Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การจำแนกประเภทของคนชายขอบที่เกี่ยวข้องกับ ICCPR ตามความเป็นไปได้ในการจัดการปัญหา


แนวคิดพื้นฐานในการทำรายงานผลการศึกษาสถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของคนชายขอบเพื่อเสนอต่อคณะกรรมส่งเสริมการอนุวัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เมื่อวันอังคารที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓

วงการวิชาการและวงคนทำงานเพื่อพัฒนาสังคมต่างเข้าใจอย่างตรงกันในคำว่า “คนชายขอบ (Marginalized Person)” กล่าวคือ คำนี้ย่อมมีความหมายถึงคนที่ไม่อาจได้รับความเข้าใจจากรัฐในลักษณะเดียวกับ “คนตรงศูนย์กลาง (Centerized Person)” ซึ่งความเป็นคนชายขอบอาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยอัตตวิสัยของรัฐ กล่าวคือ ความสนใจน้อยหรือไม่สนใจของรัฐเอง หรืออาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยภาวะวิสัยของรัฐ กล่าวคือ ความไม่สามารถที่จะรับรองหรือคุ้มครองหรือส่งเสริมสิทธิของคนชายขอบได้

มนุษย์ในสังคมไทยที่ตกเป็น “คนชายขอบ” ในประเทศไทย หากเราพิจารณาจากมาตรฐานแห่งสิทธิมนุษยชนที่กำหนดโดย ICCPR ก็คือ คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบัน ก็อาจจำแนกออกเป็น ๓ ประเภท กล่าวคือ (๑) คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพราะประสบความไร้รัฐ (๒) คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพราะประสบความไร้สัญชาติ และ (๓) คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพราะประสบปัญหาความเสมือนไร้สัญชาติ

----------------------------

๑.คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพราะประสบความไร้รัฐ 

----------------------------

“คนไร้รัฐ (Stateless Person)” หรือคนที่ประสบปัญหาความไร้รัฐในประเทศไทย และในหลายประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือ มนุษย์ที่ยังมิได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐ (State Civil Registration) ซึ่งจะมีผลให้บุคคลดังกล่าวตกเป็น “คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล” ซึ่งมักถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า Undocumented หรือ Person Unidentified Person อันทำให้ไม่มีรัฐใดยอมรับออกเอกสารรับรองความเป็นราษฎร (Civilian Status) หรือความเป็นคนสัญชาติให้ (National Status)

คนที่ศึกษาวิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จากต่างประเทศจะเข้าใจตามนักวิชาการต่างประเทศว่า Stateless Person หมายความถึงคนที่ไม่ได้รับการยอมรับในสถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก

ทำไมแนวคิดตะวันตกจึงเข้าใจว่า Stateless Person ย่อมหมายถึง Nationality – less Person ?? คนในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า การบันทึกบุคคลในทะเบียนราษฎรละการยอมรับสถานะคนสัญชาติไทยเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่โดยกฎหมายไทย เป็นคนละเรื่องกัน และอาจไม่ผันแปรตามกัน

เราพบในทางปฏิบัติของนานารัฐในโลกตะวันตกว่า รัฐมักยอมรับที่จะบันทึกมนุษย์ทุกคนในทะเบียนบุคคลของรัฐ หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า “ทะเบียนราษฎร” ทั้งนี้ อาจจะด้วยความเชื่อในข้อ ๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ทุก ๆ คนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด. (Everyone has the right to recognition everywhere as a person before the law.)” ดังนั้น แม้รัฐจะไม่ยอมรับให้สถานะคนสัญชาติ แต่รัฐก็จะยอมรับบันทึกตัวตนของมนุษย์ผู้ไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรของตน ดังนั้น โดยหลักการ ปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศตะวันตกของโลก คงมีแต่ปัญหาความไร้สถานะตามกฎหมายสัญชาติและกฎหมายคนเข้าเมือง

นอกจากนั้น เมื่อมีการยอมรับ “สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Recognition of Legal Personality)” ในข้อ ๑๖ แห่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง (แพ่ง) และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ในลักษณะเดียวกับข้อ ๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ กล่าวคือ

คนในวัฒนธรรมรัฐสมัยใหม่แบบตะวันตกเข้าใจว่า การบันทึกรายละเอียดของบุคคลในทะเบียนบุคคลของรัฐ ย่อมสร้างความมั่นคงเชิงประชาชน หรือประชากร ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยในระดับประชาชนที่มีชีวิตในช่วงต้นของการสร้างทะเบียนราษฎร (๒๕๔๒  - ๒๕๓๔) ไม่มีความเข้าใจในความสำคัญของการถูกบันทึกในทะเบียนราษฎร จนไม่ใส่ใจไปแสดงตนเมื่อมีการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนราษฎรในราว พ.ศ.๒๔๙๙ อันทำให้ตนเองและบุตรตกหล่นจากทะเบียนราษฎร ตกเป็นคนไร้รัฐ ซึ่งย่อมไร้สถานะทางกฎหมายสำคัญ ๓ ฉบับที่รัฐใช้ในการจัดการประชากร

กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของคนไร้รัฐในประเทศไทย ก็คือ

(๑) กรณีของนายฮาซิม พาริก ซึ่งแสดงตนร้องทุกข์ใน พ.ศ.๒๕๔๙ ว่า เขาตกเป็นคนไร้รัฐทั้งที่มีสัญชาติไทยเพราะฟังได้ชัดเจนว่า เขาเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ จากบิดาซึ่งมีสัญชาติไทย เพียงแต่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จะเห็นว่า การแก้ไขปัญหาความไร้รัฐของฮาซิมสำเร็จลงใน พ.ศ.๒๕๕๐ กล่าวคือ เขาได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลเป็น “คนสัญชาติไทย” ในทะเบียนราษฎรไทย สภาวะความไร้รัฐจึงสิ้นสุดลงสำหรับนายฮาซิม และเมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า เขาเกิดในประเทศไทยจากบิดาสัญชาติไทย เขาจึงมีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลของกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ[1] ไม่มีความจำเป็นต้องให้สัญชาติไทยโดยฝ่ายบริหารของรัฐ

หรือ (๒) กรณีของอาจารย์อายุ นามเทพ[2] ซึ่งแสดงตนร้องทุกข์ใน พ.ศ.๒๕๔๘ ว่า เธอตกเป็นคนไร้รัฐและไม่มีสัญชาติไทย เพราะเกิดในประเทศพม่าจากบิดาละมารดาเป็นคนเกิดในประเทศพม่า ครอบครัวของอาจารย์อายุ นามเทพหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย อาจารย์อายุไม่มีสถานะบุคคลทั้งตามกฎหมายพม่า หรือตามกฎหมายไทย หรือตามกฎหมายของรัฐอื่นใดเลย เธอจึงประสบความไร้รัฐ

เราควรจะต้องตระหนักว่า รัฐไทยประสบความสำเร็จที่จะ

----------------------------

๒. คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพราะประสบความไร้สัญชาติ

----------------------------

“คนไร้สัญชาติ (Nationality-less Person)” หรือคนที่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติในประเทศไทย และในหลายประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือ มนุษย์ที่ยังมิได้รับการบันทึกในสถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐ (State Civil Registration) ซึ่งจะมีผลให้บุคคลดังกล่าวตกเป็น “คนต่างด้าวในทุกประเทศ” ซึ่งมักถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า Alien หรือ foreigner อันทำให้ไม่มีรัฐใดยอมรับออกเอกสารรับรองความเป็นคนชาติ หรือคนสัญชาติ (National Status) ให้ และนำไปสู่ความด้อยสิทธิกว่าคนอื่นที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลก

ขอให้ตระหนักว่า คนไร้รัฐย่อมมีความเป็นคนไร้สัญชาติโดยอัตโนมัติ เมื่อไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ก็ย่อมจะไม่ได้รับการบันทึกในสถานะคนสัญชาติโดยรัฐใดเลยบนโลก

แต่ด้วยรัฐไทยมีปกติประเพณีที่จะยอมรับบันทึกมนุษย์ที่ปรากฏตัวบนแผ่นดินไทยในทะเบียนราษฎรในสถานะคนต่างด้าวก่อน หากฝ่ายปกครองยังฟังไม่ได้ว่า เป็นคนสัญชาติไทย จึงทำให้ประเทศไทยมีคนไร้สัญชาติ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) คนไร้สัญชาติที่ไร้สถานะตามกฎหมายทะเบียนราษฎร และ (๒) คนไร้สัญชาติที่มีสถานะตามกฎหมายทะเบียนราษฎร

การยอมรับที่จะบันทึกบุคคลที่ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นคนสัญชาติไทยใน “ทะเบียนราษฎร” ก็ทำให้รัฐไทยได้ปฏิบัติตามข้อ ๖ แห่งแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๑๖ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง (แพ่ง) และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙

แต่อย่างไรก็ตาม การขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่มนุษย์ในสังคมไทยโดยวิธีการดังกล่าวย่อมไม่ทำให้รัฐไทยหลุดจากพันธกรณีที่จะผลักดันให้มนุษย์มีสัญชาติอย่างน้อย ๑ สัญชาติตามข้อ ๑๕[3] แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑  และข้อ ๒๔ (๓)[4] แห่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง (แพ่ง) และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙

ในปัจจุบัน โดยมุมมองจากหลักกฎหมายสัญชาติ รัฐไทยยอมรับว่า คนไร้สัญชาติที่ปรากฏในประเทศไทยมีอยู่ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) คนไร้สัญชาติที่มีข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีสัญชาติไทย และ (๒) คนไร้สัญชาติที่ไม่มีข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีสัญชาติไทย ซึ่งคนในกลุ่มที่ ๒ นี้ จะประสบปัญหาความไร้สัญชาติ หรือความเสมือนไร้สัญชาติก็ได้

เราพบว่า มีคนสัญชาติไทยจำนวนมากที่ถูกบันทึกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเอง และมีสัญชาติไทยจำนวนมากที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร ดังนั้น หากพิจารณาจากตัวกฎหมายสัญชาติไทย พวกเขาจะไม่ไร้สัญชาติเลย แต่เมื่อเขาไม่ได้รับการยอมรับสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย พวกเขาก็จะตกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎร หรือหากพวกเขาไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก พวกเขาก็จะตกเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในทุกประเทศของโลกเช่นกัน

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติในประเทศไทยจึงต้องเป็นไปตามธรรมชาติของปัญหาที่บุคคลผู้นั้นประสบ

ในประการแรก หากยังไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ก็ต้องบันทึกในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘ ก. เสียก่อน เพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐ ในระหว่างที่รอการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทย หรือหากมีข้อเท็จจริงฟังชัดแล้วว่า มีสัญชาติไทย ก็บันทึกในทะเบียนบ้านประเภท ท.ร.๑๔ ได้เลย เพื่อขจัดทั้งปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติ ซึ่งปัญหาความไร้สัญชาติในกรณีที่สองนี้ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ยังฟังไม่ได้ในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่นายทะเบียนราษฎร แต่เมื่อปัญหาข้อเท็จจริงถูกคลี่คลาย บุคคลก็เข้าถึงสิทธิในสัญชาติไทยได้เอง โดยผลของกฎหมาย ไม่มีความจำเป็นต้องให้สัญชาติไทย

ในประการที่สอง หากมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยแล้วในสถานะคนต่างด้าว  แต่ฟังได้ว่า มีสัญชาติไทย ก็ต้องบันทึกใหม่ในทะเบียนบ้านประเภท ท.ร.๑๔  ในสถานะคนสัญชาติไทย

ในประการที่สาม หากมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยแล้วในสถานะคนต่างด้าว  และฟังได้ว่า ไม่มีสัญชาติไทยและไร้สัญชาติ ก็ต้องผลักดันให้มีสิทธิในสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่ง ปกติประเพณีของรัฐไทย ก็คือ การยอมรับให้สิทธิในสัญชาติไทยหากฟังได้ว่า มีความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว แต่หากฟังว่า ยังไม่มีความกลมกลืนกับสังคมไทย ก็ต้องผลักดันให้รัฐต้นทางและรัฐที่สามเป็นผู้ยอมรับให้สัญชาติ ซึ่งประเทศไทยมีความพยายามที่จะเจรจากับรัฐต่างประเทศหลายรัฐให้รับที่จะให้สัญชาติแก่คนไร้สัญชาติในประเทศไทย ในวันนี้ ประเทศไทยมีความตกลงพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวไร้สัญชาติในหลายประเทศ กล่าวคือ (๑) ประเทศพม่า (๒) ประเทศลาว (๓) ประเทศกัมพูชา นอกจากนั้น ยังมีการเจรจากับประเทศที่สามเพื่อรับให้สัญชาติแก่คนไร้สัญชาติในค่ายพักพิงคนหนีภัยการสู้รบอยู่ตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นการเจรจาทั้งที่โดยผ่านและไม่ผ่าน UNHCR โดยสรุป การขจัดปัญหาคนไร้สัญชาติในประเทศไทยจึงอาจทำโดย (๑) การให้สัญชาติไทย (๒) การผลักดันให้ประเทศต้นทางยอมรับให้สัญชาติ และ (๓) การผลักดันให้ประเทศที่สามยอมรับให้สัญชาติ

----------------------------

๓.คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพราะประสบปัญหาความเสมือนไร้สัญชาติ

----------------------------

ด้วยเหตุที่มีคนต่างด้าวเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยอย่างยาวนาน จึงปรากฏมีคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของรัฐต่างประเทศ แต่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวโดยข้อเท็จจริงกับประเทศเจ้าของสัญชาติเลย และสิ้นความเป็นไปได้ที่จะกลับไปใช้ชีวิตในประเทศต้นทางของตน หรือของบุพการี ล้วแต่กรณี การเป็นคนต่างด้าวของบุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่สภาวะเสมือนไร้สัญชาติ

การแก้ไขปัญหาเสมือนไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทยเป็นไปได้ใน ๓ ทิศทาง กล่าวคือ

ทิศทางแรก หากเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕   มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ยอมรับให้มีสถานะคนสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ หน้าที่ในการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านประเภท ท.ร.๑๔ เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนราษฎร ซึ่งการละเลยย่อมนำไปสู่ความรับผิดทั้งทางกฎหมายปกครองและกฎหมายอาญา แต่ในความเป็นจริง มีปัญหาประสิทธิภาพในการบังคับใช้มาตรานี้อยู่มาก

ทิศทางที่สอง หากเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕   มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑  ยอมรับให้มีสิทธิร้องขอสถานะคนสัญชาติไทย ส่วนแนวคิดและวิธีการได้มาซึ่งสัญชาติไทยเป็นไปตามยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘

ทิศทางที่สาม หากเป็นบุคคลที่เกิดนอกประเทศไทยและมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทย มาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘  ยอมรับให้มีสิทธิร้องขอสถานะคนสัญชาติไทย ส่วนแนวคิดและวิธีการได้มาซึ่งสัญชาติไทยเป็นไปตามยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘

ทิศทางที่สี่ หากเป็นบุคคลที่เกิดนอกประเทศไทยและมีความสัมพันธ์อย่างแท้จริงกับประเทศไทย มาตรา ๑๐ - ๑๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘  ยอมรับให้มีสิทธิร้องขอสถานะคนสัญชาติไทย ส่วนแนวคิดและวิธีการได้มาซึ่งสัญชาติไทยเป็นไปตามยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘

ทิศทางที่ห้า หากเป็นบุคคลที่เกิดในหรือนอกประเทศไทย และประสบปัญหาความไร้ที่พึ่งในการดำรงชีวิต มาตรา ๑๒/๑ แห่ง  พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘  ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ยอมรับให้มีสิทธิร้องขอสถานะคนสัญชาติไทย ส่วนแนวคิดและวิธีการได้มาซึ่งสัญชาติไทยเป็นไปตามยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘

----------------------------

 

 


[1] กล่าวคือ มาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.ศัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธํนวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

[2] กรณีศึกษาภายใต้โครงการวิจัยผลกระทบของความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย : การตรวจสอบปัญหาและแนวคิดในการแก้ไขปัญหา,  หรือเรียกโดยย่อว่า “โครงการเด็กไร้รัฐ”, ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทุน ศ.คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสาธารณุสุขแห่งชาติ, รวบรวมโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙, ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=2&s_id=56&d_id=56

[3] ซึ่งบัญญัติว่า “(๑) บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ (Everyone has the right to a nationality.) (๒) การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือการปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้นจะกระทำมิได้ (No one shall be arbitrarily deprived of his nationality nor denied the right to change his nationality.)”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ (Every child has the right to acquire a nationality) ”

หมายเลขบันทึก: 374147เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท