โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

หลักธรรมคำคมข้อคิดชีวิตรักจากแดจังกึม 21


“เพราะแพทย์หญิงไม่มีฐานันดรศักดิ์ เมื่อไม่มีตำแหน่งย่อมไม่มีการแข่งขัน เมื่อไม่มีการแก่งแย่งชิงดีย่อมมิต้องใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น มีเพียงการอยู่รวมกันด้วยความสมานฉันท์”
หลักธรรมคำคมข้อคิดชีวิตรักจากแดจังกึม 21
โสภณ เปียสนิท
........................................
              “เพราะแพทย์หญิงไม่มีฐานันดรศักดิ์ เมื่อไม่มีตำแหน่งย่อมไม่มีการแข่งขัน เมื่อไม่มีการแก่งแย่งชิงดีย่อมมิต้องใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น มีเพียงการอยู่รวมกันด้วยความสมานฉันท์” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า31)


                อำนาจและยศตำแหน่งทางหนึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้าทั้งตนเองและสังคม แต่อีกทางหนึ่งกลับกระตุ้นให้เกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ดังนั้นจึงเป็นเหมือนดาบสองคม เหมือนเหรียญสองด้านที่ผู้อ่านต้องระมัดระวังเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์มากกว่าโทษ
 
              “ครั้งเป็นนางวัง สิ่งที่ควรต้องฝันมิใช่ตำแหน่งซังกุงสูงสุด หากแต่ควรเป็นสุดยอดแห่งอาหารต่างหาก แม้นนางวังห้องเครื่องทุกนางได้ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ คงมิต้องโกรธเกลียด หรือแก่งแย่งชิงดีกันจนโลหิตเหือดแห้งจากร่างดังยามนี้เป็นแน่” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า31)
                เมื่อเป้าหมายผิดพลาด ผลลัพธ์ย่อมต้องผิดพลาดเช่นกัน เมื่อนางวังเห็นว่าตำแหน่งสำคัญกว่าฝีมือการทำอาหารจึงเกิดการแย่งชิงตำแหน่งมากกว่าการเป็นสุดยอดฝีมือทางอาหาร และบางคนต้องการใช้ตำแหน่งซังกุงเป็นบันไดไปสู่อำนาจและความร่ำรวย จึงเป็นความผิดสองชั้นก่อทุกข์เกิดโทษแก่สังคมมากมาย

 

               “สำหรับจังกึมแล้ว ต่อไปนี้ไม่มีแม้แต่ต้องการเป็นหัวหน้าแพทย์หญิง หรือสิ่งใดที่สูงกว่า ชีวิตนี้มิต้องยึดติดกับตำแหน่งหรือสถานะแต่อย่างใด” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า31)


                มิต้องยึดติดกับตำแหน่งหรือสถานะ เป็นคำที่กล่าวได้ง่าย แต่ทำได้ยาก คนส่วนมากกล่าวคำนี้โดยยังไม่รู้ว่าตนเองยังยึดติดอยู่ในส่วนลึก จิตใจที่ปล่อยวางกลับโปร่งโล่งเพียงพอต่อความก้าวหน้าสู่ตำแหน่งอันสูงส่งได้อย่างง่ายดาย ดังคำเก่าที่ว่า “โลภมากลาภหาย”

 

               “แต่สำหรับตระกูลชเว ครอบครัวที่ประสงค์เพียงเป้าหมาย มิเคยใส่ใจถึงวิธีการแล้ว เรื่องเช่นนี้ใช่เหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า39)


                เมื่อเป็นมิจฉาทิฐิเห็นผิดเป็นชอบเสียแล้ว สำหรับบางคน มองข้ามความสำนึกอันถูกต้องดีงามทั้งปวง ความต้องการมีเพียงความร่ำรวยและอำนาจอันจอมปลอมเท่านั้น ตระกุลชเวเป็นตัวอย่างทางผิดพลาดที่ผู้อ่านควรพิจารณาหลีกเลี่ยง ตามคำกล่าวที่ว่า “คนฉลาดเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น คนไม่ฉลาดเรียนรู้จากความผิดพลาดของตน”

 

                “ทันทีที่เริ่มระแวงใจขึ้น เรื่องราวทั้งมวลจึงสามารถปะติดปะต่อได้อย่างเหมาะเจาะ หากเป็นเรื่องจริง ตนคงมิอาจละเว้นผู้คนเหล่านี้ได้” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า39)


                จังกึมเริ่มจับเค้าลางของขบวนการใส่ร้ายป้ายสีแม่ของตน อาจารย์ของตน จนคนอันเป็นที่รักของจังกึมต้องจบชีวิตลงก่อนเวลาอันควร เพราะบังเอิญไปขวางเส้นทางสู่อำนาจและความร่ำรวยของตระกูลชเว ความต้องการแก้แค้นจึงเกิดขึ้น แต่คุณธรรมในใจยังคงเหนี่ยวรั้งให้จัดการเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรม

 

                “หากโกรธเกลียดผู้อื่น ตับของตนเองจะเริ่มเสื่อม” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า40)
                คำของพระท่านว่า “เกลียดคือโง่ โมโหคือบ้า ชังน้ำหน้าเขาเท่ากับจุดไฟเผาใจเราเอง” คนจำนวนมากคิดผิดว่าการเกลียดโกรธผู้อื่นเป็นสิ่งที่ควรยินดี บางคนรู้ว่าโกรธหรือพยาบาทเขาเผารนจิตใจตนจนเป็นทุกข์ แต่ยังไม่เลิกโกรธ บางคนไม่รู้ว่าเกลียดโกรธเป็นโทษแก่ตน หนักเข้าร่างกายของตนเองอ่อนแอลงและโรคร้ายรุมล้อม บทสรุปการโกรธผู้อื่นคือการทำร้ายตนเอง
               “ขณะที่จังกึมครุ่นคิดด้วยความเจ็บปวดใจ คึมยองและซังกุงชเวยังคงนิ่งอึ้ง ที่เคลื่อนไหวเวลานี้มีเพียงดวงอาทิตย์” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า40)


                จังกึมเจ็บปวดใจเพราะคิดถึงบุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไปเพราะถูกใส่ร้าย ส่วนคึมยองและซังกุงชเว นิ่งอึ้งเพราะขัดใจ ที่เห็นคนที่ไม่ต้องการเห็น คนที่ต้องการให้ตาย หรือจากไปอยู่แสนไกลกลับมายืนอยู่ตรงหน้า พระท่านว่า “พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ พบสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็ทุกข์” จึงเป็นเรื่องจริง

 

               “รู้สึกเจ็บปวดหน้าท้องราวลำไส้หลุดออกนอกร่าง การได้พบเห็นจังกึม ยิ่งในวังหลวงแห่งนี้อีกครั้ง” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า41)


                การพบเห็นคนที่ไม่ชอบใจหรือเกลียดชัง นอกจากทำให้ทุกข์ใจแล้วยังทำให้เกิดโรคแก่ร่างกายได้ด้วย คนผู้ฉลาดอ่านข้อความนี้แล้วควรหาทางหลีกเลี่ยงจากโทษภัยเช่นนี้ด้วยการ “รู้จักโทษของความโกรธ รู้จักหยุดความโกรธ เรียนรู้การให้ความเมตตาแก่ทุกคนด้วยความจริงใจ ฝึกการมีเมตตาอย่างต่อเนื่อง เพราะเมตตาก่อให้เกิดความสุข”

 

                “ตนจำต้องแพ้พ่ายต่อกิเลสทั้งของตนและของอาหญิง แต่นางกลับไม่ใช่ จังกึมเป็นเหมือนต้นผักกาดหอม ยิ่งตัดออก ยิ่งงอกเงยยิ่งสดใส เมื่อครุ่นคิด รู้สึกขุ่นเคืองใจบอกไม่ถูก” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า42)


                มีคำกล่าวว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” ผู้ที่หวังความเจริญด้วยการทำร้ายผู้อื่นย่อมไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว เหมือนสั่งสมของเสียไว้ในจิตใจของตน นานเข้าจิตใจของตนกลับเป็นโทษแก่ตนเอง ต่างจากจังกึมที่แม้จะเป็นผู้ถูกทำร้าย แต่พยายามระงับความโกรธแค้น และเอาชนะด้วยธรรม และความมุ่งมั่นต่อการศึกษา

 

               “ตอนที่เดินไปยังวัดอุนอัมซา หากมิได้พบเห็นนางอยู่ร่วมกับจองโฮ ก็คงมิต้องบ้าคลั่งถึงเพียงนี้” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า42)


                ความรักที่ไม่ได้รับการสนองตอบเป็นความทุกข์ และการคิดว่าเขาไม่รักเราเป็นความผิดของคนอื่นนั้น เป็นความผิดพลาด เพราะที่เขาไม่รักเราเป็นความผิดของเรา ที่ขาดคุณสมบัติอันดีที่ทำให้เขารัก การแก้ไขจึงต้องแก้ที่เรา แก้ไขด้วยการทำร้ายผู้อื่นนั้นไม่อาจเรียกเอาความรักคืนมาได้

 

                “การเก็บผู้อื่นไว้ได้เพียงในใจนั้นเป็นเรื่องทุกข์ทรมานที่ตนก็ทราบเป็นอย่างดี นับแต่เวลานั้นตนได้ล้มเลิกจิตใจต้องการแข่งขันอย่างเป็นธรรมไปโดยสิ้นเชิง” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า42)


                เนื้อความนี้มีสองข้อคิด รักคุดเป็นความทุกข์ และล้มเลิกการเอาชนะด้วยความดี เปลี่ยนเป็นเอาชนะด้วยเล่ห์เหลี่ยม ทั้งสองประการเป็นความผิดพลาดของคึมยอง ชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าการแก้ไขไม่ควรเอาวิธีของคึมยองเป็นแบบ รักคนที่เขาไม่รักเราก็เปลี่ยนไปรักคนอื่นที่เขารักเราเสีย แต่หากต้องการเอาชนะจริง ๆ ก็ควรเอาชนะด้วยความดีให้ได้

 

               “ตนสนใจเพียงการได้ชัยชนะแม้นต้องสูญเสียมโนธรรมในใจไปอย่างไรก็ต้องได้ชัยชนะกลับคืนมาบ้าง” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า42)


                ความต้องการเอาชนะด้วยความไม่ดีถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ ตามคำกล่าวว่า “แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร” คือแพ้ต่อความคิดชั่วร้ายในจิตของตน หากชนะด้วยความคิดแบบนี้ถือว่าเป็นมาร ชัยชนะที่ได้ก็มิใช่ชัยชนะที่แท้ เพราะอาจกลับแพ้ได้ เป็นชัยชนะที่ก่อเวร ชัยชนะที่แท้และถาวรคือการการชนะความชั่วร้ายในตน

 

               “ขณะตอบคำถาม คึมยองรู้สึกว้าวุ่นใจอย่างมาก เป็นสตรีที่สามารถเป็นสหายได้แต่ปัญหาคือนางโดดเด่นเกินไปสำหรับการเป็นสหาย” (แดจังกึม/เล่ม4/หน้า47)

 

                จิตใจของคึมยองเป็นเหมือนจิตใจของผู้อ่านทุกคน คือจิตใจเปรียบเหมือนเมืองแห่งหนึ่งที่คนสองฝ่ายต่อสู้กัน ฝ่ายดีต้องการเอาจังกึมเป็นเพื่อน ฝ่ายร้ายไม่ต้องการให้จังกึมโดดเด่นจนชนะตนทั้งด้านอาหารและความรัก ในที่สุดฝ่ายร้ายแย่งชิงเมืองคือจิตใจของคึมยองได้ จึงขับไล่ฝ่ายดีออกไป เมื่อคึมยองยอมให้ฝ่ายร้ายเข้าครองเมืองตนเองจึงได้รับผลร้ายตามไปด้วย
หมายเลขบันทึก: 375105เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2010 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

ขอแสดงความชื่นชมค่ะ

กับการนำธรรมะมาปรับใช้ อธิบายเหตุการณ์เหตุการณ์ค่ะ

เรื่องแดจังกึมนี้ ให้ความสำคัญกับผู้หญิงมาก เนื้อเรื่องดีเยี่ยม ภาษาศิลป์ดีมาก อุดมด้วยคุณธรรม อยากให้ผู้หญิงทุกคนในโลกนี้ได้อ่าน จะได้รู้ถึงความสำคัญของตนเอง ครับผม

มาชม

... เมื่อไม่มีตำแหน่งย่อมไม่มีการแข่งขัน เมื่อไม่มีการแก่งแย่งชิงดีย่อมมิต้องใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น มีเพียงการอยู่รวมกันด้วยความสมานฉันท์”...เหมือนมุมคิดได้มาจากปรัชญาเต๋าเลยนะครับผม

เรียนอาจารย์ยูมิ

น่าจะใช้นะครับ เพราะเกาหลีได้รับอิทธิพลจากจีนไม่น้อยทีเดียว

  • กับชีวิตที่เหลืออยู่ ขอทำความสุขให้เป็นงาน  ข้อสรุปชีวิตการทำงานของตนเองในปัจจุบันนั้น เพื่อ จะได้มีความสุขในทุกๆวัน

เข้าหลักการแล้วครับคุณอุ้มบุญ

ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท