ฟุตบอลโลก : การพนันในโรงเรียน : เรื่องใหม่ที่พึ่งเกิด?


        ช่วงนี้คงไม่มีเรื่องไหนที่จะมีกระแสมาแรงเท่ากับมหกรรมฟุตบอลโลก  แต่ในมุมมองของผู้ใหญ่และคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแล้ว สิ่งหนึ่งที่สังคมเห็นพ้องกันคือ สิ่งที่แอบแฝงมากับการดูฟุตบอลนั่นคือ การพนัน  โดยเฉพาะการพนันในโรงเรียน  ผมเองก็มีประสบการณ์ในด้านนี่มาบ้าง ได้ประสบเหตุกับตัวเองจากผลกระทบของการพนัน จึงขอแบ่งปันความห่วงใยและความรู้เล็กๆ น้อย ๆ ที่พอจะมี(บ้าง)เพื่อหาทางป้องกัน ให้คนอื่น ๆ นะครับ

         ปี 39 เป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักกับการพนันฟุตบอล ครั้งแรกที่เล่นเพราะเห็นเพื่อนเล่น  ก็ถามเพื่อนว่ามีวิธียังไง  จ่ายและรับเงินยังไง  อันนี้เป็นข้อสังเกตข้อแรกนะครับ มือใหม่ในวงการพนันหรือยาเสพติดนั้นล้วนมาจากการเห็นคนใกล้ตัว เช่น เพื่อน พ่อ แม่ พี่ น้องทำ แล้วเห็นว่าเขาก็ทำได้นี่น่า เราทำมั่งก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ประกอบกับความอยากได้ อยากมี อย่างคนอื่น  ประการต่อมาคือคนที่เล่นการพนันนั้น เล่นเพราะความโลภ ความอยาก แต่ความโลภและความยากนั้นมันไม่มีที่สิ้นสุด สาเหตุที่คนเล่นการพนันไม่เคยรวย(อย่างถาวร) ก็เพราะเมื่อครั้งนี้เล่นได้ ก็มักจะคิดว่าครั้งหน้าก็ต้องเล่นได้ แต่ถ้าครั้งหน้าเล่นไม่ได้ก็คิดว่า ...ไม่เป็นไรไม่ได้ขาดทุน หรือขาดทุนไม่มากเพราะหักจากที่ได้เมื่อคราวก่อน  การเล่นครั้งต่อไปจึงหวังจะทำให้ได้กำไรทันทีจึงมีการเพิ่มวงเงินจากครั้งก่อน ๆ เช่น ครั้งแรก เล่น 500 บาท ได้กำไร 400 บาท(ราคาพนันบอลแทง 5 อาจได้ 4 อย่างนี้เป็นต้น) ครั้งที่สองเล่นไป 500 เสียก็คิดว่าไม่เป็นไรขาดทุนแค่ 100 ครั้งที่สาม เล่น 1,000 ไปเลย ผลคือเสียอีก ก็คิดว่าขาดทุนไป 1,100 แล้วครั้งนี้ต้องทบต้นทบดอกเล่นไปเลย 1,500

        หากโชคดีเล่นได้บ่อย ๆ  ได้เงินจากการพนันนี่เป็น "เงินร้อน" คือได้มาง่าย เลยใช้ออกไปง่าย ๆ ผมไม่เคยเจอคนที่ได้เงินจากการเล่นพนันแล้วเก็บเงินฝากธนาคารเลย มีแต่ได้มาแล้วก็ใช้ทันที บางทียังไม่รู้เลยว่าจะได้หรือเสีย คิดไว้ก่อนแล้วว่า ถ้าได้มาจะเอาไปซื้ออะไรดี เมื่อคนเล่นการพนันคิดอย่างนี้ปัญหาต่าง ๆจึงตามมาเป็นเงาตามตัว    

        พ่อ แม่ ครู และคนใกล้ชิด ควรสังเกตว่าเด็กในความดูแลของท่านมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ 

                 1) ซื้อหนังสือพิมพ์ฟุตบอลทุกวัน โดยเฉพาะที่มีราคาต่อรอง หรือมีสถิติฟุตบอล  หนังสือพิมพ์ประเภทนี้แทบไม่มีคอมลัมน์ให้อ่านเลยนอกจาก สถิติ ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

                 2) ตั้งอกตั้งใจดูบอลหรือติดตามผลการแข่งขันอย่างผิดปกติ  คือ ดูมันทุกคู่  ไม่ว่าจะเชียร์ทีมนั้นหรือไม่  ต้องตั้งเวลาปลุกมาดูการแข่งขัน หรือมาเช็คผลทางอินเทอร์เน็ท

                 3) แอบพูดคุยโทรศัพท์เบา ๆ หรือเดินเลี่ยงไปคุยที่อื่น  จะเป็นในช่วงหัวค่ำเป็นต้นไป หรือก่อนที่จะมีการแข่งขัน  คำพูดหรือวลีที่อาจได้ยินเช่น "ราคา" "โต๊ะ" "จิ้ม"  "ไหล"  "ค่าน้ำ"  "ควบ"   "-5"  "ขาว"   "+10" 

                 4) ขอหรือยืมเงินจากคนอื่นบ่อยกว่าปกติ อีกกรณีคือใช้เงินมากกว่าปกติ  ซื้อของใหม่ๆที่มีราคาแพง ทั้งที่ไม่น่าจะซื้อได้

                 5) มีลักษณะที่สังเกตได้ว่าเครียด  กังวล หรือใจลอย อยู่บ่อยครั้ง

                 6) อาจมีทรัพย์สินหรือสิ่งของในบ้าน  หรือของใช้ส่วนตัวของเขาเองอันตธานหายไป โดยเจ้าตัวให้เหตุผลว่าเพื่อนยืม(คำแก้ตัวยอดนิยม)

                 ข้อสังเกตเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งนะครับ  เชื่อว่าหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสังเกตพฤติกรรมและความเปลี่ยนแปลงของเด็กในความดูแลของท่านให้ดีในช่วงนี้  หากพบสิ่งผิดปกติ อย่าลังเลที่จะเดินเข้าไปหาเขาพาหาทางร่วมแก้ปัญหา ก็น่าจะเป็นเกราะป้องกันที่ดีได้ในระดับหนึ่ง  ไม่เช่นนั้นแล้วคงเราได้อ่านข่าวทางหนังสือพิมพ์หลังจบฟุตบอลโลกว่า "อนาถนักเรียนไทยติดพนัน......" อย่าให้สำนวนที่ว่า วัวหายล้อมคอก เกิดขึ้นอีกครั้งเลยนะครับ ช่วยกัน ...ช่วยกัน

 

ปล. ปัจจุบันผมเลิกเล่นไปแล้วนะครับ

หมายเลขบันทึก: 365273เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท