ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ยุคสมัยของความขัดแย้งและแบ่งข้าง:พระสงฆ์ยุคใหม่ควรตีความและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร


โลกทัศน์และชีวทัศน์ของพระสงฆ์แนวใหม่ในลักษณะดังกล่าว นับได้ว่าสอดรับกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเรียกร้องบทบาทของพระสงฆ์ในแนวราบมากว่าแนวดิ่ง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็อาจจะเกิดจากการที่สภาพปัญหาในยุคปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน และต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมมากกว่า ถึงกระนั้น การเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของพระสงฆ์แนวใหม่ก็อาจจะถูกตั้งข้อสังเกตจากพุทธศาสนิกชนเหมาะสม หรือสอดรับพระธรรมวินัยมากน้อยเพียงใด

 

 

ยุคสมัยของความขัดแย้งและแบ่งข้าง:
พระสงฆ์ยุคใหม่ควรตีความและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. 
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
อำนวยการสำนักงานสมาคมวิทยาลัยพระพุทธศาสนานาชาติ (IABU)

 =======

1. เกริ่นนำ

            ปัญหาทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  การเมืองและสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและก่อให้เกิดความรุนแรงทุกองคาพยพของประเทศไทย  ถือได้ว่ามีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการตีความและเผยแผ่พุทธธรรมของพระสงฆ์ยุคใหม่  อย่างไรก็ดี การตีความและเผยแผ่พุทธธรรมในสังคมไทย หรือสังคมอื่นๆ มักจะมีการตั้งข้อสังเกต และข้อโต้แย้งจากนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา หรือนักวิชาการสายสังคมวิทยาอยู่เนืองๆ  ว่า  พระพุทธศาสนาเน้นหนักในมิติของปัจเจกบุคคล (Individualism) มากกว่าการเน้นหนักในเชิงสังคม (Socialism) หรือการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับสังคมในมิติอย่างใดอย่างหนึ่ง (Engaged Buddhism) ทั้งในแง่ของการแก้ไขปัญหา การเข้าไปรับรู้ปัญหา การรับรู้ความรู้สึกนึกคิด และความต้องการของสังคม จนนำไปสู่การเข้าไปสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าว 

           จะเห็นว่า มักมีข้อถกเถียงกันของกลุ่มนักวิชาการด้านนี้ 2  กลุ่มใหญ่ กล่าวคือ (1) กลุ่มที่เห็นว่า พุทธธรรมเชิงสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่  หากแต่มีรากฐานดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล  เพียงแต่ได้มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่ละยุคสมัยเท่านั้น  และ (2) กลุ่มที่เห็นว่า พุทธธรรมมักจะขาดมิติทางสังคม  กล่าวคือ แนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ทั้งในนิกายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน  หากแต่เป็นรูปของพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองปัญหาของสังคมโลกยุคใหม่

          จากการโต้แย้งของนักคิด 2 กลุ่มดังกล่าวจึงนำไปสู่การเสนอแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตอบคำถามที่ว่า พระสงฆ์ไทยในยุคดั้งเดิมของสังคมไทยมีรูปแบบการตีความและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร  ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การแสวงหาความจริงเชิงประจักษ์ว่าในสถานการณ์ของความขัดแย้งในสังคมไทย พระสงฆ์ไทยในในยุคโลกาภิวัตน์ควรตีความและเผยแผ่พุทธธรรมอย่างไร จึงจะสอดรับกับความเป็นไปของสังคม  และทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคของความขัดแย้ง และการแบ่งข้างที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

2. พระสงฆ์ไทยในอดีตตีความ และเผยแผ่พุทธธรรมอย่างไร

          การตีความและแผ่พุทธธรรมของพระสงฆ์แบบดั้งเดิม มักจะเน้นการนำเสนอองค์ความรู้ที่สนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น มุ่งเน้นการฉลองศรัทธา หรือการตอกย้ำให้เห็นถึงความยึดมั่นในศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัย ไม่ว่าจะเป็นความศรัทธาในเรื่องกรรม ผลของกรรม เชื่อว่าทำสิ่งสิ่งใดต้องได้ผลตอบแทนอย่างนั้น เชื่อในพระตถาคต การเน้นสอนแบบนี้ เป็นการมุ่งเน้นแบบคัมภีร์เป็นด้านหลัก (Textual Buddhism) โดยใช้หลักการในคัมภีร์ออกมาสอนให้สอดรับกับวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ หรือจะกล่าวแนวทางการตีความและการเผยแผ่แบบนี้ว่า พระพุทธศาสนาแบบท้องถิ่น (Rational Buddhism) สิ่งที่สามารถนำมายืนยันสมมติฐานดังกล่าว เช่น การสอนให้เชื่อตามหลักการของไตรภูมิพระร่วง   ซึ่งดำรงอยู่บนฐานของความเชื่อและความคิดในมิติของ “จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ

          ในขณะการตีความและเผยแผ่พุทธธรรมสมัยรัชกาลที่ 4 เรื่อยมา จะเน้นเรื่อง “พระพุทธศาสนาแบบปัญญา” (Intellectual Buddhism) ซึ่งเป็นการนำเสนอบนฐานของเหตุผลนิยม (Rationalism) โดยใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือในการแสวงหาปัญญาของระดับบุคคลและสังคม สอดรับกับการเข้ามาของแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงระบบการจัดการศึกษาที่เน้นความทันสมัยแบบตะวันตก  ฉะนั้น ในยุคนี้เรามักได้ยินคำว่า “ศาสตร์สมัยใหม่” อยู่เนื่องๆ  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลต่อๆ มา ทั้งระดับพระราชารวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ หรือข้าราชบริพารทั้งหลายได้มีโอกาสรับรู้และเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ จากต่างประเทศ จนได้นำระบบการศึกษา ระบบการเมือง การปกครองมาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดรับความทิศทางของการเปลี่ยนแปลง  ฉะนั้น เมื่อระบบอมาตยาธิปไตยยอมรับระบบต่างๆ ของต่างประเทศก็ย่อมทำให้กระแสของวัฒนธรรมต่างชาติได้เข้ามีอิทธิพลต่อระบบต่างๆ รวมไปถึงความเชื่อของประชาชนในสมัยนั้นด้วย

          อย่างไรก็ดี  การใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาปัญญานั้น ได้พัฒนาไปสู่การนำหลักการพระพุทธศาสนาเข้าสู่กระบวนการในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  ฉะนั้น การตีความและเผยแผ่พุทธธรรมในยุคนี้มักจะเน้นเชิงปฏิบัตินิยม (Practical Buddhism) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำพระพุทธศาสนาไปประยุกต์เพื่อสอดรับกับการแนวปฏิบัติของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และหลักการใดที่ไม่สอดรับการแนวปฏิบัติของสังคม เช่น หลักสันโดษ ก็มักจะไม่ได้รับการยอมให้รับให้เผยแผ่หลักธรรมในยุคนั้นๆ  เนื่องจากผู้ปกครองชั้นสูงของรัฐมองว่าขัดต่อการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ  ฉะนั้น จะเห็นว่า การตีความพระพุทธศาสนาในยุค 16 ตุลาคม 2516 หรือ พ.ศ.2519 จึงมักจะเข้าไปเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะการตีความเพื่อเป็นฐานในการรองรับความชอบทางการเมือง เช่น การที่นักการเมืองได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทย  หรือการที่พระสงฆ์บางรูปตีความหลักการทางศาสนาว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”  การตีความและเผยแผ่พุทธธรรมในลักษณะก็เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมือง อันเป็นการแสวงหาพื้นที่ให้หลักการทางศาสนาเข้าไปรับใช้ฐานทางการเมือง หรือสนองความต้องการผู้นักการเมืองในยุคเหล่านั้น

 

3. พระสงฆ์ไทยยุคใหม่ตีความ และเผยแผ่พุทธธรรมอย่างไร

         รูปแบบและวิธีการตีความและเผยแผ่พุทธธรรมของพระสงฆ์แนวใหม่ มีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างไปจากรูปแบบและวิธีการของพระสงฆ์ในอดีต แต่ยังคงมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เช่นกันคือ นำพุทธธรรมสู่ประชาชน  รูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหรือบริบทที่ต่างกัน ทั้งด้านความคิดความเชื่อและทั้งด้านสิ่งแวดล้อมภายนอก ในอดีต รูปแบบและวิธีการเผยแผ่อาจไม่ซับซ้อนและไม่หลากหลายเช่นปัจจุบัน  สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้ความคิดความเชื่อของมนุษย์เปลี่ยนไปด้วย ยิ่งในยุคสมัยที่เจริญไปด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ความคิดความเชื่อของมนุษย์ปรับเปลี่ยนตามและใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกัน พระสงฆ์แนวใหม่ จัดว่าอยู่ในสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองด้วยสิ่งเหล่านี้ จึงมีโอกาสในสร้างสรรค์วิธีการเผยแผ่ธรรมสู่ประชาชนได้หลากหลายวิธีการหลากหลายแนวทางกว่าสมัยก่อน  ประกอบกับมนุษย์เมื่อปฏิสัมพันธ์กับวัตถุมากเข้า ความคิดความเชื่อความรู้สึกด้านจิตใจ หยาบกระด้างขึ้นตามสิ่งที่มนุษย์ปฏิสัมพันธ์อยู่ด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง กิเลสมนุษย์พัฒนาตัวกล้าแข็งขึ้นตามสภาพแวดล้อม ดังนั้น วิธีการเอาชนะกิเลสจึงมีความรุนแรง เผ็ดร้อนเพื่อให้ทันกิเลส  รูปแบบและวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมของพระสงฆ์แนวใหม่จึงมีลักษณะรุนแรงในบางโอกาสบางเวลา 

           อย่างไรก็ตาม แนวคิดหลักในการตีความและการเผยแผ่ธรรมของพระสงฆ์แนวใหม่นี้ เป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดการตีความแบบเหตุผลนิยมกับปฏิบัตินิยม โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่คัมภีร์มากนัก วิธีการเน้นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมมากกว่าการนำเสนอในเชิงวิชาการหรือเชิงหลักการ ที่สำคัญ คือ เน้นกิจกรรมเชิงรุก เข้าสู่ประชาชน และทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง  

           นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปมักตั้งข้อสังเกตว่า หากการตีความและการเผยแผ่พุทธธรรมของพระสงฆ์ยืนอยู่บนฐานขอการใช้คัมภีร์เป็นเครื่องมือ หรือกรอบในการตีความยึดถือ ย่อมให้การตีความมีความหนักแน่นมากยิ่งขึ้น เพราะอย่างน้อยก็สามารถรักษาหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้  ความเคลื่อนไหวของพระสงฆ์กลุ่มนี้น่าสนใจและเป็นที่จับตามองจากสังคมอยู่ตลอดเวลา 

           กิจกรรมต่าง ๆ ที่พระสงฆ์ยุคใหม่บางกลุ่มดำเนินการ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ท้าทายสังคมโลก และสังคมไทยปัจจุบันเป็นอย่างมาก และเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ และก้าวหน้าในแง่ของการคิด และการแสดงออกถึงอุดมการณ์และความต้องการของกลุ่มตน แม้ว่าจะได้รับการตั้งข้อสังเกตจากสังคมบางส่วนว่า สอดรับกับหลักการ แนวทาง และเจตนารมณ์ขององค์กรคณะสงฆ์กระแสหลักมากน้อยเพียงใด 

 

4. พระสงฆ์ควร Take side หรือ Take to their side

          การตีความ และเผยแผ่พุทธธรรมในยุคดั้งเดิมตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจะเน้นทั้งมิติเชิงปัจเจก (Individualism) และ เน้นการพัวพันกับสังคม (Engaged Buddhism)   กล่าวคือ  เป็นการให้ความสำคัญต่อการฝึกฝนพัฒนาตนเองในเชิงปัจเจก  และการเข้าไปสัมพันธ์กับสัมพันธ์ในมิติอย่างใดอย่าง เช่น  การโปรดคนทุกข์ยาก  คนพิการ คน ไร้ที่พึ่งพาอาศัย คนไร้ญาติ คนสูญเสียญาติ  การสัมพันธ์กับคนระดับปกครอง  เช่น การนำเสนอชุดความคิดแบบอปริหานิยธรรม วัชชีธรรม สำหรับเป็นเครื่องมือของนักปกครอง  การนำเสนอหลักการเพื่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจโดยใช้หลักกูฏทันตสูตร 

          จะเห็นว่า การเข้าไปเน้นสอน หรือเข้าไปพัวพันกับกิจกรรมต่างๆ ของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลมักจะเป็นการนำเสนอหลักการ โดยเน้นหนักในการให้กำลังใจแก่คู่กรณี หรือผู้ประสบกับวิกฤติการณ์ต่างๆ  (Take to their side)  เช่น กรณีของนางปฏาจารา และนางกีสาโคตมีที่สูญเสียลูกของตนเอง แทนที่การเลือกข้าง (Take side) ในสถานการณ์ที่คู่กรณี หรือกลุ่มคนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ของความขัดแย้ง  จะเห็นว่า การนำเสนอทางออกและร่วมแก้ปัญหา (Problem Resolution)  มักจะเน้นไปที่ “ตัวธรรม” แทนที่จะเน้นไปที่ “ตัวคน” หมายความว่ากระทบธรรมเพื่อกระทบคน  และพยายามที่จะเน้นสอนว่า การแสดงธรรมต้องไม่ใช่การเข้าไปมุ่งร้าย การไม่เข้าไปว่าร้าย อันเป็นการแสดงออกต่อตัวบุคคลเป็นด้านหลักตามหลักของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระองค์ทรงแสดงในวันมาฆบูชา  โดยเป็นการเสนอแนะเพื่อให้สติ และให้ทางออกแก่สังคม และคู่กรณีที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ของความขัดแย้ง

 

5. การตีความของพระสงฆ์ไทย: จากอดีตสู่ปัจจุบัน

           สภาพเศรษฐกิจ การเมือง  สังคม วัฒนธรรม ประเพณีและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตในยุคต่างๆ  ส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อการตีความและเผยแผ่พุทธธรรม  เช่น   บริบททางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจในสมัยสุโขทัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขยายตัวของพระพุทธศาสนาเป็นไปในเชิงบวก ทั้งในแง่ของศาสนบุคคล  ศาสนสถาน  และศาสนพิธี  ฉะนั้น  การตีความและเผยแผ่พุทธธรรมจึงเป็นไปในเชิงบวกเช่นกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การขยายพื้นที่ของคุณธรรม และจริยธรรมของประชาชนในยุคนั้นอันเป็นที่มาของคำว่า “โอยศีล  โอยทาน”  หรือ “ใครใคร่ค้าม้าค้า  ใครใคร่ค้าวัวค้า”   อันเป็นการแสดงให้เห็นถึง “สังคมแบบไตรภูมิ”   ซึ่งการประสานสอดคล้องระหว่างโลกกับธรรมได้อย่างลงตัว

          บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในสมัยกรุงศรีอยุธยามีผลต่อการตีความและเผยแผ่พุทธธรรมเช่นกัน  เนื่องจากยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ในแง่ของรูปแบบการปกครองรัฐเชิงจักรวาลวิทยาที่มุ่งเน้นการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสถานะกษัตริย์จากพ่อปกครองลูกเป็นสมมติเทพปกครองประชาราษฎร์ นอกจากนั้น  สภาพทางสังคมโดยรวมนั้นได้ดำรงอยู่บนฐานของการทำศึกสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับประเทศพม่า  

           จากสถานการณ์ใหญ่ๆ สองประการดังกล่าว  จึงทำให้การตีความและเผยแผ่พุทธธรรมของพระสงฆ์ในยุคนั้น  จำเป็นต้องสอดรับกับสถานการณ์ของการปกครอง และสังคม  จะเห็นได้จากการที่พระสงฆ์บางกลุ่มได้พยายามที่จะตีความพุทธศาสตร์ให้สอดรับกับไสยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การสร้างพระเครื่องเพื่อคุ้มครองป้องกัน หรือสร้างความเชื่อมั่นในการทำศึกสงคราม  หรือ การที่พระสงฆ์เป็นผู้นำทั้งทางวิญญาณและผู้นำภูมิปัญญาพื้นบ้านในการเป็นศูนย์กลางส้องสุมกำลังเพื่อต่อสู้กับทหารพม่า 

             จะเห็นว่า การตีความและเผยแผ่พุทธธรรมในยุคกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นตีความโดยใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาผนวกกับศาสนาพราหมณ์  ในขณะเดียวกันได้นำประเด็นการตีความแบบฌาน หรือใช้มิติลึกลับเข้าไปผนวกเพิ่มเติมเพื่อสร้างความน่าเชื่อมั่นต่อศาสนิกชนโดยทั่วไปด้วย  ปรากฏการณ์ตีความและเผยแผ่ในลักษณะดังกล่าว  แม้จะไม่ได้ยืนอยู่บนฐานของพุทธศาสตร์โดยตรง  แต่จัดได้ว่ามีผลในเชิงจริยศาสตร์ของประชาชนให้มีหลักยึดได้อย่างลึกซึ้ง อันถือได้ว่าเป็นกุศโลบายในการเผยแผ่พุทธธรรมได้เป็นอย่างดี  แนวทางนี้ค่อนข้างจะต่างจากสมัยสุโขทัยที่เน้นการตีความเชิงจริยศาสตร์ และคัมภีร์บริสุทธิ์

            ในสมัยกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางการการเมือง การปกครองของสมัยสุโขทัยเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของประเทศ  รวมไปถึงการสร้างบ้านแปลงเมือง   จะเห็นว่า การตีความและเผยแผ่พุทธธรรมมีลักษณะที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกับหลักการและแนวทางที่เคยปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน เพราะเน้นการตีความในลักษณะพุทธศาสตร์นำไสยศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติโดยภาพรวมด้วย  ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ  การตีความ และเผยแผ่พุทธธรรมที่เน้นคัมภีร์นิยมปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้นในยุคนี้  จะเห็นได้จากการให้ความสำคัญต่อฟื้นฟู หรือสังคายนาคัมภีร์พระไตรปิฎกให้ชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้นด้วย

            การตีความและเผยแผ่พุทธธรรมในเชิงเหตุผล (Rational interpretation) เริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อกระแสแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนกลางเป็นต้นมา  โดยเฉพาะรัชกาลที่ 4 ผู้ได้รับการขนานพระนามว่าเป็น “บิดาแห่งนักวิทยาศาสตร์ไทย”  ด้วยเหตุนี้ การตีความ หรือการอธิบายพุทธธรรมตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมาจึงมักจะดำรงอยู่บนฐานของการที่สามารถอธิบายได้ พิสูจน์ได้ในเชิงปฏิบัติการ  ไม่ว่าจะเป็นการตีความและเผยแผ่พุทธธรรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสที่มักจะตอบโต้ หรือไม่เห็นด้วยกับวิธีการอธิบายและตีความพุทธธรรมโดยฌาน หรือใช้อิทธิฤทธิ์เข้ามาอธิบายขยายความพุทธธรรม

            นอกจากนั้น  นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาในยุคหลังๆ  เช่น พุทธทาสภิกขุ   และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)  ต่างได้พยายามที่จะตีความและเผยแผ่พุทธธรรม อันตั้งอยู่บนฐานของการใช้หลักเหตุผล  แม้บางครั้งจะเป็นการตีความโดยใช้คัมภีร์ ถึงกระนั้นก็เป็นการใช้คัมภีร์เพื่ออธิบายโดยการยกเหตุและผลมาเป็นเครื่องมืออยู่เสมอ  การตีความ และการเผยแผ่ของนักคิดดังกล่าวล้วนมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกันคือ “มุ่งเน้นให้เกิดผลเชิงจริยศาสตร์”   แนวทางในลักษณะนี้ล้วนสอดคล้องกับหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม

            เมื่อวิเคราะห์บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ  สังคม สิ่งแวดล้อม  และวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในสังคมปัจจุบัน ค่อนข้างจะมีความสลับซับซ้อนมากกว่าในสังคมยุคดั้งเดิมของไทย  ประเด็นที่เห็นได้ชัดก็คือ สังคมไทยดั้งเดิมเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม  ฉะนั้น  โลกทัศน์และชีวทัศน์จึงไม่ค่อยมีความสลับซับซ้อนเหมือนสังคมในยุคอุตสาหกรรม

          ปัญหาทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  การเมืองและสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและก่อให้เกิดความรุนแรงทุกองคาพยพของประเทศไทย  ถือได้ว่ามีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการตีความและเผยแผ่พุทธธรรมของพระสงฆ์แนวใหม่หลายรูป   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระไพศาล  วิสาโล  ที่พยายามจะตีความพุทธธรรมให้ครอบคลุมทุกๆ มิติของสังคม และการเมือง  โดยแต่ละท่านพยายามจะสะท้อนว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้แยกขาด หรือตัดขาดจากสังคม และการเมือง  ฉะนั้น  การตีความและเผยแผ่พุทธธรรมของท่านเหล่านี้ จึงพยายามจะให้ครอบคลุมทั้ง 3 มิติด้วยกัน  กล่าวคือ (1) การตีความและเผยแผ่โดยเน้นปฏิบัตินิยม เพื่อเชื่อมมิติภายในและภายนอก  (2) การตีความและเผยแผ่โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคม (3) การตีความและเผยแผ่โดยเน้นการเข้าไปพัวพันกับมิติต่างๆ ของสังคม


6. ท่าทีที่พึงประสงค์ต่อการตีความและเผยแผ่พุทธธรรมในยุคปัจจุบัน

          วิเคราะห์บทบาทของพระสงฆ์แนวใหม่กับหลักการที่ปรากฏในพระธรรมวินัยทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจว่า ท่าทีหลายประการล้วนสอดรับแนวทางที่พระพุทธเจ้าและเหล่าอริยสาวกเคยประพฤติและปฏิบัติมาแล้ว  เช่น  พุทธกิจ 5 ประการถือเป็นตัวชี้วัดประการหนึ่งว่า พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ในเชิงราบกับพุทธศาสนิกชน และนักบวชนอกศาสนาอื่นๆ   การดำเนินพุทธกิจจัดได้ว่าเป็นมิติคู่ขนาดของพระองค์ทั้งมิติทางจิตใจ และมิติเชิงสังคม ดังจะเห็นได้จากพุทธพจน์ที่ว่า “เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป  เพื่อเกื้อกูน เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก”

          การตีความของพระสงฆ์ยุคใหม่กับยุคดั้งเดิมในสังคมไทยมีความแตกต่างกันบ้างในบางประเด็น  เช่น  พระสงฆ์แนวใหม่มักจะเน้นการตีความและเผยแผ่พุทธธรรมเชิงปฏิบัตินิยม เพื่อเชื่อมมิติทางด้านจิตใจกับมิติทางด้านสังคมเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี  พระสงฆ์ยุคดั้งเดิมพยายามที่จะเน้นมิติทางด้านจิตใจมากกว่า นอกจากนั้น พระสงฆ์แนวใหม่มักจะเน้นการเข้าไปมีส่วนร่วม และเข้าถึงประชาชนในแนวราบ แต่พระสงฆ์ยุคดั้งเดิมของไทยมักจะเน้นแนวดิ่งมากกว่า

         โลกทัศน์และชีวทัศน์ของพระสงฆ์แนวใหม่ในลักษณะดังกล่าว  นับได้ว่าสอดรับกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในโลกยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งเรียกร้องบทบาทของพระสงฆ์ในแนวราบมากว่าแนวดิ่ง  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็อาจจะเกิดจากการที่สภาพปัญหาในยุคปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน และต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมมากกว่า  ถึงกระนั้น  การเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของพระสงฆ์แนวใหม่ก็อาจจะถูกตั้งข้อสังเกตจากพุทธศาสนิกชนเหมาะสม หรือสอดรับพระธรรมวินัยมากน้อยเพียงใด

         ประเด็นที่พระสงฆ์ยุคแนวใหม่จำเป็นจะต้องตระหนักรู้ก็คือ การเข้าไปพัวพันกับวิถีชีวิตแบบโลกๆ จำเป็นที่จะต้องตระหนักรู้และมีสติรู้เท่าทันสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้าน มิฉะนั้น   การเข้าไปปฏิสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวอาจจะจำไปสู่ความขัดแย้ง และการเลือกข้าง  และอาจจะกลายเป็นกับดักที่สำคัญในการทำให้พุทธศาสนิกชนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อสถาบันพระพุทธศาสนาโดยภาพรวม

         ฉะนั้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่การเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ กับประชาชน แต่ประเด็นคำตอบหลักอยู่ที่ว่า “พระสงฆ์แนวใหม่จะมีท่าทีที่ถูกต้อง และวางบทบาทของตัวเองได้ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด 

หมายเลขบันทึก: 366821เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2010 02:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

นมัสการพระคุณเจ้า พระธรรมหรรษา อ่านบันทึกนี้ด้วยการพินิจ พิเคราะห์ ใช่วิจารณญาณ

เพราะเหตุว่าก่อนหน้านี้ เคยถกปัญหานี้กันถึง กิจของสงฆ์ เขตแดนปฎิบัติการว่า เหมาะ -ควรมีขอบเขตแค่ใหน.........

(การตีความของพระสงฆ์ยุคใหม่กับยุคดั้งเดิมในสังคมไทยมีความแตกต่างกันบ้างในบางประเด็น เช่น พระสงฆ์แนวใหม่มักจะเน้นการตีความและเผยแผ่พุทธธรรมเชิงปฏิบัตินิยม เพื่อเชื่อมมิติทางด้านจิตใจกับมิติทางด้านสังคมเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี พระสงฆ์ยุคดั้งเดิมพยายามที่จะเน้นมิติทางด้านจิตใจมากกว่า นอกจากนั้น พระสงฆ์แนวใหม่มักจะเน้นการเข้าไปมีส่วนร่วม และเข้าถึงประชาชนในแนวราบ แต่พระสงฆ์ยุคดั้งเดิมของไทยมักจะเน้นแนวดิ่งมากกว่า)

คลายข้อข้องใจแล้วครับท่าน ด้วยความขอบขอบคุณที่กรุณาให้ปัญญาครับ

กราบนมัสการ พระอาจารย์

กระผมได้อ่านบทความของอาจารย์เเล้วมีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง อย่างที่พบเห็นในปัจจุบันพระพุทธศาสนาถูกนำยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการดำนินการหรือใช้สร้างรายได้ ของตนเอง ซึ่งมันตรงข้ามกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเล้ว วิธีการแก้ไขปัญหาที่ง่านที่สุดคือ การทำให้ผูเผยแพร่ศาสนาหรือบุคคลครทรายถึงแก่นที่เเท้จริงของพระพุทธศาสนาโดยเเท้

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ท่านผู้เฒ่า

  • ทราบจากพี่ครูคิมท่านไม่ค่อยสบาย อาตมาเข้าไปโพสต์ให้กำลังใจท่านมาแล้ว 
  • หวังว่า ณ บัดนี้สุขภาพท่านผู้เฒ่าคงดีขึ้นมากแล้ว
  • ขอบคุณมากที่กรุณาแวะเวียนมาร่วมอ่านและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีระหว่างเรา  และสุขใจที่ได้พาบพบกัลยาณมิตรเช่นท่าน
  • ด้วยสาราณียธรรม

โยมบ้านปลายเนิน

  • ขอบคุณที่แวะมาอ่านและแสดงความเห็นเพิ่มเติม
  • พระพุทธศาสนาเป็น "ของกลาง" สำหรับมวลมนุษยชาติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ และนำความจริงที่ปรากฎในธรรมชาติ หรือไขความลับของกฎธรรมชาติมาเปิดเผยแก่มนุษยชาติ
  • ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับน้ำมือของมนุษย์ที่จะวิเคราะห์ และนำหลักการดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือประยุกต์ใช้
  • เหมือนกับ "เรามีมีด" เราจะนำไปตัดฟืนก็ได้ นำไปฆ่าคน ฆ่าสัตว์ก็ได้ นำไปหั่นผักก็ได้  ล้วนขึ้นอยู่กับน้ำมือของมนุษย์ที่จะเลือกใช้งาน
  • ใช้ถูก ชีวิตและสังคมเปลี่ยน ใช้ผิด ชีวิตและสังคมก็เปลี่ยนเช่นกัน 
  • ด้วยสาราณียธรรม

พระคุณเจ้าครับ ผมขออนุญาตนำบันทึกนี้ไปเผยแพร่ทางรายการต่อนะครับ ดีมากๆผมอยากให้พระคิดแบบพระคุณเจ้ามากๆครับ

โยมเบดูอิน

ด้วยความยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง หากแนวคิดและมุมมองดังกล่าวมีประโยชน์ต่อพวกเราชาวไทยที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

นมัสการครับ

ขอชื่นชมบทความนี้ครับ

ตอบคำถามได้หลายประการครับ จากที่ได้สนทนาในบันทึก http://gotoknow.org/blog/peaceful-means/363744 

ประเด็นที่น่าสนใจยังอยู่ที่ ความสัมพันธ์ระหว่างพระกับประชาชนและพระกับสังคมครับ

พุทธกิจที่พระพุทธองค์ทรงใช้มาในสมัยพุทธกาล “เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป  เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก” นั้น ได้กำหนดบทบาทและขอบเขตของพระเอาไว้ด้วยมากน้อยเพียงใดครับ

ถ้าเปรียบเป็นแพทย์ที่สัญจรออกไปยังบ้านของประชาชนผู้ป่วย แพทย์ก็มีหน้าที่ชัดเจนในการรักษาโรคนั้นๆ

พระสงฆ์ก็ไปโปรดเพื่อรักษาจิตใจของผู้ศรัทธายังบ้านของแต่ละคน

โลกเราทุกวันนี้ ต้องยอมรับครับว่ามีคนป่วยทั้งกายและจิตเยอะมากครับ.......

เป็นข้อคิดที่เกิดจากการไปพบสวามีนิกายหนึ่งที่เดลีครับ 

นมัสการครับ

 

นมัสการครับ

กราบขอบพระคุณสำหรับผมความดีๆที่นำมาเสนอ เป็นแบบอยุ่งที่ดีของบุคคลากรมจร.

แต่ผมเสียดายบุคคลากรของเราใช้เว็ปนี้น้อยไปหน่อย ผมว่าน่าจะมีการอบรม การจัดการบล็อคสำหรับบุคคลากรของมจร. บ้างน่ะครับ

พรชัย ภาคพิเศษรุ่น ๒๒

กราบนมัสการ พระอาจารย์มหาหรรษา ที่เคารพ

ข้อมูลและบทความของพระอาจารย์อ่านแล้ว ทำให้เข้าใจภาพรวม ของการเผยแผ่พุทธธรรม ตั้งแต่ในอดีต-ปัจจุบัน ซึ่งทำให้เรารู้และเข้าใจ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีอะไรแน่นอน ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรของเหตุการณ์นั้น ขณะนั้นๆด้วย จึงทำให้รู้ว่า อะไรที่มันเจริญสูงสุดแล้ว ก็อาจจะต้องตกลงมาสู่จุดต่ำสุดได้ และก็อาจจะขึ้น และ ลง เวียนไปเวียนมา อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาคือ เราจะหาความพอดีหรือความเหมาะสม สำหรับบทบาทของการเผยแผ่ของพระสงฆ์ของยุคปัจจุบัน ในยุคข้อมูลเทคโนโยลีเจริญอย่างปัจจุบันได้อย่างไร คิดว่าเรื่องนี้ คณะมหาเถระสมาคมก็คงคิดหาวิธีอยู่ใช่ไมครับ ในเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การเผยแผ่พุทธธรรมนั้น จำเป็นจะต้องมองสังคมและวัฒนธรรมของประเทศไทยเป็นหลักก่อน ฉะนั้นการที่พระสงฆ์เข้าถึงมวลชนและทำหน้าที่เชิงลุก น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่า พระที่เทศน์อย่างพระรุ่นเก่าจะไม่ดี เพียงแต่เราจะต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้พระรุ่นใหม่ เพื่อค่อยๆทำการเปลี่ยนแปลงระบบ โดยให้รู้สึก เหมือนไม่มีการเปลี่ยน แต่ปัญหาของคณะทำงานนั้นมีความจำเป็นจะต้องทำงานเป็นทีม โดยไม่มีการแข่งขัน ว่าศิษย์ใครศิษย์มัน หรือต่างจ้องแต่จะจำผิดคณะฝ่ายตรงข้าม เช่นปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ทำงานเชิงรุก ผลิตศิษย์ฆราวาสให้ความรู้ทางธรรมเชิงลึก เพื่อช่วยกันหลายๆแรง ก็เป็นหนทางที่ดี และถือว่าเป็นการทำงานเชิงลุกที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญจะต้องทำต่อเนื่อง โดยถ่ายทอดให้รุ่นแล้วรุ่นเล่า ก็จะทำให้สังคมค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เหมือนกับ ร.๕ เลิกทาสที่ใช่เวลานาน แต่เป็นวิธีที่ได้ผลดี แล้วประเทศก็จะได้ชื่อว่า เมืองพุทธอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่พุทธแค่ทะเบียนบ้าน อย่างปัจจุบันครับผม ก็เป็นการแชร์ไอเดีย ครับอาจารย์ ถูกผิดอย่างไร พระอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ

เป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ปฏิบัติการเชิงรุก เหมือนที่เขาเคยกล่าวกันไว้ว่า เราอาจจะต้องยอมเป็นโสเภณี เพื่อช่วยเขา(กลุ่มเป้าหมาย)ให้พ้นจากการเป็นโสเภณี แต่ตัวพระสงฆ์เองก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าตนทำไปเพื่ออะไร

ท่านทูต

  • เจริญพรท่านทูตตามตรงว่า บทความนี้เกิดขึ้นจากประเด็นที่เราคุยกันใน Blog http://gotoknow.org/blog/peaceful-means/363744 
  • พุทธกิจ เป็นพุทธจริยาประการที่หนึ่ง โลกัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก ในฐานะที่พระองค์เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมโลก ความสำเร็จในจริยาข้อนี้ทรงอาศัยพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการคือ
  • ๑. เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลก
  • ๒ ในเวลาเย็นทรงแสดงธรรมแก่คนผู้สนใจในการฟังธรรม
  • ๓. ในเวลาค้ำทรงประทานพระโอวาทให้กรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย 
  • ๔. ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรม และตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย
  • ๕. ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งประองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น
  • นี่เป็น "บทบาท และหน้าที่" ที่พระพุทธเจ้าได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างให้พระภิกษุ หรือพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ใช้เป็นกรอบในการประพฤติปฏิบัติให้เหมาะกับเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคล
  • หากวิเคราะห์บทบาทเหล่านี้ พระพุทธเจ้าเปรียบประดุจ "หมอรักษาใจ" และในบางสถานการณ์ได้ทำหน้าที่ในการ "รักษากายภิกษุบางรูป" ด้วย  ความสามารถเหล่านี้ เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าจบ ๑๘ ศาสตร์ก่อนที่จะออกผนวช
  • ประเด็นที่อาตมาห่วงใจคือ "การเชื่อมโลกกับธรรม" เพื่อให้ "โลกไม่ช้ำ ธรรมก็ไม่เสีย" อย่างประสานสอดคล้องและลงตัว โดยการประยุกต์ ปรับ ประสมให้กลมกลืนและป้อน "ตัวยา" ให้แก่เหมาะสมแก่ "ชาวโลกที่ป่วยไข้" ที่ต้องการความรัก ความหวัง และกำลังใจจากเรา
  • ด้วยสาราณียธรรม

ท่าน ดร.ฤทธิชัย

  • ไม่ได้หวังว่า การนำเสนองานจะเป็นแบบอย่างของอาจารย์ มจร. เพราะอาจารย์ มจร. ล้วนมีศักยภาพ แต่อาตมาเองได้นำ "แบบอย่างจากอาจารย์ มจร." มาเป็นแนวทางที่ดี (Best Practice) ในการดำเนินการและกิจกรรมต่างๆ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา โดยได้จากทั้ง ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ เมื่อครั้งสอนอาตมาเกี่ยวกับ "ตรรกศาสตร์" ในเรื่องระบบคิด  ท่านอธิการบดี พระธรรมโกศาจารย์,ศ.ดร. เรื่องปรัชญากรีกสมัยกลาง ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พระศรีคัมภีรญาณ เรื่อง พระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ เมื่อครั้งเรียนปริญญาเอก
  • อาจารย์ มจร. ของเราเป็นอาจารย์ที่มีคุณภาพ และอุดมไปด้วยองค์ความรู้ที่ดี 
  • ท่านอธิการบดีเคยบอกในเวที "KM" ว่า ความรู้ของอาจารย์เก่งๆ หลายๆ ท่านจะเป็นไปในลักษณะ "ปัจเจกปัญญา" คือ อยู่ในตัว ในสมองของแต่ละท่าน  และหากพวกเราช่วยกัน "เข้าไปแลกเปลี่ยนแล้วบันทึกเป็นตัวหนังสือ หรือสื่อสมัยใหม่" เราอาจจะได้องค์ความรู้ดีมาพัฒนาเป็น "สาธารณปัญญา" เพื่อให้ลูกศิษย์รุ่นหลังๆ ได้เรียนรู้ และศึกษาต่อยอดในโอกาสต่อไป
  • ด้วยสาราณียธรรม

โยมพรชัย

  • ขอบใจมากสำหรับมุมมองที่ช่วยกันต่อยอดและน่าสนใจศึกษาเพิ่มเติม
  • การศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาจำเป็นต้องมองผู้เผยแผ่ ผู้เรียน และผู้รับ
  • บางท่านอาจจะเรียนพระพุทธศาสนาแบบคัมภีร์
  • บางท่านอาจจะเรียนพระพุทธศาสนา
  • บางท่านอาจจะเรียนพระพุทธศาสนาแบบใช้ปัญญาในการพิเคราะห์และตีความ
  • บางท่านอาจจะเรียนพระพุทธศาสนาแบบปฏิบัติได้จริงและนำไปสู่การปฏิบัติธรรม และ
  • บางท่านอาจจะเรียนพระพุทธศาสนาแบบที่สามารถเข้าไป และนำไปใช้ได้กับสังคม ไม่แยกออกจากสังคม
  • เราโชคดีว่า พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยมีพระที่เรียนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้ง ๔ แบบดังกล่าว
  • เพียงแต่ "การนำหลักการไปประยุกต์ใช้"  เห็นว่า "น่าจะเหมาะสมและสอดคล้องกับทั้ง ๔ แบบ" ไม่ว่าจะเป็นแบบใดแบบหนึ่ง
  • แล้วโยมพรชัยหล่ะเรียนพระพุทธศาสนาแบบไหน?
  • เจริญพร

โยมอย่า หยุด ยิ้ม

คำกล่าวที่ 'เขา' กล่าวว่า "เราอาจจะต้องยอมเป็นโสเภณี เพื่อช่วยเขา(กลุ่มเป้าหมาย) ให้พ้นจากการเป็นโสเภณี" การที่เราจะลงทุน ลงแรงเพื่อให้ใครสักคนเข้าถึงความจริง ความดี และความงามนั้น จะต้องลงทุนถึงขนาดนั้นเลยหรือ? แต่ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะคำถามอาจจะเกิดว่า "การลงทุนของเราจะก่อให้เกิดกรรมใหม่ หรือสนับสนับสนุนให้เกิดกรรมใหม่อีกทอดหรือไม่"

ประเด็นคือ "เราช่วยผู้หญิงให้หลุดพ้นจากอาชีพของเธอ" คำถามมีว่า เธอเลือกอาชีพดังกล่าวด้วยตัวเอง หรือถูกบังคับให้เลือกด้วยบริบทต่างๆ  สรุปคือ หากเราสามารถยอมเป็นเช่นเธอ เพื่อให้เลิกอาชีพนั้น คำถามใหม่จะเกิดขึ้น  สรุปคือ "เธอเลิกเป็น" แต่การกระทำของเราได้ก่อให้เกิด "กรรมใหม่" ที่ไปมีส่วนสนับสนุน และส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวของผู้ชายที่มาใช้บริการหรือไม่?

การจะช่วยใครสักคนอาตมามองว่า "ต้องจบกรรมให้ได้" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อกุศลกรรม" อย่าให้การช่วยของเราไป "เพิ่มพูนกรรมใหม่ที่ไม่ดี" ของใครต่อใครเลย เพราะ "วิธีการ" ดังกล่าว "ไม่จบ" เพราะเพื่อให้ได้มาซึ่ง "เป้าหมาย" บางอย่าง แต่หากเราไม่สนใจ "วิธีการ" การได้มาซึ่งเป้าหมายจะมีค่าควรแก่ความภาคภูมิใจได้อย่างไร   สรุปคือ เป้าหมายกับวิธีการน่าจะเป็นไปเพื่อส่งเสริมกุศลกรรมทั้งคู่

 

นมัสการครับ

ต้องรีบมาเรียนท่านก่อนว่าเกิดปีติและความร่าเริงในจิตครับที่ได้สนทนา "ธรรม" กับท่าน

ผมเรียนพระพุทธศาสนาในแบบที่ว่าทดทองปฏิบัติด้วยตนเองก่อนและพยายามนำผลและประสบการณ์(ส่วนตัว)มาใช้กับชีวิตจริง(จึงยังต้องเดินทางอีกไกลครับ)

ขอสนทนากับท่านสั้นๆ ก่อน เอาไว้เพิ่มเติมเมื่อมีเวลาว่างจากงานประจำครับ

ขออนุญาติ แวะไปพูดถึงเรื่อง "ตัวยา" ที่ท่านกล่าวถึง ก่อนไป

นี่อาจเป็นประเด็นสำคัญครับ

ตัวยา สูตรแท้ต้นตำรับ จะใช้กับโรคที่พัฒนาตัวเองขึ้นทุกวันได้หรือไม่

หรือว่ายังใช้ได้ แต่เพียงหาตัวยาแท้ไม่ค่อยได้แล้ว....

นมัสการครับ

ท่านทูต

แม้จะเดินทางมาทักทายด้วยระยะเพียงสั้นๆ อาตมาต้องอนุึโมทนาขอบใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะการสนทนาธรรมระหว่างกันทำให้อาตมาได้แนวคิดดีๆ มากมาย ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในโลกของท่านทูต

เราได้รับคำชมจากนักปราชฌ์ราชบัณฑิต นักคิด นักปฏิบัติทั่วโลก จากอดีตจนถึงปัจจุบันว่า "ธรรมโอสถ" นั้น ประกอบด้วยสาร และตัวยาที่ดีและมีประโยชน์ หลายทา่นได้รับทาน ได้ทาแล้วหายจากโรคทางใจ  แต่ประเด็นคือ มี "ผู้ป่วยทางจิต" อีกหลายท่าน "ดื้อ" และ "ไม่ยินยอมทานยา" โรคจึงไม่หาย  

อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพของเขา ไม่ช้าหรือไว คนไข้ก็ควรจะต้องทานยา  การทานยา ไม่ได้มีคุณค่าต่อสุขภาพของเขาเท่านั้น หากแต่เกิดคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อคนที่อยู่ใกล้เขา ห่วงใจเขา เอาใจช่วยเขา  เพื่อว่า คนเหล่านี้จะได้มีชีวิตที่ดี และมีความสุขที่ได้รับอานิสงส์จากการที่เขาท่านยาเพื่อรักษาใจ

 

โยมคงจะใช้คำที่สื่อความรุนแรงไปหน่อย

แต่ที่เคยปฏิบัติจริง สมัยเรียนตอนเด็กๆเคยเข้าร่วมกลุ่มเด็กเกเร (ลงพื้นที่จริง) แต่เราก็ต้องมั่นคงในระดับหนึ่งว่าเราจะปฏิบัติตามเขาได้แค่ไหน มีกิจกรรมหลังเลิกเรียนร่วมกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้ไปเที่ยวยันเช้ากับพวกเขา ไม่ได้เล่นยาเหมือนกับพวกเขา เขาไม่เคยชวนให้เราไปใช้ยาเหมือนกับเขานะ ไม่ได้โดดเรียนเหมือนกับเขา พยายามดึงเขามาร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน ซึ่งเขาก็ทุ่มเทกว่าเด็กเรียนเสียอีก เรามองเห็นความดีในตัวเขานะ

โยมอย่า หยุด ยิ้ม

คำที่ "เขา" ใช้นั้น  อาตมาไม่ได้คิดว่า รุนแรงแต่ประการใด  และการสื่อของโยมก็ไม่ถือว่ารุนแรง  อาตมากลับดีใจที่เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ดีๆ ระหว่างกัน  โลกนี้มีมุมดีๆ ให้เราได้มองเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกมองในมุมดีๆ ของเพื่อนที่โยมมีต่อเพื่อน  ขอบใจมากที่โยมได้หามุมดีๆ มาแลกเปลี่ยนกับพวกเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท