vanillawara
นางสาว วราภรณ์ (บุ๋ม) ด่านศิริ

Out learning the Wolves ฉลาดเกินหน้าหมาป่า


                หนังสือชุดนิทานการเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้เชิงองค์กร ของสำนักพิมพ์ Pegasus Communications ที่ดูรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนหนังสือนิทานภาพที่เราอ่านกันสมัยเด็กทั่วไป พอเปิดไปข้างใน เนื้อเรื่อง รูปภาพ ชื่อตัวละคร ก็ไม่ต่างจากภายนอก ที่แสนจะเหมือนนิทานธรรมดาทั่วไป แต่ใครจะรู้ “หนังสือนิทานชุดนี้เป็นหนังสือประกอบการเรียน ของนักศึกษาปริญญาโทเลยนะนั่น” มาดูความพิเศษจากความเรียบง่ายของวิธีการบอกเล่าได้จาก Out learning the Wolves ฉลาดเกินหน้าหมาป่า เล่มแรก ในชุดห้าเล่ม ที่ฉันได้อ่านมาแล้วเลยค่ะ

 

 

                ตามชั้นหนังสือในร้านหนังสือ หรือห้องสมุด เมื่อเราเดินไปชั้นหนังสือหมวดธุรกิจ เราจะเห็นหนังสือเป็นร้อยๆเล่ม ที่เรียงรายมาในรูปแบบเดียวกัน ที่นิยมหยิบประเด็นร้อนทางธุรกิจต่างๆ (เช่น เป็นเจ้าของร้านกาแฟยังไงดีนะ ขายอะไรบน E-bay ดี ฯลฯ) มาอธิบายขยายความในลักษณะความเรียง มีเนื้อหาเป็นแบบแผน คล้ายๆกัน มาในแนวทางเดียวกันเป็นแบบฉบับ

 

               แต่สำหรับหนังสือนิทานชุดนี้ ถือได้ว่าสร้างสรรค์มาก ในการนำเอาความรู้เชิงธุรกิจ มานำเสนอในรูปแบบที่เจ๋ง และดึงดูด อย่างที่เราเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่า สิ่งที่จะทำให้เด็กจดจำสิ่งต่างๆได้ง่าย คือ รูปภาพ และ เสียง เมื่อเราโตขึ้นมา ฉันเชื่อว่า ทฤษฎีนี้มันก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยค่ะ

 

               วัตถุประสงค์ของชุดหนังสือนี้ คือ นำเสนอการเรียนรู้เชิงองค์กร ในวิถีทางต่างๆผ่านหนังสือทั้ง 5 เล่ม สำหรับ Out learning the Wolves ฉลาดเกินหน้าหมาป่า นั้น จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “การตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง (Domain of change) การลงมือกระทำ (Domain of Action) และเสริมๆด้วยการพูดคุยกันภายในทีมแบบเปิดใจ (Appreciative sharing)”

 

               ฉันขออนุญาตเล่าเนื้อเรื่องย่อ (สำหรับท่านที่สนใจอ่านเอง แอบหาอะไรมาปิดไว้ก่อนได้นะคะ ^^) ฝูงแกะโดนหมาป่าจับไปกินในตอนกลางคืน มาตั้งแต่สมัยนู้นนน แต่ก็ไม่ได้มีใครคิดจะหาวิธีการแก้ไข เพราะเห็นว่ายังไงฝูงแกะก็ขนาดใหญ่ขึ้น เข้มแข็งขึ้น (ถึงแม้ก็ยังถูกหมาป่ากินไปบ้างอยู่ดี) จนสุดท้าย ออตโต้ แกะหัวสมัยใหม่ ที่สามารถเป็นจุดเริ่มต้นในการปลุกระดมสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากการเชื่อว่าฝูงแกะสามารถรอดพ้นจากหมาป่าได้ จากนั้นก็ให้แกะทุกตัวนั่งคิดนอนคิด สังเกตต้นตอของปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดต่างๆแก่กัน จนสุดท้ายฝูงแกะก็ค้นพบ “ทางออก” ที่ว่านั้น 

 

ความขาดแคลน เป็นบ่อเกิดของการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่  !!

คำกล่าวของอาจารย์ที่ปรึกษาฉันที่เป็นจริงค่อนข้างมาก และมีตัวอย่างให้เห็นในโลกปัจจุบัน

 

               หากแต่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนสิ่งอื่นใด ที่ฉันสามารถตีความได้จากฝูงแกะคือ การตระหนักถึงความขาดแคลน และไม่ยอมรับหรือไม่ยอมแพ้กับความขาดแคลนนั้นๆ โดยจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ทำให้เกิด “การตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง” ตลอดจน การพัฒนาเป็น “การใช้ความคิดสร้างสรรค์ขจัดความขาดแคลนนั้นๆ”

สิ่งนิทานเรื่องนี้กล่าวถึง ดังนี้

 

1. โดเมนของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คือ การที่ฝูงแกะตระหนักว่า พวกมันสามารถหลุดพ้นจากการเป็นเหยื่อของหมาป่าได้ ถ้าเปรียบกับความเป็นจริงในโลกมนุษย์ ก็คือ การคิดกบฏต่อปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างแรงจูงใจให้คนในองค์กรไม่ก้มหน้าก้มตายอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น พฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางจากเกาหลี ที่เมื่อก่อนหากซื้อผ่านเคาน์เตอร์ตามห้างสรรพสินค้า ราคาจะสูงมาก ทั้งๆที่ราคาขายที่แท้จริงในเกาหลี ถูกกว่าเป็นเท่าตัว จากความขาดแคลนและความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของเหล่าสาวกเครื่องสำอางจากเกาหลี จึงเกิดช่องทางและพฤติกรรมการซื้อแบบใหม่ คือ การสั่งสินค้า Pre-order ตามเวปไซต์ และผู้จำหน่ายจะเดินทางไปซื้อเครื่องสำอางเองโดยตรงจากเกาหลี หรือฝากซื้อผ่านกลุ่ม Air hostess ที่เดินทางไปเกาหลีเป็นประจำ ทำให้เกิดตลาดใหม่ที่ยิ่งใหญ่มากในวงการเครื่องสำอางเกาหลีผ่านทางอินเตอร์เน็ต

 

2. โดเมนของการกระทำ เมื่อมีการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การลงมือกระทำจริง ซึ่งก็คือ การที่ฝูงแกะพูดคุยกันอย่างเปิดใจ และร่วมกันระดมความคิดเห็น ความสามารถต่างๆ ตลอดจนการพูดเล่าเรื่องแบบไม่เป็นทางการต่างๆสู่กันฟัง จนสามารถค้นพบสาเหตุที่หมาป่าเข้ามาในรั้วหนาม เพื่อมาล่าแกะได้ และเกิดการแก้ไขปัญหาได้ในภายหลัง ในตรงนี้ เปรียบเทียบกับโลกแห่งความเป็นจริง ก็คือ เมื่อเราตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ก็ร่วมมือกันคิดหาวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการพูดคุยแบบเปิดใจ (Appreciative sharing) ให้ได้ข้อมูล ความคิดที่หลากหลาย อาจจะโดยผ่านวิธีการต่างๆ เช่น World café เป็นต้น

 

3. ผลลัพธ์ สุดท้ายในนิทาน ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวรการทั้งสองข้างต้น คือ แกะสามารถพบต้นตอของปัญหาได้ว่า หมาป่าเข้ามาในรั้วหนามได้ เนื่องจากตรงช่วงหนึ่งของรั้วหนามเป็นลำธาร ที่หมาป่าสามารถลอดเข้าใต้รั้วหนามได้ ฝูงแกะจึงได้ช่วยเหลือร่วมมือกัน สร้างเขื่อนกั้นเล็กๆไว้ โดยการแบ่งปันทักษะการใช้จมูกดันหินของเจโรม (แกะอาร์ท ตัวละครที่แนวที่สุดในเรื่องในความคิดฉัน ^^) ซึ่งนอกจากเขื่อนนี้จะช่วยแก้ปัญหาหมาป่าได้แล้ว ยังสามารถสร้างสรรค์บ่อน้ำสปาให้ฝูงแกะมาเล่นน้ำอย่างเพลิดเพลินได้อีกด้วย ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ก็หมายถึง นอกจากการแก้ไขปัญหาที่ดักดานมากับองค์กรเป็นระยะเวลานานได้แล้ว ผลที่ได้อาจเกิดอะไรที่มันสร้างสรรค์แปลกใหม่ติดตามมาด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจได้ เช่น Office ที่ทำงานของบริษัท Google ที่ตระหนักถึงปัญหาความเครียดและความจำเจของบรรยากาศในการทำงานแบบเดิม จึงสร้าง Office แนวใหม่ขึ้นมา นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาความเบื่อหน่ายบรรยากาศในการทำงานของพนักงานได้แล้ว ยังได้ผลประโยชน์พ่วงมาอีก คือ พนักงานจำนวนมาก (กว่าเดิม) มีผลการทำงานที่เยี่ยมยอด และสร้างสรรค์แปลกใหม่ให้บริษัทมากขึ้นๆ

 

วันนี้เขียนมาอย่างมากเลยค่ะ ขอจบลงเท่านี้ก่อนนะคะ อีก 4 เล่มที่เหลือ จะรีบมาอัพเดทในเร็ววันค่ะ มีความคิดเห็นแนะนำอย่างไร แนะนำได้เต็มที่เลยนะคะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบค่า ^^
 
 

 

หมายเลขบันทึก: 361368เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2010 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คุณวราภรณ์ ผมว่าคุณสรุปประเด็นได้ดีมากๆนะ

ถ้าชอบ และค้นคว้าต่อจะเป็นอะไรที่ดีมากๆ นะ

ขอบคุณค่า อาจารย์

หนูว่านี่ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเลยอ่ะค่ะ

เนี่ย หนูต้องหาทิศทางตัวเองให้ได้ก่อน ว่าอยากจะมุ่งไปเรื่องไหนกันแน่

ขอบคุณอาจารย์มากๆนะคะ สำหรับคำแนะนำ + เรื่องที่อาจารย์แชร์ให้ฟัง :)

มีประโยชน์มากครับ(ขอบคุณครับผม)


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท