vanillawara
นางสาว วราภรณ์ (บุ๋ม) ด่านศิริ

ความคิดสร้างสรรค์คืออะไรกัน ?


                สวัสดีค่ะ :) หลังจากการคร่ำเคร่งอ่านหนังสือสอบไฟนอล วันนี้ฉันสอบวิชาทีเด็ด Finance เสร็จแล้วค่ะ เลยตั้งใจมาอัพบล็อคแบบสบายๆใจดีกว่า วันนี้จะมาแชร์ความรู้เรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ ค่ะ
 
“ความคิดสร้างสรรค์” (Creativity) คำพูดที่ได้ยินติดหู และผู้คนพูดติดปากกัน แพร่หลายในปัจจุบัน จริงๆแล้วความหมายของมันคืออะไรกันแน่ ?
            
             เมื่อก่อนนี้ การรับรู้แรกของคนส่วนใหญ่ มักจะมอง “ความคิดสร้างสรรค์” ในแง่มุมของความเป็นศิลปะ (Art sense) แต่ในความปัจจุบันนี้ จะเห็นได้จากความเป็นจริงว่า “ความคิดสร้างสรรค์” ได้แทรกซึมไปยังทุกๆศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ รวมถึงศาสตร์ในการทำธุรกิจด้วย แล้วความคิดสร้างสรรค์  คืออะไรกันล่ะ ?

 

“ความคิดสร้างสรรค์  คือความสามารถที่จะประดิษฐ์หรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ หรือจัดองค์ประกอบแบบที่ไม่มีใครจัดมาก่อน ในวิถีทางที่ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์หรือแนวคิดที่มีคุณค่าและมีความงาม” (Haimowitz & Haimowitz , 1973)

“ความคิดสร้างสรรค์ คือการแก้ปัญหาในมุมที่ใคร ๆ ก็คาดไม่ถึง
ความคิดสร้างสรรค์ คือความแปลกใหม่มีคุณค่าและมีสุนทรียภาพ”
(Good & Bropha , 1980)

“ความคิดสร้างสรรค์ คือจินตนาการที่มีความเป็นตัวของตัวเองไม่ซ้ำแบบใคร และมีคุณค่าในตัวเอง” (Reilly & Lewis , 1983)

“ความคิดสร้างสรรค์ คือความคล่อง ความยืดหยุ่น และความแปลกใหม่” (Guilford , 1959)
 
“ความคิดสร้างสรรค์ คือ อะไรที่แปลกใหม่ เป็นไปได้ ใช้ได้จริง” (อ.ภิญโญ ^^)
               
           ในมุมมองของฉัน ด้วยอารมณ์อยากจะสร้างโมเดลของตัวเองขึ้นมา ขอนำเสนอ ความคิดสร้างสรรค์ในมุมมองของฉันเอง ดังนี้ค่ะ

C: Conceptual

          การทำให้เห็นภาพหรือการวางกรอบแนวความคิด เวลาคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆขึ้นมานั้น เราควรจำกัดขอบเขตของความคิด ให้เห็นภาพที่ชัดเจน เพื่อสื่อสารความคิดรวบยอด (Concept) ได้ง่าย อย่างเช่น หากเราต้องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบรีสอร์ทริมทะเล อันดับแรกคือ เราต้องมองหา Concept ที่ต้องการสื่อแสดงก่อน เช่น ต้องการบ้านพักสไตล์ที่อยู่อาศัยของชาวประมง จากนั้นเมื่อได้ Concept แล้ว จึงเริ่มใช้ความคิดในการสร้างสรรค์งานออกมา เมื่องานเสร็จ ผู้คนก็จะเห็นภาพงานของเราภายใต้ Concept ที่เราต้องการจะสื่อ
 

R: Realistic

          การอ้างอิงความเป็นจริง หรือการสร้างสรรค์งานให้ดูเป็นไปได้ในโลกความเป็นจริง ความคิดสร้างสรรค์กับความคิดเพ้อฝัน จะเป็นอะไรที่ใกล้เคียงกันมาก และไม่สามารถแยกแยะออกจากกันได้เลย หากผู้คิดไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้จริงของสิ่งที่กำลังคิดอยู่ เช่น ความคิดจะประดิษฐ์ Time machine อย่างในการ์ตูนโดเรม่อน ถือเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ แต่ติดตรงที่ว่า ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังไม่สามารถประดิษฐ์ขึ้นจริงได้อย่างสมบูรณ์แบบ
 

E: Exclusive

          ความพิเศษ เฉพาะตัว เป็นองค์ประกอบหลักเลยของความคิดสร้างสรรค์ เสน่ห์ของความคิดสร้างสรรค์ในงานแต่ละงาน จะขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถสร้าง E : Exclusive ได้มากกว่ากัน ตัวอย่างเช่น ไอเดียการออกแบบเครื่อง PC ของ Apple จะเห็นว่า Mac PC ได้รวมเครื่อง CPU เข้าไว้กับหน้าจอเลย ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ พิเศษ เฉพาะตัวของ Apple สามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และสร้างแรงดึงดูดจากผู้บริโภคได้ด้วย
 

 

A: Actionable

          ความในสามารถการสร้างไอเดียให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้จริง นอกจากความคิดสร้างสรรค์ต้องเป็นไปได้แล้ว ยังต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวันด้วย เช่น กรณี  Easy Go ในตอนแรกเริ่มพัฒนานั้น Easy Go ถือเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์มาก ที่คิดนำข้าวกล่องสำเร็จรูปไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งไอเดียนี้ก็เป็นไปได้ (Realistic) ด้วยเช่นกัน แต่ทาง CP ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการพัฒนาและทำ R&D เพื่อให้เมื่อผลิตเป็น Easy Go ออกมาจำหน่ายแล้ว คุณภาพของผลิตภัณฑ์จะใช้ได้จริงตามที่คิดค้นไว้ (Actionable) เป็นต้น
 

T: Thinking out of the box

          ความแตกต่าง นอกกรอบ แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร กระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ถือว่าการคิดนอกกรอบเป็นใบเบิกทางที่เจ๋งที่สุด การริเริ่มทำอะไรใหม่ๆเป็นคนแรก ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างมากในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น iPad ของ Apple ที่เป็นการออกแบบอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีแบบใหม่ โดยมี Concept คือ เกิดจากการควบรวมระหว่าง Netbook กับ iPhone เป็นต้น

 

I: Inspired

          ความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจ ความประทับใจในสายตาผู้อื่น อาจมีงานสร้างสรรค์บางงาน ที่เมื่อพัฒนาออกมาแล้วได้รับคำตำหนิ หรือก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี (งานชิ้นนั้นอาจจะสร้างสรรค์จริง แต่ไม่ได้สร้างสรรค์ในแง่บวก) ในมุมมองส่วนตัว ฉันมีความเห็นว่างานที่ดี ควรสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พบเห็นได้ เช่น โครงการประกวด Sexy LEO girl ของเบียร์ลีโอ ถือเป็นไอเดียที่ไม่ซ้ำใครในการตลาดอุตสาหกรรมเบียร์ไทย แต่ความสร้างสรรค์นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเป็นจำนวนมาก ในขณะที่แคมเปญของเบียร์ช้าง “คนไทยหัวใจเดียวกัน” ซึ่งอาจจะไม่ได้แปลกใหม่เท่าแคมเปญของลีโอ แต่ได้รับความประทับใจ และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมได้มากกว่า เป็นต้น

 

 

V: Valuable

          การสร้างสรรค์งานออกมาแล้วเกิดประโยชน์และมีคุณค่า ในทฤษฎีเหรียญ 6 เหรียญนั้น เหรียญแก้ว หรือ คุณค่าด้านนวัตกรรม เห็นจะเป็นตัวแทนของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ชัดเจนที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เกมทำอาหารออนไลน์ Oishi Café City ที่ใช้การผสมผสานของระบบสุดล้ำ QR และ AR ผ่านชากล่องโออิชิ เป็นต้น
 

E: Economical

          การสร้างสรรค์งานที่ประหยัด มีต้นทุนที่สมเหตุสมผล ในการสร้างงานโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์นั้น เมื่อนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จริง ควรคำนึงถึงต้นทุนด้วย ว่าคุ้มค่า เหมาะสมกับประโยชน์ที่ได้รับจากการนำไปใช้มากน้อยเพียงใด เช่น ร้านสุกี้ MK Trendi ในเครือเอ็มเค สร้างความแตกต่างโดยการติดทีวีไว้ทุกโต๊ะ ตรงนี้หากเมื่อคำนวณถึงความประหยัดคุ้มค่าในการลงทุนแล้ว ในบางสาขาทีวีที่ติดไว้ อาจเป็นการสิ้นเปลืองต้นทุนโดยใช่เหตุ
 
 ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านนะคะ มีข้อคิดเห็นต้องการแลกเปลี่ยนยังไง แสดงความเห็นได้เต็มที่เลยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ^^
หมายเลขบันทึก: 355806เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ว้าว ชอบมากเลย วิเคราะห็เจ๋งมากชอบๆ

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีดีนะจ๊ะ

ขอบคุณนะคะพี่ผักบุ้งกรอบ มีกำลังใจๆๆ ^^

เข้ามาเรียนรู้ความหมายในตัวอักษรทั้งแปด

ละเอียดและตัวอย่างอธิบายได้เห็นภาพดี

ปล. vanillawara ทำให้นึกถึง vanillaware

เป็นชื่อค่ายผู้ผลิตเกมจากญี่ปุ่นน่ะครับ

muramasa ภาพสวยมาก ^~^

สุดยอดเลยน้องบุ๋ม ^^

ขอบคุณที่นำเรื่องราวดีๆ โมเดลแหล่มๆนี้มาแบ่งปันกันน๊าาา

แอบบ มาอ่านครับ ชีวิต มันก็ต้องเล่นไปตามเกม นะครับ พี่ก็เล่นมันไปตามเกมส์ของชีวิต สนุกๆกับมันดีกว่านะครับ ขอบคุณครับที่แวะเข้าไปเยี่ยมเยียน

น่าจะมีมากกว่านี้นะคร้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท