พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

วิเคราะห์ข้อเท็จจริงและความเห็นทางกฎหมาย กรณีคุณ Jil ขอรับ สมศักดิ์ เป็นบุตรบุญธรรม


ชาวต่างชาติรับเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทยเป็นบุตรบุญธรรม

วิเคราะห์ข้อเท็จจริง และความเห็นทางกฎหมาย

กรณี "คุณ Jil" ประสงค์จะรับ "สมศักดิ์" เด็กไร้รากเหง้าในประเทศไทยเป็นบุตรบุญธรรม

          จากข้อเท็จจริง สรุปว่า คุณ Jil อายุ 55 ปีชาวต่างชาติสัญชาติอเมริกันและอิตาเลียน (dual nationality) ถือหนังสือเดินทางของประเทศสหรัฐอเมริกา และวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว (non-immigrant visa)  ซึ่งปัจจุบันเป็นครูอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษอยู่ในประเทศไทย ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จังหวัดลพบุรี มีความประสงค์จะจดทะเบียนรับ สมศักดิ์ เป็นบุตรบุญธรรม โดยคุณ Jil มีคู่สมรสชื่อ คุณ Jack ซึ่งยินยอมด้วยกับการรับบุตรบุญธรรมครั้งนี้

          ส่วน สมศักดิ์ (ไม่ทราบนามสกุล) อายุ 18 ปี เป็นบุคคลซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใครมาจากไหน ไม่ทราบสัญชาติจึงมีลักษณะเป็น "เด็กไร้รากเหง้า" ในประเทศไทย ปัจจุบันได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน(ท.ร. 38 ก) และกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จังหวัดลพบุรี

         ความประสงค์ของคุณ Jil ในเบื้องต้นคือต้องการจดทะเบียนรับสมศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมในประเทศไทย

วิเคราะห์ข้อกฎหมาย
          หลักกฎหมาย

         จากข้อเท็จจริง กรณีการรับบุตรบุญธรรมครั้งนี้เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และเมื่อการรับบุตรบุญธรรมในครั้งนี้เป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์นี้จึงตกอยู่ภายในกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของรัฐที่มีการกล่าวอ้างความเป็นระหว่างประเทศของนิติสัมพันธ์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงกรณีนี้ก็ คือ รัฐไทย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481                                                                                    

          มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดว่า “ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมมีสัญชาติแตกต่างกัน ความสามารถและเงื่อนไขแห่งการรับบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย แต่ผลแห่งการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้รับบุตรบุญธรรม”

ดังนั้นการพิจารณาว่า คุณ Jil ผู้รับบุตรบุญธรรมมีความสามารถจะรับบุตรบุญธรรมได้หรือไม่ และจะต้องมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างนั้น จะต้องพิจารณาจากกฎหมายการรับบุตรบุญธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอิตาลี ส่วนด้านสมศักดิ์จะเป็นบุตรบุญธรรมในกรณีนี้ได้หรือไม่ และมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ต้องพิจารณาจากกฎหมายการรับบุตรบุญธรรมของประเทศไทย โดยพิจารณาจากกฎหมายดังต่อไปนี้                                    

 1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 2  พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พุทธศักราช 2522 และ  กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติฉบับนี้     

 3  ความเห็นทางกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายคณะที่ 3) เรื่องเสร็จที่  ๓๖๕/๒๕๒๙ เรื่อง หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๘/๒๒ และพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๔)

4 หนังสือสั่งการ ที่ มท 0402/737 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2531   

พิจารณาข้อกฎหมาย    

กรณีสมศักดิ์ เป็นเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเริ่มต้นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 มีผลบังคับใช้กับ คนไร้สัญชาติ หรือไม่                                                    

          ประเด็นปัญหานี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) เห็นว่า ตามหลักทั่วไปแล้วกฎหมายภายในของประเทศหนึ่งย่อมใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนซึ่งอยู่ภายในดินแดนของประเทศนั้น เว้นแต่จะมีบทบัญญัติหรือหลักกฎหมายอื่นกำหนดให้ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว  และ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้บัญญัติวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “เด็ก” ให้หมายความว่าผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่มีบทบัญญัติใดที่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์จะจำกัดขอบเขตการใช้บังคับเฉพาะแก่เด็กที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น  ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของการตรากฎหมายท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ได้มีการตรากฎหมายขึ้น “เนื่องจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งแต่เดิมเคยจำกัดอยู่เฉพาะในระหว่างเครือญาติผู้รู้จักคุ้นเคยกันนั้น  บัดนี้ได้แพร่ขยายออกไปสู่บุคคลภายนอกอื่น ๆ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ...ฯลฯ...” ซึ่งแสดงว่ากฎหมายมิได้มุ่งหมายจะใช้บังคับเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ดังนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 จึงมีผลบังคับใช้กับเด็กไร้สัญชาติได้

          มาตรา 1598/20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) บัญญัติว่ากรณีที่ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอายุเกินกว่า 15 ปี การรับบุตรบุญธรรมจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมด้วย ซึ่งกรณีนี้สมศักดิ์ซึ่งอายุ 18 ปี ได้ให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรมครั้งนี้แล้ว

         มาตรา 1598/19 (ปพพ.) บัญญัติว่าผู้จะรับบุตรบุญธรรมจะต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุมากกว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี ทั้งนี้คุณ Jil ผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมอายุ 55 ปี มากกว่ากว่า สมศักดิ์ ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมเกินกว่า 25 ปี จึงไม่ต้องห้ามบทบัญญัติ

         มาตรา 1598/25 (ปพพ.) ผู้จะรับบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน กรณีนี้คุณ Jack คู่สมรสตามกฎหมายของคุณ Jil ได้ให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรมครั้งนี้

           มาตรา 1598/27 (ปพพ.) การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทำเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน                                                                                                                    ในกรณีนี้สมศักดิ์ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอายุเพียง 18 ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงยังคงเป็นผู้เยาว์ การจดทะเบียนรับสมศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมจึงต้องดำเนินการตาม มาตรา 1598/21 (ปพพ.) และ มาตรา 1598/22 (ปพพ.)

          มาตรา 1598/21 (ปพพ.) บัญญัติว่า “การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมนั้นจะกระทำได้เมื่อบิดาและมารดาซึ่งใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ได้ให้ความยินยอม ก้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอม ผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรม หรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมได้” กรณีตามข้อเท็จจริงไม่อาจทราบได้ว่าบิดาและมารดาของสมศักดิ์คือใคร เนื่องจากสมศักดิ์ไม่ได้อยู่กับบิดาตั้งแต่เด็ก และมารดาก็มาทอดทิ้งสมศักดิ์ให้อยู่โดยลำพังตั้งแต่อายุ 7 ปีจึงเป็น กรณีที่เรียกได้ว่า “ไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอม”                                                                   

          มาตรา 1598/22 (ปพพ.) บัญญัติว่า “ถ้าผู้เยาว์เป็นผู้ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก ให้สถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนบิดาและมาดา” ตามปัญหามีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่ามารดาของสมศักดิ์มีเจตนาทอดทิ้งไปโดยไม่อุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่สมศักดิ์อายุได้ 7 ปี ส่วนบิดาไม่อาจทราบได้ว่าอยู่ที่ใดมาเป็นเวลานาน  ทั้งนี้เมื่อสมศักดิ์อายุได้ประมาณ 8 ปี มูลนิธิสร้างสรรค์ได้ให้ความอนุเคราะห์แก่สมศักดิ์ ได้พาสมศักดิ์ไปขอลงรายการทะเบียนประวัติประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38ก) และจัดหาโรงเรียนให้สมศักดิ์เข้าศึกษา อย่างไรก็ตามแม้ว่าสมศักดิ์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งจะอยู่ในความดูแลของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก แต่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กก็เป็นเพียงสถานสงเคราะห์เด็กอิสระ ไม่ใช่สถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยสถานสงเคราะห์ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กจึงไม่มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับสมศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมครั้งนี้                                                                                

ดังนั้นเมื่อสมศักดิ์ไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอม คุณ Jil จะขอรับสมศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมได้เมื่อร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอม

         พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 และกฎกระทรวงฉบับที่ 9 พ.ศ.2543 ได้บัญญัติกรณีที่สามารถจะทะเบียนรับบุตรบุญธรรมได้ว่า มีขั้นตอนและเอกสารที่ต้องนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่อย่างไรบ้าง ซึ่งก่อนจะมีการยื่นเอกสารดังกล่าวต่อสถานสงเคราะห์เด็กบ้านราชวิถี จะต้องพิจารณากฎหมายของประเทศอเมริกาและประเทศอิตาลีว่ายินยอมให้มีการรับบุตรบุญธรรมได้หรือไม่ในกรณีดังกล่าว

           กฎหมายอเมริกาไม่อนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอายุเกินกว่า 16 ปี                                                                     

  กรณีตามข้อเท็จจริงสมศักดิ์มีอายุเกิน 16 ปี ดังนั้นคุณ Jil จึงไม่สามารถรับสมศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายอเมริกา                                                                                                                                      

          กฎหมายอิตาลีไม่ได้กำหนดอายุของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม แต่กำหนดอายุของผู้จะรับบุตรบุญธรรมต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี และอายุของผู้จะรับบุตรบุญธรรมมากกว่าอายุของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมไม่เกิน 40 ปี กรณีตามข้อเท็จจริงคุณ Jil ผู้จะรับบุตรบุญธรรมมีอายุ 55 ปี และอายุมากกว่าสมศักดิ์ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม 37 ปี ดังนั้นคุณ Jil จึงสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ตามเงื่อนไขของกฎหมายประเทศอิตาลี

ถ้าคุณ Jil ซึ่งมีสัญชาติอิตาลี จะจดทะเบียนรับสมศักดิ์ เป็นบุตรบุญธรรม จะต้องดำเนินการตาม พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พุทธศักราช 2522 และ  กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติฉบับนี้   

         กฎกระทรวงฉบับที่ 9 ข้อ 12 ซึ่งบัญญัติว่าผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม โดยยื่นพร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานของผู้ขอรับบุตรบุญธรรม ดังต่อไปนี้

       1 สำเนาหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่                                                      

       2 สำเนาทะเบียนสมรสหรือทะเบียนหย่า (ถ้ามี)

       3 ใบรับรองแพทย์ซึ่งแสดงว่ามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์

       4 เอกสารรับรองการทำงานและรายได้

       5 เอกสารรับรองการเงินย้อนหลังไปไม่เกินหกเดือน

       6 รูปถ่ายของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและคู่สมรส ขนาด 4.5x6 เซนติเมตร ซึ่งถ่ายมาแล้วไม่เกินหกเดือน จำนวนคนละสี่รูป

       7 เอกสารรับรองทรัพย์สิน

       8 เอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศผู้ที่ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนา ซึ่งรับรองว่าผู้นั้นสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

       9 เอกสารจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของประเทศผู้ขอรับบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนา ซึ่งรับรองว่าการนำเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเข้าประเทศสามารถกระทำได้ตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

       10 หนังสือแสดงความยินยอมของคู่สมรสหรือคำสั่งอนุญาตของศาลแทนหนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส

       11 สำเนาใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว

       12 เอกสารรับรองความประพฤติและความเหมาะสมทั่วไปของผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจากผู้ที่เชื่อถือได้อย่างน้อยสองคน

       นอกจากนี้เอกสารตามข้อ 1-10 จะต้องได้รับการรับรองโดยสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่ผู้รับบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนา

          กรณีตามข้อเท็จจริงสมศักดิ์ไม่มีบิดามารดาซึ่งจะให้ความยินยอมให้การรับบุตรบุญธรรม จึงเป็นกรณีไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอม ดังนั้นคุณ Jil ผู้จะรับบุตรบุญธรรมจึงต้องอาศัยคำสั่งอนุญาตให้รับบุตรบุญธรรมจากศาลแทนการให้ความยินยอม

          กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 ข้อ 14 หลังจากได้มีการยื่นคำขอตาม ข้อ 12 แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และความเหมาะสมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการให้เด็กเป็นบุตรบุญธรรม และเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม แล้วเสนอต่ออธิบดี เพื่อให้มีคำสั่งว่าสมควรจะให้ผู้จะรับบุตรบุญธรรมนำเด็กไปทดลองเลี้ยงดูหรือไม่ต่อไป

 

ประเด็นพิจารณา การเป็นเด็กไร้สัญชาติของสมศักดิ์ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม เป็นข้อจำกัดในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมหรือไม่                                                               ความเห็นทางกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายคณะที่ 3) เรื่องเสร็จที่  365/2429 ได้ให้ความเห็นว่ามาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 ได้บัญญัติวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “เด็ก” ให้หมายความว่าผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่มีบทบัญญัติใดที่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์จะจำกัดขอบเขตการใช้บังคับเฉพาะแก่เด็กที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น  ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของการตรากฎหมายท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ได้มีการตรากฎหมายขึ้น “เนื่องจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งแต่เดิมเคยจำกัดอยู่เฉพาะในระหว่างเครือญาติผู้รู้จักคุ้นเคยกันนั้น  บัดนี้ได้แพร่ขยายออกไปสู่บุคคลภายนอกอื่น ๆ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ...ฯลฯ...” ซึ่งแสดงว่ากฎหมายมิได้มุ่งหมายจะใช้บังคับเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น                                                   

พิจารณาประกอบกับหนังสือสั่งการ ที่ มท 0402/737 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2531  ซึ่งวางหลักเกณฑ์กรณีชาวต่างชาติประสงค์จะรับเด็กซึ่งถูกทอดทิ้งไม่ทราบชื่อบิดา มารดา ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีสูติบัตร ไร้สัญชาติ เป็นบุตรบุญธรรม                  ขั้นตอนดำเนินการคือ เมื่อมีการยื่นขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อเจ้าหน้าที่ ให้เจ้าหน้าที่แจ้งแก่นายอำเภอเพื่อดำเนินการสอบสวนประวัติความเป็นมาของเด็กที่ไม่มีทะเบียนบ้าน และเมื่อมีการประชุมคณะอนุกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อพิจารณาอนุมัติให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้แจ้งแก่นายอำเภอมาชี้แจงข้อเท็จจริงและประวัติเกี่ยวกับตัวเด็ก                                                                                     กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมจะเป็นเด็กไร้สัญชาติ ไม่มีเอกสารระบุทราบตัวบุคคล ไม่มีบิดมารดา เด็กก็มีสิทธิได้รับการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมว่าสมควรอนุญาตให้มีการจดทะเบียนรับเด็กคนดังกล่าวเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ ดังนั้นตามข้อเท็จจริงคุณ Jill สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนรับสมศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมประกอบกับยื่นเอกสารตามที่ พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบตรบุญธรรม และกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 ข้อ 12 กำหนด โดยอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจำต้องรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา

 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง : รวมกฎหมายไทยที่เกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

http://gotoknow.org/blog/child-adoption/366762 (ขอบคุณค่ะ)

หมายเลขบันทึก: 365153เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 01:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รี่ลองดู กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ พ.ศ.๒๕๔๓ ข้อ ๑๔ วรรคสอง ซึ่งจะเป็นคำตอบให้กับเจ้าหน้าที่ที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ แผนกการรับบุตรบุญธรรม ที่ว่า มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเป็นผู้ดูแลโดยพฤตินัยเท่านั้น ดังนั้นการจะรับสมศักดิ์ซึ่งอายุเพียง 18 ปี เป็นบุตรบุญธรรมได้นั้นจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่ง อย่างไรเขาก็จะรับเรื่องและทำเรื่องหารือไปถึงอธิบดีตอ่ไป

อ่านแล้วถามต่อ และชวนให้พิจารณาต่อไป

ในกรณีที่จะเลือกสัญชาติอิตาลี คงจะต้องเปลี่ยนจากคุณจิลเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่อเมริกัน หากเป็นคุณจิลเองคงจะต้องให้ทางสถานทูตอิตาลีรับรองความเป็นคนสัญชาติอิตาลี หรืออย่างอื่นเพื่อยืนยันความเป็นคนสัญชาติอิตาลีเพราะในหนังสือเดินทางระบุสัญชาติเป็นอเมริกัน เพราะหากดูตามเอกสารที่กฎกระทรวงขอระบุชัดว่าเป็นสำเนาหนังสือเดินทาง เมื่อยื่นสำเนาหนังสือเดินทางที่ระบุเป็นคนอเมริกัน เราจะโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

ช่วยกันคิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท