เล่าเรื่องดูงานต่อ...


ต่อจากตอนที่แล้ว หลังจากรับฟังบรรยายโดยวิทยากรจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยแล้ว ช่วงบ่ายก็เดินทางไปศึกษาดูงานเรื่อง การบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่โครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

รับประทานอาหารกันโดยไว แล้วก็ขึ้นรถตู้กันไปประมาณ 4 คัน ประมาณครึ่งชั่วโมงก็มาถึง

ภาพจากเว็บไซด์สำนักราชเลขาธิการ  www.ohmpps.go.th/

ในอดีต คลองลัดโพธิ์เป็นคลองลัดแนวเหนือ-ใต้ของคุ้งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่ที่ 9 ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แต่มีสภาพตื้นเขิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ ให้ปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ ซึ่งจะช่วยให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลลัดลงทะเลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ เพราะเป็นการลดระยะทางการไหลจาก 18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600 เมตร

จากนั้นยังได้ทรงรับสั่งในเรื่องการนำพลังงานน้ำมาใช้ประโยชน์ จึงเกิดโครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านไฟฟ้าพลังน้ำ โดยกรมชลประทานและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกแบบกังหันต้นแบบสองชนิด คือแบบแนวแกน และแบบขวางการไหล จากการทดลองเดินกังหันพลังน้ำต้นแบบ พบว่า ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.74 กิโลวัตต์ต่อวัน ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์นี้ จะถูกนำไปต่อยอดเพื่อการผลิตกังหันพลังน้ำในประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้วัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศอยู่ แต่เมื่อมีการขยายผล จนสามารถประยุกต์ใช้กับประตูระบายน้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่ทั่วประเทศได้ ในอนาคต ก็จะไม่ต้องนำเข้าวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศลงได้อย่างมหาศาล

จากนั้นเราก็เดินทางกันต่อไปยังสวนศรี นครเขื่อนขันธ์ (ชื่อเดิมของอำเภอพระประแดง) ความจริงไปผิดที่เพราะจะไปอีกที่ในบางกะเจ้า คือป่าชุมชนสวนป่าเกด แต่ก็ไม่เป็นไรได้ดูนิทรรศการภายในและบรรยากาศในสวน จากนั้นก็เดินทางต่อไปยัง ป่าชุมชนสวนป่าเกด ระหว่างทางเดินเข้าไปก็จะเห็นป้ายของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมปักไว้ มีจักรยานให้เช่า ได้ยินเสียงนกร้อง เมื่อเข้ามาถึงบริเวณที่จะรับฟังการบรรยายที่เป็นลานใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ร่มรื่น ได้สูดหายใจอย่างเต็มปอด มีการต้อนรับด้วยน้ำอัญชัญ และเมี่ยงคำ อร่อยมาก กินไปฟังไป เมื่อเขาถามว่ามีคำถามอะไรไหม โต๊ะเราไม่มีหรอก แต่เราก็ยกมือเพราะใบชะพลูหมด ไม่ก็ขอเติมน้ำอัญชัญ (แหะ แหะ)

ชุมชน(เสื้อสีม่วง) ที่มาคอยต้อนรับ

บางกะเจ้ามีประวัติยาวนานตั้งแต่ปี 2520 ที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นปอดของชาวกทม.และปริมณฑล มีพรก. เวนคืนพื้นที่ทั้งหมด และมีการต่อต้านจากราษฎรอย่างรุนแรง จนต้องเปลี่ยนเป็นการจัดซื้อตามความสมัครใจแทน จนรวบรวมพื้นที่ได้ 1,276 ไร่

ปัจจุบันมีการเน้นเรื่องการให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น บนพื้นฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และมีการเข้ามาศึกษาดูงานจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ และยังเป็นพื้นที่ที่โครงการ CSR เข้ามาเยอะ (ดูจากป้ายที่ติดไว้ เยอะมากจนรู้สึกว่าเอ ป้ายเยอะไปหรือปล่าวนะ) มีการท่องเที่ยวชุมชน โดยจักรยานสามารถปั่นไปได้หลายเส้นทาง ไปจนถึงสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ไปตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง หมู่บ้านมอญ เป็นต้น

ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการแบบเก่าคือออกคำสั่งมามีป้ายปักห้ามทำการใดๆในพื้นที่ มาเป็นการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างความเข้าใจ ทำให้ชุมชนรักและหวงแหนพื้นที่ นำสู่การจัดการอย่างยั่งยืนในที่สุด

 

คำสำคัญ (Tags): #ป่าชุมชน
หมายเลขบันทึก: 372369เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2010 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

CSR คืออะไรคะ ขอความรู้หน่อยค่ะ

CSR = Corporate Social Responsibility หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ

หมายถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับที่ดีควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูเเลรักษาสังคมและสิ่งเเวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

ซึ่งปัจจุบันเรามักจะเห็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และก็มีมาตรฐานสากลในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทด้วย

CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ เริ่มแพร่หลายขึ้นในประเทศไทยประมาณปี 2549 ทั้งบริษัทจดทะเบียนไทย บริษัทข้ามชาติ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ถือว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรไปด้วย ทำให้การดำเนินงานของธุรกิจนั้นๆ เป็นไปอย่างสะดวก ประชาชนทั่วไปก็เห็นดีเห็นงามในการทำความดีต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงแล้วเราไม่ควรยึดมายาคติที่ว่า มี CSR คือ การทำบุญ บริษัทนั้นๆ มีบุญคุณต่อสังคม เพราะแท้ที่จริงแล้ว CSR คือการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งคุ้มค่าทางการเงินและการตลาด ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ ต้องดูแลควบคู่ไปทั้ง 3 ด้าน คือ กำไร สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยสังคมนั้นหมายถึง “ชุมชน” หรือ “คนในชุมชน” ที่องค์กรตั้งอยู่ การดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบนี้ไม่เพียงแค่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือถูกหลักจริยธรรมเท่านั้น หากแต่ยังสามารถสร้างสรรค์หรือ “ลงทุน” ด้วยโครงการต่างๆ เช่น การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเยาวชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตคน เป็นต้น ซึ่งผลของการลงทุนที่มีประโยชน์เหล่านี้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติ และส่งผลดีต่อผลประกอบการของธุรกิจไปด้วยนั่นเอง

กิจกรรม CSR จะส่งผลให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้นนั้นเป็นเรื่องแน่นอน แต่ผลลัพธ์จาก CSR จะทำให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนคุ้มค่าและงอกเงย มีคุณค่างอกงามแก่สังคมด้วย ไม่ใช่แค่เพื่อบริษัทฝ่ายเดียว เรื่องความสำคัญของ CSR เป็นเรื่องที่ผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลก ต่างได้พิสูจน์จนทราบแน่ชัดแล้วว่ามีแต่ผลดี Win-win แก่ทุกฝ่าย เพราะเมื่อองค์กรทำสิ่งที่ดีแล้ว ผู้คนในสังคมย่อมจะเล็งเห็นและเป็นคนตัดสิน รวมไปถึงให้การสนับสนุนองค์กรนั้นๆ ทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ พร้อมผลประกอบการที่น่าพอใจ

จาก : เว็บไซด์สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม http://www.csri.or.th/knowledge/csr/194

บรรยากาศคล้ายๆชุมพรคาบาน่า..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท