ใช้พรหมวิหารธรรมตอบคำถามว่าทำไมยางลบต้องอยู่บนดินสอ


เรื่องอุเบกขานี้อาจใช้ “หัว” คิดทำความเข้าใจตามทฤษฎีได้ไม่ยาก ที่ยากก็คือเรื่องของความรู้สึก ที่เรียกว่าการทำ “ใจ” ให้ปล่อยวาง
     เมื่อสองวันก่อน เพื่อนผมคนหนึ่งส่งบทความเรื่อง ทำไมยางลบต้องอยู่บนดินสอ? มาให้อ่าน อ่านเสร็จแล้วผมก็ตั้งคำถามข้อหนึ่งกลับไป พอเขาตอบกลับมา ผมเกิดความรู้สึกว่า ผมตั้งคำถามผิด
     เรื่องของยางลบในบทความนั้นมีอยู่ว่า ...
     "บางครั้ง...เราก็มองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไป เพียงเพราะใช้เวลาสั้นๆ ในการตัดสินปัญหานั้นว่า ไร้สาระ
     หลายวันก่อน เพื่อนคนนึงถามว่า “ทำไมต้องมียางลบอยู่บนหัวดินสอ”
     เราไม่ได้สนใจและใส่ใจกับคำถามนั้นซักเท่าไร เพียงแค่รู้สึกว่าเป็นคำถามที่ไม่มีสาระอะไรเสียเลย แต่ก็อดไม่ได้ที่จะตอบเล่นๆ ไปว่า “ก็คงมีเพื่อความสะดวกมั้ง หรือไม่ก็ช่วยคนที่ชอบลืม วางยางลบไม่เป็นที่เป็นทาง จะได้มียางลบใช้มั้ง”
     เพื่อนเราก็อมยิ้มและตอบเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่ใช่”
     “อ้าว...งั้นเพราะอะไรล่ะ” เราอดที่จะถามไม่ได้
     เพื่อนตอบ “ก็เพราะว่า...คนเราสามารถทำผิดกันได้”
     “..........” เรานิ่งไปครู่หนึ่งหลังจากได้ยินคำตอบและปล่อยให้เจ้าของคำถามเดินจากไปโดยที่ไม่ได้อธิบายอะไรมากไปกว่าคำตอบสั้นๆ นั้น
     คำถามของเพื่อนที่เรามองว่าไร้สาระนั้นกลับทำให้เราได้กลับมาคิดทุกขณะที่สมองว่าง
     เย็นวันนั้นเราจึงหยิบโทรศัพท์ ส่งข้อความสั้นๆ ถึงเพื่อนว่า
     ทำไมต้องมียางลบอยู่บนหัวดินสอ      ................................
     เพราะคนเรา มีสิทธิ์ทำผิดกันได้      ................................
     แต่จงจำไว้ว่า เราไม่ควรใช้ยางลบให้หมดก่อนดินสอ เพราะนั่นอาจหมายความว่า เรากำลังทำผิดซ้ำๆ จนความผิดนั้นอาจสายเกินแก้
     เราเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า สิ่งที่คิดต่อจากเพื่อนนั้น มันถูกต้องหรือไม่ และเพื่อนๆ ที่ได้รับข้อความจากเราจะเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะบอกหรือเปล่า
     จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการมากสักเท่าไร แต่สิ่งที่อยากได้รับคือ เพื่อนจะคิดต่อจากความคิดของเราอย่างไร และลึกๆ เราก็หวังแค่ว่าเพื่อนๆ คงจะกล้าเผชิญหน้ากับความผิดพลาด ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตและยอมรับการกระทำของตัวเอง
     แล้วเพื่อนๆ ที่ได้อ่านบทความนี้คิดอย่างไรกันบ้างกับคำถาม
     ทำไมต้องมียางลบอยู่บนหัวดินสอ?”
     หลังจากอ่านเรื่องยางลบของเพื่อนแล้ว ผมตั้งคำถามกลับไปสั้นๆ ว่า

     “เราควรให้อภัยคนที่ไม่มียางลบหรือยางลบหมดหรือเปล่า?”

     เขาตอบกลับมาว่า
     “ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ และสื่อให้ทุกคนยอมรับ ก็คือ "มนุษย์ทำผิดได้" 
     ส่วนประเด็นรองๆ ก็คือที่เพื่อนๆ เป็นห่วงนั่นแหละ "ยางลบหมด" (เพราะใช้มากกกกกกกกกกกก) ก่อนจะตอบคำถามเพื่อน อยากให้เพื่อนลองตอบคำถามต่อไปนี้ก่อน ขำๆ นะเพื่อน แต่มันเป็นคำตอบ ในใจได้เลยครับ
     - ลูกสาวไปนอนกับเพื่อนชาย เป็นครั้งแรก พอเรารู้ ก็สั่งสอนให้อภัย และให้โอกาสปรับปรุงตัวเองใหม่ อีกสามวันต่อมา ลูกสาวไปนอนค้างกับ เพื่อนของแฟนเพื่อน พอเรามารู้เรื่อง เราควรจะ ......????? ลูกสาว
     - ลูกชายคนเล็ก ขโมยสตางค์เพื่อนไปซื้อรถแข่ง พอเราเห็น เราให้เอาไปคืน แล้วบอกว่าการลักขโมยเป็นสิ่งที่ไม่ดี คราวหน้าอย่าทำ อีกสามวันต่อมา ลูกชายเอาปืนฉีดน้ำมาเล่น พอถามดูจึงรู้ว่าแอบขโมยเงินจากพี่สาวไปซื้อ พ่อดุแล้วสั่งสอน ให้โอกาสอีกครั้ง แล้วบอกว่าอย่าทำผิดอีก หลังจากนั้นอีกหนึ่งวัน ลูกชายก็ไปชกพี่สาว ที่เอาเรื่องมาบอกพ่อ จนตัวเองโดนดุ เราควรจะ....???? ทำอย่างไรกับลูกชาย
     ลองให้คำตอบสองคำถามดู แล้วเราก็จะเจอคำตอบที่นายถาม เรื่องยางลบหมด จะทำอย่างไร”
     เมื่ออ่านที่เขาเขียนตอบมาแล้ว ผมจึงตอบคำถามตนเองบางอย่างได้ และได้เขียนตอบเขาไปดังนี้ครับ
     “คนที่จะใช้ “ยางลบ” คือคนที่ “เห็น” ว่าบางตัวบางคำบางประโยคได้เขียนผิดไป
     เราเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการ “เห็นสิ่งที่ผิด” และการ “สำนึกผิด” อันจะนำไปสู่การ “กลับตัวกลับใจ”
     การนำ “ยางลบ” ออกมาใช้จึงเป็นขั้นตอนหลังจาก “เห็น” และ “สำนึก” แล้ว
     เราเชื่อว่าความสามารถในการ “เห็นสิ่งที่ผิด” และ “ยางลบ” ของทุกคนไม่มีวันหมด ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่
     เราคิดแบบคนที่เชื่อมั่นในมนุษย์มาก เชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วทุกคนเป็นคนดี
     ดูตัวอย่างจากบันทึกเมื่อเร็วๆ นี้ของเรา เรื่อง ปรากฏการณ์นักข่าวตะวันตกถูกยิงแล้วได้รับการช่วยเหลือจากผู้ชุมนุมชี้ให้เห็นอะไร? (http://gotoknow.org/blog/inspiring/362030)
     อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากก็ไม่สามารถสำนึกและกลับใจ (รวมทั้งกลับพฤติกรรม) ของตนกระทั่งสิ้นลมหายใจไปเสียก่อน
     ตัวอย่างลูกสาวที่ไปนอนกับเพื่อนชาย หากเขาโตแล้วและไม่ใช่แฟนหรือสามีของใคร อาจไม่ผิดกฏหมาย แต่อาจผิดจารีตประเพณีของสังคม แต่การไปนอนกับแฟนหรือสามีคนอื่นทางพุทธถือว่าเป็นการไม่รักษาศีลข้อ 3 (กาเมสุมิจฉา – ไม่ผิดลูกผิดเมียหรือสามีผู้อื่น)
     ส่วนตัวอย่างลูกชายคนเล็กถือว่าผิดทั้งกฏหมายและผิดทั้งศีลข้อ 2 (อทินนาทานา – ไม่ลักขโมย) แล้วยังผิดกฏหมายอีกต่างหาก
     คนจำนวนไม่น้อยในสังคมพอได้เริ่ม “ผิด” แล้วติดใจ ทนอำนาจกิเลสไม่ไหวก็ทำผิดต่อไปเรื่อยๆ
     แต่ก็เชื่อว่า “บางคน” ขณะที่กำลังกระทำผิดอยู่นั้น จิตส่วนลึก จิตที่ดีงามที่ทุกคนมีอยู่ลึกๆ ก็พยายามแสดงพลังต่อสู้อยู่เช่นกัน ทำให้เรารู้สึกเสียใจกับการกระทำที่ไม่ดีงามผุดขึ้นเป็นครั้งคราว หากเราสามารถเพิ่มพลังด้านบวกหรือด้านสว่างขึ้นมาได้ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (เช่น มีผู้หลักผู้ใหญ่ หรือกัลยาณมิตรคอยเตือน) พลังด้านลบหรือด้านมืด (อำนาจของกิเลส) ก็จะถอยร่นไป
     สรุป คือ เราเชื่อว่า 
          1. มนุษย์ทุกคนมีจิตใจดีงามเป็นพื้นฐาน เราทุกคนจึงสามารถ “สำนึกผิด” ในการกระทำที่ไม่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม
          2. มนุษย์ห่างไกลออกจากความดีงามอันนั้น เพราะอำนาจของกิเลสที่พยายามเข้ามาผลักใสเราออกไปบนเส้นทางเดินของชีวิต
          3. แต่ มนุษย์ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตนได้เสมอตลอดอายุขัย นั่นคือทุกคนมี “ยางลบ” ที่สามารถใช้ได้อย่างไม่มีวันหมดสิ้น ต่างจากยางลบดินสอ
      ดังนั้น คำถามที่ว่า เราจะให้อภัยต่อผู้ “ไม่มียางลบ” หรือ “ยางลบหมด” หรือเปล่า จึงตอบโดยอาศัยความเชื่อ 3 ข้อข้างต้นว่า เราให้ “อภัย” เสมอ ไม่ว่าเขาจะผิดพลาดกี่ครั้ง ไม่ว่าจะโดยเจตนา หรือประมาท
     อย่างไรก็ตาม คำที่ใช้ในคำถามว่า “ไม่มียางลบ” หรือ “ยางลบหมด” จึงเป็นการคำถามที่ไม่ถูกต้อง เพราะยางลบของทุกคนไม่มีวันหมด จึงรู้สึกเสียใจที่ใช้คำโดยไม่ตรึกตรองให้ดีเสียก่อน ก็จะต้องพยายามสังเกตตนเองต่อไปไม่ให้ทำเช่นนี้อีก
     เราจึงชอบข้อความในบทความนั้นที่ว่า “เราก็หวังแค่ว่าเพื่อนๆ คงจะกล้าเผชิญหน้ากับความผิดพลาด ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตและยอมรับการกระทำของตัวเอง”
     อันนี้ตรงกับกลักทางพุทธที่ว่า ใครทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเสมอ ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว ไม่มีใครสามารถหลีกพ้นกรรมหรือการกระทำของตนได้
     ดังนั้น สำหรับคำถามของเพื่อนที่ว่าหากลูกหลานทำผิด เราจะทำอย่างไร หากใช้หลักพรหมวิหารธรรมในพุทธศาสนาที่ว่า เราก็ต้องตักเตือนสั่งสอนด้วยความรักความเมตตา (ไม่ใช่ด้วยความโกรธความชัง) เช่นเดียวกับเวลาที่เขาประพฤติปฏิบัติดีเราก็แสดงมุทิตาจิต (ชื่นชมยินดี) ต่อเขา
     คำว่า เมตตา คือให้ “อภัย” ด้วย เมื่ออภัยได้ใจก็สงบ เมื่อสงบแล้วก็ย่อมไม่ใช้วิธี ดุ ด่า ประณาม หรือเฆี่ยนตี ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจลูกหลาน แต่ ชี้ สอน แนะนำ ด้วยความกรุณา หากเขายังไม่สำนึกและยังคงทำผิดต่อไปอีกก็อดทนสอนอีก รวมทั้งต้องใช้อุเบกขา (การวางเฉย) ด้วยความเชื่อว่าเป็นกรรมของเขาเอง
     เรื่องอุเบกขานี้อาจใช้ “หัว” คิดทำความเข้าใจตามทฤษฎีได้ไม่ยาก ที่ยากก็คือเรื่องของความรู้สึก ที่เรียกว่าการทำ “ใจ” ให้ปล่อยวาง แต่เราก็พบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่สามารถพัฒนาจิตตนจนถึงขั้นที่ความคิดกับความรู้สึกดังกล่าวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ นั่นคือทำให้ หัว กับ ใจ เป็นหนึ่งเดียวกัน”

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
4 มิถุนายน 2553

หมายเลขบันทึก: 363633เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 06:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับคุณสุรเชษฐ

  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ
  • ขอบคุณที่แบ่งปัน

สวัสดีครับอาจารย์

วาทกรรม ยางลบ กับ ดินสอ ก็ได้เคยถกกับเพื่อนมาเหมือนกันครับ

ผมชอบในช่วงท้ายบันทึกของอาจารย์ครับ ว่า เเม้ยางลบหมดไป เราต้องกล้าที่จะ เผชิญกับความผิดพลาดของตัวเอง เเละเมื่อกล้าหมายถึงว่า เราพร้อมจะยอมรับ และ แก้ไข ยางลบที่ว่าหมดไปนั้นก็ไม่มีอยู่จริง

เเละยากมากขึ้น กับ "หัว " เเละ "ใจ"

ส่วนใหญ่ใช่นิติรัฐจนเป็นนิสัย ลืมไปว่าชีวิตมนุษย์เราต้องการ "ใจ"อย่างมาก

เเละใช้ "หัว" และ "ใจ" ให้สมดุล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท