จิ้มก้อง


"จิ้มก้อง" เครื่องราชบรรณาการในอดีต

    ใครเคยได้ยินคำว่า "จิ้มก้อง" มาบ้างไหมค่ะ แล้วใครเคยสงสัยหรือหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องบ้างไหมเอ่ย วันนี้จึงได้คำความหมายและที่มามาเล่าแจ้งแถลงไข

จิ้มก้อง

                หมายถึง การเจริญทางพระราชไมตรีด้วยการถวายเครื่องราชบรรณาการ จิ้มก้อง เป็นคำจากภาษาจีน จิ้ม แปลว่า ให้, ก้อง แปลว่า ของกำนัล ในการทำการค้ากับจีนในสมัยโบราณ พ่อค้ามักจะนำของกำนัลไปให้เพื่อขอความสะดวกในการทำมาค้าขาย แต่จีนมักถือว่า ผู้ที่มาจิ้มก้อง เป็นผู้ที่มาสามิภักดิ์ขอเป็นเมืองขึ้น เมื่อมีของกำนัลมาให้ นอกจากจีนจะให้ความสะดวกในการค้าแล้ว พระเจ้ากรุงจีนยังตอบแทนด้วยของกำนัลอย่างมากมายด้วย พ่อค้าไทยจึงนิยมไปจิ้มก้อง [1]

                ขุนวิจิตรมาตรา ให้ความหมายของจิ้มก้อง หรือ จินก้ง ว่าเป้นคำภาษาจีน บางทีใช้คำว่า ก้อง คำเดียว เป็นความหมายต่างๆ อาทิ ทวงก้อง หมายความว่า ทวงส่วย มาก้อง หมายความว่า มาส่งส่วยฐานเป็นเมืองขึ้น หรือมาขอเป็นเมืองขึ้น เมืองก้อง หมายถึง เมืองขึ้น หรือเมืองส่วย และจิ้มก้อง ก็เรียกว่า ส่งส่วย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Tribute [2]

 

ธรรมเนียมการจิ้มก้องกับจีน

                การจิ้มก้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องผูกพันกันมาโดยตลอด เป็นเจตคติที่ยึดถือปฏิบัติตามบุราณราชประเพณี แต่หากได้เกิดมีลักษณะการแลกเปลี่ยนสินค้ากันขึ้น เนื้อแท้แล้วเป็นการหวังประโยชน์ต่อกันทางด้านการค้าเสียมากกว่า

                ขนบธรรมเนียมการจิ้มก้องนอกจากจะกระทำได้โดยพระมหากษัตริย์แล้วคณะทูตานุทูตจากดินแดนโพ้นทะเลก็ยังสามารถกระทำการค้าขายส่วนตัวได้ด้วย ในช่วง 270 ปีเศษของราชวงศ์หมิง (เหม็ง) จีนส่งคณะทูตมายังกรุงศรีอยุธยา 19 ครั้ง ส่วนกรุงศรีอยุธยามีคณะราชทูตไปประเทศจีน 110 ครั้ง และบรรดาสินค้าส่วนตัวที่ผู้ส่งเครื่องราชบรรณาการนำติดเข้าไปนั้น รัฐบาลราชวงศ์หมิงก็ยังผ่อนปรน มิได้เรียกเก็บภาษีผ่านด่านแต่ประการใด [3]

 

ประวัติ

                จิ้มก้อง จากที่มีการบันทึกเริ่มมีตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ส่งทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ (กุบไลข่าน) และก็มีบรรดาผ้าผ่อนแพรพรรณ เป็นเครื่องราชบรรณาการ ไปจิ้มก้องด้วย

การค้าในระบบจิ้มก้องอย่างเป็นทางการระหว่างจีนกับสยาม สะดุดหยุดลงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17

เมื่อราชวงศ์ชิง (แมนจู) ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นใหม่ ประกาศห้ามชาวจีนออกทะเล เพื่อหวังป้องกันมิให้พวกคนเหล่านี้หลบหนีออกนอกประเทศ และต้องการปราบปรามพวกกลุ่มต่อต้านที่ต้องการล้มล้างราชวงศ์ชิง กอบกู้ราชวงศ์หมิง ใน ค.ศ. 1664 ต้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันตรงกับปีที่ 3 จักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง เมื่อสยามส่งทูตไปจิ้มก้องตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่เดิมมา ราชสำนักจีนปฏิเสธไม่รับของกำนัล และ ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดรับของกำนัลจากต่างประเทศ การค้าระหว่างไทยกับจีนจึงหยุดชะงักไป 8 ปี จนต่อมาอีก 3 ปี จึงกลับมามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเหมือนเดิม

                จิ้มก้องนั้น ได้สะดุดหยุดลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงส่งบรรณาการไปจีนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2396 หรือ ค.ศ. 1853 [4]

 

เครื่องราชบรรณาการของสยามในยุคนั้น

                เครื่องราชบรรณาการที่สยามส่งให้จีน ได้แก่ ช้าง งาช้าง จันทน์หอม พริกไทย นกแก้ว นกยูง รงทอง ขี้ผึ้งขาว กำมะถัน มหาหิงคุ์ เปลือกสมุลแว้ง กรักขี เปลือกสีเสียด กานพลู มดยอบ จันทน์ชะมด จันทน์เทศ กระวานขาว ผลกระเบา ฝาง พรมลิอูด ผ้าโมรีแดง ฯลฯ

                ส่วนสิ่งที่จีนจัดมอบให้สยาม ได้แก่ เครื่องลายคราม ผ้าแพรโล่ต่วน แพรกิมต่วน เป็นต้น

อ้างอิง

1.^ ความหมายของคำว่า จิ้มก้อง

2.^ กาญจนาคพันธุ์. คอคิดขอเขียน. กรุงเทพฯ :ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาสน์,2513, หน้า 267

3.^ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. สำเภาสยาม : ตำนานเจ๊กบางกอก. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊ค, 2544, หน้า 50

4.^ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ กับสังคมจีนในประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 362667เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท