามรัฐในมิติต่าง ๆ นั้นก็เพราะต้องการที่จะทำลาย หรือลดทอนอำนาจของผู้มีอำนาจ

 

๔.  แพร่งที่ ๓:  สันติวิธีในความหมายของการจัดการความขัดแย้ง

                      ราชบัณฑิตยสถานให้คำจำกัดความในประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า  “วิธีที่จะก่อให้เกิดความสงบ”  เช่น “เจรจาสงบศึกโดยสันติวิธี”[10] วิธีการที่ไร้ความรุนแรง มุ่งให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม โดยที่ในตัวมันเองก็เป็นวิธีการซึ่งให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เราอาจจะเรียกวิธีการดังกล่าวว่า “สันติวิธี”[11]  ซึ่งสอดรับกับโคทม อารียา ที่นิยามว่า สันติวิธี หมายถึง วิธีการจัดการกับความขัดแย้งวิธีหนึ่ง” [12] โดยให้เหตุว่า “การใช้สันติวิธีเป็นวิธีการที่น่าจะมีการสูญเสียน้อยที่สุด ทั้งระยะสั้นระยะยาว ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ผิดกับการใช้ความรุนแรง”

                      ศ.นพ.ประเวศ  วะสีนิยามว่า “สันติวิธี…คือ การป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสภาพการใช้ความรุนแรงและสงคราม”  โดยให้เหตุผลว่า “ในการสงคราม ไม่ว่าในครั้งโบราณหรือในปัจจุบัน จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก            สิทธิมนุษยชนเป็นการเคารพในศักดิ์ และคุณค่าความเป็นคนทุกคน ต่อเมื่อมนุษย์มีจิตสำนึกในศีลธรรมพื้นฐานนี้จึงจะสามารถสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และยั่งยืนได้[13]

                      ในขณะที่ไพศาล วงศ์วรสิทธิ์ กล่าวว่า “สันติวิธีคือ วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง หรือตอบโต้ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อคู่กรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นการประทุษร้ายต่อร่างกายและชีวิต[14] แต่ถึงกระนั้นก็พยายามจะอธิบายว่า “บางสำนักมองว่า สันติวิธีจะต้องมี    ความรัก เป็นพลังผลักดันและเป็นตัวกำกับเอาไว้ด้วย จึงเป็นสันติวิธีที่แท้จริง  ตามนิยามนี้ สันติวิธีจึงหมายรวมถึง การเขียน การพูด การเจรจา การประชุมตกลงแก้ข้อพิพาท กระบวนการทางศาลและกฎหมาย” และ “อย่างไรก็ตามยังมีสันติวิธีอีกประเภทหนึ่งที่เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง เรียกว่า เป็นอุปกรณ์สำคัญของผู้ใฝ่สันติวิธีเลยทีเดียว นั่นคือ ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง”  ซึ่งประเด็นหลังนี้สอดรับกับแนวคิดของคานธีและยีน ชาร์ป

                      จะเห็นว่า แม้นักวิชาการทางศาสนา และสังคมได้ให้คำจำกัดความสอดคล้องกับ       “นักสันตินิยม” แต่จะเห็นว่า การวิเคราะห์ศัพท์ว่า “สันติวิธี” ในลักษณะนี้ค่อนข้างอิงกับศัพท์อหิงสา และการไร้ความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากคำว่า “ไร้ความรุนแรง” ในการให้ความหมาย

๕. สันติวิธีทั้งสามแพร่งจะสัมพันธ์กัน หรือบรรจบกันได้อย่างไร

                      เมื่อวิเคราะห์สันติวิธีทั้งในสามความหมาย กล่าวคือ สันตินิยม การปฏิบัติการที่ไร้ความรุนแรง และการจัดการความขัดแย้ง ผู้เขียนมองว่า การให้คำนิยามของราชบัณฑิตยสถานเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นการมุ่งเน้นที่วิธี “วิธีที่จะก่อให้เกิดความสงบ” โดยยกตัวอย่างว่า “เจรจา    สงบศึกโดยสันติวิธี” แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ คำว่า “ความสงบ” ในมิติของราชบัณฑิตยสถานน่าจะมีความหมายมากกว่าคำว่า “ไร้ความรุนแรง”  เพราะคำนี้แปลความออกมาจากคำว่า “สันติ”  ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงคำว่า สันติ  ซึ่งหมายถึง สงบนั้น จึงไม่ใช่สภาวะที่สงบเพราะไร้ความขัดแย้งแต่เพียงประการเดียว  หากแต่แฝงเร้นเอาไว้นัยอื่นอีกมากมาย

                      อย่างไรก็ตาม แม้สันติจะมีความหมายกว้าง แต่ผู้เขียนมองว่า นักคิดเหล่านี้พยายาม         ตีกรอบของคำว่า สันติให้จำกัดตัวอยู่ในคำว่า “ไร้ความรุนแรง” แต่เพียงประการเดียว ฉะนั้น หากกล่าวถึงคำว่า สันติวิธีจึงเป็นวิธีหรือชุดของวิธีในการจัดการความขัดแย้งโดยไร้ความรุนแรง  หรือไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการ หรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ หรือหากวิเคราะห์ตามนัยของราชบัณฑิตยสถานจะพบว่า “วิธีใดก็ได้ที่นำมาใช้แล้ว ก่อให้เกิดความสงบแก่บุคคล สังคม และโลก” ซึ่งความสงบในมิติของราชบัณฑิตยสถานอาจจะไม่ได้หมายเพียงแค่  “ไร้ความรุนแรง” แต่หมายถึง ต้องเป็นวิธีที่ชอบธรรม โปร่งใส  ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน และยุติธรรมกับทุกฝ่ายก็ได้

                      จะเห็นว่า การนิยามความหมายของ “อหิงสา” หรือ “สันตินิยม” หรือ “การไร้ความรุนแรง” ดังกล่าวแล้วนั้น คำว่า “สันติวิธี” สอดคล้องกับการให้ความหมายของคำทั้ง ๓ ในบางแง่มุมเท่านั้นเอง  เพราะเมื่อกล่าวถึงคำว่า “อหิงสา” กับ “สันติวิธี” ทั้งสองคำนี้อาจจะสอดคล้องกันในแง่ของการมุ่งเน้นไปที่ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ถึงกระนั้น วิธีการของอหิงสาซึ่งได้แก่สัตยาเคราะห์นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง หรือความขัดแย้งตามมา เพราะวิธีนี้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเกิดการสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ อันเนื่องมาจากการใช้วิธีการประท้วง การดื้อแพ่ง หรือวิธีการอื่น ๆ 

                      ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึง “อหิงสากับสันติวิธี” ชัยวัฒน์ สถาอานันท์จึงชี้ให้เห็นว่า “ปัญหาสำคัญในการพิจารณาแนวคิดด้านสันติวิธีคือ ควรพยายามแยกแนวทางของคานธีออกจากสันติวิธีแนวอื่น”[15] ซึ่งการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวสอดรับกับ “บทบรรณาธิการ” ของหนังสือ “ปฏิบัติการแห่งความรัก: ยุคสมัยแห่งความรุนแรง” ว่า

                      “อนึ่ง คำว่า ‘อหิงสาและสันติวิธี’ ที่ใช้ปะปนกันนั้น โดยส่วนใหญ่มักใช้ในความหมายเดียวกัน แต่อาจจะอนุโลมแยกความแตกต่างได้ว่า อหิงสาดูจะเป็นคำที่เน้นหนักในทางศาสนธรรม และให้ความหมายที่ลึกซึ้งถึงแก่นกว่า ในขณะที่สันติวิธีให้ความหมายไปในทางที่เป็นกระบวนการทางสังคม และการเมืองโดยตรง”

                      ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่มิได้มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขความขัดแย้งดังที่ อรุณ คานธี (Arun Gandhi) ซึ่งเป็นหลานของคานธีได้เสนอว่า “การปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของคานธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์สำหรับการแก้ไขความขัดแย้ง…    แต่เป็นวิถีแห่งชีวิต”[16]  ซึ่งสอดคล้องกับ Encyclopedia Britannica ที่มองว่าแนวคิดคานธีมุ่งไปที่ประเด็นเรื่องของการเรียกร้องเอกราชมากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง[17] ถึงกระนั้นผู้เขียนมองว่าข้อปลีกย่อยของคานธีนั้นก็ยังต้องพึ่งพาระบบการเจรจากับรัฐ    คำถามมีว่า เพราะเหตุไร อรุณ  คานธีจึงไม่ตระหนักว่า “กระบวนการในการเจรจา” นั้นเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไข ความขัดแย้งระหว่างคานธีกับรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอสิทธิ์ในการปกครองตนเอง

                      อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงกระบวนการของสันติวิธีมุ่งเน้นไปที่วิธีอะไรก็ได้  แต่วิธีนั้นต้องเป็นวิธีที่สงบ ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมตามมา เช่น  การพยายามหาทางออกด้วยการเจรจากัน หรือหาวิธีการในการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยใช้บุคคลที่สามเข้ามาช่วยเป็นต้น ฉะนั้น จะเห็นว่า อหิงสานั้นเป็นหลักการเพื่อ “ต่อสู้” อย่างสันติ  แต่   “สันติวิธี” เป็นวิธี “การจัดการความขัดแย้ง” อย่างสันติ แต่ประเด็นที่ผู้เขียนมองว่าสอดรับกันของแนวคิดทั้งสองก็คือ การใช้หลักสันติวิธีเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตของผู้ที่ปฏิบัติการสันติวิธีด้วย

                      ในขณะที่  “สันตินิยม” กับ “สันติวิธี”  มีบางแง่มุมที่สอดรับ และแตกต่างกัน เช่น     สันตินิยมอาจจะยอมรับได้กับวิธีการในการใช้ความดื้อแพ่ง  การประท้วง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้สงครามเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  สันตินิยมบางกลุ่มก็เห็นด้วยกับการที่รัฐใช้ความรุนแรงในประเทศของตัวเอง  ในขณะที่สันติวิธีตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานมองว่า   ต้องใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความสงบ  แต่การประท้วง  หรือการเดินขบวน แม้จะเป็นการปฏิบัติการแบบไร้ความรุนแรง  แต่เป็นวิธีที่ถือว่าก่อความไม่สงบแก่ผู้ประท้วง และสังคม เพราะคนในสังคมอาจจะมองว่าเป็นความวุ่นวายก็ได้  แต่ถึงกระนั้นนักคิดบางกลุ่มเช่นกัน ที่ตีความและนำเสนอ  สันติวิธีในความหมายของ “การไม่ใช้ความรุนแรง” เพราะหากตีความในลักษณะนี้ การประท้วง การดื้อแพ่งต่อรัฐก็ย่อมมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะ “กระทำได้” เนื่องจากนักคิด หรือนักปฏิบัติการกลุ่มนี้อ้างว่า “การประท้วง หรือการดื้อแพ่ง” นั้น กลุ่มของตนเองมิได้กระทำ หรือแสดงออกด้วยความรุนแรง เช่น การใช้อาวุธต่างๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความต้องการ 

                      อย่างไรก็ดี  สังคมบางส่วน หรือรัฐได้ตั้งข้อสังเกตว่า การด่า หรือการกล่าวหาด้วยถ้อยคำที่รุนแรงอันเป็นการยั่วยุฝ่ายตรงข้าม หรือการปิดถนนอันสร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชนเป็นการแสดงออกด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงทางตรงเพราะไม่ใช้ “อาวุธ” แต่คำถามก็คือ การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรงทางอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้เป็นความเข้าใจ “คนละประเด็น” เกี่ยวกับ “สันติวิธี” ระหว่างรัฐ และสังคมบางส่วน

                      เมื่อกล่าวถึง “การไร้ความรุนแรง” (Non-Violence) กับ “สันติวิธี” ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก  แม้จุดเหมือนของแนวคิดนี้มุ่งไปที่ “การไร้ความรุนแรง” เพื่อจัดการกับความขัดแย้ง แต่แนวคิดและการปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมุ่งเน้นไปที่การประท้วง การไม่ให้ความร่วมมือทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง  และการแทรกแซงโดยไร้ความรุนแรง  สำหรับสันติวิธีบางกลุ่มกลับเป็นวิธีการหาลู่ทางในการเจรจาโดยไม่ใช่ความรุนแรงต่อสถานการณ์ต่าง ๆ

                      สันติวิธีกับวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญ และสอดรับกันเป็นอย่างยิ่งก็คือ ในสันติวิธีของนักคิดแต่ละท่านนั้นมีแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ การแก้ไข หรือการแปรความขัดแย้งโดยไร้ความรุนแรง โดยใช้วิธีการในการจัดการความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การต่อรอง การไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง เป็นต้น   ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นจุดร่วมที่สำคัญของสันติวิธีกับวิธีการอื่น ๆ   ที่น่าจะสอดรับและลงตัวมากที่สุด

 

๖. สรุป และวิเคราะห์: สันติวิธีบทเส้นทางสามแพร่ง

                      โดยสรุปจะเห็นว่า เมื่อจัดกลุ่มของแนวคิด วิธีการ และปฏิบัติการที่ไร้ความรุนแรงซึ่งอาจจะใช้คำกลาง ๆ เพื่อสื่อถึงแนวคิด และการปฏิบัติการเกี่ยวกับ “สันติวิธี” นั้น ผู้เขียนมองว่า สามารถแยกหลักการที่สำคัญออกเป็น ๓ ประการด้วยกัน คือ  (๑) สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตตามนัยของกลุ่มสันตินิยมบางกลุ่ม  (๒) สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความต้องการตามนัยของสันตินิยมบางกลุ่ม คานธี และยีน ชาร์ป และ (๓) สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง ตามนัยของนักสันติวิธีทุกกลุ่ม ยกเว้นคานธี   ฉะนั้นสันติวิธีตามที่ปรากฏในโลกนี้นั้น  นักคิด และนักปฏิบัติการสันติวิธีได้นำเสนอใน   ๓ หลักการใหญ่ ๆ  ดังกล่าวแล้ว

                      อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๓ กลุ่มดังกล่าวนี้  มีเป้าหมายเดียวกันคือ “ต้องการสันติภาพ”  และการได้มาซึ่งสันติภาพนั้น ทั้งสามกลุ่มมองว่าต้องใช้ “สันติวิธี”  ฉะนั้น สิ่งที่ทั้ง ๓ กลุ่มมุ่งหวังก็คือ  “สังคมจะสันติ”  ต้องใช้ “วิธีการที่สันติ” หรือ “วิธีการที่ไม่รุนแรง” เท่านั้น   อย่างไรก็ตาม “สันติภาพ” และ “สันติวิธี” หากมองในมิติหนึ่งก็มิใช่คนละสิ่ง หากแต่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ปัญหาจึงขึ้นอยู่กับการมองสันติภาพว่าอยู่ในฐานะที่เป็นเป้าหมาย และมองสันติภาพในฐานะที่เป็นวิธีการ

อย่างไรก็ตาม  สันติวิธี ในความหมายที่ประชาชนบางกลุ่ม และอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่ในสังคมปรารถนาจะเห็นคือการมุ่งเน้นกระบวนการในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมาระหว่างบุคคลต่อบุคคล บุคคลต่อกลุ่มบุคคล กลุ่มบุคคลต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลต่อกลุ่มบุคคล  นักคิดกลุ่มที่ ๓ จึงมุ่งเน้นว่า “ควรจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี” 

                      คำถามในประเด็นนี้ก็คือ “การจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีคืออะไร” และ “มีความเป็นมาอย่างไร” เมื่อกล่าวถึงการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี (Peaceful Conflict Management)     ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์[18] มองว่า “หมายถึง กระบวนการจัดการ (Management) หรือแก้ (Resolution)ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ” โดยขยายความว่า “เมื่อเกิดความขัดแย้ง หรือข้อพิพาทแล้วจะหาทางออกในการจัดการ หรือแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้อย่างไร”

                      ในขณะที่ รศ.ดร.มารค  ตามไท[19]ชี้ว่า “หมายถึง การแปรสภาพสถานการณ์ให้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ในกรณีที่แก้ไขปัญหาได้ก็มองว่าเป็นการจัดการความขัดแย้งแบบหนึ่ง” โดยยกกรณีศึกษามารองรับแนวคิดว่า “การแปรรูปความขัดแย้งอาจะทำได้ในหลายลักษณะ เช่น อาจแปรรูปแบบความขัดแย้งเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนเป็นเรื่องอื่น คือ เรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคม เขื่อนจึงกลายเป็นเรื่องหนึ่งเท่านั้น” แต่ถึงกระนั้น ท่านมองว่าประชาชนบางกลุ่มเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประเด็นนี้ “บางคนที่ศึกษาเรื่องนี้เข้าใจการจัดการความขัดแย้งแคบมาก” เหตุผลคือ “การจัดการตามนัยของกลุ่มนี้คือการดูแลไม่ให้มีความรุนแรง แต่ไม่มีอะไรคลี่คลาย คือมองแบบจัดการแบบจัดจริง ๆ เช่น ควบคุมไม่ให้มีการยิงกัน”

                      จะเห็นว่า การมอง “การจัดการความขัดแย้ง” (Conflict Management) ในประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution) และ การเปลี่ยนรูปความขัดแย้งไปเป็นรูปแบบอื่น (Transformation)  ซึ่งสอดรับงานวิจัยเรื่องนี้ที่ให้คำจำกัดความ  “การจัดการความขัดแย้งนั้น หมายถึง การแก้ไข และการเปลี่ยนรูปความขัดแย้งด้วย”

                      ถึงกระนั้น เมื่อกล่าวถึง “ความเป็นมา” ของแนวคิด และหลักการนี้  จากการศึกษา      ในเบื้องต้นพบว่ามี “ต้นกำเนิด” และ “พัฒนาการ” จากเหตุผล ๒ ประการ คือ

                      (๑) กรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือประเทศต่อประเทศเกี่ยวกับดินแดน หรือทรัพยากรนั้น ตามแนวคิดเดิมคู่กรณีใช้สงคราม หรือความรุนแรงเข้าไปจัดการ หรือแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งวิธีการนี้ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของคู่กรณีเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น นักสันตินิยมบางกลุ่ม จึงมีการนำเสนอ “ทางเลือกใหม่” (New Alternative) อันเป็นทางเลือกที่ว่าด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ดังจะปรากฏในกฎบัตรสหประชาชาติเกี่ยวกับ “หลักการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี”  (Peaceful Settlement of International disputes) ซึ่งรายละเอียดของวิธีนี้ผู้เขียนจะนำเสนอในหัวข้อต่อไป

                      (๒) กรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคลต่อบุคคล บุคคลต่อกลุ่มบุคคล กลุ่มบุคคลต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลต่อกลุ่มบุคคล  เช่น การที่คู่กรณีมีความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดิน หรือมรดก หรือกรณีที่ประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับนโยบายสาธารณะของรัฐบางอย่าง เช่น การสร้างเขื่อน ค่าจ้างขั้นต่ำ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น  แทนที่จะนำคดีความดังกล่าวขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาคดี หรือแทนที่หาทางออกด้วยการประท้วง หรือดื้อแพ่ง(Civil Disobedience)  ฉะนั้น กลุ่มนี้หาทางออกด้วยการจัดการ หรือแก้ไขความขัดแย้งด้วยการการเจรจากันเอง หรือเจรจาไกล่เกลี่ยบนพื้นฐานของอำนาจทางข้อมูล และกฎหมายที่เท่าเทียมกัน ซึ่งรายละเอียดของแนวทางเหล่านี้จะนำเสนอในหัวข้อต่อไป

                      อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “สันติวิธี” ตามนัยนี้  เคยปรากฏในสังคมพุทธ ดังที่นักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า “สันติวิธีมีต้นกำเนิดมาอย่างช้านาน อาจจะไล่เลี่ยกับการใช้ความรุนแรง”[20] จะเห็นว่า “สันติวิธีมิใช่ความคิดที่ใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่เก่าแก่ พอ ๆ กับการใช้สติปัญญาของมนุษย์”[21] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สันติวิธีได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมพุทธมาเป็นพัน ๆ ปี”[22]  แต่เมื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการจัดการความขัดแย้งตามที่ปรากฏในสังคมตะวันตกจะพบว่า ได้มีการศึกษาแนวคิดนี้อย่างเป็นระบบ ดังที่ผู้เขียนจะนำเสนอในข้อที่ว่าด้วยการปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งในหัวข้อต่อไป

                      ถึงกระนั้น กรอบของคำว่า “สันติวิธี” ในบริบทนี้มิได้มีนัยที่มุ่งเน้นไปที่การให้คำจำกัดความของสันติวิธีว่าเป็น “วิธีการ หรือการปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งที่ไร้ความรุนแรง” เท่านั้น  หากแต่ครอบคลุมไปถึงแนวคิด หรือวิธีการจัดความขัดแย้งด้วยวิธีการที่แฝงเอาไว้ด้วยความหมายอื่น ๆ ด้วย เช่น วิธี ข้อปฏิบัติ หรือชุดวิธีดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่  ความยุติธรรมหรือไม่  และเต็มไปด้วยความรัก เมตตากรุณาหรือไม่ เป็นต้น

 

 


                      [1] ประเวศ วะสี, (๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗), <http://www.bangkokbiznews.com/2004/03/08/pol/ index.php?news=pol1.html>.

                      [2]เสม พริ้งพวงแก้ว, (๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๗), <http://www.thairath.co.th/thairath1/2547/ breaking.news/bknews.php?id=9284>.

                      [3] http://encyclopedia.thefreedictionary.com/pacifism

                      [4] ดูเพิ่มเติมใน  http://encyclopedia.thefreedictionary.com/non-violent%20resistance  อย่างไรก็ดี คำว่า “การดื้อเพ่ง”  หมายถึง “การจงใจฝ่าฝืนกฎหมายด้วยมโนธรรม เปิดเผยต่อสาธารณะ ย่อมรับการลงโทษจากการฝ่าฝืนกฎหมายนั้น   และไม่ใช่ความรุนแรง”  ดูรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับความหมาย ประวัติ และความเป็นมาเพิ่มเติมใน  พีรพล  คดบัว, “การดื้อเพ่งกับการลงโทษ: การวิเคราะห์เชิงปรัชญา”, ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต,  (บัณฑิตวิทยาลัย:  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๕), หน้า ๑๔-๒๐.

      [5] http://www.spartacus.schoolnet.co.uk/USApacifists.htm

                      [6] สมพงษ์ ชูมาก, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง, (พิมพ์ครั้งที่ 1), กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๐, และดูเพิ่มเติมใน ดวงเด่น  นุเรมรัม, “พุทธจริยศาสตร์กับแนวคิดเรื่องสงครามที่เป็นธรรม:  กรณีศึกษาทรรศนะของนักวิชาการในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย”,     วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร

มหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหิดล), ๒๕๔๕.

[7] ดูเพิ่มเติมใน M.K. Gandhi, The Selected Works of Mahatma Gandhi&

หมายเลขบันทึก: 352023เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2010 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เป็นทางเลือกทางรอดให้กับสังคมขอรับ สันติวิธี

บทความที่สะท้อนแง่มุมความคิดที่สังคมควรอย่างยิ่งจะต้องทบทวนเรื่องนี้

มีประโยชน์มากครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

  • ขอน้อมรับพร  เทศกาลสงกรานต์เจ้าค่ะ
  • เป็นแบบอย่างของวิธีการเขียนบทความที่ดีมาก
  • กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

 

นมัสการพระคุณเจ้า

  • เป็นบทความที่ดีมากๆ ขอรับ เป็นแนวทางสู่การสร้างสันติโดยแท้จริง

ผอ. พรชัย และโยมเสียงเล็กๆ

อนุโมทนาที่แวะมาเยี่ยมเยียน และหวังว่าพวกเราจะได้ใช้เวทีนี้ในการแบ่งปันประสบการณ์และความคิดระหว่างกัน

เจริญพร

อ.หรรษา

นมัสการเจ้าค่ะ

มาอ่านเรื่องสันติวิธี

ยังมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก

นมัสการลา

กราบสวัสดีครับ ท่านอาจารย์ ธรรมหรรษา

ผมคิดว่าการใช้สันติวิธีเป็นทางออกที่ดีกว่าทางอื่นๆครับ  แต่ความขัดแย้งของสังคมไทยที่มีมานานแล้ว  การจะใช้วิธีการใดๆคงยากพอดูเลยครับ

 

ครูคิม และน้องณัฐ

  • อนุโมทนาขอบใจมากที่กรุณามาอ่านบทความ
  • ดังที่เข้าใจกัน อาตมาคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่หลายคนกำลังสับสน และมองสันติวิธีในมุมที่แตกต่างกัน
  • เจริญพร

ท่านอาจารย์พระปลัดครับ

น้อมรับครับ สันติวิธีน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าทางอื่นๆ และคิดว่าพวกเราหลายคนคงเห็นเช่นนั้น เพียงแต่วิธีการอาจจะต่างกันบ้าง

นับถือครับ

เรื่องที่พยายามทำวันนี้คือให้เขา เปิดใจ แล้วเปิดปากคุยกัน มากกว่าการเอาคำจากปากออกมาทำร้ายกันครับ

โยมณัฐ และลุงเอกฯ

อนุโมทนาสำหรับเจตนาที่ดีและมีคุณค่าต่อส้งคมไทย การทำให้ใครสักคน เปิดปาก เปิดตา เปิดใจ นับเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะคนที่กำลังติดใจกัน แต่ขออนุโมทนาในความเพียรพยายามของผอ. ทุกท่าน

เจริญพร

สันติ คือทางแก้ไข ทุกปัญหา เหตุจากการแย่งมวลชน

ทำไมชาวใต้ถึงฟังกลุ่ม บีอาร์เอ็น มากกว่า รัฐ (จากการ สรุปโดย พล.อ เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ. สถาบันสันติวิธี)) เพราะ กลุ่ม บีอาร์เอ็น สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยว่า พวกเขากตัญญูสูงสุดได้. เพราะเขากตัญญูต่อเจ้าเมืองธรรมชาติ ที่ให้ออกซิเจนพระพุทธเจ้า หายใจ มันคือการใฝ่หาของมนุษย์โดยพื้นฐานว่า เขาจะฟังผู้กตัญญู และ จะต่อต้านผู้มีจิต เนรคุณ นั่นเอง. จงกตัญญูให้เท่าเทียมผู้ที่ท่าน จะเข้าพัฒนาเขา

ลองปรับกันซักนิด จะครองใจชาวบ้านได้ง่ายขึ้น. ด้วยการมีพระเจ้าเป็นสิ่งกตัญญู แทนการมีเป็นสิ่งปฏิเสธ ถึง เนรคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท