พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

ความเป็นไปได้ที่คุณ Jil จะจดทะเบียนรับสมศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรม ( คำปรึกษาโดยบ้านราชวิถี)


บันทึก : สถานสงเคราะห์เด็กบ้านราชวิถีให้คำปรึกษาคุณ Jil ชาวอิตาเลียนในการขอจดทะเบียนรับสมศักดิ์ เด็กไร้รากเหง้าในประเทศไทยเป็นบุตรบุญธรรม

 

15 มิ.ย.53

            คุณ Jil ได้เดินทางไปขอคำปรึกษาจากสถานสงเคราะห์เด็กบ้านราชวิถี ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ฝ่ายบุตรบุญธรรมต่างประเทศ ในเรื่องที่ประสงค์จะขอรับสมศักดิ์ เด็กไร้รากเหง้าในประเทศไทยเป็นบุตรบุญธรรม

                เด็กไร้รากเหง้า  หมายถึง บุคคลซึ่งไม่ทราบได้ว่าเป็นใคร มาจากไหน ถือสัญชาติอะไร ไม่มีบิดามารดา ไม่มีเอกสารระบุทราบตัวบุคคล เช่น ไม่มีสูติบัตร ไม่มีบัตรประจำตัว  บุคคลประเภทนี้มักไม่ค่อยได้รับการรับรอง และคุ้มครองตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร ถูกละเมิดสิทธิได้ง่าย เนื่องจากคนในสังคมบางกลุ่มไม่ยอมรับรู้ความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่จริงของคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น มีการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาให้กับคนกลุ่มนี้เพื่อให้มีการรับรองสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

 

                ความเห็นโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายรับบุตรบุญธรรมต่างประเทศ  สถานสงเคราะห์เด็กบ้านราชวิถี

เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับบุตรบุญธรรมต่างประเทศอธิบายว่าปกติ เคสที่ขอจดทะเบียนรับบุตรธรรมที่แม้ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมจะเป็นเด็กไร้รากเหง้า แต่ก็เป็นเด็กไร้รากเหง้าที่อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ซึ่งเป็นของรัฐหรือก็คือสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/22 ซึ่งสามารถให้ความยินยอมการจดทะเบียนรับเด็กในความดูแลของสถานสงเคราะห์ของตนเป็นบุตรบุญธรรมได้  แต่กรณีของสมศักดิ์เป็นเด็กไร้รากเหง้าที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชน ไม่ใช่สถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก ดังนั้นมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กจึงไม่อาจให้ความยินยอมในครั้งนี้ได้ ผู้ประสงค์จะรับบุตรบุญธรรม คือ คุณ Jil จึงต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอม ตาม มาตรา 1598/21

                ประการต่อมา ทางเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่าในกรณีนี้เด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นเด็กไร้รากเหง้า จึงค่อนข้างเป็นกรณีพิเศษแตกต่างจากการรับบุตรบุญธรรมทั่ว ๆ ไป กรณีเช่นนี้พบไม่บ่อยนัก และการรับเด็กไร้รากเหง้าเป็นบุตรบุญธรรมไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ประกอบกับเด็กไร้รากเหง้าซึ่งจะเป็นบุตรบุญธรรมไม่ได้มีผู้ดูแลตามกฎหมาย การสืบทราบและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กอาจจะมีปัญหามากกว่าเคสที่ผ่านมา ดังนั้นคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตาม พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 จึงต้องขอเวลาในการปรึกษา และพิจารณาเคสนี้อย่างละเอียด

                ประการต่อมาผู้จะรับเด็กไร้รากเหง้าเป็นบุตรบุญธรรมในครั้งนี้เป็นชาวต่างชาติ (ชาวอิตาเลียน) เจ้าหน้าที่มีความเห็นว่าเคสที่ชาวต่างชาติจะรับเด็กไร้รากเหง้าเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เนื่องด้วยหากมีการรับบุตรบุญธรรมแล้วเด็กจะอยู่ในความดูแลของชาวต่างชาติ ชาวต่างผู้นี้สามารถพาเด็กออกนอกประเทศไทย สามารถดูแลสงเคราะห์เด็กในทางที่เป็นประโยชน์กับตัวเด็ก หรืออาจจะกระทำการที่ไม่เกิดผลดีกับเด็กก็เป็นได้ ประกอบกับตัวเด็กนั้นมีปัญหาในเรื่องของสิทธิในสถานะบุคคล สิทธิในสัญชาติ เสี่ยงต่อการถูกละเมิดโดยง่าย คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจะต้องพิจารณาโดยละเอียดเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าเมื่อได้อนุญาตให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมแล้วจะไม่เกิดผลเสียกับตัวเด็กในภายภาคหน้า โดยทางเจ้าหน้าที่มีความเห็นเพิ่มเติม เนื่องจากผู้จะรับบุตรบุญธรรมเป็นชาวอิตาเลียน จึงควรศึกษากฎหมายการรับบุตรบุญธรรมของประเทศอิตาลีว่ามีข้อห้ามหรือข้อจำกัดใด ในการรับเด็กไร้รากเหง้าในประเทศอื่นเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่

                อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายรับบุตรบุญธรรมต่างประเทศได้แจ้งให้ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือคุณ Jil ดำเนินการเตรียมเอกสารของตนเองที่ต้องใช้ประกอบการยื่นจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ตาม ข้อ 12 กฎกระทรวงฉบับที่ 9 ออกตามความพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 ซึ่งทางสถานสงเคราะห์เด็กบ้านราชวิถียังไม่ได้ให้คำตอบว่าสามารถจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมครั้งนี้ได้

 

 

สรุปประเด็นปัญหาซึ่งยังเป็นข้อสงสัย

ในการที่ชาวอิตาเลียนประสงค์จะรับเด็กไร้รากเหง้าในประเทศไทยเป็นบุตรบุญธรรม

1 . ตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในประเทศไทย บัญญัติห้ามการรับเด็กไร้รากเหง้าซึ่งไม่ได้อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก หรือไม่   อย่างไร

2 . กฎหมายการรับบุตรบุญธรรมในประเทศอิตาลีมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง และมีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในเรื่องการรับเด็กไร้รากเหง้าในประเทศอื่นเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่

 

ตอบประเด็นปัญหา ข้อ 1. กฎหมายไทยไม่ได้บัญญัติเรื่องการรับเด็กไร้รากเหง้าเป็นบุตรบุญธรรมไว้โดยเฉพาะ จึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว,  พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522, ความเห็นทางกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายคณะที่ 3) เรื่องเสร็จที่  365/2529 และหนังสือสั่งการ ที่ มท 0402/737 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2531   

ซึ่งไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามการรับเด็กไร้รากเหง้าเป็นบุตรบุญธรรม โดยคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องรับคำร้องขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไว้พิจารณา (วิเคราะห์ข้อเท็จจริงและความเห็นทางกฎหมาย กรณีคุณ Jil ขอรับ สมศักดิ์ เป็นบุตรบุญธรรม http://gotoknow.org/blog/adoption-somsuk/365153 )

พิจารณาประกอบกับ บทความโดย รศ. ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กรณีน้องขวัญและน้องวิน : มีความเป็นไปหรือไม่ที่คนสัญชาติไทยจะรับเด็กไร้รัฐเป็นบุตรบุญธรรม http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=341&d_id=340

 

ตอบประเด็นปัญหา ข้อ 2. กฎหมายการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของประเทศอิตาลีไม่ได้กำหนดอายุของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม แต่กำหนดอายุของผู้จะรับบุตรบุญธรรมต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี และอายุของผู้จะรับบุตรบุญธรรมมากกว่าอายุของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมไม่เกิน 40 ปี อย่างไรก็ตามจะดำเนินการศึกษากฎหมายการเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของประเทศอิตาลีต่อไป

 

 

           

หมายเลขบันทึก: 368202เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 01:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Hello ! อ่านแล้ว อยากอ่านเอกสารที่บอกเอาไว้ในบล็อก คือ

๑.ความเห็นทางกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายคณะที่ 3) เรื่องเสร็จที่ 365/2529

๒.หนังสือสั่งการ ที่ มท 0402/737 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2531

หากเป็นไปได้นำมาเผยแพร่ให้ดูได้ไหม

คุณจิล ในบล็อกก่อนหน้านั้นถือ ๒ สัญชาติหรือ แต่ในหนังสือเดินทางอเมริกัน เช่นนี้แล้ว คิดอย่างไรครับ บางทีอาจต้องดูกฎหมายทั้งอเมริกัน และอิตาลี

แล้วพอจะทราบกม.อเมริกันไหม ผมเคยดูหนังอเมริกัน แล้วตีความเอาเองว่าแต่ละมลรัฐจะมีกม.ของตนเองอีก หากเป็นเช่นนี้ต้องดูไหมว่าในอเมริกัน กม.ที่จะใช้บังคับเรื่องนี้ต้องใช้กม.มลรัฐไหน

หากเป็นจริงคงต้องค้นกม.หลายประเทศกันหนักหน่วง เช่น เนเธอร์แลนด์ อเมริกัน อิตาลี เนาะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท