อรรถประโยชน์จากการวิจัยในชั้นเรียน


อย่ามองแค่ปัญหาของนักศึกษา เพราะนั่นไม่ได้นำไปสู่คำตอบของการเรียนการสอนที่ดี

บันทึกครั้งนี้ เป็นการบันทึกข้อสรุปจากการฟังเสวนาในหัวข้อ “การวิจัยในชั้นเรียน” เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน 2553 โดยศ.ดร.สุวิมล  ว่องวาณิช และ รศ.ดร.สมบูรณ์วัลย์ สัตยารักษ์วิทย์ ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ใครอีกหลายๆ คนที่กำลังสนใจจะทำวิจัยในชั้นเรียนนะคะ จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน) ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้ดำเนินรายการได้ใช้วิธีถาม-ตอบ โดยมีการจัดหมวดหมู่คำถามเพื่อให้วิทยากรตอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะบันทึกเรียงไปตามที่มีการถาม-ตอบในห้อง

? อย่างไรเรียกว่าวิจัยในชั้นเรียน แล้ววิจัยในชั้นเรียนต้องทำยังไง และต้องเขียนให้ครบ 5 บทแบบงานวิจัยทั่วไปหรือไม่

1. งานวิจัยในชั้นเรียน คือ งานวิจัยที่มีความเกี่ยวเนื่องกับนักศึกษา อันมีบริบทเกี่ยวกับการเรียนการสอน กระบวนการเรียนการสอน และเนื้อหาของการเรียนการสอน

2. วิธีการวิจัยมีทั้งแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ

3. การเขียนรูปเล่มวิจัย จะมีกี่บทก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการทำ (ดูตามความเหมาะสมเอาเอง) แต่อย่างไรก็ควรมี Literature Review เพื่อดูว่าปัญหาแบบนี้ ประเด็นแบบนี้มีคนอื่นเคยทำมาแล้วหรือยัง มีใครเสนอทางแก้ไขไว้ด้วยวิธีใดบ้าง แล้วได้ผลเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้นำมาคิดต่อ หรือหาวิธีการใหม่ๆ แก้ไขจุดบกพร่องที่ผู้วิจัยคนอื่นเจอ

? จะเริ่มอย่างไรดี

            เริ่มต้นโดยการเห็นปัญหาที่ต้องหาวิธีแก้ไข ส่วนใหญ่ควรทำจากความจำเป็นที่บีบให้ต้องทำ ไม่ต้องมาเลือกว่าเรื่องไหนน่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ ไม่ต้องมานั่งเลือกประเด็น แต่ให้ความจำเป็นของปัญหาเป็นตัวกำหนดให้เราต้องทำอะไรบางอย่าง แต่การวิจัยในห้องเรียนจะต้องไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือการแก้ปัญหาโดยไม่ได้วางแผน การวิจัยในห้องเรียนจะต้องมีการวางแผน รู้เห็นปัญหา และคิดว่าวิธีที่คิดขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาได้ ดังนั้นปัญหาที่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นการวิจัยในห้องเรียนควรเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยพฤติกรรมเดิมๆ หรือเนื่องมาจากวิธีการเดิมๆ เหล่านั้นเริ่มใช้ไม่ได้ผล หรืออาจคิดบนพื้นฐานที่ว่าจะพัฒนาความรู้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งตัวผู้สอนเองและการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เรียน

? เครื่องมือที่นำมาใช้ในการวิจัย จำเป็นที่จะต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ / ตัวอย่างกลุ่มประชากรหรือกลุ่มเป้าหมายจะมีแค่คนเดียวได้ไหม หรือต้องเยอะกว่านี้ / จะทำให้ผลงานวิจัยได้ถูกหยิบยกไปใช้ในวงกว้างได้อย่างไร

            ในความเห็นของวิทยากรเห็นว่า คุณภาพของเครื่องมือที่นำมาใช้ในการวิจัย ไม่จำเป็นต้องนำมาตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญที่มีตำแหน่งทางวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมีปัจจัยด้านตัวแปรที่แตกต่างกันในแต่ละสภาพงานวิจัย ดังนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เป็นรศ. ดร. หรือผศ. ก็ตาม ย่อมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสภาพที่ถูกต้องของงานวิจัยในห้องเรียน ในบางครั้งผู้เชี่ยวชาญก็อาจเป็นตัวอย่างที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันกับกลุ่มเป้าหมายก็ได้ เช่น ถ้าว่าด้วยเรื่องวัยรุ่น ก็ต้องให้วัยรุ่นเป็นผู้ช่วยตรวจสอบเครื่องมือวัดเหล่านั้น ไม่ใช่กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการอย่างที่เข้าใจกันเสมอไป

            เป้าหมายกลุ่มประชากรไม่จำเป็นต้องมีปริมาณมาก จะทำเป็น Case Study ก็ได้ แต่ต้องอย่าให้ความสนใจมากจนลืมนักศึกษาคนอื่น ส่วนวิธีการเขียนรายงานผล หรือเครื่องมือที่ใช้ในการรายงานผล ไม่จำเป็นต้องมี Rating Scale ก็ได้ ใช้วิธีอื่นทดแทน โดยเลือกให้มีความน่าเชื่อถือที่ทัดเทียมกันก็ได้ สำคัญอยู่ที่วิธีการเขียน ที่ต้องเขียนให้คนอ่านเชื่อให้ได้ว่า เราให้ความใส่ใจกับจุดต่างๆ ของการประเมินพัฒนาการของนักศึกษา (หรือกลุ่มเป้าหมาย) ในทุกๆ ส่วนจริงๆ นั่นคือ เขียนในเชิงคุณภาพก็ได้

            ส่วนการที่จะมีผู้อื่นหยิบยกผลของการวิจัยไปประยุกต์ใช้ ต้องเป็นงานที่มี Creativity (ความสามารถในการสร้างสรรค์) ที่ผู้อื่นสามารถนำไปทำตามได้โดยง่าย (ด้วยวัสดุอุปกรณ์และสองมือที่เขามีและหาได้) งานนั้นๆ จึงจะเป็นที่นิยมเพียงพอที่จะถูกหยิบนำไปใช้ในวงกว้าง

? ผลการวิจัยฯที่ไม่ตรงกับข้อสมมติฐานนำไปเผยแพร่ได้หรือไม่ / ทำไมวิจัยในชั้นเรียนจึงไม่สามารถขอผลงานทางวิชาการได้        

งานวิจัยฯที่ตั้งสมมติฐานได้ คือ งานวิจัยที่มีทิศทางที่แน่นอน ที่สำคัญคือ ต้องมาจากแนวคิดทฤษฎีที่ผ่านการพิสูจน์มาบ้างแล้ว ดังนั้นการที่ผลการวิจัยฯจะออกมาไม่ตรงกับสมมติฐานมีได้สองกรณีคือ มีจุดบกพร่องในจุดใดจุดหนึ่งของงานนั้น กับ พิสูจน์ว่าแนวคิดนั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป แต่โอกาสของผลการวิจัยฯที่จะออกมาไม่ตรงกับสมมติฐานก็มีความเป็นไปได้เสมอ และในบางครั้งก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดนั้นผิด

การขอผลงานทางวิชาการ สำหรับระดับคุณครูประถมและมัธยม สามารถขอได้ แต่ควรนำงานวิจัยในห้องเรียนหลายๆ ชิ้น มาขมวดรวมกันแล้วสังเคราะห์จากงานวิจัยของตัวเอง จะมีคุณค่าทางวิชาการมากกว่า ส่วนในระดับอาจารย์มหาวิทยาลัย ขอได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นศาสตร์ทางด้านครุฯ (เพราะครุฯคือศาสตร์ที่ว่าด้วยการเรียนการสอน การหาวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่) สาขาอื่นจึงใช้ผลงานแบบนี้ขอยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำมาแล้วเสียเปล่า ยังสามารถใช้เป็น Value Added ได้เวลายื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ (เป็นข้อมูลประกอบ) และยังสามารถเก็บข้อคิดต่างๆ ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนั้นๆ มาเขียนเป็นตำราที่มีพื้นฐานมาจากงานวิจัยของตัวเราเองก็ได้ ก็จะทำให้ตำรานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น (ไม่ใช่เพียงแค่ลอกตำราต่างประเทศมา) เพราะความรู้ที่มาเขียนเกิดจากการสังเคราะห์งานวิจัยฯที่ผู้เขียนได้ลงมือทำเองและเกิดจากองค์ความรู้ที่ศึกษามาจริงๆ

ในความคิดของผู้เขียนเองก็ไม่เคยเห็นว่า สิ่งใดที่เราลงมือทำไปแล้วมันจะสูญประโยชน์ ในทางตรงข้ามมันต้องก่อให้เกิดประโยชน์หรือคุณค่าอะไรบางอย่างขึ้นเสมอ ดังนั้นที่บางคนอาจคิดว่าทำวิจัยในชั้นเรียนไปก็ไม่สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้ แต่ในทัศนะของผู้เขียนกลับมองว่า เราจะมัวมานั่งคำนึงถึงจุดนั้นไปทำไม ถ้างานวิจัยในชั้นเรียนนั้นยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับนักศึกษาให้เขาเรียนรู้ได้ดีขึ้น สนุกขึ้น ตัวเราเองก็สนุกกับการทดลองอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา อะไรที่มันคาดการณ์ไม่ได้นี่หล่ะ ท้าทายดี

ข้อคิดของศ.ดร.สุวิมล ว่องวานิช

- อย่ามองแค่ปัญหาของนักศึกษา เพราะนั่นไม่ได้นำไปสู่คำตอบของการเรียนการสอน เพราะการวิจัยแค่ปัญหาของนักศึกษาเป็นเพียงแค่การบรรยาย “สภาพ” ของปัญหา แต่ยังไม่ได้ “แก้ไขปัญหา” นั้นๆ เลย ดังนั้นการทำวิจัยในชั้นเรียน จึงควรนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และนำวิธีการแก้ปัญหานั้นไปใช้ แล้วดูว่าวิธีที่คิดขึ้นมาใหม่นั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ หรือวิธีการนั้นมันสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้หรือไม่

- งานวิจัยในห้องเรียน ควรแสดงให้เห็นนวัตกรรมในการพัฒนาระบบการเรียนการสอน ส่วนการรายงานข้อมูลการวิจัย (ผลสัมฤทธิ์) เป็นรายงานแบบคุณภาพก็ได้ แต่ควรเป็นไปในเชิงปฎิบัติ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 353630เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2010 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอมาเยี่ยมบันทึกอาจารย์ไว้ก่อน ... เดี๋ยวสอนเสร็จจะตามมาอ่านครับ ;)

อาจารย์สบายดีเนาะ ;)

สวัสดีค่ะอาจารย์

หนูนางสาว พานุมาศ ไคร้หมู

e 52741238 หมู่เรียนที่ 2 ค่ะ นามแฝง เด็กฝาง

อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่าตอนนี้หนูย้ายบล็อก

ทั้งหมดมารวมกันแล้วแต่หนูลบบล็อกอื่นไม่ได้อาจารย์

ช่วยcomment ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ Ongkuleemarn

ขอบคุณที่มาเยี่ยมที่บันทึกค่ะ

พักนี้ไม่ค่อยได้บันทึกเท่าไหร่เลยค่ะ

สถานการณ์ตึงเครียด T_T

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท