หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ทวิภพในสมมติของเอกภพ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


มีความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างการจลาจลที่เกิดใน "สงกรานต์เลือด" พ.ศ.2552 กับการจลาจลที่เกิดใน พ.ศ.2553 ครั้งนี้ ในครั้งสงกรานต์เลือด การจลาจลมุ่งจะต่อสู้และทำร้าย "รัฐ" หากจะมีผลกระทบถึง "สังคม" บ้าง ก็เกิดขึ้นโดยไม่เจตนา หรือเป็นผลพลอยได้จากการต่อสู้กับ "รัฐ"


การจลาจลครั้งนี้ มุ่งจะทำร้าย "สังคม" โดยตรง แม้ว่าเริ่มขึ้นจากการต่อสู้กับการล้อมปราบของ "รัฐ" ก็ตาม แต่เมื่อเห็นว่าไม่สามารถจะต้านทานกำลังของรัฐได้แล้ว การต่อต้านของผู้คนกลับแปรเปลี่ยนไปสู่การทำร้าย "สังคม" โดยตรง เช่น เผาโรงหนัง, ธนาคาร, ห้างสรรพสินค้า, หรือรถเมล์ และสถานีรถไฟใต้ดิน


ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่า ในการจลาจลทุกแห่งและทุกครั้งทั่วโลก ย่อมมีคนซึ่งไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งเข้ามา "ผสมโรง" ด้วยอีกมาก เช่น ถือโอกาสงัดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม หรือขโมยสินค้าในห้างต่างๆ แต่การเรียกคนเหล่านี้ว่าพวก "ผสมโรง" อธิบายได้แต่การกระทำของเขา ไม่สามารถอธิบายสาวไปถึงต้นเหตุที่ทำให้เขาฉวยโอกาสระหว่างที่บ้านเมืองไร้ขื่อแป ต้องไม่ลืมด้วยว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอย่างเดียวกันในระหว่างที่บ้านเมืองไร้ขื่อแป มีแต่คนจำนวนหนึ่งที่ฉวยโอกาสเข้ามา "ผสมโรง" เราจึงจำเป็นต้องมองถึงสาเหตุให้ลึกกว่าความไร้ขื่อแป


เราอาจมองความแตกต่างระหว่างการจลาจลเมื่อครั้ง "สงกรานต์เลือด" และครั้งนี้อีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ในช่วงสงกรานต์เลือด "รัฐ" ในทรรศนะของ นปช.ถูกปล้นไปเพราะกลุ่มชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม สมคบกันตั้งรัฐบาลขึ้นในค่ายทหาร ฉะนั้น จึงต้องต่อสู้กับชนชั้นนำกลุ่มที่กำลังถืออำนาจอยู่ แต่ในการจลาจลครั้งนี้ ดูเหมือนทรรศนะของ นปช.จะชัดเจนขึ้นว่า ชนชั้นนำที่แย่งชิงเอาอธิปไตยของไพร่ไปนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น แต่ประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างมหึมาที่ครอบงำรัฐและสังคมไว้อย่างแน่นหนา


พวกเขามองเห็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงอย่างสลับซับซ้อนระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ กับทุน, ระบบราชการ, สื่อ, ชนชั้นนำทางปัญญา, วิชาการ, วัฒนธรรม, และจารีต อีกหลายกลุ่มหลายเหล่า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีสังคมมหึมาที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ใช่เพียงอำนาจของเหล่าทัพและ "อำมาตย์" เท่านั้นที่ผลักดันและหนุนหลังรัฐบาลนี้อยู่


ผู้เข้าร่วมชุมนุมมองเห็นชัดเจนว่า ในประเทศไทยมีโลกของ "ไพร่" และโลกของ "ผู้ดี" ซึ่งจะเท่าเทียมกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมในแง่ของโอกาสทางเศรษฐกิจ, โอกาสทางสังคม, หรือแม้แต่โอกาสทางการเมือง และกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น "สองมาตรฐาน" เป็นธรรมชาติของรัฐแบบนี้ เพราะรัฐแบบนี้ดำรงอยู่ได้ก็เพราะ "สองมาตรฐาน" ... โรงเรียนของบุตรหลานที่เป็น "สองมาตรฐาน", การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่เป็น "สองมาตรฐาน", ความมั่นคงปลอดภัยด้านสุขภาพที่เป็น "สองมาตรฐาน" ฯลฯ


ว่ากันที่จริง สังคมไทยมีโลกสองโลกตั้งอยู่ด้วยกันมาแต่โบราณ (เหมือนสังคมอื่นๆ อีกหลายสังคมทั่วโลก) แต่เพราะโลกของ "ผู้ดี" มีอำนาจน้อย จึงเบียดเบียนโลกของ "ไพร่" ได้น้อย ความสัมพันธ์ระหว่างโลกทั้งสองมีลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายอาจบอกตัวเองได้ว่า เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน


แต่ปัญหามาเกิดขึ้น เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ความทันสมัยซึ่งมีอัตราความเปลี่ยนแปลงเร่งเร้าขึ้นตลอดมา ในระยะแรก การใช้อุดมการณ์ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ อาจช่วยประสานรอยร้าวของโลกทั้งสองได้ ที่สำคัญกว่าอุดมการณ์ก็คือ การเปิดโลกของชนชั้นนำ (ทั้งโดยตั้งใจและถูกบังคับ) ให้คนอื่นๆ สามารถแทรกตัว ไต่เต้าขึ้นมาได้บ้าง จนกระทั่งโลกของ "ผู้ดี" ประกอบด้วยคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป ซึ่งได้รับการศึกษาแผนใหม่ มีอาชีพมั่นคง และมีอำนาจต่อรองทางการเมืองไม่น้อยไปกว่าคนอื่นใดในสังคม


หากทว่า โลกของ "ไพร่" ก็ยังคงอยู่ แม้ประสบความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน จำนวนมากของคนเหล่านี้สูญเสียปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะที่ดินไปเสียแล้ว (ยังไม่พูดถึงความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเขา) ต้องเปลี่ยนตนเองมาเป็นคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งมีรายได้เป็นตัวเงินสำหรับดำรงชีวิตเดือนต่อเดือน หรือแม้แต่วันต่อวัน ความหวังที่จะไต่เต้าให้สูงขึ้นไปสู่คนชั้นกลางระดับกลาง กลับริบหรี่ลง ในท่ามกลางการศึกษาซึ่งต้องลงทุนซื้อหาแพงมากขึ้นจนพวกเขาจรดแทบไม่ติด


น่าสังเกตด้วยว่า จลาจลคนดำในสหรัฐนั้น เกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ของภาคเหนือ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ทั้งๆ ที่คนดำในภาคเหนือมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าคนดำในชนบทของภาคใต้ แต่เพราะภาคเหนือของสหรัฐนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กระทบต่อคนดำซึ่งไปกระจุกตัวอยู่ในเขตชั้นในของเมืองใหญ่มาก "รู้สึก" ในความไม่เท่าเทียมและความสิ้นหวังแหลมคมกว่าคนดำในชนบทอย่างเทียบกันไม่ได้


โลกของ "ไพร่" และโลกของ "ผู้ดี" ในสังคมไทยแยกห่างจากกันจนสุดกู่มากขึ้น อะไรที่เคยช่วยประสานโลกทั้งสองเข้าหากัน ก็หมดพลังลงไปเสียแล้ว


ความหวังของคนสิ้นหวังเหล่านี้คือ อำนาจทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน ขนผู้คนมาเป็นจำนวนแสนๆ แต่ผู้ประท้วงเรียกร้องเพียงการ "ยุบสภา" อันเป็นมาตรการแสนจะปกติธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลของ "ผู้ดี" ให้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่ต้องให้จริงๆ นั้นก็คือ อำนาจทางการเมืองที่เท่าเทียมกันต่างหาก ในเมื่อการเลือกตั้งคือการนับคะแนนหนึ่งคนต่อหนึ่งคะแนนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็น "ไพร่" หรือ "ผู้ดี"


การจลาจลคือการเผชิญหน้ากันของโลกทั้งสอง ควันของยางรถยนต์ที่ถูกเผาไม่ได้บดบังกันและกันเท่านั้น หากยังบดบังความคับข้องใจ (grievances) ที่ส่งออกมาจากโลกของ "ไพร่" ด้วย


แต่เมื่อควันจางลง ถึงเวลาที่โลกทั้งสองฝ่ายต้องมีสติพอจะศึกษาหาที่มาที่ไปของการจลาจล ให้ลึกกว่าเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพราะได้พบกันมานานแล้วว่า การจลาจลไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่ใดของโลก ไม่เคยเกิดขึ้นจาก "น้ำผึ้งหยดเดียว" หากเพราะมีความคับข้องใจมากมายของคนจำนวนมาก ซึ่งไม่มีใครมองเห็น หรือไม่มีใครแคร์พอจะไปแก้ไข ทิ้งสะสมมาเป็นเวลานาน จนทำให้ผู้คนสิ้นหวัง มองเห็นการทำลายเพื่อระบายความคั่งแค้นที่ไม่มีใครใส่ใจออกมาอย่างเป็นรูปธรรม หรือมิฉะนั้น ก็ได้แต่ฉวยโอกาส "ผสมโรง" ไปกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพื่อเข้าถึงสิ่งที่ไม่มีวันเข้าถึงในชีวิตปกติ


ด้วยสภาพที่สั่งสมมาอย่างนี้ต่างหาก ที่ทำให้ "น้ำผึ้งหยดเดียว" กลายเป็นชนวนแก่การจลาจลได้


ในสหรัฐ หลังการจลาจลคนดำครั้งใหญ่ที่ดีทรอยท์ใน ค.ศ.1967 ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษากรณีนี้ และทำรายงานออกมารู้จักกันในชื่อ "รายงานเคอร์เนอร์" ตามชื่อประธาน รายงานนี้เจาะลึกลงไปถึงปูมหลังของเหตุการณ์อย่างรอบด้าน แล้วสรุปว่า การจลาจลเกิดขึ้นจากความสิ้นหวังของคนดำที่จะเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ยกย่องรายงานฉบับนี้ว่า "เป็นคำเตือนของแพทย์ถึงความตายที่กำลังคืบคลานมา พร้อมทั้งหนทางบำบัดเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป"


ประโยคอันลือชื่อของรายงานเคอร์เนอร์ก็คือ "ชาติของเรากำลังเคลื่อนไปสู่สังคมสองสังคม สังคมหนึ่งดำ สังคมหนึ่งขาว-แยกจากกัน และไม่เท่าเทียมกัน"


โดยปราศจากการศึกษาอย่างรอบด้านเช่นนั้น เหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นในเมืองไทยดูจะส่อไปในทิศทางเดียวกัน


สภาหรือนายกฯ จะตั้งกรรมการขึ้นศึกษาเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น และใครถูกใครผิด ก็ว่ากันไป แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยมากกว่า ก็คือคณะกรรมการที่เที่ยงธรรม แต่ต้องมีฝีมือ เพื่อจะศึกษาให้ลึกถึงปูมหลังทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม ของการจลาจลในครั้งนี้ โดยไม่เกี่ยวกับว่าใครทำผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ต้องการจะให้ข้อมูลเพื่อทำคดีแก่ใคร แต่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระยะห่างของโลกทั้งสองในสังคมไทย รวมทั้งจะเชื่อมประสานโลกทั้งสองอย่างไร


เพื่อที่ว่า เราจะมีหนทางเชื่อมประสานที่ดีกว่า "รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย..."

 

จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274707046&grpid&catid=02

หมายเลขบันทึก: 361296เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2010 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 03:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านครับ...

ต้องเรียนรู้ข้อมูลแบบนี้บ้าง
ชนชั้นมีอยู่จริงในสังคม
แต่ใครจะยอมรับ

 

สวัสดีคะพี่หนานเกียรติ

เทียนน้อยตามมาเก็บข้อมูลค่ะ

พี่ชายสบายดีนะคะ  ^_^

(เทียนน้อยว่าสังคมไทย...มีมากกว่าสองมาตรฐาน...โดยเฉพาะมาตรฐานฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม...คุณค่าของคนส่วนใหญ่แล้วหาวัดที่ความดีงามทีทำก็หาไม่...ไม่ว่าจะเป็นส่วนน้อย...ที่เป็นสิ่งดีงาม...แต่ก็ช่วยกันให้ดำรงอยู่...หาใช่หมุนเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมให้กลืนกิน...)คิดถึงพี่ชายค่ะ

สวัสดีค่ะ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สอนให้เรารับรู้ที่จะแยกแยะสิ่งที่ฟัง ที่เห็น ได้มาก และไม่ประมาท พร้อมกับไม่หวั่นไหวตามกระแสบางอย่าง

 

สวัสดีค่ะหนานมาอ่านแล้วรู้จักแยกแยะแบบพี่ครูคิมว่าน่ะแล้วก็จะอยู่อย่างสงบไม่ไปทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้านนะคะ

ขอบคุณอีกมุมมองที่ได้เรียนรู้ค่ะ

รับรู้ถึงความสูญเสีย  ความเจ็บปวด

ต่อจากนี้ไป  คงช่วยกันคนละไม้คนละมือในการเก็บกวาด  กอบกู้  และเยียวยา

เป็นกำลังใจให้คนใกล้พื้นที่อย่างหนานเกียรตินะคะ  และคนไทยทุกคนที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้

การจะวิเคราะห์ข้อเขียนของใครเราควรที่จะรู้ภูมิหลังของเขาเสียก่อน

อจ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเป็น อาจารย์สอนประวิติศาสตร์ อยู่ มช.

อยู่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นกลุ่มอาจารย์ที่เคลื่อนไหวไม่เอาสถาบันฯ

เคลื่อนไหวสอดคล้องกับความต้องการของทักษิณอยู่เนืองๆ

ไม่ทราบว่าท่านหนานเกียรติ์รู้ข้อมูลนี้หรือไม่ จึงสนับสนุนข้อเขียนของคนที่ต้องการล้มสถาบันฯ

       ค่ะ รักกันไว้เถิด ร่วมแดนไทย

  

     พี่ดาไม่อยากเอ่ยๆแล้ว โมโห นะ

 

เอามะม่วง มหาชนก มาฝากจากสวนแม่ริมค่ะ หวานหอมอร่อยค่ะ

 

ขอชื่นชม ชื่นชอบบทความ ของ อ.นิธิ ด้วยคนครับ

นมัสการครับพระอาจารย์ (พระมหาแล ขำสุข [IP: 125.25.203.209]) 

 มีบทความหลายชิ้นของ อ.นิธิ ที่เป็นการเตือนสติและให้ปัญญาแก่สังคม
เพียงแต่ว่าต้องเปิดใจรับความเห็นที่อาจแตกต่างไปจากตัวเอง

สวัสดีครับ คุณ Phornphon 

 ขอบคุณที่แวะมาอ่านนะครับ

 

สวัสดีครับ คุรครูเทียนน้อย 

 สังคมไทยเป็นอย่างที่ครูเทียนน้อยว่านั่นแหละครับ มีหลายมาตรฐาน
พวกเราต่างก็พบความลักลั่นนี้มาตลอดเวลา
หากมันมีบทบาทเพื่อที่จะรักษาความมั่นคงของสังคมไว้ก็คงไม่ว่าอะไร
แต่มันเป็นการฉวยโอกสของคนบางกลุ่มอย่างเห็นแก่ตัว สิ่งนี้คือความน่ารังเกียจครับ

 

สวัสดีครับ พี่ครูคิม 

 มีสติรู้เท่าทันดีที่สุดครับ
มีสติจะทำให้ความโกรธเกลียด เคียดแค้นไม่เข้ามาทำร้ายเราและคนอื่นครับพี่...

 

สวัสดีเจ้าคุณครู rinda 

 เห็นโตยครับ
ยินดีจ้าดนักที่แวะมาแอ่ว...

 

สวัสดีครับ คุณ namsha 

เราทุกคนต่างได้รับผลกระทบด้วยกันครับ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ใส่เสื้อสีอะไร
ผมคิดว่านี่เป็นกรรมร่วมที่เราต้องช่วยกันรับผลครับ
คาดหวังว่าความสันติสุขจะกลับคืนมาอีกครั้งครับ

 

สวัสดีครับ คุณหนุ่มดอย [IP: 119.42.70.100] 

 ขอบพระคุณอย่างยิ่งต่อการตักเตือนนะครับ
ผมได้เขียนบันทึกตอบความเห็นของคุณหนุ่มดอยอยู่ในบันทึก อันเนื่องมาจาก “ทวิภพในสมมติของเอกภพ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์” ครับ

 

สวัสดีครับ พี่กานดา น้ำมันมะพร้าว 

 แหะ แหะ ใจเย็นครับพี่...
ขอบคุณสำหรับมะม่วงมหาชนกนะครับ
หวังว่าคงจะมีโอกาสได้ชิมจริง ๆ นะครับ

 

 

สวัสดีครับ พี่สุเทพ ไชยขันธุ์ 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ผมคาดว่าคนที่ทำงานทางสังคมมีน้อยนะครับที่ไม่ติดตามงานของ อ.นิธิ...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท