พรุควนเคร็ง หมอกควันของกลุ่มผลประโยชน์


พรุควนเคร็ง หมอกควันของกลุ่มผลประโยชน์

       พรุควนเคร็งตั้งอยู่ใน ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปากพนังตอนล่างที่เชื่อมโยงเข้ากับลุ่มทะเลสาบสงขลาตอนบน  พรุควนเคร็งมีอาณาเขตทางน้ำต่อกับจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา มีพื้นที่ทั้งหมด 195,545 ไร่ พรุควนเคร็งมีอาณาเขตทิศเหนือจรดคลองชะอวด ทิศใต้ติดกับทะเลน้อย ทิศตะวันออกห่างจากอ่าวไทยประมาณ 14-17 กิโลเมตร และทิศตะวันตกห่างจากสถานีรถไฟชะอวดประมาณ 19 กิโลเมตร ธรรมชาติของพรุควนเคร็งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์นั้นจะมีน้ำขัง จากนั้นอีกประมาณ 8 เดือนคือจากเดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคมน้ำในพรุจะลดลงจนแห้งขอด ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนน้อยและประกอบกับภูมิศาสตร์ของพรุควนเคร็งนั้นเป็นแอ่งต่ำขนาดใหญ่ พรุควนเคร็งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภาคใต้รองจากพรุโต๊ะแดงในจังหวัดนราธิวาส พรุควนเคร็งเป็นแหล่งนิเวศวิทยาทางธรรมชาติซึ่งประกอบด้วยสัตว์ ต้นไม้ และพืชพันธุ์ อาทิ กระจง หมูป่า นก ผึ้ง ส่วนพันธ์ไม้นั้นมี ไม้ตะเคียน ไม้แดงหนู ไม้ฟังหว้า ไม้เที๊ยะ ไม้หว้าทิน ไม้เสม็ด หวาย ต้นกระจูด ต้นกกชนิดต่างๆ และที่สำคัญคือไม้เตียว ซึ่งมีผลเตียวเป็นอาหารที่สำคัญของปลาลำพันซึ่งปัจจุบันนี้ปลาลำพันอาจจะสูญพันธุ์ไปจากพรุควนเคร็งแล้ว เพราะผมไม่เจอปลาลำพันในตลาด   ชะอวดมานับสิบปีแล้ว

          พรุควนเคร็งมีความสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองชะอวดที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน เพราะพรุควนเคร็งเป็นชุมชนแรกของเมืองชะอวดที่กำเนิดจากกระแสการพัฒนาเมืองสงขลาเก่าหรือเมืองสงขลาฝั่งบ้านเขาหัวแดงที่ตั้งขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 โดยโจรสลัดมุสลิมภายใต้การนำของ ด๊ะโต๊ะ โมกอล์ ภูมิศาสตร์ที่เขาหัวแดงเป็นป้อมปราการทางธรรมชาติที่ตั้งอยู่ปากอ่าวสทิงพระซึ่งเป็นทางออกสู่ทะเลหลวง ส่งผลให้รอบๆ ทะเลสาบสงขลามีการตั้งหลักแหล่งชุมชนรอบทะเลสาบ ซึ่งรวมถึงชุมชนพรุควนเคร็งด้วยที่ตั้งอยู่ตรงทางผ่านของเส้นทางการจากนครศรีธรรมราชไปทะเลสาบสงขลา ดังนั้นความสัมพันธ์ของชุมชนรอบทะเลสาบจึงมีความสัมพันธ์ผ่านการค้าโดยมีเขาหัวแดงเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าในลุ่มน้ำ โดยมีพ่อค้าชาวมุสลิม ชาวจีน เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าในภูมิภาคนี้ จากหลักฐานพบว่าชุมชนควนเคร็งได้ทำการค้ากับชุมชนต่างๆที่รายรอบแล้วร่วมถึงการรับสินค้าชาวจีนเข้ามาในชุมชน ซึ่งในการรับนี้คงจะเป็นการรับผ่านสถานีการค้าที่เขาหัวแดงที่มีอำนาจในการจัดการบริหารลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาด้วย

          ด้วยชุมชนพรุควนเคร็งเป็นชุมชนแรกของเมืองชะอวดที่ทำการค้ากับชุมชนต่างๆ รอบทะเลสาบสงขลาเรื่อยมา ดังนั้นเป็นธรรมดาที่จะส่งผลต่อชุมชนใกล้เคียง อาทิ เมืองท่าเสม็ดหรือเมืองปราณที่อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองพัทลุงตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19- 20 ชื่อเมืองท่าเสม็ดนั้นจากหลักฐานบ่งชี้ว่าเกิดจากการตัดไม้เสม็ดในพรุควนเคร็งบรรทุกเรือแล้วลำเลียงไปขายที่ “ตลาดเก่า” (ตลาดเก่า คือ ตลาดท่าเสม็ด ที่ทำการค้าตั้งแต่ก่อตั้งเมืองท่าเสม็ด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้วัดท่าเสม็ดในปัจจุบัน ตลาดนี้ได้ยุติบทบาทลงเมื่อชาวชะอวดได้เปิด ตลาดต้นมะปราง ขึ้นมาทำการค้าซึ่งตลาดต้นมะปรางนั้นตั้งอยู่ตรงปัจจุบันคือหัวสะพานข้ามคลองชะอวดฝั่งตะวันตก ตลาดชะอวดย้ายมาทำการค้าอีกครั้งที่ ตลาดเถ้าแก่ลิ้ม ก่อนที่จะย้ายมาค้าขายที่ ตลาดเทศบาลตำบลชะอวด ที่ตั้งอยู่ริมคลองชะอวดในปัจจุบัน)  เหตุเพราะผลผลิตไม้เสม็ดถูกนำมาซื้อขายที่ตลาดเก่านี้มีจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกขานตลาดเก่านี้ว่า ตลาดท่าเสม็ด ซึ่งชื่อท่าเสม็ดได้นำมาใช้เป็น เมืองท่าเสม็ด

ใน พ.ศ.2496 เป็นปีที่ทางราชการรวมเอาท่าเสม็ดที่อยู่ภายใต้การปกครองของพัทลุงมารวมกับชุมชนบ้านชะอวดที่อยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอร่อนพิบูลย์ มณฑลนครศรีธรรมราช และนำชื่อชะอวดมาเรียกทับพื้นที่เมืองท่าเสม็ดใหม่นี่        กิ่งอำเภอชะอวด และดำรงชื่อท่าเสม็ดเป็นตำบลหนึ่งไป

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบในตำบลเคร็ง อาทิ พระพุทธรูปไม้ เครื่องชามสังคโลกจีน และพระอุโบสถวัดควนยาวที่มีรูปแบบศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย ซึ่งปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวสามารถแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมได้อย่างสะดวก เพราะทางวัดอนุรักษ์พระอุโบสถนี้ไว้  พรุควนเคร็งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามก็คือ การชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่ควนเคร็ง แต่ด้วยเส้นทางที่ลำบาก นักท่องเที่ยวยังไม่ค่อยรู้จัก เพราะการท่องเที่ยวแบบนี้ไม่ได้ทำการเผยแพร่ข้อมูลแต่อย่างไร

          ด้วยประวัติศาสตร์ของพรุควนเคร็ง หลักฐานทางโบราณคดี พระอุโบสถศิลปะอยุธยาตอนปลาย การเยี่ยมชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกดินที่ควนเคร็ง การท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยาที่ต่อเนื่องอีกสองจังหวัดคือพัทลุงและสงขลา สิ่งเหล่าเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่ชาวบ้านมีอยู่ในสังคม แต่สิ่งที่ชุมชนขาดก็คือ ขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา  และขาดการนำเสนอข้อมูลในเรื่องการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นิเวศวิทยา อย่างโดดเด่นและต่อเนื่องและเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้เข้ากับแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงได้ อาทิ ชมวิวเมืองชะอวดจากยอดเขาท่าข้าม สะพานโค้งที่ครั้งหนึ่งกองทัพญี่ปุ่นเคยมาตั้งกองทัพในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2484-2488) ถนนสายวัฒนธรรม ชมงานศิลป์บ้านวิญญูชน และลิ้มลองอาหารสองริมฝั่งคลอง     ชะอวด เป็นต้น นี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่งคั่งให้ประชาชนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม

          แต่วันนี้ภาพของพรุควนเคร็งคือ หมอกควันแห่งความเบียดเบียนของทุนนิยม ซึ่งนับวันจะบดบัง วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความหลากหลายของพันธ์ปลา และพืชพันธ์ธัญญาหาร ไปเสียแล้ว และหลังจากกลุ่มทุนเบียดบังทรัพยากรจาก    พรุควนเคร็งบ้านผมหมดแล้ว ผมคิดว่าสถานที่ต่อไปอาจจะเป็นบ้านเกิดของอาจารย์ก็ได้นะครับ.

         

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พรุควนเคร็ง
หมายเลขบันทึก: 369933เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2010 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท