เมื่อ personal brand ทำให้โลกออนไลน์ใกล้โลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น


อย่าไปคิดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นที่ระบายอารมณ์ที่ไม่มีคนรู้ว่าเราเป็นใคร เพราะเราจะกลายเป็นสิ่งที่เราเขียน

ในยุค Social media เฟืองฟู ไม่ว่าจะคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ต่างก็มี brand และทุกอย่างสามารถสื่อสารได้บนอินเทอร์เน็ต สมัยก่อนใครจะคิดหละครับว่าสิ่งไม่มีชีวิตจะพูดคุยกับคนได้ ดังนั้นเมื่อนักการตลาดต้องการจะสื่อสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่รับผิดชอบอยู่ หลังจากนั่งคิดสร้าง brand identity ขึ้นมาก็ต้องหาช่องทางในการสื่อสาร หาวิธีว่าจะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ออกมาอย่างไรให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งในปัจจุบันมันสะดวกมาก แค่ไม่กี่คลิกก็สามารถมีตัวตนบนอินเทอร์เน็ตและสามารถพูดคุยกับคนอื่นๆ ได้ทั่วโลกแล้ว ดังนั้นไม่ว่าใครที่อยากจะ "ขาย" ต้องการคุณค่า ก็ต้องการสร้าง brand หรือ อัตลักษณ์ ที่เป็นความแตกต่าง ซึ่งแยกแยะเราจากคนอื่นๆ ก็สามารถทำได้ด้วย Social media ที่มีอยู่มากมายเพื่อบ่งบอกแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุดครับ

ภาพจาก http://thecolourgirl.files.wordpress.com/2009/12/personal-brand.jpg


อย่างที่เห็นกันชัดๆ จาก Facebook page อาจจะพูดได้ว่าอะไรมี brand ก็มักจะมี page ให้เราได้เห็นกันด้วย ในบ้านเราก็อย่างเช่น dtac, kbank, Museum Siam, Siam Ocean World, หรือแม้แต่เจ้าหมีน้อยหลินปิง (ก็มีคนไปทำไว้ให้) และจะมีอยู่ช่วงที่มี page เกิดขึ้นมากมายที่ขึ้นต้นด้วย "เชื่อ ..." หรือ "มั่นใจ ..." เช่น เชื่อว่าคนไทยหลายคนย้าย จาก Hi5 มา Facebook เพื่อหนี สก๊อย แว๊น, มั่นใจ ว่าคนไทยเกิน 10 ล้านคน ต้องการมีแฟน แต่หาไม่ได้จริงๆ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าใครก็สามารถสร้าง ตัวตน (identity) ขึ้นมาง่ายๆ และขยายการรับรู้ หาพวกพ้องที่เห็นด้วยกับตนโดยอาศัย new media ได้ไม่ยาก แต่หากจะมองมาที่ระดับการสร้างความรับรู้ส่วนบุคคล หรือ personal brand หลายคนอาจนึกถึงคนมีชื่อเสียงอย่าง Woody, Apirak, Joeyboy แต่มันไม่จำเป็นหรอกครับว่าเราต้องมีชื่อเสียงก่อนถึงจะสามารถสร้าง brand ของตัวเองได้ โดยเฉพาะบน Social Network ยิ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันในไซเบอร์สเปซแห่งนี้ ทุกคนเริ่มจากการเป็น nobody ที่ไม่มีใครรู้จัก และขยับไปเป็น somebody ที่ทำให้คนที่ไม่รู้จักเราได้รู้จักเรา สุดท้ายก็อาจจะกลายเป็น celeb เฉพาะทางที่คนในวงการของเรารู้จักกันไปทั่ว

ยกตัวอย่างเช่น sugree ที่ geek ในวงการไอทีทุกคนต้องรู้จักเขา phuphu ที่มีชื่อเสียงเรื่องความฮากระจัดกาย PatSonic ที่ดังในเรื่องหนังเพลงบันเทิงต่างๆ คนเหล่านี้มีกลุ่ม niche ที่ชื่นชอบตนเพราะพวกเขาได้เริ่มจากการหยิบตัวเองไปในจุดสว่างบนอินเทอร์เน็ต และบอกเล่าเรื่องราวความเป็นตัวตนของเขาออกมา หรืออีกตัวอย่างคนที่ผมนับถือในความสามารถมากๆ ท่านหนึ่ง คุณภาวุธ หรือ pawoot ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ สามารถสร้างตัวตนให้คนเห็นได้ชัดเจนมาก จากการดึงจุดเด่นในเรื่องความเป็นกันเอง ความสนุกสนาน มันส์ฮา ออกมานำเสนอผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่ล้ำกว่าใครอยู่เสมอ จาก blog มา facebook, twitter ไป foursquare และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ภาพด้านความไฮเทคของคุณภาวุธชัดเจนมาก คนที่รู้จักคุณภาวุธก็สามารถทราบข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ด้วย Social media ได้ตลอดเวลา และคนที่ยังไม่รู้จักก็อยากรู้จักมากขึ้นด้วย กลายเป็น personal brand ที่มีความแข็งแรงมากๆ brand หนึ่ง ดังนั้นหากทุกวันนี้เรามีชีวิตส่วนหนึ่งอาศัยอยู่บนอินเทอร์เน็ต มันจะไม่ดีกว่าหรือถ้าเราจะมาให้ความสนใจกับข้อมูลต่างๆ ที่เราใส่เข้าไปทุกวัน สร้างมันให้กลายเป็น brand ของเราเองเลย

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนสงสัยเรื่อง ประเด็นความเป็นส่วนตัว (privacy) เกิดคำถามที่ว่าชีวิตเรา ข้อมูลเราจะปลอดภัยไหม ถ้าคนมาพบเจอบนอินเทอร์เน็ต คำตอบง่ายๆ สำหรับตอนนี้ คือ ถ้าคุณหาชื่อคุณเองไม่เจอใน Google มันแปลว่า คุณไม่มีตัวตน เป็น nobody ที่ไม่เคยมีใครพูดถึงเลย (แม้แต่ตัวคุณเอง) ซึ่งจริงๆ ถ้าคุณเป็นคนของสังคม จะบวก หรือจะลบ ก็คงจะต้องมีคนเขียนถึงในอินเทอร์เน็ตบ้าง มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่จะแสดงตัวตนของเราออกมาให้โลกได้รู้จัก เพิ่งแต่ว่าเราต้องเข้าใจวิถีแห่ง new media ให้ดีพอ รู้ว่าอะไรควร หรือไม่ควรทำ อย่างเช่น บางคนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นที่ระบายทุกข์ อยากพ่นอะไรก็พ่นออกมา โดยไม่ได้ใส่ใจผู้อื่น อันนี้ก็แรงไป หรือบางคนนึกสนุกถ่ายคลิปส่วนตัว แล้วแชร์กับเพื่อน อันนี้ก็คงไม่ได้หยุดอยู่แค่เพื่อน หลายคนที่เคยฝัน อยากมีตัวตนที่ไม่ใช่ตนเอง ก็ไปสร้างมันขึ้นใหม่บนอินเทอร์เน็ต ปกปิดซ่อนเร้น ใส่แต่ข้อมูลปลอม สุดท้ายก็ไม่ได้รับความจริงใจใดๆ กลับมาเช่นกัน ดังนั้นมันจะไม่ดีกว่าหรือหากเราจะเป็นเราทั้งบนโลกแห่งความเป็นจริง และบนโลกออนไลน์ ตัวอย่างง่ายๆ ที่เกิดขึ้นกับผมเอง คือญาติลูกพี่ลูกน้องที่ไม่ได้เจอกันเป็นสิบๆ ปี อยู่ดีๆ ก็มาเจอผมบน facebook เพราะ search จาก นามสกุล สิ่งต่างๆ ข้อมูลต่างๆ ที่ผมใส่เข้าไปในเว็บไซต์ต่างๆ ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่าเปิดเผยได้ ผมอยากให้คนรู้จักผมแค่ไหน ก็ใส่ไปแค่นั้น วันไหนเราอยากแชร์เรื่องดีๆ ที่ได้พบเห็น ก็ tweet ให้เพื่อนๆ รู้ เราก็เป็นเราที่มีความสุขกับการใช้ Social media ดังนั้นการสร้าง personal brand ในมุมมองของผมจะเป็นผลดีต่อสังคมโดยส่วนรวม เราไม่ต้องแอบๆ ซ่อนๆ ทำให้โลกแห่งความจริงเข้าใกล้โลกออนไลน์ยิ่งขึ้น

ภาพจาก http://www.iambrandking.com/wp-content/uploads/2010/01/confused___by_mushy_pea.jpg

แล้วถามต่อไปว่าการสร้าง personal branding จำเป็นต้องมี twitter ไหม? คำตอบตอนนี้คือ ควร (แต่ไม่บังคับ) เพราะ ความสั้นกระฉับของมัน ทำให้เราสื่อสารตัวเราเองได้ง่ายๆ และบ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ อีกทั้งยังบอกใครๆ ว่า สามารถตาม follow เราได้ที่ twitter account @ ของเราได้ไม่ยากอีกด้วย เช่นผมบอกเพื่อนๆ ว่าถ้าอยากรู้ว่าผมทำอะไรอยู่ก็สามารถ follow ผมได้ที่ @TheInk นะ หรือถ้าอยากจะรู้ว่ามีอีเวนท์ดีๆ อะไรเกิดขึ้นที่ไหนก็ follow @iameventpro ได้เลย มันง่ายต่อการสื่อสารครับ แต่นอกจาก twitter ก็ยังมีเครื่องมือ/เว็บไซต์ อีกมากมายที่ช่วยในการสร้าง brand ของเราได้ อย่างที่คุ้นเคยกันก็เช่น Facebook, LinkedIn, YouTube, Flickr และอื่นๆ อีกมากมาย ตัวผมเองก็มี facebook มี slideshare มี LinkedIn ที่ใช้ theink เหมือนกัน นอกจากนี้ก็ยังมี blog อยู่ที่ gotoknow.org/blog/theink ทั้งหมดเป็นความตั้งใจที่ผมสร้างขึ้นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ผมสามารถทำการตลาดตัวของตัวเองให้เป็นที่รู้จักในวงการไอทีได้มากขึ้น ซึ่งเราก็สามารถมั่นใจได้เลยว่านั้นคือทรัพย์สินอย่างหนึ่งของเราที่จับต้องไม่ได้ด้วยมือ (intangible asset) แต่สัมผัสได้ด้วยใจ คราวนี้มาถึงตาของคุณแล้ว ทุกคนสามารถทำได้เหมือนกัน และก็ไม่ได้ยากอะไรเลยหากเรารู้วิธี ดังนั้นมาดูกันในเบื้องต้นดีกว่าครับ ว่าถ้าเราจะสร้าง personal brand ของตัวเองจะต้องทำอะไรบ้าง

1. ค้นหา brand ของเราจากส่วนลึกในตัวเราก่อน
เพราะไม่ใช่แค่ชื่อ ไม่ใช่โลโก้ แต่ brand คือสิ่งที่เราจะแสดงออก มันคือภาพลักษณ์ของเรา การค้นหา personal brand คือการค้นหาตัวเอง ว่าเราชอบอะไร เรามีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร เราต้องการนำเสนอตัวเองออกไปอย่างไร พยายามหา position ของตัวเองที่ชัดเจนที่สุด อะไรแสดงถึงความเป็นเรา (หรือเราอยากแสดงอะไรออกไป) เข่น อย่าง kengdotdom ได้พบว่าตัวเองชอบ digital marketing ก็ต้องสื่อสารออกไปว่าตนเองมีความรู้และเชี่ยวชาญด้านนี้ หรืออย่าง projectlib ที่ชัดเจนมากว่าเค้าต้องการบอกคนอื่นๆ ว่าเขาคือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับห้องสมุด

2. แสดง brand ของเราให้คนอื่นประจักษ์
มีเครื่องมือหลากหลายชนิดให้เราใช้ ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีลักษณะเฉพาะของตนที่แตกต่างกันออกไป เริ่มจากให้คนรู้จุดยืนของเรา และค่อยๆ สื่อสาร เพิ่มคุณค่าของตัวเองด้วยเครื่องมือต่างๆ ดังต่อไปนี้

e-mail address: เรื่องแรกที่จะบ่งบอกความเป็นตัวเรา และใช้ในการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น เราอาจจะเริ่มง่ายๆ จากการใช้ Free e-mail ที่ให้บริการอยู่ทั่วไป อย่าง Hotmail, Yahoo, Gmail ก็จะได้ e-mail adress เป็นไปตามผู้ให้บริการนั้นๆ เช่น [email protected] หรือจะขยับชั้นมามีโดเมนของตัวเอง และอาจจะใช้ Google App ในการสร้างอีเมลของตนเลย ก็จะกลายเป็น เช่น [email protected] หรือให้เก๋ก็ใช้โดเมน .in.th เช่น [email protected] เป็นต้น

online resume: สำหรับคนที่ต้องการเปิดโอกาสให้ตนเอง อย่าลืมว่าปัจจุบันบริษัทต่างๆ และบริษัทจัดหางานก็ต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพมาเติมเต็มบริษัทอยู่เสมอ และมันก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรในการที่เราจะเอาประวัติตนเองไปใส่ทิ้งไว้สักหน่อย อย่างที่มีชื่อเสียงเลยในบ้านเรา ก็ jobtopgun.com ที่เค้ามี superresume ซึ่งให้ผู้มองหางานมาใส่ข้อมูลทิ้งไว้ให้บริษัทต่างๆ ได้เลือกกัน

Portfolio: หากปกติเราเป็นคนสายศิลป์ ก็มักจะมีผลงานของตัวเองอยู่แล้ว ก็เอามันไปใส่ไว้บนอินเทอร์เน็ต เปิดแสดงให้โลกได้รู้กันไปเลย ในเบื้องต้นก็อาจจะไปใส่กันได้ที่ www.portfolios.net และ www.thaiportfolio.com เป็นต้น

Blog/website: ถ้าเราเป็นคนชอบขีดๆ เขียนๆ ก็ควรหาที่ปลดปล่อยความสามารถนี้ออกมา เช่น ไปเขียนใน exteen.com จะได้กลุ่มวัยรุ่น ไปเขียนที่ gotoknow.org จะได้กลุ่มนักวิชาการ ไปเขียนใน oknation.net ก็จะได้กลุ่มคนทั่วไปที่สนใจข่าวสาร ก็เลือกที่เหมาะกับเรา โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องไปเขียนทุกที่ (แต่จะให้ดีอาจไปสมัคร account เอาไว้ทุกที่เผื่อบางที่จะไปคอมเมนต์จะได้ชัดเจนว่าเป็นเรา) หรือถ้าระดับเก่งขึ้นมาหน่อยก็เปิดเว็บไซต์ตัวเองเลย ไปจดโดเมนชื่อ brand ของเรา (นอกจากใช้เป็นอีเมลแล้วยังใช้เป็นชื่อเว็บได้อีกด้วยนะครับ) แล้วก็หา CMS สำเร็จรูปมาลง เช่น wordpress, joomla เป็นต้น

Webboard/forum: ก็ถ้าไปแสดงความคิดเห็นที่ไหนก็อย่าลืมใช้ชื่อ account เดียวกัน หรือใส่อีเมลเดียวกันเสมอ คนอื่นจะได้คุ้นเคยกับการแสดงความคิดเห็นของเรา

Social Network ต่างๆ เช่น
LinkedIn: เป็นเครือข่ายแบบ professional จริงๆ ที่ไม่ได้มีไว้คุยเล่น แต่ไว้สำหรับ recommend คนที่เรารู้จัก ให้เครดิตซึ่งกันและกันว่าใครทำอะไรได้ หากเราเป็นคนที่ค่อนข้างจะเปิดกว้างหน่อย สื่อสารภาษาอังกฤษได้ก็อาจจะมีการเชิญไปทำงานจากบริษัทต่างประเทศเลยทีเดียว เพราะอันนี้ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้วว่าอยู่ดีๆ วันหนึ่ง ก็มีบริษัทติดต่อผมเข้ามา ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ทำอะไรเลย แค่มี profile เขียนทิ้งไว้ใน LinkedIn เท่านั้นเอง

Facebook: เครือข่ายออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากแล้ว ขอแค่เรามี account และสร้าง network กับเพื่อนๆ แค่นั้นเราก็สามารถอัพเดตข่าวสารต่างๆ ซึ่งกันและกันได้แล้ว

Twitter: อีกเครื่องมือที่พลาดไม่ได้ นอกจากใช้ follow ตามคนที่เราสนใจ ยังสามารถใช้ในการแสดงความคิดเห็น ตะโกนสิ่งที่ตนเองอยากบอกให้โลกได้รู้ เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ได้ดีทีเดียว

3. เมื่อลืมมี brand แล้วก็ต้องรักษามันเอาไว้
มี 2 ขั้นตอนง่ายๆ ให้ปฏิบัติคือ
3.1 ต้องมั่นอัพเดต เมื่อ brand ของเราเกิดและเริ่มโต เริ่มมีคนรู้จัก เรามั่นใจได้เลยว่ามันคือทรัพย์สินอย่างหนึ่งบนอินเทอร์เน็ตของเรา ต้องมั่นค่อยอัพเดตข้อมูลตามเครื่องมือต่างๆ ที่เราเลือกใช้ในขั้นต้น อย่างมีทำอะไรก็อัพเดต facebook & twitter มีประสบการณ์การทำงานเพิ่มก็อัพเดตใส่ LinkedIn เมื่อเราสร้างความประทับใจได้แล้ว เมื่อมีคนติดตาม อย่าให้มันขาดหายไปครับ
3.2 ต้องมั่นฟัง เพราะโลกมันกว้าง คนมันเยอะ อาจจะมีหลายคนที่พูดถึงเราอยู่ในหลายๆ ที่ เราควรจะตอบสนองกับฟังต่างๆ เหล่านั้นอย่างเหมาะสม ถ้าคนชอบมาก็ขอบคุณไป ถ้าคนตำหนิมาก็ชี้แจงไป ข้อนี้อาจจะยากแต่ก็มีเครื่องมือช่วยอย่าง Google alerts หรือใช้ twitter search คอยตามสิ่งที่เกิดขึ้น

ภาพจาก http://digitalmommy.files.wordpress.com/2009/05/personal-branding-stamp.jpg

สุดท้ายผมอยากจะบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะซ่อนข้อมูลของเราจากค้นหาโดย Search engine ต่างๆ ดังนั้น คิดก่อนเขียน อย่างที่สุภาษิตกล่าวว่า "ก่อนพูดเราเป็นนายของคำพูด แต่หลังพูดไปแล้วคำพูดเป็นนายของเรา" เรื่องสาดเสีย เทเสีย อย่าไปใส่ไว้ในอินเทอร์เน็ตเลยครับ อย่าไปคิดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นที่ระบายอารมณ์ที่ไม่มีคนรู้ว่าเราเป็นใคร เพราะเราจะกลายเป็นสิ่งที่เราเขียน มาลองคิดดีๆ ทำดีๆ เขียนดีๆ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ชีวิตเราดีๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป จากการสร้าง personal brand ในเชิงบวกบนอินเทอร์เน็ตไม่ดีกว่าหรือครับ แล้วคุณหละคิดอย่างไร How do u think?


* บทความนี้ ส่วนหนึ่งลงในนิตยสาร D+Plus ฉบับเดือน กรกฎาคม 2553 และส่วนหนึ่งลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวัน 1 กรกฏาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 371682เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2010 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท