เวลาของอีกวิถีหนึ่ง


ดงหลวงนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในหุบเขาของเทือกเขาภูพาน หมู่บ้านที่ทำงานส่วนใหญ่ก็มีภูเขาล้อมรอบ ชาวบ้านเป็นชนเผ่าโส้ หรือไทโส้ หรือบรู เป็นเขตปลดปล่อยเก่าของพคท. เป็นสังคมปิดเพิ่งมาเปิดเอาโดยประมาณปี พ.ศ. 2527 อันเป็นช่วงที่ชาวไทโส้ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

 

มาทำงานที่นี่กับอาว์เปลี่ยนก็หลายปี มีทั้งพึงพอใจตัวเองและไม่พึงพอใจในความก้าวหน้าของการพัฒนาทั้งนี้มีรายละเอียดมากมาย หลักๆก็เพราะเรื่องของ “คน” นั่นแหละจนผมเคยใช้คำอธิบายอาชีพตัวเองว่า เป็นคนเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งหนัก เหนื่อย และเริ่มใหม่อยู่เรื่อยๆ ก็ครกมันกลิ้งลงเขาต้องกลับไปเริ่มเข็นขึ้นมาใหม่

  

นรินทร์เป็นหนุ่มโส้บ้านพังแดงที่ผมชอบแวะไปคุยกับเขาบ่อยๆหากเดินทางเข้าไป เพราะเป็นโส้ที่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆอยู่บ้าง คือ เป็นคนหนุ่มที่ทำมาค้าขาย รู้จักคิดอ่านเป็นนักธุรกิจแทนที่จะทำนาทำไร่เหมือนคนอื่นๆ มีความรู้พอสมควร แต่ก็ยังปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมโส้อยู่อย่างครบถ้วน เขารวบรวมเงินมาเปิดปั้มน้ำมันในหมู่บ้าน และค่อยๆขยายตัวไปทีละเล็กละน้อย เช่น เอาตู้แช่มาขายน้ำประเภทเครื่องดื่ม เอาวัสดุการเกษตรที่ชาวบ้านต้องใช้มาขาย

เมื่อคืนเรามีการประชุมชาวบ้านเรื่องกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเริ่มประชุมย่อยมาตั้งแต่บ่ายไปจบเอาเกือบห้าทุ่ม ตอนหัวค่ำเลยแวะไปคุยกับนรินทร์คนนี้ คุยถึงเรื่องการเข้าป่าไปหาของป่า เพราะขณะเรานั่งคุยเรื่องทั่วไปก็มีชาวบ้านหนุ่มๆขับรถอีแต๊ก มอเตอร์ไซด์นับสิบคนมาเติมน้ำมันที่ปั้มของนรินทร์ แต่ละคนแต่งตัวแปลกๆจึงรู้ว่านั่นคือชุดเข้าป่า “เข้าป่ากลางคืน” นี่แหละ

  

ไปหาสัตว์ป่าตามฤดูกาล หน้านี้ก็มีเขียด อึ่ง กบ ป่า และอื่นๆที่จะพบในป่า ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มชวนกันไปสองคนขึ้นไปต่อกลุ่มหนึ่ง โดยเอามอเตอร์ไซด์ หรืออีแต๊กขับไปใกล้ป่าที่หมายตากัน เอารถจอดทิ้งไว้ชายป่า แล้วก็เอาของติดตัวขึ้นภูเขาไปตามที่เตรียมกัน

สิ่งที่เตรียมก็มีปืนแก็บไทยประดิษฐ์ มีด ร่วมข้าวเหนียว พริก เกลือ ผงชูรส ยาสูบ นรินทร์บอกว่าขาดอะไรก็ขาดได้แต่ยาสูบขาดไม่ได้ ไม่ใช่เป็นซองๆที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังแต่เป็นยาสูบพื้นบ้าน ขายถุงละ 5 บาทพร้อมกระดาษมวน ชาวบ้านบางคนบอกว่า “มันแทงคอ” หรือมันฉุนดีกว่ายาสูบซองๆ

ถามนรินทร์ว่าทำไมต้องเอาข้าวเหนียว พริกเกลือ ผงชูรสไปด้วยล่ะ เขาบอกว่า ..อาจารย์พวกนี้เข้าป่านั้นเขาเดินทางทั้งคืนไปหาสัตว์ตรงนี้ ตรงนั้น ตรงโน้นแล้วเดินทางบนภูเขากลางคืนมันลำบาก เหนื่อย ดึกๆมาสักเที่ยงคืนมันก็หิว ก็จะทำอาหารกินกัน ผมถามต่อว่า อ้าวก็ไม่เห็นเอาหม้อชามรามไหไปเลยแล้วทำอย่างไร นรินทร์ตอบว่า โห อาจารย์ ไม่ต้องเลย เมื่อได้สัตว์ป่ามาแล้วก็ไปหาแหล่งน้ำ แล้วก็ไปตัดไม้ไผ่ป่ามาหุงข้าว มาต้มแกง เขามีวิธีทำ อาจารย์มันหอมไผ่ป่า อร่อยที่สุด อย่างแกงป่าในกระบอกไม้ไผ่แล้ว ก็เอาอีกกระบอกมาผ่าซีก เอาแกงป้ามาเทใส่ทั้งน้ำทั้งเนื้อ

  

บางคนพกช้อนไปด้วยก็ใช้ซดน้ำแกง ส่วนใหญ่ใช้ใบไม้ชนิดหนึ่งเนื้อเนียนละเอียด เอาแบบไม่อ่อนไม่แก่มารนไฟพออ่อนๆ แล้วห้อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงป่าซดกิน อาจารย์เอ้ย.....หอม อร่อยจริงๆ ใบอ่อนๆก็กินได้เลย...ฯลฯ

ชีวิตกลางคืนในป่าแบบนี้ถูกถ่ายทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ขณะที่วัยรุ่นในเมืองอาจจะเข้าร้านเนต ไปเป็นเด็กแว้น ไปเที่ยวสถานเริงรมย์ต่างๆ หรือสุมหัวกัน แต่เด็กหนุ่มพังแดง หรือบ้านอื่นๆเข้าป่าไปหาสัตว์ป่ามากินมาขาย เป็นวัฒนธรรมการบริโภค เด็กหนุ่มดงหลวงทุกคนต้องผ่านวิถีชีวิตแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น

มีสิ่งหนึ่งที่คนในเมืองอย่างเราก็ต้องตะลึง ฉงน และคิดมากมายในใจคือ นรินทร์กล่าวว่า

อาจารย์...พวกนี้เดินป่ากันยันสว่าง ค่อยลงมา เด็กหนุ่มบางคนหาของป่าเก่งพักใหญ่ๆก็ได้สัตว์มาเพียงพอ ก็จะลงจากภูเขามา แต่อาจารย์....เขาจะไม่เข้าบ้านหลัง 5 ทุ่มถึง ตี 5 เขาจะแวะนอนตามเถียงนาชายป่า หรือชายบ้าน ผมแปลกใจถามทำไม นรินทร์บอกแบบจริงจังว่า ชาวบ้านเขาถือ ถือว่าช่วงเวลานั้น “เป็นเวลาของอีกวิถีหนึ่งออกหากิน” เขาจะไม่เดินทางเข้าบ้าน พักซะที่เถียงนาก่อน สว่างค่อยกลับเข้าบ้าน

เวลาอีกวิถีหนึ่ง นั่นคือ เวลาออกหากินของภูติ ผี ปอบ และสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นความเชื่อของชาวบ้านดงหลวง....

คนในเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ รับรู้และเข้าใจ ยอมรับเรื่องแบบนี้แค่ไหน

งานพัฒนาคน ที่จะผสมผสานนวัตกรรมใหม่ๆกับเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร

การอภิปรายของสภาจบไปนานแล้ว... ผมยังคิดเรื่องเหล่านี้จนหลับไป

....!!!???...

 

 

หมายเลขบันทึก: 363169เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2010 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีค่ะ

ทำให้มองเห็นวิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งนะคะ  แทนที่เขาจะเดินป่า เขากลับใช้รถเครื่องแทนแล้ว

เวลาอีกวิถีหนึ่ง  น่าจะเป็นความเชื่อที่เป็นภูมิปัญญาปฏิบัติสืบต่อกันมานะคะ  คนรุ่นหลังจะรักษาไว้ได้นานแค่ไหน

อย่างแกงป่าในกระบอกไม้ไผ่แล้ว ก็เอาอีกกระบอกมาผ่าซีก เอาแกงป่ามาเทใส่ทั้งน้ำทั้งเนื้อ...ที่นครไทยมีนะคะเขาเรียกว่า "หลาม" ค่ะ  หลามปลา หลามไก่ หลามเห็ดฯลฯ  อร่อยจริง ๆค่ะ

http://gotoknow.org/blog/krukim/304375

เป็นวิถีชาวบ้านจริงๆๆด้วย ดูแล้สนุกดีนะครับ แต่ไม่ชอบเดินป่ากลางคืนเลยครับ มันวังเวงชอบกล

สวัสดีค่ะพี่ท่านบางทราย พี่ท่าน สบายดีนะคะ เป็นวิถีที่กลมกลืนกับธรรมชาติจัง เส้นทางเดินป่าดงหลวงสมัยนี้คงไม่โหดเท่าเมื่อก่อนใช่ไหมคะ คิดถึงพี่ท่าน คิดถึงเมฆ ฟ้างามทางโน้นด้วยค่ะ รักษาสุขภาพนะคะ

  • สวัสดีค่ะ พี่บางทราย
  • คิดถึงพี่ค่ะ  สบายดีใช่ไหมคะ
  • เห็นพี่คิดถึง ดงหลวง จังเลยค่ะ
  • อยากไปอีกจัง

สวัสดีครับครูคิม ใช่ครับเขาเรียกหลาม และเป็นอาหารที่ชาวบ้านชอบมาก อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงคนหนุ่มขึ้นป่าบ่อยไปผจญภัย และหากโชคดีก็ได้สัตว์ป่ามากิน มาขาย ครับ

สวัสดีครับท่านเกษตรอยู่จังหวัด  อร่อยครับ ผมเคยร่วมวงครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่กลางคืนนะครับ เป็นกลางวัน ฝนตกด้วยต้องแอบหลบอาศัยในถ้ำครับ กินข้าวกลางป่า สำหรับเราแปลก ตื่นเต้น อร่ิอยครับ

อิอิ น้องขจิต สำหรับเรามันเสียวๆ วังเวง สำหรับชาวบ้าน สบายมาก เคยถามว่าเคยพบสัตว์ร้ายไหม เขาบอกว่ามีบ่อยไป พบงู และงูที่พบในเวลากลางคืนจะเป็นงูพิษ  และเป็นเวลาของเขา เขาจะไม่กลัวคน เหมือนกลางวัน ต้องอาศัยประสบการณ์ในการสังเกตว่าตรงไหนมีงูหรือไม่มีอย่างไร นานๆชาวบย้านจะโดนงูป่ากัด ส่วนมากเขาก็จะมีสมุนไพรติดตัวเพื่อหากเกิดถูกงูกัดก็ได้ใช้ทันทีครับ

สวัสดีครับน้องปู  ช่วงนี้ยุงจะมากเพราะมีน้ำขังในป่า หากจะขึ้นภูแบบพวกเราไป ควรเป็นฤดูหนาวครับ ชาวบ้านว่างั้น ช่วงนี้รื่นด้วยเพราะมีฝนตก  แต่สำหรับชาวบ้านไม่มีปัญหา ไม่เป็นอุปสรรคครับ 

สวัสดีครับน้องนก ดงหลวงยังเหมือนเดิม ชาวบ้านยังทำกิจกรรมเดิมๆ ช่วงนี้ก็ลงกล้าข้าว ไม่เดินทางไปไหนๆ แต่บ่นว่าแล้งไปหน่อย ใครมีนาดอนก็บอกว่าไม่มีน้ำตกกล้า ใครมีนาลุ่มก็โอเคพอได้กล้าข้าว หากฝนตกอีกสักครั้ง ใครอย่าชวนชาวบ้านทำกิจกรรมอะไรนะครับ

ขอบคุณคะความรู้อีกแบบที่เล่าให้ฟัง

ผมเคยไปชันสูตรพลิกศพแถวๆสานแว้ สาเหตุจากปืนของเพื่อนที่ออกไปทำมาหากินตอนกลางคืนนี่แหละครับ ล้อมไก่ป่าคนละด้าน น่าเสียดายยิงโดนเพื่อนที่ไปด้วยกัน....ต้องเดินเข้าไปหลายกิโล...เพราะ กม.ชันสูตรพลิกศพ แต่ก็ต้องทำบนพื้นฐานที่ชีวิตคนไทยมีค่าเท่ากันทุกคน

  • สวัสดีครับ อ.บางทราย
  • แวะมาเยี่ยมเยียน
  • สบายดีนะครับ
  • คิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่ได้ไปนอนดงหลวง

 

 

สวัสดีครับคุณหมอสีอิฐ

ที่บ้านสานแว้นั้นผมก็ไปบ่อยครับเพราะอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบด้วย แต่ไม่บ่อยเท่าบ้านแก่งนางครับ เพราเราไปสนับสนุนตั้งตลาดชุมชนที่นั่นขึ้น คึกคักดีครับ ชาวบ้านเอาของป่ามาขายด้วย แรกๆเราก็อึดอัด เพราะไปเอาของป่ามาซึ่งเราไม่สนับสนุน แต่คณะกรรมการขอร้องไว้ แต่ปัจจุบันท่านป่าไม้ที่ห้วยไผ่ท่านเอาจริงๆประกาศห้ามเอาสัตว์ป่ามาขาย เราก็ค่อยสบายใจหน่อยครับ

กรณีที่คุณหมอเล่านั้นน่าจะเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้งนะครับ เพราะชาวบ้านดงหลวงเข้าป่าประจำ แต่ไม่ระมัดระวังกันครับ

สวัสดีน้องสิงห์

พี่สบายดีครับ ไม่ได้พบกันนานพอสมควรนะ พี่ไม่ได้มากำแพงเพชรนานแล้ว พี่ชายก็ยังอยู่ที่นี่ครับ หวังว่าทุกคนในครอบครัวสบายดีนะครับ ดงหลวงก็เหมือนเดิมครับ

ชาวบ้านชนบท เขามีวิถีชีวิตอยู่กับป่า ลำห้วย บึงหนอง ซึ่งเขาถือเป็นของส่วนรวม หาอยู่หากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การซื้อขายไม่มีมากนัก ใช้การแลกเปลี่ยนมากกว่า ปลาแลกข้าว เนื้อสัตว์ป่าแบ่งกันกิน (วิถีนายพรานป่า) ได้มาขายหมดจะเข้าป่าหาสัตว์ไม่หมาน

(ไม่ค่อยเจอสัตว์) อาหารการกินทั่งหมดจึงอยู่กับผลผลิตจากป่า เนื้อสัตว์ ปูหิน ปลากั้ง หน่อไม้ ดอกกะเจียว ผักหวาน เห็ด พื้นที่ราบก็ทำนา ปลูกผัก ปลูกต้นครามไว้ย้อมสีผ้า ปลูกฝ้ายตามป่าตามดง ตัดไม้ป่ามาสร้างบ้านแปลงเฮือนตามกำลังจะมี ชาวภูไทย คำชะอี เขาวง โคกก่ง ขุมขี้ยาง ชาวไทยโซ่ดงหลวง ดงมอน ผึ่งแดด ก้านเหลือง หนองแคน กกตูม บ้านเปี๊ยด นาหลัก มะนาว ส่านแว้ เขามีชีวิตของเขาอย่างนี้มาแด่บรรพกาล เมื่อทางราชการประกาศเป็นเขตอนุรัก์พันธ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ผลกระทบตามมาจึงมี แต่ก็คนคำชะอี คนดงหลวง เขาวง กลุ่มนี้อีกนั่นแหละที่เรียกร้องทางราชการประกาศเขตอนุรักษ์ เพื่อให้กลุ่มสัมปทานป่าของ นายทุน ออกไป ด้วยแนวคิดร่วมกันว่าเราจะต้องหวงแหนป่าผืนนี้ไว้ให้ได้ด้วยพลังของเรา หลายๆท่านที่เป็นแกนนำยังมีชีวิตอยู่คีรับ

ผมออกนอกเรื่องไปไกลแล้ว การจัดตั้งตลาดชุมชน ดีมากครับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดี สินค้าจากในเมืองก็หลั่งไหลมา ส่วนผลิตผลจากป่าของชาวบ้านก็ยังดำเนินไปตามวิถีดั้งเดิม จะเปลี่ยนไปก็คือมีศูนย์กลางการจำหน่าย มีผู้ซื้อ มีผู้หา มีผู้ห้าม(จนท.ป่าไม้) ปัญหากระทบก็มีบ้าง

เรื่องเล่าจากดินแดนแห่งมี้มีอีกมาก คงต้องคุยกันเป็นปี นะ คุณส.บางทราย (ส.คือสหายนะครับ) ยินดีแลกเปลี่ยนกับผู้สนใจทุกท่านครับ ตะวันก็เติบโตมากับป่าผืนนี้ บางทราย บังอี่ คันแท ห้วยมุก น้ำยาม ห้วยทราย มีต้นกำเนิดจากป่านี้ แม้จะไหลเลาะไป คนละทิศละทาง แต่สดท้ายคือทะเลกว้าง

  • วิถีของพื้นถิ่นแบบนี้ "ทำ มา หา กิน"
  • นับวันจะศูนย์หาย
  • เมื่อความเจริญเข้าไปเยือน
  • ความสะดวกในการซื้อหา "ทำ มา หา ซื้อ"
  • จะทำให้ละทิ้งวิถีเดิม
  • การพัฒนาวิถีชีวิตแบบพอเพียงน่าสนใจนะคะ

ส.ตะวันครับ ส.ศรัทธา คือเพื่อนผม ปัจจุบันเธอคือปารร์ตี้ลิสต์ของปชป. ผมนั้นเคยขึ้นป่ากับพี่น้องโซ่บ้านนาหลักไปดูสถานที่สร้างฝายน้ำล้นบนยอดภูสีเสียด ชาวบ้านก็เล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟัง ทำให้ผมเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรม ประเพณีของชนเผ่านี้ การใช้ชีวิตในป่าการเพาะปลูกข้าวบนยอดภู การปลูกพริก ฯ ซึ่งเหมือนเป็นพืชสาธารณะใครจะมาเอาไปกินก็ได้ ปลูกเพื่อทุกคน... ผมบันทึกไว้ใน G2K นี้ด้วยครับ

ผมเป็นคนนอกที่สนใจเรียนรู้คนใน ผมสนใจเรื่องการปรับตัวของคน ของสังคมเพราะโลกเปลี่ยน สรรพสิ่งเปลี่ยน ฯ แต่เปลี่ยนอย่างไรให้พอเหมาะพอดีกับสังคมย่อย สังคมใหญ่ โดยเฉพาะสังคมชนบทที่ถูกลากจูงไปอย่างไม่รู้ตัวบ้างรู้ตัวบ้าง แต่ดูเหมือนทุกแห่งจะมีกรณีตัวอย่างที่ปรับตัวได้ดี แต่ไม่ค่อยพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

อนาคตเราอาจจะมีโอกาสได้นั่งแลกเปลี่ยนกันก็ได้นะครับ ส.ตะวันครับ

สวัสดีคุณลำดวนครับ

  • การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวของโลก ของสังคม เป็นปกติ
  • แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างใดจึงจะเหมาะสมกับครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ประเทศชาติ
  • ปัจจุบันดูเหมือนธุรกิจจะลากจูงสังคมไปตามปรัชญาการสร้างกำไรสูงสุดให้แก่เขา ไม่ได้ตระหนักผลกระทบต่อสังคมใดๆ แม้จะเริ่มมีแนวคิด แต่ก็สร้างขึ้นภายใต้การสร้างภาพ
  • แนวคิดพอเพียงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน แต่คงต้องคุยกันเยอะว่าสิ่งหนึ่งที่ทำลงไปนั้นมันอยู่ในความหมายว่าพอเพียงกับตัวตน ครอบครัว..อย่างไร หรือใจชอบแล้วก็พยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่านี่ก็พอเพียงแล้ว...  พอเพียงของครอบคัวหนึ่งกับอีกครอบครัวหนึ่งคงไม่เหมือนกัน  รายละเอียดเหล่านี้ดูเหมือนไม่มีการแยกแยะ ตีแตกกันเท่าไหร่นะครับ
  • ผมเองนั้นเห็นว่าหลักสำคัญอันหนึ่ง(ในหลายๆอัน) คือความพอเพียงต้องยืนอยู่บนหลักคุณค่าทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราด้วย คือการเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือ กันและกัน

คุณ ส.บางทราย

สำหรับตัวผม นั้น "พอเพียง" คือ

พอใจ ทำให้ชีวิตดี มีสุข (รู้จักพอ)

พอดี ทำให้ชีวิตเรียบง่าย (รู้จักตน)

พออยู่ ทำให้ให้ชีวิตสบาย (รู้จักฐานะ)

พอกิน ทำให้ให้ชีวิตสมบูรณ์ (รู้จักอิ่ม)

"อยู่ง่าย กินง่าย นอนหลับง่าย สบายกว่า"

ในอดีตพี่น้องไทยโซ่ รวมถึงชาวผู้ไทย ก็อยู่บนพื้นฐานชีวิตดังกล่าว แต่การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ทำให้พี่น้องผมไม่อยากถูกกล่าวว่าเป็นกลุ่มคนหล้าหลัง พัฒนาช้า หรือไม่พัฒนา ในอดีตการพัฒนาของกลุ่มชาติพันธ์เราคือการปรับตัวให้อยู้รอด ท่ามกลางธรรมชาติ ภูผา ป่าเขา ลำห้วย สายน้ำ คือเอาชนะธรรมชาติให้ได้ แต่ไม่เอาเปรียบ ทำร้าย

เห็นด้วยครับกับ ส.ตะวัน

การปรับตัวเป็นเรื่องปกติ และควรปรับตัวเพราะสรรพสิ่งไม่อยู่นิ่ง แต่การปรับตัวต้องมีความสมดุลด้วย มนุษย์กำลังทำในสิ่งเกินสมดุล นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท