การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยภายหลังวิกฤติ “เมษา-พฤษภา มหาวินาศ (2553)”


1. ประเด็นเรื่องที่ควรทำ

                ควรใช้วิกฤติครั้งใหญ่เป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนไทยและสังคมไทยโดยรวม  ในอันที่จะฟื้นฟูพร้อมทั้งขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น  โดยพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

                1.1  การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายบอบช้ำจากวิกฤติการณ์อย่างเหมาะสมทั่วถึงและรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

                1.2  การสร้าง  “ความเป็นธรรม”  และ  “ความยุติธรรม”  ที่เหมาะสมกับทุกคนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาค  ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระโปร่งใส

                1.3  การค้นหา  “ความจริง”  อย่างโปร่งใสโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง  ให้ปรากฏต่อสังคมไทยและสังคมโลก  เพื่อให้เกิด  “การเรียนรู้และพัฒนา”  จาก  “ความเป็นจริง”  อย่างสร้างสรรค์  โดยอาจศึกษา  “ความจริง”  2 ระดับ  คือ  (1) ระดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (“ความจริงระดับต้น”)  และ  (2)  ความจริงที่วิเคราะห์เจาะลึกถึงปัจจัยพื้นฐาน  โครงสร้าง  ระบบ  วัฒนธรรม  ฯลฯ  ที่มีความสลับซับซ้อนและมีพลวัตตลอดเวลา  (“ความจริงระดับลึกและกว้าง”)

                1.4  การฟื้นฟูอาคารสถานที่ กิจการ วิถีชีวิต จิตใจ  และบรรยากาศทางสังคม  ให้เข้าสู่ภาวะปกติ  (ดีเท่าเดิมหรือดียิ่งกว่าเดิม)  รวมถึงการใช้ธรรมะ  “สุทธิ  ปัญญา  เมตตา  ขันตี”  (ที่พระพุทธทาสเคยแนะนำต่อนายกฯสัญญา  ธรรมศักดิ์  ในปี 2517)  การให้ความรักความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อร่วมชาติทุกคน  การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกฝ่าย  ความอดทนอดกลั้น  การมีใจเปิดกว้างเปิดรับข้อมูลและความคิดอย่างสร้างสรรค์โดยไม่มีอคติ  การมีไมตรีจิตปรารถนาดีต่อทุกคนทุกฝ่าย  ความเห็นอกเห็นใจ  การให้อภัย  การแสดงความเสียใจ  การขอโทษ  การแสดงความรับผิดชอบ  การคืนดีและปรองดอง  ฯลฯ  ซึ่งสรุปแล้วคือการใช้  “ความดี”  หรือ  การ  “คิดดี  พูดดี  ทำดี”  นั่นเอง

                1.5  การ  “ปฏิรูปประเทศไทย”  อย่างสร้างสรรค์  เป็นรูปธรรม  และบูรณาการ  โดยเป็นกระบวนการที่ประชาชนและฝ่ายอื่นๆทุกฝ่ายเข้าร่วมคิดร่วมทำอย่างสร้างสรรค์จริงจังและต่อเนื่อง  แม้เปลี่ยนรัฐบาลหรือสมาชิกรัฐสภา  (ตัวอย่าง  ร่างแนวทาง  “การปฏิรูปประเทศไทย”  ซึ่งนำเสนอโดยเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน  เมื่อ  16 พ.ค. 53  ปรากฏใน  “บันทึกการประชุมเตรียมการสู่ สภาประชาชนฯ  ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์  ‘มติชนรายวัน’  23 พ.ค. 2553  หน้า 9)

                1.6  การเชื่อมโยงผสมผสานและประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสมระหว่างเรื่องข้างต้นกับ  “แผนปรองดองแห่งชาติ”  ของนายกรัฐมนตรี  (อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ)  รวมถึงการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างเหมาะสม  โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ  (Key stakeholders)  มีโอกาสได้ปรึกษาหารือหาข้อสรุปหรือข้อตกลงร่วมกัน  โดยกระบวนการ  “สันติสานเสวนา”  (Peacebuilding  Dialogue)

 

2. วิธีดำเนินการ

                ควรให้ความสำคัญกับ  “กระบวนการ”  (Process)  และ  “ทัศนคติ” (Attitude)  ควบคู่กับการพิจารณา  “สาระ” (Content)  ของ  “การฟื้นฟูประเทศไทย”  ซึ่งรวมถึง  “แผนปรองดองแห่งชาติ”  ของนายกรัฐมนตรี

                2.1  “กระบวนการ”  ที่ดี  ได้แก่  การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  การมี  “คนกลาง”  (หรือ  “วิทยากร”  หรือ  “ผู้รับใช้”)  ช่วย  “จัดกระบวนการ”  อย่างเหมาะสม  (ซึ่ง  “คนกลาง”  ดังกล่าวต้องเป็นที่เห็นชอบร่วมกันของผู้เข้าร่วมกระบวนการ  (คู่กรณี)  ทุกฝ่าย)  การใช้วิธีการที่หลากหลายต่อเนื่องและครบขั้นตอนอย่างบูรณาการ  ฯลฯ

                2.2  “ทัศนคติ”  ที่พึงปรารถนาและควรเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นในจิตใจอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้เกี่ยวข้อง  ได้แก่  ความอดทนอดกลั้น  ความเห็นอกเห็นใจ  ความมีใจเปิดกว้าง  การรับฟังและพยายามเข้าใจคนอื่น  ความเป็นมิตรไมตรี  การมองผู้อื่นเป็นเพื่อนมนุษย์หรือพี่น้องร่วมชาติร่วมสุขร่วมทุกข์กันทั้งสิ้น  ความเอื้ออาทรผ่อนปรนยืดหยุ่น  การคิดเชิงบวกและสร้างสรรค์  การมุ่งแก้ปัญหาด้วยปัญญาและสันติวิธี  การมองวิกฤติเป็นโอกาส  การใช้ปัญหาสร้างปัญญา  การใช้  “ธรรมะ”  หรือ  “ปรัชญา”  ที่ดีๆจากทุกศาสนาทุกวัฒนธรรม  ฯลฯ

                2.3  “สาระ”  ที่ดี  ควรให้ครบประเด็น  เป็นรูปธรรม  มีขั้นตอนการปฏิบัติที่เหมาะสมชัดเจน  มีกลไกวิธีการติดตามผลเพื่อกำกับกระบวนการให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน  รวมทั้งเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง  ฯลฯ

                องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน  จะเอื้อซึ่งกันและกัน  กล่าวคือ  “กระบวนการ” ที่ดี  จะช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น  นำไปสู่การได้สาระที่ดี  ในทางกลับกัน “ทัศนคติ” ที่ดี  ทำให้สามารถจัดกระบวนการที่ดีและได้สาระที่ดี  โดยสะดวกมากขึ้น  และเมื่อได้  “สาระ”  ที่ดี  ทัศนคติที่ดีจะตามมา  รวมถึงการจัดกระบวนการที่ดีก็ทำได้ง่ายขึ้นไปอีก  ฯลฯ  ดังนี้เป็นต้น

 

3. ระดับการดำเนินการ

                ควรดำเนินการใน 3 ระดับเป็นหลัก  ควบคู่กันไป  ได้แก่

                3.1  ระดับประเทศ  (หรือระดับชาติ)

                3.2  ระดับจังหวัด   (หรือระดับกลุ่มจังหวัด)

                3.3  ระดับตำบล     (หรือท้องถิ่น  เช่น  หมู่บ้าน  เขตนิเวศ  ฯลฯ)

                ในแต่ละระดับ  ควรใช้หลักการ  (1) “ประชาชน (ในพื้นที่) เป็นเจ้าของเรื่องและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ”  (2) “คนภายนอกเป็นผู้เอื้ออำนวย (Facilitator) หรือสนับสนุน (Supporter)” และ (3) “ทุกฝ่ายประสานความร่วมมืออย่างเหมาะสมมีคุณภาพและประสิทธิภาพ”

                อนึ่ง  นอกจากดำเนินการโดยใช้  “พื้นที่”  เป็นตัวตั้ง  ยังสามารถดำเนินการโดยใช้  “ประเด็น”  หรือ  “กลุ่มคน”  หรือ  “องค์กร”  เป็นตัวตั้ง  ได้อีกด้วย

 

4.  กลไกสนับสนุนการดำเนินการ

                4.1  ควรมี “กองทุนฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย”  เพื่อสนับสนุนการดำเนินการต่างๆดังกล่าวข้างต้น  โดยมีกองทุนสำหรับแต่ละจุดดำเนินการ  ทั้งในระดับชาติ  ระดับจังหวัด  และระดับตำบล  แหล่งเงินทุนควรมาจากภาครัฐ  ภาคธุรกิจ  ภาคประชาสังคมและประชาชน  รวมถึงองค์กรและบุคคลต่างๆตามความสมัครใจ  ผู้ดูแลกองทุนอาจเป็นองค์กรใดองค์กรหนึ่งตามที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ตกลงกัน

                4.2  ควรมี  “หน่วยเลขานุการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย”  เพื่อประสานเอื้ออำนวยและสนับสนุนการดำเนินการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยในแต่ละจุด/พื้นที่/ประเด็น  โดยพยายามให้มีรูปแบบที่เรียบง่าย  กระทัดรัด  คล่องตัว  ดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพพร้อมประสิทธิภาพ  จะจัดตั้งที่ไหนอย่างไรให้เป็นผลของการหารือตกลงกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง

 

5. บทบาทของสถาบันอุดมศึกษา  (และองค์กร/กลุ่มคนอื่นๆ โดยประยุกต์หลักการ  แนวคิด  วิธีปฏิบัติ  ฯลฯ  ทำนองเดียวกัน)

                5.1  ควรมีการจัดให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ  ได้มาประชุมปรึกษากันเกี่ยวกับบทบาท  แนวคิด  หลักการ  แนวทาง  และวิธีการ ฯลฯ  ของสถาบันอุดมศึกษาในการสนับสนุน  “การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย”  ดังกล่าวข้างต้น

                5.2  อาจมีการเสนอให้ใช้แนวคิด  “หนึ่งจังหวัดหนึ่งสถาบันอุดมศึกษา  (หรือมากกว่า)”  เพื่อกระจายภารกิจให้สามารถดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศได้พร้อมๆกัน  รวมทั้งให้มี  “การจัดการความรู้”  (Knowledge Management)  หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นระยะๆ เพื่อพัฒนาแนวคิด  หลักการและวิธีการในเรื่องต่างๆ ให้ดีขึ้นไปอีก  ได้อย่างต่อเนื่อง

                5.3  สถาบันอุดมศึกษา  (และองค์กร/กลุ่มคนอื่นๆ)  ที่มีความสนใจและพร้อมที่จะร่วมดำเนินการข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ  ในระดับใดระดับหนึ่งหรือหลายหลายระดับ  ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือหลายประเด็น  ฯลฯ  ควรเลือกดำเนินการได้ตามที่สถาบันอุดมศึกษา  (และองค์กร/กลุ่มคน)  นั้นๆเห็นสมควร

 

 

 

25 พฤษภาคม 2553

(แก้ไข  14/6/53) 

หมายเลขบันทึก: 361486เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2010 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ชอบจังเลยคะที่เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “เมษา-พฤษภา มหาวินาศ"

ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดมาแต่เหตุ

ถ้าเหตุดับ ธรรมนั้นก็ดับไปด้วยครับ

ต้องแก้ที่เหตุโดยการนำศีลธรรมกลับมาอยู่ในใจคน

ต้องปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศ ไม่ให้เป็นแบบหมาหางด้วน

ตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเคยตักเตือนไว้

ถ้านักการเมือง และคนในสังคมไทย มีสติปัญญา แยกแยะ ผิดชอบ ชั่วดี ได้

และไม่เห็นแก่ตัว ปัญหาของสังคมไทยก็จะไม่รุนแรงขนาดนี้ครับ

ขอบคุณครับ

เห็นด้วยทุกประการกับแนวทางการแก้ปัญหาที่ท่านนำเสนอ...แต่ปัญหาคือ

เราจะหาบุคคลใดที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายทุกสีมาไกล่เกลี่ยเกลี้ยกล่อมให้เกิดสมานฉันฑ์อย่างแท้จริง..........

เรียน อ.ไพบูลย์ ที่เคารพ

         “วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน”

 

ขอบพระคุณสำหรับแนวคิดดีๆ เพื่อคนไทย สังคมไทย และประเทศไทย ครับผม

ขอ share บทความที่เขียนไว้ตั้งแต่ ปลายปี 2551 เมื่อตอนรณรงค์ ยุติความรุนแรง สานเสวนาสู่สันติธรรม เผื่อ คุณไพบูลย์จะช่วย share เพื่อนๆในblog ที่รักสันติ

วันชัย

การสานเสวนาและกติกา: ทำไม ? และอะไร ?

ศ.นพ.วันชัย  วัฒนศัพท์                          

                                                                                                ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า

 

จากเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรงแรงจนถึงเสียชีวิตและทุพพลภาพ ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก  จนหลายๆฝ่ายก็ได้มีการแสดงออกความไม่พอใจในความรุนแรงที่เกิดขึ้น  ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตนเองและกลุ่มของตนเองทำหน้าที่ดีที่ดีที่สุดแล้ว ในท่ามกลางความขัดแย้งนี้ได้เกิดความพยายามสร้างเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรมขึ้น  โดยมีกลุ่มองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานและเลขานุการ  ได้แก่สมาคมนักข่าวนักหนังสือแห่งประเทศไทย  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง  และสถาบันพระปกเกล้า ความพยายามดังกล่าวก็มีผู้เห็นด้วยและมีผู้ไม่เห็นด้วย   ความที่สังคมไทยรู้จักแต่การพูดคุยกันหรือเจรจากันในรูปแบบเดิมๆ คือการเจรจาแบบเกลี้ยกล่อม หรือแบบต่อรอง จึงทำให้หลายคนที่ยังไม่ชัดเจนหรือไม่แน่ใจในกระบวนการนี้กลัวเป็นแบบเดิมๆ  มองต่างมุมออกไป  จึงจำเป็นจะต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริงของกระบวนการที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลอย่างจริงจัง  ผู้สนใจโปรดสละเวลาทำความเข้าใจในแนวคิดกระบวนการสานเสวนาหรือไดอาล๊อค (Dialogue)  ที่ไม่ใช่โต้เถียงหรือดีเบท (Debate)  และกติกาที่จะนำไปสู่ความเข้าใจและอาจจะหาทางออกของสิ่งที่ทุกคนปรารถนาคือ สันติภาพสถาพรที่ยืนอยู่บนความยุติธรรมหรือ Just Peace   ขอเสนอแนวคิดขั้นตอนของการสานเสวนาเพื่อไปสู่เป้หมายดังกล่าว   เพื่อผู้สนใจได้พิจารณา

1) หาคนกลาง  ขั้นตอนแรกของคนที่ขัดแย้งกัน ที่แยกขั้วแยกกลุ่มกันแล้วเป็นคนละกลุ่มคนละพวก  ต่างคนต่างกลุ่มก็จะมีจุดยืน (Position) วิธีคิดและสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน  และเป็นการยากมากที่จะเชิญชวนให้เดินเข้ามาเจรจากัน  เพราะนอกจากจะมีจุดยืนต่างกันคนละสุดทางแล้ว  ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกที่มาเป็นอุปสรรคของการสานเสวนาหรือการเจรจาใดๆ  จึงจำเป็นต้องมีคนกลางที่ทั้งเข้าใจในกระบวนการและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย  คนกลางในช่วงแรกอาจจะเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถเข้าไปพบปะและไปรับฟังจุดสนใจหรือความต้องการ ความกลัว ความห่วงกังวลของแต่ละฝ่ายที่ไม่ใช่จุดยืน  กลุ่มคนกลางนี้อาจจะเป็นผู้ที่พอจะยอมรับได้ในผู้นำแต่ละฝ่ายก่อนจะนำไปสู่คนกลาง หัวหน้าทีมที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย   ทีมคนกลางต้องเรียนรู้ในกระบวนและกติกากรสื่อสารอย่างละเอียดของทั้งการสานเสวนา  การเจรจาและทักษะสมานฉันท์อย่างแท้จริงที่ไม่ใช่เข้าไปบอกให้ยอมๆ หรือ ก็ไม่ใช่เข้าไปบอกว่าสิ่งที่กลุ่มนั้นทำผิดหรือถูก  ความผิดหรือถูกน่าจะเป็นเรื่องของศาล

2) การสร้างความรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  ทีมคนกลางที่เรียนรู้ถึงการสานเสวนาที่ไม่ใช่การเจรจาแบบเอาแพ้เอาชนะกันหรือการไปยอม ๆ กัน รวมถึงทักษะที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ทำหน้าที่ประสานแต่ละกลุ่มเพื่อขอรับฟังจุดสนใจ (หรือความต้องการ  ความหวังความกลัว  ความกลัวที่อยู่ลึก ๆ ลงไปกว่าจุดยืน) เช่นจุดยืนไม่ต้องการให้สร้างศูนย์ขยะใกล้บ้าน  แต่จุดสนใจคือฉันห่วงกลิ่น  ห่วงแมลงวันเป็นต้น  จุดยืนที่ต้องการให้รัฐบาลออกไปนั้น  คนกลางก็จะไปฟังและจดมาว่าอะไรคือจุดสนใจ  ห่วงอะไร  ต้องการอะไร  หรือจุดยืนที่ไม่ออกนั้นจุดสนใจคืออะไร  ห่วงอะไร

กระบวนการรับฟังมีความสำคัญมาก ทีมคนกลางไม่มีหน้าที่ไปแนะนำว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น  ทำไมไม่ทำอย่างนี้  มีหน้าที่จดทุกคำพูด  ทุกข้อทุกประเด็น  เพียงทำความกระจ่างในแต่ละประเด็นให้ชัดเจน  และอาจจะถามไปด้วยว่าถ้าจะเจรจากันโดยกระบวนการที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจคือคู่เจรจาทั้งหมด  เจรจากันอย่างมีกติกาไม่มีการชี้หน้าว่ากัน  มีความเห็นว่าอย่างไร  จะไว้ใจใครให้มาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมคนกลางจึงจะเหมาะ  และหากไม่เจรจาคิดว่าจะทำอะไรอย่างไรต่อไป

               ผู้มีอำนาจจะต้องเข้าใจว่าเมื่อประชาชนก็ดี  เกษตรกรก็ดี มาชุมนุมปิดถนน เอาพืชผลเกษตรมาเทหน้าทำเนียบ หน้ารัฐสภานั้นประชาชนต้องให้ผู้มีอำนาจฟัง  ผู้มีอำนาจรัฐอยู่จึงต้องมาฟัง  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่เจ็ด ทรงสละราชสมบัติ ก็ได้มีลายพระหัตถ์อธิบายเหตุผลว่า พระองค์ทรงสละพระราชอำนาจให้กับประชาชนชาวไทย  แต่พระองค์ท่านไม่ยินยอมให้บุคคลใด คณะใดใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดแลดะโยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎรเมื่อผู้มีอำนาจที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยไม่ฟังเสียงประชาชนท่านจึงแสดงให้ปรากฏด้วยการสละราชสมบัติ  ผมได้แสดงความเห็นไว้ว่าวันที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ประกาศ พรก. ฉุกเฉินนั้นเป็นวันที่ท่าน ผบ.ทบ.มีอำนาจคุมพระนคร  ควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส  โดยเดินเข้าไปฟังเหตุผลทุกข้อจากกลุ่มพันธมิตร  โดยไม่ต้องไปแนะนำให้ออกไปหรือไม่ต้องออกไป  แล้วเอาประเด็นทั้งหลายไปถามรัฐบาลเพื่อพิจารณาและฟังรัฐบาลเพื่อหาจุดร่วมซึ่งอาจจะนำไปสู่การเจรจาหาทางออกต่อไป  ถึงวันนี้แม้จะมีความพยายามอยู่บ้างแต่ผู้มีอำนาจก็ยังไม่ได้ไปฟังอย่างตั้งใจ  คือใช้ทั้งหูและใจแบบคำในภาษาจีนที่อ่านว่า “ทิง” ที่แปลว่าฟังอย่างตั้งใจที่มีองค์ประกอบของคำว่าหูและหัวใจอยู่ในคำเดียวกัน

กติกาของการเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นกติกาที่สำคัญที่ผู้ที่ร่วมเครือข่ายก็ดี  ผู้ที่ทำหน้าที่ประสานต้องดูทุกกลุ่มอย่างเข้าใจโดยการแยกคนออกจากปัญหา  การแยกคนออกจากปัญหาเป็นการมองปัญหาเชิงระบบ เชิงตัวปัญหาที่ประสบอยู่  เช่นคนแพรกหนามแดงที่ขัดแย้งกันเรื่องปล่อยน้ำระหว่างนาข้าวกับนากุ้ง  หันมามองดูตัวปัญหาคือ  ประตูน้ำแทนที่จะไปชี้หน้าคู่กรณี  แต่มาพูดคุยกัน  จนในที่สุดสร้างประตูน้ำ ที่แก้ปัญหาความห่วงกังวลของผลกระทบของนาแต่ละฝ่ายสำเร็จ  แต่ไม่ได้หมายความว่าคนทำผิดใด ๆ จะไม่ถูกลงโทษ  คนผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกติกา  ตามกฎหมายของบ้านเมือง  แต่อาจไม่ต้องประณามหรือกล่าวหาได้ไหม?

3) การสานเสวนา (Dialogue) เป็นกระบวนการมาฟังอย่างตั้งใจ โดยเชื่อว่าคนอื่นก็มีบางส่วนของคำตอบ  พร้อมที่จะร่วมมือกัน  ไม่ได้มาเอาแพ้เอาชนะกัน  มองอดีตเป็นบทเรียน แต่พูดคุยกันในสิ่งที่อยากให้เกิดสู่อนาคตเพื่อเป้าหมายเดียวกัน  เช่น  สังคมสันติสุข  การเมืองมีความสมานฉันท์ ไม่ฉ้อโกงไม่คอรัปชั่น  เป็นต้น  การสานเสวนาเป็นกระบวนการที่คนไทยใช้มาตลอดแต่เรียกชื่อต่างกันไปเช่น ในอีสานเรียกว่า โสเหล่หรือโสกัน  ภาคเหนือเรียกโซ๊ะกันหรือโฮ๊ะกันหรือเส็งกัน  แถบตะวันออกเรียก พูดคุยกันฮิ  แถวสุรินทร์  ศรีษะเกษ เรียก ปิกรั้ว คะเนีย  แถวสุราษฎร์ธานีเรียก สุมหัวกัน  แถบอันดามันเรียก จังกาบ  สามจังหวัดภาคใต้เรียก จากับ  โดยรวมคนภาคใต้จะใช้คำว่า สภากาแฟ  เป็นต้น  แม้อาจจะไม่เหมือนกันทีเดียวนักแต่ก็ไม่ใช่เวทีดีเบท  หรือโต้วาทีที่   นักการเมือง เช่นที่ในสหรัฐอเมริกาใช้กันในการเอาชนะกันไปนั่งในทำเนียบขาว  หรือการดีเบทของผู้สมัครผู้ว่า กทม. ที่ดีเบทเพื่อเอาชนะใจคน กทม. ให้มาเลือก  การสานเสวนาจึงต่างกันเพราะไม่ได้เอาชนะกัน ถ้ามาสานเสวนาเฉย ๆ อาจจะยังไม่ต้องรีบร้อนหาทางออก  มาคุยกันฟังกัน ทำความเข้าใจกันก่อน แต่หากจะเริ่มหาทางออกอาจจะเติมคำว่าหาทางออก เป็น “สานเสวนาหาทางออก” ซึ่งจะตรงกับคำว่า ดีลิเบอเรชั่น (Deliberation) ที่เดวิด แมทธิว ประธานมูลนิธิเคทเธอริ่ง ได้เขียนถึงประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มองการเลือกตั้งเฉย ๆ (Electoral Politics) แต่ มองการเมืองภาคพลเมืองหรือซิติเซนส์ โปลิติคส์ (Citizens Politics) เดวิดเรียกประชาธิปไตยในการเมืองภาคพลเมืองว่า ดีลิเบอเรธีฟเดโมเครซี่ (Deliberative Democracy) หรือ ประชาธิปไตยแห่งการสานเสวนาหาทางออก  นักการเมืองต้องลงมาฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริงมากขึ้น  จะสร้างอะไรที่มีผลกระทบต่อประชาชนต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่แค่ประชาพิจารณ์ซึ่งคนอเมริกันเขาไม่อยากทำแล้วถ้าขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะกลายมาเป็นเวทีชี้หน้าด่ากัน

การสานเสวนาจึงต้องมี กติกาซึ่งเกิดขึ้นจากผู้ร่วมสานเสวนากำหนดและเห็นพ้องต้องกัน

3.1 มีเป้าหมาย เพื่อทำความเข้าใจกัน  ไม่มาเอาแพ้เอาชนะกัน

3.2 มีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครใหญ่กว่ากัน  ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการสานเสวนาก็ไม่มีอำนาจมากไปกว่ากติกาที่ทุก ๆ ฝ่ายร่วมกันกำหนด

3.3 เปิดเผย  ฟัง  อย่าด่วนตัดสินใจ  ให้เปิดเผยประเด็นเจรจาทั้งหมด ฟังทั้งเรื่องที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

3.4 แสวงหาสมมติฐานต่าง ๆ อย่างหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับปัญหา และทางออกโดยฟังกันอย่างกว้างขวาง

3.5 ฟังด้วยความรู้สึกร่วม ไม่ได้หมายความว่าต้องมาเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย คืออาจจะฟังอย่างรับรู้ (acknowledge) โดยไม่ต้องเห็นด้วย (affirmative) ก็ได้

3.6 มองหาจุดร่วม โดยดูจากจุดสนใจร่วมที่ตรงกัน และเริ่มหาทางออกจากจุดร่วมที่เห็นเหมือนกัน เช่นอยากเห็นสังคมไทยมีสันติสุขบนความยุติธรรมอย่างแท้จริง

3.7 แสดงความเห็นที่แตกต่างในความคิด ที่ไม่ใช่เรื่องของ “บุคคล” หรือ “แรงจูงใจ” ให้อยู่ในเรื่องของความเห็นที่แตกต่างกัน

3.8 แยกกระบวนการตัดสินใจออกจากการสานเสวนา จนกว่าเมื่อเกิดการสานเสวนาจนเข้าใจกันดีแล้ว   จึงค่อยเดินหน้าสู่กระบวนการสานเสวนาหาทางออก

3.9 หากจะมีการตัดสินใจต้องใช้กระบวนการสร้างฉันทามติ (Consensus) ซึ่งไม่ใช่การตัดสินใจโดยยกมือโหวต เสียงข้างมากชนะ แต่จะเกิดจากการทำความเข้าใจกัน  ฟังกันจนมีมติที่เกิดจากความพึงพอใจร่วมกัน

3.10 เคารพมุมมองของทุกคน

กติกาเหล่านี้เป็นกติกาที่จะช่วยให้การเจรจาเดินหน้าไปสู่ทางออกของปัญหาได้  แน่นอนว่ายังมีขั้นตอนกระบวนการอีกมาก  แต่ถ้าสามารถนำพาคู่ขัดแย้งเริ่มเข้าสู่กระบวนการสานเสวนาได้แล้ว  เราก็จะถือว่าสำเร็จไปแล้วระดับสำคัญทีเดียว

 

 

การถกเถียง (Debate)

การสานเสวนา (Dialogue)

1. เชื่อว่ามีคำตอบที่ถูกอย่างเดียว

    (และฉันมีคำตอบนั้น)

2. พร้อมรบ: พยายามพิสูจน์ว่าคนอื่นผิด

3. เกี่ยวกับการเอาชนะกัน

4. ฟังเพื่อจะหาช่องโหว่หรือข้อบกพร่อง

5. ปกป้องสมมติฐานของเรา

 

6. จับผิดมุมมองของฝ่ายอื่น

7. ปกป้องมุมมองเดียวจากมุมมองอื่น

 

8. แสวงหาจุดอ่อนและข้อบกพร่องในจุดยืน

    ของฝ่ายอื่น

9. แสวงหาทางออกเพื่อตอบสนองจุดยืนของเรา

 

1. เชื่อว่าคนก็มีบางส่วนของคำตอบ

 

2. พร้อมร่วมมือ: พยายามหาความเข้าใจร่วมกัน

3. เกี่ยวกับการพิจารณาหาสิ่งที่ร่วมกัน

4. ฟังเพื่อที่จะทำความเข้าใจ

5. หยิบยกสมมติฐานของเราขึ้นเพื่อรับการ

    ตรวจสอบและอภิปราย

6. ตรวจสอบมุมมองของทุก ๆ ฝ่าย

7. ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น เพื่อนำมา

    ปรับปรุงความคิดของตน

8. แสวงหาจุดแข็งและคุณค่าในจุดยืนของ

    ฝ่ายอื่น

9. ค้นพบโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่

    หลากหลาย

 

ตารางที่ 14-1 ตารางเปรียบเทียบการสานเสวนากับการถกเถียง                                         จากหนังสือ ความขัดแย้งหลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา หน้า๓๓๑ โดยวันชัย  วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท