อีเลินนิ่ง (e-learning)


        อีเลินนิ่ง (e-learning) หรือ  Electronic  Learning อาจจะดูเป็นแนวคิดทางการศึกษาแบบใหม่   ที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์ออนไลน์    ทำให้เกิดการเรียนการสอนระบบต่าง ๆ และมีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็น   การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-based Instruction),การเรียนการสอนออนไลน์ (On-line Learning), การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet-based Instruction)  หรือแม้แต่จะเรียกว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนเว็บ (CAI on Web)    แต่ละแบบจัดเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น

        ความหมายของอีเลินนิ่งมีมุมมองที่แตกต่างกันไป    สมาคมอเมริกันเพื่อการพัฒนาการฝึกอบรม (2000)   ได้อธิบายความหมายเอาไว้ด้วยกัน 3 ลักษณะคือ

        ความหมายทางด้านอิเล็กทรอนิกส์

        e-Learning หมายถึง กระบวนการและการใช้ประโยชน์จากการเรียนการสอนผ่านเว็บ  คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ห้องเรียนเสมือน และการเรียนร่วมมือด้วยเครื่องมือดิจิตอลต่าง ๆ  รวมถึงการเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต,ระบบอินทราเน็ต  ระบบเครือข่าย  การเรียนด้วยระบบเสียง ระบบภาพ ระบบดาวเทียม  ระบบโทรทัศน์ และซีดีรอม

        ความหมายทางด้านอินเทอร์เน็ต

        e-Learning   หมายถึง การเรียนรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต  หรือการใช้ความสามารถของระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้

        ความหมายทั่วไป

        e-Learning   หมายถึง  การบูรณาการทางการศึกษาที่ไม่ยึดติดกับเวลาและความก้าวหน้าในการเรียนรู้

        เมื่อประมวลความหมายของทั้ง 3  ลักษณะเข้าด้วยกัน  สอดคล้องกับแนวคิดและบริบทในปัจจุบันกล่าวได้ว่า

        e-Learning  หมายถึง  การจัดกระบวนการและการใช้ประโยชน์จากสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ต   ที่ออกแบบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ไม่ยึดติดกับเวลาและความก้าวหน้าในการเรียนรู้

        จึงทำให้มีความพยายามพัฒนาการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น   ซึ่งการสร้างเว็บเพื่อการเรียนการสอนก็เป็นส่วนหนึ่งของ e-Learning

ระบบการเรียนรู้อีเลินนิ่ง

        การจัดการเรียนการสอนแบบอีเลินนิ่งหรือการเรียนรู้ระบบออนไลน์   สามารถแบ่งกระบวนการในการบริหารจัดการการเรียนรู้ออกได้เป็น  2  ส่วนคือ

        1.  อีเลินนิ่งแบบ  LMS : Learning Management System   เป็นการจัดระบบกระบวนการเรียนการสอนต่างๆ  ในการออนไลน์   ตั้งแต่เนื้อหา  การลงทะเบียน การเก็บข้อมูล การมีปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเช่น อีเมล์ กระดานข่าว ห้องสนทนา เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนของระบบฐานข้อมูล ที่สนับสนุนการจัดการเนื้อหาวิชา (Content)  โดยจะเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน ผู้สอน ผู้ผลิตและผู้ดูแลระบบ

        2. อีเลินนิ่งแบบ  CMS : Content Management System เป็นในส่วนของเนื้อหาวิชาที่เรียน ผู้สอนจะเป็นผู้จัดทำขึ้น และนำมาใส่ไว้ในระบบฐานข้อมูลของ LMS   หรือผู้สอนจัดทำขึ้นเองเป็นอิสระโดยมีระบบเหมือนกับ LMS   แต่ผู้สอนสามารถจัดการบริหาร เพิ่มเติมเนื้อหา ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือบางส่วนได้ด้วยตนเอง     อาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบการจัดการเนื้อหาโดยผู้สอนเพื่อที่ผู้เรียนจะได้นำไปศึกษาโดยไม่ต้องมีระบบการจัดการเต็มรูปแบบเข้ามาช่วย

        ความแตกต่างกันของระบบการบริหารจัดการอีเลินนิ่ง    ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในการเลือกวิธีการที่จะใช้และการพัฒนาระบบการเรียนรู้แบบอีเลินนิ่ง   ซึ่งมีข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนดังนี้ 
LMS : ระบบการจัดการเรียนรู้ CMS :  ระบบการจัดการเนื้อหา

1.     การบริหารจัดการทั้งระบบ

2.     กระบวนการจัดการสมบูรณ์แบบ องค์ประกอบเต็มรูปแบบ

3.    ดำเนินการด้วยบุคลากรจำนวนมาก

4.     ค่าใช้จ่ายการดำเนินการสูง

5.     เหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่

6.     ใช้เป็นสื่อหลักในการเรียนการสอน

7.     เนื้อหามาจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการ

8.     การผลิตยุ่งยากและใช้เวลานาน

9.     การสร้างเน้นการทำงานกับเครื่องแม่ข่าย

10. ความรับผิดชอบอยู่ที่องค์กรหรือหน่วยงาน

1.     การบริหารจัดการเฉพาะเนื้อหา

2.     กระบวนการจัดการเฉพาะเนื้อหาและองค์ประกอบบางส่วน

3.     ดำเนินการโดยผู้สอน

4.     ค่าใช้จ่ายการดำเนินการต่ำ

5.     เหมาะสำหรับอาจารย์ที่มีความรู้เฉพาะ

6.    ใช้เป็นสื่อเสริมในการเรียนการสอน

7.     เนื้อหาตรงตามความต้องการผู้สอน

8.     การผลิตง่ายและใช้เวลาน้อย

9.     การสร้างเน้นการทำงานกับเครื่องลูกข่าย

10. ความรับผิดชอบอยู่ที่ผู้สร้างหรือผู้สอน

        การบริหารจัดการอีเลินนิ่งที่เป็นการบริหารจัดการทั้งระบบ   (LMS : Learning Management System)   จะดูแลตั้งแต่เนื้อหา  การสร้าง การติดตั้ง  การลงทะเบียน การชำระเงิน การเก็บข้อมูล  การมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียน  ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงแบบฝึกหัดและข้อสอบที่สามารถจัดเก็บผลคะแนนสอบของแต่ละคนได้   เป็นระบบที่สมบูรณ์แบบ   ขณะที่ถ้าให้ผู้สอนเป็นผู้ดำเนินการเองก็จะกระทำได้เพียงการสร้างเนื้อหาและติดตั้งองค์ประกอบบางส่วนเท่านั้น    แต่การบริหารจัดการทั้งระบบจะต้องใช้บุคลากรจำนวนมากได้แก่

1.     ผู้ดูแลระบบ (Administrator)    เป็นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลระบบเครือข่าย   เครื่องแม่ข่ายและการติดต่อสื่อสารของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  การบริหารเครือข่าย  ดูแลการบริหารงานธุรการ การเงินและบุคลากรทั้งระบบ

2.     ผู้ดูแลเว็บ (Webmaster)    จะต้องเป็นผู้ดูแลและติดตั้งเว็บ   คอยเฝ้าติดตามการเข้ามาใช้เว็บของผู้เรียนและดูแลเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน เช่น กระดานข่าว การถาม-ตอบ  มีความสามารถระดับโปรแกรมเมอร์

3.     ผู้ออกแบบและพัฒนาเว็บ  (Web designer)   เป็นผู้ออกแบบและสร้างเว็บสำหรับการเรียนการสอนตามการออกแบบที่กำหนดมาจากผู้ออกแบบการเรียนการสอน 

4.     ผู้ออกแบบระบบการเรียนการสอน  (Instructional System Developer)   เป็นผู้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอน  องค์ประกอบเนื้อหา  วิเคราะห์ระบบการสอนและวางรูปแบบเพื่อให้ผู้ออกแบบและพัฒนาเว็บสามารถดำเนินการได้

5.     ผู้สอน  (Instructor)    เป็นผู้เชี่ยวชาญเนื้อหาเฉพาะวิชาที่ต้องการจะนำมาใช้ในการเรียนการสอน   กำหนดเนื้อหาที่จะสอน แบบฝึกหัด ข้อสอบ  การวัดผลและประเมินการเรียน

ดังนั้นถ้าจะเลือกระบบที่สมบูรณ์แบบสำหรับอีเลินนิ่งก็หมายความว่า  จะต้องจัดหาคณะ

ทำงานที่พร้อมสำหรับการบริหารจัดการ      ยังไม่รวมเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะต้องมีความพร้อมสำหรับให้คณะทำงานได้ทำงานอย่างเต็มที่    ซึ่งถ้ารวมมูลค่าเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ก็จัดว่าเป็นการลงทุนที่สูงมากเพราะนั่นคือถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์และค่าใช้จ่ายอีกนานับประการที่จะตามมาได้แก่

              1.      เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server)

              2.     อุปกรณ์ต่อเชื่อมเครือข่ายคอมพิวเตอร์

        2.1 เตอร์ (Router)

        2.2 โมเด็ม (Modem)

        2.3 สวิตช์ (Switch)

        2.4 ฮับ (Hub)

3.     เครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย (Client)  สำหรับการสร้างและพัฒนาเว็บ

4.     เครื่องมือประกอบอื่น ๆ เช่น  เครื่องสแกนภาพ,กล้องดิจิตอล, ฯลฯ

5.     ค่าใช้จ่ายโปรแกรมการสร้างเว็บ

6.    ค่าเช่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

7.     ค่าจดทะเบียนโดเมน

8.     ค่าลิขสิทธิ์ทางปัญญาของเนื้อหาวิชา ฯลฯ

ที่มา  http://www7.brinkster.com/prachyanun/artical/e_learning.html
หมายเลขบันทึก: 36350เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2006 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท