ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

พระพุทธศาสนา: จากมหาจุฬาฯ สู่ฮังการี


ผู้เขียนกับ Prof. Pal อดีตอธิการบดี Dharma Gate Budapest Buddhist University ณ สนามบิน Budapest

         ในระหว่างวันที่ ๑๙-๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ ผู้เขียนได้เดินทางไปประเทศฮังการีเดินพร้อมคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการรับมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ธรรมะ เกท ปูนาเปสท์ (Dharma Gate Budapest Buddhist University) เข้าเป็นสถาบันสมทบ คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย

            ๑. พระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ             
            ๒. พระสุธีธรรมานุวัตร,ผศ.ดร. คณบดีคณะพุทธศาสตร์ 
            ๓. พระศรีธวัชเมธี อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ 
            ๔. พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (ผู้เขียน)

 

ก่อนการประชุม พระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. ในฐานะประธานการประชุมได้นำสวดมนต์ หลังจากนั้นจึงได้ประชุมร่วมกัน และถ่ายรูปร่วมกันกับคณะกรรมการ พร้อมทั้งผู้บริหารของมหาวิทยาลัย

ทำไมต้องไปฮังการี

            ความเป็นมาของการเดินทางไปศึกษาความเป็นไปได้ของคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องมาจากศาสตราจารย์ ดร.เทมัส  อะกอส (Prof. Dr. Tamas Agocs) รักษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ธรรมะ เกท ปูนาเปสท์ (Dharma Gate Budapest Buddhist University) และเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU) ได้มีหนังสือถึงพระธรรมโกศาจารย์, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ลงวันที่ ๑๔ กันยายน  ๒๕๕๒  เพื่อแสดงความจำนงในการขอเข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ภาพถ่ายหน้าสำนักงานอธิการบดี ผู้เขียนพร้อมด้วย Prof. Tamas อธิการบดี ผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย

เหตุผลของการขอเข้าเป็นสถาบันสมทบ

          สำหรับเหตุผลหลักในการแสดงเจตจำนงนั้น เนื่องจากวิทยาลัยดังกล่าว มีความประสงค์ที่จะเปิดหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของนิสิตและนักศึกษาชาวยุโรปที่มีความประสงค์จะต่อยอดองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  การแสดงความจำนงเพื่อเป็นสถาบันสมทบจะได้รับการพิจารณา หากเข้าเกณฑ์ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยสถาบันสมทบ

บรรยากาศห้องสมุดพระพุทธศาสนาซึ่งมีหนังสือวิชาการด้านพระพุทธศาสนาประมาณเกือบ ๑ แสนเล่ม

 

Dharma Gate Budapest Buddhist University: ประตูสู่พระพุทธศาสนาในยุโรป

           สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งเดียวในทวีปยุโรปที่รัฐบาลประเทศฮังการีให้การรับรองมาตรฐานในการจัดการศึกษา  และเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งอดีตอธิการบดีคือ Prof. Dr. Pal เป็นลูกศิษย์ที่เคยบวช และจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อสุเมโธ ณ วัดอมราวดี ประเทศอังกฤษประมาณ ๑ ปี ได้ริเริ่มในการดำเนินการพร้อมกับนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในประเทศฮังการี

Dharma Gate: ประตู่สู่มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทในยุโรป

          นอกจากนี้แล้ว ดร.ท่านนี้กำลังดำเนินการสร้างวัดเพื่อให้เป็นวัดเถรวาทในประเทศฮังการีด้วย ซึ่งผู้เขียนได้ปรารภว่าเห็นควรที่จะนิมนต์พระธรรมาจารย์จากมหาจุฬาฯ เพื่อไปทำหน้าที่ในการสอนพระพุทธศาสนาทั้งด้านปริยัติ และปฏิบัติให้แก่ชาวพุทธและนักศึกษาในสถาบันแห่งนี้

          หากคณะกรรมการสภาวิชาการของมหาจุฬาฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการรับสถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันสมทบ จะทำให้สถาบันแห่งนี้เป็นประตูที่จะเปิดให้แสงแห่งธรรมได้เข้าสู่ทวีปยุโรปอย่างเป็นทางการในแง่ของการจัดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาอย่างเต็มรูปแบบ สมกับชื่อของสถาบันแห่งนี้ที่ว่า "Dharma Gate" และจะส่งผลให้การศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทได้ขยายตัวในทวีปยุโรปมากยิ่งขึ้น

บรรยากาศสนามหญ้า และต้นไม้รอบๆ บริเวณของมหาวิทยาลัย

ก้าวต่อไป?

          ผลจากการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้เข้าเป็นสถาบันสมทบนั้น คณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้จะรายงาน และนำเสนอผลการศึกษา และพิจารณาต่ออธิการบดีเพื่อจะได้นำประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาวิชาการในลำดับต่อไป และผู้เขียนในฐานะที่เป็นคณะกรรมการท่านหนึ่ง หวังว่าคณะกรรมการสภาวิชาการจะได้มีโอกาสพิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน ส่วนผลจะเป็นอย่างนั้น ผู้เขียนจะนำมาเสนอในลำดับต่อไป

บรรยากาศห้องเรียนภาษาจีนสำหรับนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ที่สนใจภาษาต่างประเทศ

พระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
ได้มอบพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำมหาจุฬาฯ แก่ Prof. Tamas อธิการบดี

คำสำคัญ (Tags): #dharma gate#mcu
หมายเลขบันทึก: 371350เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

กราบนมัสการครับ

ราวสิบกว่าปีมาแล้ว สื่อมวลชนในยุโรปได้แถลงกันยกใหญ่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่จะเติบโตเร็วที่สุดในสมัยศตวรรษที่ 21 เพราะเห็นว่ากระแสผู้นับถือเติบโตเร็วมากทั้งในทวีปยุโรป, ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ ไม่ว่าฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, อังกฤษ, สเปน, ออสเตรเลีย ฯลฯ วัดวาอารามผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง คนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศฝรั่งเหล่านี้แต่ไหนแต่ไรมาส่วนมากแล้วนับถือศาสนาคริสต์มาก่อน และกระแสชาวคริสต์หันมานับถือพระพุทธศาสนานี้ก็ก่อตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19

ประเทศยุโรปบางแห่ง เช่น อิตาลีได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ยกพระพุทธศาสนาให้เป็นหนึ่งในศาสนาสำคัญของชาติ ไม่ต่างอะไรกับศาสนาคริสต์ ( ปัจจุบันอิตาลีได้รับรองสถานะพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ลงนามความตกลงกับประธานสหภาพสมาคมพุทธในอิตาลี เพื่อให้พุทธศาสนามีสถานะเป็นทางการในอิตาลี ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถแสดงความจำนงให้แบ่งภาษีในอัตราร้อยละ 0.8 ของภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐบาล เพื่อบริจาคให้องค์กรทางพุทธศาสนาได้ )

อ่านเจอเลยนำมาสนับสนุนครับ พุทธศาสนากำลังเจริญในยุโรบ ผมจำได้ว่า มีเถระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งทำนายไว้

แต่ประเทศไทยเราละ(ปัจจุบัน-อนาคต) ?

นมัสการกระคุณเจ้า

ดีใจที่ได้อ่านบันทึกและทราบข่าวของพระคุณเจ้า เจ้าค่ะ

นมัสการครับ

เป็นข่าวที่น่ายินดีครับ ที่พุทธศาสนาจะมีหน่วยก้านแตกหน่อขึ้นมาในซีกโลกนี้ ซึ่งมีผู้สนใจแก่นของธรรมะอย่างแท้จริง

ศาสนาพุทธแผ่ไปทางซีกโลกตะวันตก(ยุโรป และอเมริกา) นานมาแล้วครับ เช่นในสหรัฐฯ กล่าวกันว่ามาจากคนจีนและญี่ปุ่นที่อพยพไปทำงานที่นั่น ในยุโรป ก็จากคนจากประเทศในอาณานิคมของยุโรปอพยพไปอยู่ในยุโรป เช่นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ที่รวมทั้งแนวทางปฏิบัติจิตจากเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจากธิเบต โดยเฉพาะจากอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ผ่านพวกกูรูและสวามี ได้นำหลักธรรมจากฮินดู จากพุทธเข้าไปเผยแพร่ และคงด้วยความที่พุทธมีแนวปฏิบัติที่ค่อนข้างเสรี มีเหตุมีผล เน้นการดูจิต ดูตัวเอง ทำให้เป็นที่สนใจของฝรั่งทั้งหลาย

ที่ผมประสบมากับตัวเองคือพระธรรมทูตของไทยซึ่งไปเผยแพร่พุทธศาสนาที่อังกฤษคือวัดพุทธประทีป (1965) หลวงพ่อชาดังมาก ต่อมาก็มีพระสุเมโธที่สืบสานงานต่อในอังกฤษ ในยุโรปสมัยนั้นก็มีวัดพุทธเกิดขึ้นอีกหลายแห่งทั้งในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ก็ด้วยความสามารถของพระฝรั่งสายหลวงพ่อชา และพระธรรมทูตไทย ชื่อวัด "ธรรมาราม" เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งก็มาจากการวมตัวกันของชุมชนไทยที่อยู่ในประเทศนั้น โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ (สถานทูตไทยหรือมหาเถรฯ) ทำให้วัดไทยขยายไป

ที่ผมเคยไปสัมผัสวัดไทยในต่างแดน คน(ฝรั่ง)ที่สนใจมาวัดไทยคือ1.เพราะเกี่ยวข้องกับคนไทย เช่นแต่งงานกับหญิงไทย 2.เคยไปเมืองไทยและประทับใจกับวัดและพระไทย 3.นักวิชาการ ปัญญาชน นักแสวงหาอิสรภาพทางใจ มาวัดไทยเพื่อค้นคว้า ศึกษาและปฏิบัติอย่างแท้จริง 4. คนในชุมชนนั้นที่เห็นทุกวันเลยใกล้ชิดกับพระ ทำให้พลอยได้รับสิ่งดีๆ ไปด้วย.......

(ขอต่อในโอกาสหน้าครับ)

นมัสการครับ

มาต่อกันครับ(ช่วงเวลาพักกลางวัน)

นอกจากช่อวัด ธรรมาราม" แล้ว ก็มีชื่อ "พุทธาราม" ด้วย เป็นชื่อของวัดไทยในต่างประเทศหลายแห่ง

ในช่วงที่ผมอยู่ที่ฝรั่งเศส ได้มีโอกาสไปบวชที่วัดไทยในเนเธอร์แลนด์ช่วงปิดเทอมด้วย ผู้ที่มาวัดส่วนใหญ่คือคนไทยที่อยุ่ในเนเธอร์แลนด์และประเทศใกล้เคียง ชาวอินโดนีเซียที่แต่งงานกับคนไทย และชาวพุทธอินโด(เนื่องจากอินโดนีเซียเคยเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์) นอกจากนั้นก้มีคนเนเธอร์แลนด์ที่สนใจพุทธศาสนา

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าคนยุโรปชอบมาวัดพุทธก็คือการปฏิบัติจิตหรือนั่งสมาธิ ดูลมหายใจ ยิ่งถ้ามีผู้แนะนำได้ ก็จะสามารถนั่งสมาธิในขั้นที่สูงได้ ฝรั่งหลายคนบอกว่าก่อนที่จะมานั่งสมาธิ ได้ศึกษาศาสนาหลายศาสนาแล้ว แต่ชอบใจการนั่งสมาธิแบบพุทธ เพราะไม่เกี่ยวกับพระเจ้า แต่เกี่ยวกับจิตตัวเองซึ่งไม่ค่อยได้เคยดูเท่าไหร่

การเกิดของวัดไทยในระยะต่อๆ มา ต้องบอกว่าคนไทยในแต่ละชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการจนสามารถมีวัดไทยไว้เป็นที่พึ่งได้ เช่นที่เบลเยี่ยม ในเยอรมัน ในสวิส

ต้องชื่นชมบทบาทของพระธรรมทูตทุกแห่งในต่างประเทศ เป็นผู้ที่ทำงานหนักมากและเป็นเสมือนทูตทางธรรมจริงๆ เป็นที่พึ่งของคนไทยในต่างแดนได้จริงๆ

การมีวิทยาลัยพุทธศาสนาในฮังการี จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและตื่นเต้น ฮังการีเนประเทศที่น่าอยู่ มีอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งในยุโรป

บ้านเรือนสวยงาม ก็หวังว่าวิทยาลัยแห่งนี้จะเจริญรุ่งเรืองและเป็นวิทยาลัย"สีขาว" ที่จะเผยแพร่พุทธศาสนาในซีกโลกนี้ต่อไปครับ

นมัสการครับ

หลวงพี่ Philo ครับ

ผมเห็นด้วยนะครับ ศาสนาพุทธกำลังขยายตัวในยุโรปอย่างรวดเร็ว เพราะจากประสบการณ์ในการชีวิตที่ชีวิตที่นั้น และพบปะนักวิชาการในมหาวิทยาลัย พบว่า ปัญญาชนทั่วไปใส่ใจ และสนใจ พร้อมทั้งศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้งในมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ อ๊อกฟอร์ด บริสโตล ซัันเดอร์แลนด์ สก๊อตแลนด์ มหาวิทยาลัยลอนดอน  นี่ผมแค่ยกตัวอย่างในแค่อังกฤษนะครับ

ประเด็นที่ผมสนใจมากคือ ผมเดินทางไปเนปาล เพื่อพบกับผู้นำศาสนาพุทธนิกายวัชรยานที่เมืองกาฑมันดุ พบว่า มีนิสิตนักศึกษาวัยรุ่น ประมาณอายุ 15-20 ปี เดินทางจากทั่วยุโรป เพื่อมาเรียนพระพุทธศาสนากับท่าน คำตอบที่พบได้รับคือ ได้แรงบันดาลใจจากองค์ทะไลลามะ

ถามว่าสถานการณ์พุทธในเมืองไทยเป็นอย่างไร? ผมมองว่า สังคมไทยมีท่าทีต่อพระพุทธศาสนาในเชิงองค์ธรรม หรือความรู้มากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าหลายทา่นหันมาสนใจพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นแก่นมากขึ้น ทั้งในการเรียนระดับมหาิวิทยาลัยที่มาเรียนทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกด้านพระพุทธศาสนา และโดยเฉพาะการหันมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง

สมัยก่อนเรานับถือพระพุทธศาสนาเพื่อเอา "บุญ" ทำบุญแล้วสลายใจ เย็นใจ อิ่มใจ แต่ปัจจุบัน เราหันมานับถือพระพุทธศาสนาโดยเน้ันที่ "กุศล" มากยิ่งขึ้น  หมายถึง ฉลาดในการทำบุญ ฉลาดในการปฏิบัติ และฉลาดในการนำหลักธรรมไปประยุกต์ใช้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของตัวเอง

ผมมองว่า การนับถือพุทธแบบสมัยก่อนที่อยู่ในสังคมแบบเกษตรกรรมอาจจะไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมาก จึงเน้นความสบายใจ แต่สังคมปัจจุบ้นเป็นสังคมแบบวัตถุนิยม จึงเจอปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เจอความทุกข์ที่หลากหลายมากขึ้น  การเน้นความสบายใจจึงไม่พอ ฉะนั้น จึงต้องเข้าสู่การปฏิบัติเพื่อรู้ทันกิเสลที่มาพร้อมกับบริโภคนิยมที่เรากำลังเผชิญ

ครูคิม

อาตมาไม่ค่อยสบายเท่าไร  เกิดจากอาการเดิมที่เคยเป็น และขอบคุณคุณครูที่แวะมาทักทาย หวังว่าครูจะสุขภาพแข็งแรงเป็นที่พึ่งของเด็กๆ ต่อไป

ท่านทูต

  • เรื่อง "บทบาทของสตรีไทยในฐานะผู้สนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบไทยๆ ในยุโรป" เป็นประเด็นน่าสนใจมาก  เพราะอาตมาไปวัดไหนๆ ในยุโรป ก็หนีไม่พ้นการอุปัฏฐากของสตรีไทย
  • วัดไทยทั่วยุโรป ล้วนมีสตรีเป็นแถวหน้าในการดูแลพระภิกษุ และวัดวาอาราม ทั้งในการพัฒนาวัตถุ สร้างวัด และถวายการอุปถัมภ์
  • วัดไทยในต่างประเทศมีคุณค่ากับคนไทยอย่างมาก ยามทุกข์ ยามเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค ได้วัุดเป็นที่พึ่งพาทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นที่พึ่งแก่สตรีไทยต้องจากบ้าน ไปเผชิญกับโชค หรือการทำงานที่แสนจะหนักหน่วง
  • วัดไทยอยู่ต่างประเทศ โดยมากก็มักจะตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์มุ่งที่คนไทยเป็นด้านหลัก เช่น ประเพณีไทย สงกรานต์  และลอยกระทง
  • บทบาทเช่่นนี้ ล้วนเป็นการเผยแผ่วัฒนธรรมไทย และภาษาไทยเพื่อลูกหลานชาวไทยที่อยู่ต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม อาตมามีข้อสังเกตกับวัดไทยในต่างประเทศ
  • ภาษาอังกฤษ  หรือภาษาของแต่และชาติที่ท่านไปอยู่นั้น พระไทยพูด อ่าน ฟัง และเขียนไม่ค่อยได้
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ยุ่งยากที่จะสื่อสารและเผยแผ่การประชาชนในแต่ละประเทศที่ท่านอยู่
  • ด้วยเหตุนี้ เวลาชาวยุโรปอยากจะรู้เรือ่งพุทธ มักจะไปวัดของนิกายวัชรยาน หรือวัดศรีลังกา และพม่า เพราะพระเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษ ได้ชัดเจนมากกว่า
  • นักคิด และนักเขียนหลายท่านบอกเลยว่า เหตุผลที่ศาสนาแบบเถรวาทเผยแผ่ได้ไม่กว้าง และขยายได้ไม่มากในหมู่ฝรั่งหากเทียบกับวัชรยาน หรือมหายานก็คือ "ภาษา" เท่านั้น
  • ด้วยเหตุนี้ ภาษาคือ ประตูที่จะเปิด และพาเราไปสู่โอกาสต่างๆ อีกทั้งเป็นกุญแจที่จะไขความลับของจักรวาล
จา่กเหตุผลมหาจุฬาฯ และอธิการบดีมหาจุฬาฯ จึงต้องดำเนินการส่งอาตมาไปอังกฤษ
  • อาตมาจึงต้องดำเนินการไปแสวงหารูปแบบและแนวทางการเรียนภาษาอังกฤษที่เหมา่ะกับพระเณรในมหาจุฬาฯ
  • เปิดสถาบันภาษาเพื่อเป็นฝึกปรือพระนิสิตและพระธรรมทูต
  • ให้ทุนการศึกษาแ่ก่พระเณรที่มีแวว และสนับสนุนการเรียนการสอน
  • เชิญอาจารย์เก่งๆ จากต่างประเทศมาสอนภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ที่จำเป็นแก่นิสิตและเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งผู้สนใจ
ด้วยหวังว่า "ทุกความเหน็ดเหนื่อยของเรา จะกลายเป็นความฝัน และแรงบันดาลใจของน้องๆ ในรุ่้นต่อๆ ไป" ในการประคับประคองพระพุทธศาสนาไปสู่ชาวโลกตามปณิธานที่พระองค์ได้ฝากศาสนาเอาไว้กับพวกเรา

นมัสการครับ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิครับ

นับเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลยิ่งครับ

ก้าวย่างแห่งการพัฒนาที่ต้องอาศัยสติปัญญาอย่างสากล

จึงเป็นผลดีต่อมจร.ในการเพิ่มขีดความสามารถครั้งต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท