ความทุกข์ยากของคนไข้


เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จุฬานะครับ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๓ ได้เชิญคนที่สนใจคุย มาคุยกันโดยกำหนดคุณสมบัติไว้ข้อเดียวว่า เคยร่วมกิจกรรมสุนทรียสนทนากับเรามาแล้ว

มานั่งนึกตรึกตรองกันว่า หากจะตายใน ๑ ปี, ๓ เดือน, ๑ เดือน, ๗ วัน, ๓ วัน แต่ละคนจะทำอะไรกันบ้าง  เมื่อเวลายังยาวไกลก็ยังอยากทำงาน ทำสิ่งดีให้คนอื่น ไปเที่ยวให้สมใจ จัดการทรัพย์สมบัติให้เรียบร้อย   เมื่อเวลาเหลือน้อยเข้าก็อยากจะอยู่กับคนที่รัก คนในครอบครัว ลูก บางคนยังอยากทำงานมากๆ หวังจะฝากชื่อเสียงเอาไว้ บางคนอยากบริจาคร่างกาย ปฏิบัติธรรม สรุปว่าอยากตายดีและหมดห่วง

คุณสามารถลองอ่านบทความเกี่ยวกับมรณสติของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโร ฟังแล้วออกจะดีใจหน่อยๆ เหมือนผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว

แล้วนั่งคุยกันว่าพบคนไข้ลำบากอะไรบ้าง แต่ละคนมีเรื่องเล่ามากมายจนจาระนัยไม่ไหว มีหลายคนที่พยายามช่วยคนไข้ ทั้งที่ตนเองก็ลำบาก ต้องเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อจะไปช่วยคนไข้  ฟังแล้วตื่นใจประทับใจในความดีของพวกเรา จึงฝากสตางค์ให้คุณหมวยช่วยเอาไปทำความดี ที่จริงประทับใจตั้งแต่ครั้งก่อน แต่ตอนนั้นไม่มีตังติดตัว คนอยู่ใกล้ก็ยากจนเหลือเกิน สงสัยภรรยาไม่อนุญาตให้เอาเงินติดตัวไว้มากๆ (ผิดศีลข้อ ๔ อีกแล้ว)

ความลำบากของคนไข้พอจะประมวลเป็นหมวดๆ ว่าเกิดจากความเจ็บป่วย ความไม่ค่อยมีสตางค์ และจากการรักษาพยาบาล ซึ่ง ๓ หมวดนี้หลีกเลี่ยงได้ยาก  แต่มีอีกหมวดหนึ่งซึ่งเกิดจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเองที่ไปสร้างความลำบากความทุกข์ให้แก่คนไข้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม  จะโดยหวังดีหรือประสงค์ไม่ดีก็ตาม  หมวดสุดท้ายนี้น่าจะลดลงได้มาก หากเอาใจเราไปใส่ในใจเขา

ที่ได้ยินมาเองกับหู คือหมอที่พูดไม่ระวังเลย  บอกคนไข้ว่าเป็นโรคตับระยะสุดท้ายไม่รู้จะรอดไหมนะทั้งที่คนไข้มาที่ห้องฉุกเฉิน ไม่รู้ว่าพอจะรู้โรคของตัวเองมาก่อนหรือไม่ หากไม่รู้คงแทบช็อค แต่มองดูคนไข้ก็นอนฟังเฉยๆ ตั้งอกตั้งใจหายใจ เพราะหายใจลำบาก จะว่าไม่ได้ยินก็ไม่เชิง เพราะผมอยู่ไกลยังได้ยินชัด  ผมเองก็สอนเรื่องการสื่อสาร ซึ่งมีเรื่องการแจ้งข่าวร้ายอยู่ด้วย  รู้สึกเอาเองว่าเรื่องนี้ หากเอาใจเขามาใส่ใจเราเสียแล้วก็คงไม่ต้องสอน   ทำนองเดียวกับถ้าคนตั้งใจทำงานอย่างระมัดระวัง ก็คงไม่ต้องออกแนวปฏิบัติมากมายเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน (ผิดพลาด) ทางยา

ถอนหายใจยาว

หมายเลขบันทึก: 355649เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2010 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านบันทึกนี้แล้ว รู้สึกดีนะคะ

และขอบคุณที่เอาใจใส่ผู้ป่วย

เหมือนเป็นคุณหมอแห่งมิตรภาพบำบัดเลยค่ะ

ขอให้มีความสุขมากๆนะคะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

บันทึกนี้ช่วยเตือนใจคนทำงานให้ตระหนักในตนเองและมีการสื่อสารที่ดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท