ทฤษฎีการตัดสินใจเลือกนโยบาย (1)


การตัดสินใจในงานกิจวัตร (routine decisions) ซึ่งเป็นการตัดสินใจประจำวันเกี่ยวกับการนำนโยบายไปปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ลักษณะสำคัญของการตัดสินใจนโยบายคือการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการพิจารณาเลือกทางเลือกนโยบายที่ได้ผ่านกระบวนการกำหนดนโยบายมาแล้ว

การตัดสินใจนโยบาย (Policy decision-making) เกี่ยวข้องกับการกระทำของข้าราชการหรือองค์การที่มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ (adopt) ดัดแปลง (modify) หรือปฏิเสธ (reject) ทางเลือกนโยบายที่นำเสนอเพื่อการพิจารณา กระบวนการดังกล่าวส่วนใหญ่จะกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติในรูปของการประกาศใช้เป็นกฎหมายหรือกระทำโดยฝ่ายบริหารในรูปของมติคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาจะต้องตระหนักให้ชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างการตัดสินใจนโยบาย ซึ่งมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อเนื้อหาของนโยบาย และการตัดสินใจในงานกิจวัตร (routine decisions) ซึ่งเป็นการตัดสินใจประจำวันเกี่ยวกับการนำนโยบายไปปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ลักษณะสำคัญของการตัดสินใจนโยบายคือการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการพิจารณาเลือกทางเลือกนโยบายที่ได้ผ่านกระบวนการกำหนดนโยบายมาแล้ว

                ในขั้นตอนของการรับหรือการให้ความเห็นของนโยบายนั้น มิใช่กระบวนการที่จะเลือกทางเลือกนโยบายที่ได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ที่สุด (full-blown policy alternatives) แต่เป็นกระบวนการที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อทางเลือกนโยบายที่มีโอกาสชนะมากกว่า ถึงแม้ว่าทางเลือกนั้นจะมิใช่ทางเลือกที่ถูกใจมากที่สุดก็ตาม และในการพิจารณาตัดสินใจเอกนโยบาย บางนโยบายอาจจะถูปฏิเสธ บางนโยบายอาจได้รับความเห็นชอบหรือบางนโยบายอาจถูกดัดแปลงแก้ไข โดยความเป็นจริงแล้วกระบวนการตัดสินใจนโยบายเป็นพียงรูปแบบของความเป็นทางการในการพิจารณาทางเลือกนโยบายเท่านั้น เพราะการตัดสินใจที่แท้จริงว่าจะได้รับหรือไม่รับทางเลือกนโยบาย ได้กระทำสิ้นสุดก่อนหน้านี้แล้วโดยกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพราะการตัดสินใจเลือกนโยบายคือการแสดงออกขั้นสูงสุดของการใช้อำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตามความแน่นอนของการตัดสินใจนโยบายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีการประกาศใช้นโยบายอย่างเป็นทางการเท่านั้น

                การตัดสินใจนโยบายที่กระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัตินั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม (legitimacy) เพราะกระทำภายใต้กระบวนการที่มีข้อกำหนดชัดเจน ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วการตัดสินใจนโยบายที่กระทำโดยทางการ จึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้ตัดสินใจนโยบายเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (legal authority) ที่จะทำการตัดสินใจนโยบาย

                แนวความคิดเกี่ยวกับความชอบธรรมเป็นสิ่งที่ยากจะนิยามให้ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) ถึงแม้ว่าความถูกต้องตามกฎหมายคือสิ่งที่เชื่อได้ว่าเป็นสิ่งชอบธรรม ซึ่งมุ่งเน้นที่ความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับความถูกต้อง (rightness) และความเหมาะสม (appropriateness) ต่อการกระทำของรัฐบาล สำหรับการกำหนดนโยบาย ความชอบธรรมตามกฎหมายพิจารณาได้จากการที่ปัญหาสาธารณะได้รับการแก้ไขอย่างไร และมีปัญหาอะไรบ้างที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไข การกระทำของรัฐบาลในบางกรณีแม้ว่าจะมีความถูกต้องตามกฎหมายและถูกต้องตามอำนาจที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่อาจถือได้ว่าไม่มีความชอบธรรม เพราะว่าไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ดังเช่นกรณีที่ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่ยอมรับความชอบธรรมของสงครามเวียดนาม เป็นต้น (Anderson, 1994: 120)

                สำหรับการตัดสินใจนโยบายนั้น แม้ว่ายังคงปรากฏความเห็นที่ไม่ลงรอยกันจำนวนมากระหว่างนักรัฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ รวมทั้งประเด็นของแนวทางการศึกษาและแนวทางการพิจารณาว่าการตัดสินใจนโยบายกระทำได้อย่างไร และอะไรที่ก่อให้เกิดการตัดสินใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องหาข้อยุติกันต่อไป แต่การศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกนโยบายต่อไปนี้จะพิจารณาจากทฤษฎีการตัดสินใจ 3 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีหลักการเหตุผล ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน และทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึก ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดดังต่อไปนี้

                1.  ทฤษฎีหลักการและเหตุผล (The Rational-Comprehensive Theory) ทฤษฎีนี้มีทัศนะพื้นฐานมาจากแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเหตุผลในการตัดสินใจของบุคคลและทฤษฎีเกี่ยวกับการตัดสินใจที่พิจารณาจากความสมเหตุสมผล ซึ่งพัฒนาโดยนักคณิตศาสตร์ (mathematicians) นักจิตวิทยา (psychologists) และนักสังคมศาสตร์อื่นๆ (social scientists) ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผล (Downs, 1957) เพราะทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลมุ่งเน้นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ตนเองของปัจเจกบุคคล แต่ทฤษฎีหลักการเหตุผลมุ่งเน้นการตัดสินใจเพื่อการบรรลุเป้าประสงค์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลหรือขององค์การ (Anderson, 1994: 122)

                ทฤษฎีหลักการเหตุผลประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้ (Anderson, 1994: 112)

                ประการแรก  ผู้ตัดสินใจต้องเผชิญกับปัญหาที่สามารถจำแนกออกจากปัญหาอื่นได้หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถพิจารณาเปรียบเทียบกับปัญหาอื่นได้อย่างมีความหมาย

                ประการที่สอง  ผู้ตัดสินใจมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าประสงค์ (goals) ค่านิยม (values)  หรือวัตถุประสงค์ (objectives) ที่ผู้ตัดสินใจจะต้องคำนึง และสามารถทำให้การพิจารณาปัญหามีความชัดเจนและจัดลำดับตามความสำคัญของแต่ละกรณี

                ประการที่สาม  การตรวจสอบทางเลือกต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน

                ประการที่สี่  การตรวจสอบผลลัพธ์ทั้งด้านต้นทุน (cost) ผลประโยชน์ (benefits) ข้อได้เปรียบ (advantages) และข้อเสียเปรียบ (disadvantages) ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง

                ประการที่ห้า  การเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นของทางเลือกแต่ละทางเลือก

                ประการสุดท้าย  ผู้ตัดสินใจจะเลือกทางเลือกและผลลัพธ์ของแต่ละทางเลือกที่จะต้องตอบสนองเป้าประสงค์ ค่านิยม หรือวัตถุประสงค์สูงสุดขององค์การ

                ผลจากการดำเนินกระบวนการดังกล่าวคือการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจได้รับผลประโยชน์สูงสุด หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดและมีความเป็นไปได้มากที่สุด

                อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีหลักการเหตุผลได้รับการวิพากษ์วิจารณ์หลายประการ ได้แก่

                ประการแรก Charles E. Lindblom (1959: 879-880) เห็นว่าโดยปกติผู้ตัดสินใจมิได้เผชิญกับปัญหาที่มีการนิยามอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม แต่จะต้องทำการจำแนกและพิจารณาการก่อรูปของปัญหาเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น “เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและประชาชนกล่าวว่ารัฐบาลจะต้องกระทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ” สภาพการณ์นี้อะไรคือปัญหา ความต้องการที่มากเกินไปหรือการผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนหรือราคาสินค้าถูกควบคุมโดยบรรษัทและสหภาพ หรือเกิดจากจิตวิทยาเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หรือเกิดจากปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดรวมกัน ดังนั้น การนิยามปัญหาจึงเป็นภารกิจหลักของผู้ตัดสินใจ

                ประการที่สอง  ทฤษฎีหลักการเหตุผลไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะทฤษฎีมีฐานคติว่าทางเลือกทุกทางเลือกมีข้อมูลอย่างเพียงพอในการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาสามารถจะพยากรณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยความเที่ยงตรงระดับหนึ่ง และสามารถจะทำการเปรียบเทียบต้นทุนและผลประโยชน์ของทางเลือกแต่ละทางเลือกอย่างถูกต้อง แต่ในสภาพความเป็นจริงผู้ตัดสินใจทั่วไปจะต้องเผชิญกับเวลาในการแก้ไขปัญหาที่จำกัด ความยากลำบากในการรวบรวมข้อมูลที่เที่ยงตรง และน่าเชื่อถือ ตลอดจนความซับซ้อนในการพยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าจะใช้ระบบสารสนเทศที่ก้าวหน้า และสมการที่ซับซ้อนก็ยังไม่สามารถช่วยในการบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ ดังนั้น ทฤษฎีหลักการเหตุผลจึงมีอุปสรรคต่อการนำไปใช้ในโลกของความเป็นจริงมาก

                ประการที่สาม  การที่ทฤษฎีหลักการเหตุผลเห็นว่าผู้ตัดสินใจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ของความขัดแย้งทางค่านิยมมากกว่าความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องค่านิยม และความขัดแย้งทางค่านิยมจะทำให้การเปรียบเทียบทางเลือกระทำได้ยากหรือให้น้ำหนักของความแตกต่างได้ยาก นอกจากนี้ ผู้ตัดสินใจอาจจะพบกับความสับสนระหว่างค่านิยมส่วนบุคคลและค่านิยมของสังคม และทฤษฎีหลักการเหตุผลยังมีฐานคติว่าข้อเท็จจริง (facts) และค่านิยม (values) สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติ อาทิเช่น กรณีของโครงการการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กลุ่มที่สนับสนุนเห็นว่าจะช่วยป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนใต้ของเขื่อนเป็นอย่างดี ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติเห็นว่าจะเป็นการทำลายทรัพยากรอันมีคุณค่าซึ่งไม่สามารถจะหาสิ่งใดมาทดแทนได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นค่านิยมและความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าวเป็นสิ่งที่หาข้อยุติได้ยากมาก

                ประการที่สี่  ทฤษฎีการตัดสินใจโดยยึดหลักการเหตุผลมีปัญหาในเรื่องต้นทุนจม (sunk costs) ทั้งนี้เพราะการตัดสินใจในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ของรัฐที่ต้องใช้งบประมาณผูกพันจำนวนมากจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตัดสินใจโดยใช้ทฤษฎีหลักการเหตุผล

                ประการสุดท้าย  ทฤษฎีหลักการเหตุผลมีฐานคติว่าผู้ตัดสินใจมีความเป็นเอกภาพ ซึ่งกรณีนี้จะไม่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะมีความเห็นแตกต่างกันเสมอ และองค์การอื่นๆ ที่ยากจะแสวงหาความเป็นเอกภาพในระหว่างผู้ตัดสินใจได้

                กล่าวโดยสรุป ทฤษฏีหลักการเหตุผล แม้จะองค์ประกอบที่น่าสนใจหลายประการสำหรับการใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกนโยบาย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดและอุปสรรคที่จะต้องพิจารณาให้เข้าใจอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ศึกษาจะต้องให้ความสนใจพิจารณาอย่างรอบคอบ

                2 . ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน (The Incremental Theory) ทฤษฏีนี้ถูกนำเสนอให้เป็นทฤษฎีในการตัดสินใจเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหามากมายที่เกิดจากทฤษฎีหลักการเหตุผล โดยเป็นทฤษฎีที่มีลักษณะของการพรรณนาความ (descriptive) เกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาล (Lindblom, 1959: 79-88; Lindblom, 1964; Lindblom, 1968; Lindblom and Braybrooke, 1963) และในความเป็นจริงก็ปรากฎหลักฐานน้อยมากกว่าสมาชิกของสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาได้ใช้ทฤษฎีหลักการเหตุผลในการตัดสินใจเลือกนโยบายเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย

                การตัดสินใจโดยใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือการเพิ่มเติมจากนโยบายที่มีอยู่อย่างจำกัด อาทิเช่น การเพิ่มงบประมาณเพียงเล็กน้อยขององค์การต่างๆ ของภาครัฐในแต่ละปี ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแนวความคิดเกี่ยวกับการตัดสินใจโดยใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกนโยบายของรัฐบาลมาก สาระสำคัญของทฤษฎีอาจพิจารณาได้จากองค์ประกอบต่อไปนี้ (Lindblom, 1959; Lindblom, 1964; Lindblom, 1979: 517-526)

                ประการแรก  การพิจารณาในการเลือกเป้าประสงค์หรือวัตถุประสงค์และการวิเคราะห์เชิงประจักษ์จะกระทำโดยการพิจารณาร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากกว่าการที่จะแยกพิจารณาในแต่ละประเด็น

                ประการที่สอง  ผู้ตัดสินใจจะพิจารณาเฉพาะทางเลือกบางทางเลือกที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะแตกต่างไปจากนโยบายเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

                ประการที่สาม  การประเมินผลทางเลือกแต่ละทางเลือกจะกระทำเฉพาะเพื่อพิจารณาผลลัพธ์ที่สำคัญของทางเลือกบางทางเลือกเท่านั้น

                ประการที่สี่  สำหรับปัญหาที่ผู้ตัดสินใจกำลังเผชิญอยู่นั้น ผู้ตัดสินใจจะต้องทำการนิยามปัญหาใหม่อย่างต่อเนื่อง ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาวิธีการและเป้าหมาย (means-ends) หรือเป้าหมายและวิธีการ (ends-means) เพื่อให้การจัดการปัญหามีความเป็นไปได้มากขึ้น

                ประการที่ห้า ทฤษฏีนี้ถือว่าไม่มีการตัดสินใจเพียงครั้งเดียว (single decision) หรือทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเพียงทางเดียว การทดสอบการตัดสินในที่ดี ก็คือการที่นักวิเคราะห์มีความเห็นพ้องต้องกันในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง โดยมิได้เห็นร่วมกันว่าการตัดสินใจนั้นเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมที่สุด ที่จะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ที่เห็นพ้องร่วมกัน

                ประการสุดท้าย  การตัดสินใจโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากวิธีการเดิมบางส่วน เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากวิธีการอื่น และนำไปสู่สภาพปัจจุบันที่ดีกว่า รวมทั้งช่วยแก้ไขความไม่สมบูรณ์ทางสังคมให้เป็นรูปธรรมมากกว่าการพิจารณาเป้าประสงค์ของสังคมในอนาคต

                อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนก็ได้รับการวิจารณ์หลายประการ ได้แก่

                ประการแรก  ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนมีลักษณะอนุรักษ์นิยม (conservative) และมุ่งเน้นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมากเกินไป ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิผล

                ประการที่สอง ในสถานการณ์วิกฤต อาทิเช่น กรณีที่อิรักบุกคูเวต ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนไม่สามารถให้แนวทางในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

                ประการที่สาม  การให้ความสนใจการกระทำในอดีตและโครงการในปัจจุบัน และการจำกัดการเปลี่ยนแปลง ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงบางส่วน อาจไม่ส่งเสริมการแสวงหาทางเลือกใหม่หรือทางเลือกอื่นที่มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว

                ประการที่สี่  ความคิดในการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน มิได้กำจัดความต้องการสำหรับทฤษฎีที่ต้องใช้ในการตัดสินใจซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สนใจยังแสวงหาอย่างกระตือรือร้น

                อย่างไรก็ตาม ความคิดในการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนได้กลายมาเป็นภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม (conventional wisdom) ของสังคมทั่วไป โดยจะเห็นได้จากคำกล่าวทั่วไปต่อการกำหนดนโยบายในประเทศต่างๆ ว่าเป็นการตัดสินใจโดยการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเพียงเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดาสามัญมาก

                3.  ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึก (Mixed Scanning) นักสังคมวิทยาชื่อ Amitai Etzioni (1967: 385-392) เห็นด้วยกับข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับทฤษฎีหลักการเหตุผล (Rational-Comprehensive Theory) และมีข้อเสนอแนะบางประการเกี่ยวกับทฤษฎีการตัดสินใจโดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน กล่าวคือ Etzioni เห็นว่าการตัดสินใจโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนจะสะท้อนให้เห็นผลประโยชน์ของกลุ่มและองค์การที่มีอำนาจสูงสุดในสังคม แต่ผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนที่ด้อยสิทธิ (underprivileged) และกลุ่มที่ไม่มีบทบาททางการเมืองและถูกละเลย ดังนั้น การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญหรือเรื่องที่เป็นปัญหาพื้นฐานของสังคม อาทิเช่น การประกาศสงครามจะไม่อยู่ในกรอบของทฤษฎีการตัดสินใจโดยมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน

                Etzioni ได้นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการผสมผสานระหว่างทางกว้าง และทางลึก (mixed scanning) เป็นทางเลือกสำหรับแนวทางในการตัดสินใจเพื่อทดแทนจุดอ่อนของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน โดยได้เสนอสาระสำคัญไว้ดังนี้:

                สมมติว่าเรากำลังจะจัดตั้งระบบการสังเกตการณ์สภาพอากาศของโลกโดยการใช้ดาวเทียม ในกรณีนี้แนวทางของทฤษฎีหลักการเหตุผล จะต้องพยายามสำรวจอย่างรอบด้านเกี่ยวกับเงื่อนไขของสภาพอากาศโดยการใช้กล้องถ่ายภาพที่มีสมรรถนะสูงในการตรวจสอบรายละเอียด โดยจะต้องตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสภาพท้องฟ้าทั้งหมดให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การกระทำดังกล่าวจะต้องใช้ข้อมูลรายละเอียดจำนวนมาก และการวิเคราะห์ต้องใช้ต้นทุนสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องใช้ความสามารถของเราที่มีอยู่ทั้งหมด เช่น จะต้องวิเคราะห์การก่อตัวของเมฆที่อาจพัฒนาไปเป็นพายุเฮอริเคนหรือก่อให้เกิดฝนตกในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ส่วนทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วนจะมุ่งความสนใจไปยังพื้นที่ซึ่งในอดีตที่เพิ่งผ่านมาเคยมีพายุหรือฝนตก หรืออาจจะดูในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเพียงบางพื้นที่ ในกรณีนี้จะทำให้มองข้ามข้อมูลทั้งหมดที่ควรจะได้รับความสนใจ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มิได้คาดหมาย

                สำหรับกลยุทธ์ของการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึก จะครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญของทั้งสองแนวทาง โดยการใช้กล้องถ่ายภาพ 2 กล้อง โดยกล้องที่หนึ่งจะเป็นกล้องที่มีมุมกว้าง (broad-angle) ที่สามารถจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของท้องฟ้า แต่จะไม่ปรากฏรายละเอียดมากนัก ส่วนกล้องที่สองจะใช้เฉพาะการถ่ายภาพเกี่ยวกับรายละเอียดที่น่าสนใจซึ่งปรากฏให้เห็นจากล้องที่หนึ่ง ด้วยวิธีการนี้ ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึกอาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดในจุดของกล้องที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดบางจุด แต่ข้อบกพร่องดังกล่าวก็จะปรากฏน้อยกว่าที่จะปรากฏในทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน ที่อาจจะมองข้ามจุดสำคัญที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน

                ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึก (mixed scanning) จะเปิดโอกาสให้ผู้ตัดสินใจสามารถใช้ประโยชน์จากทั้งทฤษฎีหลักการเหตุผลและทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ต่างกัน ในบางกรณีการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเล็กน้อยอาจจะพอเพียง แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้การสำรวจตรวจสอบอย่างละเอียดตามทฤษฎีของหลักการเหตุผล ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึกมีความเหมาะสมสำหรับผู้ตัดสินใจนโยบายที่มีขีดความสามารถต่างกัน หรืออาจกล่าวเป็นการทั่วไปได้ว่า “ผู้ตัดสินใจยิ่งมีความสามารถมากขึ้นเพียงใดในการรวบรวมอำนาจเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจ ก็จะยิ่งมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากการพิจารณาภาพรวมได้มากเท่านั้น และการพิจารณาภาพรวมยิ่งมีความสามารถครอบคลุมได้กว้างขวางมากเท่าใด การตัดสินใจก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น”

                ดังนั้น ทฤษฎีการผสมผสานระหว่างทางกว้างและทางลึกจึงเป็นเสมือนแนวทางการประนีประนอม (         compromise) ระหว่างทฤษฏีหลักการเหตุผล และทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางส่วน อย่างไรก็ตามข้อเสนอของ Etzioni ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะนำไปปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริงได้อย่างไร (Etzioni, 1986:8-14)

                อย่างไรก็ตาม แนวความคิดของ Etzioni ได้ช่วยให้ผู้สนใจศึกษาเข้าใจข้อเท็จจริงที่สำคัญว่าการตัดสินใจอาจจะแปรผันไปตามขนาด (magnitude) ของเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ ทั้งในด้านขอบเขต (scope) และผลกระทบ (effect) และกระบวนการการตัดสินใจที่แตกต่างกันอาจจะเหมาะสมกับธรรมชาติที่แตกต่างกันของเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ

อ้างอิงจาก

หนังสือนโยบายสาธารณะ: แนวความคิด การวิเคราะห์และกระบวนการ

                   2546.นโยบายสาธารณะ: แนวความคิด การวิเคราะห์และกระบวนการ.ศาสตราจารย์ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (ธันวาคม 2546) สำนักพิมพ์เสมาธรรม กรุงเทพมหานคร

หมายเลขบันทึก: 352162เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2010 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท