ทัศนคติที่ดี (Positive Thinking)


บ่อยครั้งที่เราได้ยินผู้คนมักพูดว่ามีทัศนคติที่ดี หากมีใครกล่าวเช่นนี้ว่าเรามีทัศนคติที่ดี ประการแรกที่สามารถรู้สึกได้คือ เราได้รับคำชมเชยมากกว่าที่จะถูกตำหนิ การมีทัศนคติที่ดี โดยนัยของมันเองก็คงเป็นคนละด้านกับการมีทัศนคติที่แย่ หรือมีทัศนคติที่ไม่ดี ในการที่เราจะทำความเข้าใจ กับการมีทัศนคติที่ดี ซึ่งโดยลักษณะของตัวมันเอง เป็นนามธรรมที่จับต้องได้ยาก และอาจจะหาคำนิยามที่สามารถสรุปความหมายทุกนัยของการมีทัศนคติที่ดีได้

บ่อยครั้งที่เราได้ยินผู้คนมักพูดว่ามีทัศนคติที่ดี หากมีใครกล่าวเช่นนี้ว่าเรามีทัศนคติที่ดี ประการแรกที่สามารถรู้สึกได้คือ เราได้รับคำชมเชยมากกว่าที่จะถูกตำหนิ การมีทัศนคติที่ดี โดยนัยของมันเองก็คงเป็นคนละด้านกับการมีทัศนคติที่แย่ หรือมีทัศนคติที่ไม่ดี ในการที่เราจะทำความเข้าใจ กับการมีทัศนคติที่ดี ซึ่งโดยลักษณะของตัวมันเอง เป็นนามธรรมที่จับต้องได้ยาก และอาจจะหาคำนิยามที่สามารถสรุปความหมายทุกนัยของการมีทัศนคติที่ดีได้


ดังนั้นในเบื้องต้นเราคงต้องมาพิจารณาถึงนิยามของคำว่า ทัศนคติ ว่าคืออะไร ส่วนที่ว่าทัศนคติที่ดีเป็นเช่นใดนั้น ค่อยพิจารณาในลำดับต่อไป


ในขั้นแรกของการทำความเข้าใจถึงทัศนคติที่ดีนั้น เราคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทัศนคติคืออะไร ทัศนคติ เป็นคำสนธิระหว่าง ทัศน,ทัศน์ หรือ ทัสสนะ ซึ่งหมายความว่า ความเห็น ความเห็นด้วยปัญญา ส่วนคติ หมายความว่า แนวทาง


ดังนั้นคำว่า ทัศนคติ จึงน่าจะรวมความได้ว่า คือ แนวความคิดเห็นที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นที่ตั้ง เป็นความคิดเห็นซึ่งมีพื้นมาจากปัญญา กล่าวคือ ใช้ปัญญาในการพิจารณาการเห็นนั้นเมื่อเราทราบว่า ทัศนคติ คือ แนวความคิดเห็น


หากจะพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนแต่ต้องมีทัศนคติ ตลอดเวลา ก่อนอื่นที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ทัศนคติที่เรามีนั้นในที่นี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งที่เราเรียกว่า ความเห็น หรือความคิดเห็นเท่านั้น หากแต่ความเห็น หรือความคิดเห็นตามที่เข้าใจในความหมายทั่วไปนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเห็นซึ่งเิกิดขึ้นแล้ว ผ่านกระบวนการแสดงออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ ว่าเราเห็นอย่างไร ไม่ว่าจะโดยผ่านกระบวนการของการพูด (วาจา) เขียน (ลายลักษณ์อักษร) หรือโดยอากัปกริยาอื่นใดเท่านั้น หากแต่การเห็นในที่นี้หมายถึง ไปทั้งกระบวนการคิดโดยไม่พิจารณาว่าสิ่งที่คิดนั้นจะได้แสดงออกมาภายนอก และ หรือมีผู้ใดรับรู้ถึงความเห็นดังกล่าว หรือไม่ ดังนั้น ความเห็นจึงเป็นเพียงผลพวงที่ออกมาจากการคิดเท่านั้น


ทีนี้เมื่อเราเข้าใจกันแล้วว่า ทัศนคติที่ดี คือ แนวความคิดเห็นที่ดี คือ แนวความคิดเห็นที่ดี ต่อมาจึงพิจารณากันต่อไปว่า แล้วทัศนคติของมนุษย์ที่ว่าทุกคนมีอยู่ตลอดเวลา โดยอาจแยกสิ่งที่มนุษย์มีทัศนคติออกได้ 3 ด้านดังนี้


ด้านที่1 มนุษย์ทุกคนมีัทัศนคติต่อบุคลิกภาพและการดำเนินไปของสังคม ทั้งตนเองและบุคคลอื่นเสมอ ทุกคนมีทัศนคติในการดำเนินชีวิต ทุกช่วงและทุกขั้นตอนของการดำเนินชีวิตของตน เช่น การเดิน การวิ่ง การโดยสารรถ การนอน การกิน การเสพบริโภควัตถุ


ด้านที่2 มนุษย์มีทัศนคติต่อการพิจารณา และควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง ทั้งโดยเหตุปัจจัยที่มาจากตนเอง และสังคมรอบข้างเสมอเช่น การโมโห การโกรธ ดีใจ เสียใจ ทุกข์ระทมใจ ปีติ ปราโมทย์ ทุกข์ใจ เหนื่อยใจ


ด้านที่3 มนุษย์มีทัศนคติต่อการคิดเห็น แสดงความคิดโดยผ่านกระบวนการคิดอย่างแยบคาย ทั้งในเรื่องของตนเอง และ เรื่องของสังคมรอบข้าง เช่น การแก้ปัญหา การแสดงความคิดเหตุ การคิดหาเหตุผล การตัดสินใจ การยอมแพ้ การปล่อยวาง


ทัศนคติหรือแนวความคิดเห็นในทั้งสามด้านนี้ อาจปรากฎออกมาในรูปแบบต่างๆโดยการผสานกันอยู่อย่างแยกออกจากกันแทบไม่ได้ หรืออาจอยู่แยกเป็นเอกเทศ จากกันเลยก็ได้ ในบางกรณี


แต่หากเราจะพิจารณากันให้ดีแล้วทัศนคติทั้งสามด้านของคนเรานั้น อาจแบ่งแยกโดยเอาตัวเราเป็นที่ตั้งได้อยู่ 2 ประการเท่านั้น คือ ทัศนคติต่อตนเอง และ ทัศนคติต่อคนอื่น สิ่งอื่นรอบข้าง ซึ่งทัศนคติทั้ง 2 ประการดังกล่าวของคนเรานั้นเป็นตัวขับเคลื่อนที่ก่อให้เกิดกระบวนการคิด การกระทำต่างๆตามมา ทั้งด้านที่ดีและไม่ดี ดังนั้นการที่เราจะสามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดนั้นส่วนสำคัญประการหนึ่งก็คือ ทัศนคติของตัวเราเอง นั่นเอง ที่เป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญประการหนึ่ง ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การมีทัศนคติที่ดี ก็เป็นปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความสำเร็จในทางที่ดีเช่นกัน แต่การที่เรามีทัศนคติที่ดี หรือมีการพัฒนาไปสู่การมีทัศนคติที่ดีนั้น จะดำเนินไปอย่างไรเป็นอีกประการหนึ่งที่ทุกคนควรต้องมาพิจารณากัน ทัศนคติที่ดี หรือการคิดเชิงบวก (Positive Thinking) ทั้งในด้านตนเอง และในด้านบุคคลอื่นที่สำคัญนั้นมีอยู่หลายประการดังนี้


ประการที่การมีความเชื่อมั่นในตัวเอง

การมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นทัศนคติด้านบวกต่อตนเองว่า ตนเองมีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากน้อยเพียงใด การมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นกรณีที่เราทุกคนควรมั่นใจว่าเรามีศักยภาพเพียงพอในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ในความเป็นจริงคนเราทุกคนไม่สามารถที่จะรู้และเข้าใจดีในทุกเรื่อง แต่ถึงแม้ว่าสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำนั้นตนเองไม่มีความสามารถเฉพาะด้านนั้นเพียงพอ ก็ต้องมีควาเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถฝึกฝน จนสามารถทำงานนั้นได้ดังนั้น ความเชื่อมั่นในตนเองในที่นี้จึงเป็นความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และอีกทางหนึ่งก็คือ การเชื่อมั่นในการพัฒนาศักยภาพของตนเองด้วย


ประการที่ 2 การประเมินศักยภาพตัวเอง

การประเมินศักยภาพตัวเอง เป็นทัศนคติต่อตนเองในความคาดหวังถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยความคาดหวังในที่นี้ต้องเป็นความคาดหวังที่มีพื้นฐานบนความรู้และความเข้าใจถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง บางครั้งผู้คนอาจคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่สูงโดยขาดการพิจารณาถึงพื้นฐานของความเป็นจริง ทำให้เกิดความผิดหวังขึ้นได้ แต่ในทางกลับกันการคาดหวังต่ำโดยไม่พิจารณาถึงพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ว่าเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง การประเมินคุณค่าถึงศักยภาพของตนที่ต่ำ หรืออาจเกิดจากการที่ไม่อยากเผชิญกับความผิดหวัง ก็อาจทำให้ขาดแรงผลักดันที่จะทำงานนั้นให้เสร็จ และอาจทำให้ผลงานที่ออกมานั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้นทุกคนควรตระหนักไว้เสมอว่าคนเรามีศักยภาพในการพัฒนาตนเองเสมอ


ประการที่ 3 การยอมรับตนเอง และการให้เกียรติตัวเอง

การให้เกียรติตัวเอง หรือการยอมรับตัวเอง เป็นทัศนคติต่อตัวเองที่มีพื้นฐานร่วมมากับการมีความเชื่อมั่นในตนเอง และการประเมินศักยภาพของตนเอง คือคนเราเมื่อมีความเชื่อมั่นในตนเอง และสามารถประเมินศักยภาพของตนเองได้ ก็ต้องยอมรับผลที่ออกมาให้ได้ ไม่ว่าผลลัพธ์นั้นจะเป็นที่พอใจหรือไม่ก็ตาม เพราะอย่างไรก็ดีแม้ว่าผลที่ออกมาจะดี เราก็ไม่ควรยึดติดหรือหยุดอยู่กับที่ เพราะคนเราพัฒนากันได้ตลอดเวลา การหยุดอยู่กับที่ในขณะที่คนอื่นเดินไปข้างหน้านั้น ก็ไม่ต่างจากกับการเดินถอยหลัง แต่หากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่น่าพอใจ เราก็ไม่ควรดูถูกตัวเอง หากแต่ต้องให้เกียรติตัวเอง และพร้อมที่จะพัฒนาตนต่อไปให้มีศักยภาพให้สูงขึ้น

 

ประการที่ 4 การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 

การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นทัศนคติที่มองว่าคนเราควรมีอิสระ เสรีภาพทางด้านความคิด ไม่จำเป็นต้องเดินตามกรอบที่ตีไว้หากแต่บ่อยครั้งที่เราพบว่าผู้คนมักกล่าวอ้างว่าเป็นการคิดนอกกรอบ แต่ที่จริงแล้ว การคิดนอกกรอบตามนัยที่แท้แล้วอาจมิใช่เพียงการใช้เสรีภาพทางการคิดให้แตกต่างออกไปโดยไม่พิจารณาถึงเหตุที่กรอบนั้นถูกตีขึ้นมาทำให้ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างหรือสวนกระแสกับกรอบดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิงที่อาจเรียกว่า ขบถทางความคิด หากแต่ที่จริงแล้วการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต้องเป็นการใช้อิสระ เสรีภาพทางด้านความคิดที่มีพื้นฐานอยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจตามสภาพความเป็นจริงที่ปรากฎ โดยไม่ลืมที่จะพิจารณากรอบที่ถูกขีดขึ้นมานั้นด้วย


ประการที่ 5 การประเมินและความคาดหวังต่อศักยภาพของคนอื่น 

ความคาดหวังต่อศักยภาพของตนเอง เป็นทัศนคติที่มีฐานมาจากการประเมินถึงศักยภาพของตนเองโดยมีพื้นฐานถึงความเข้าใจ หรือรู้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเองหากเราสามารถประเมินศักยภาพของตนเองว่ามีเพียงพอแล้ว ก็ต้องไม่ลืมในการพัฒนาศักยภาพของเราให้สูงขึ้น หรือแม้ว่าเราประเมินได้ว่าศักยภาพของเราไม่เพียงพอ ก็ต้องพยายามในการพัฒนาศักยภาพของเราให้สูงขึ้นเช่นกัน แต่บ่อยครั้งคนเราหาได้ทำเช่นนั้นไม่ หากแต่เมื่อประเมินศักยภาพของตนเองแล้ว แทนที่จะมีการพัฒนาตนเอง กลับไปประเมินศักยภาพของคนอื่น โดยมุ่งหวังที่จะอาศัยศักยภาพของคนอื่นในการเข้ามาจัดการงานของตน ซึ่งเป็นการที่เรานำเอาความสำเร็จของงานไปขึ้นอยู่กับคนอื่น การมีทัศนคติต่อศักยภาพของคนอื่นที่ถูกต้อง จึงควรเป็นไปในแนวทางที่เราจะต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงพอที่จะทำการของตนให้ลุล่วง จนอาจเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ด้วย หรือไม่ก็เป็นกรณีที่ตนเองมีศักยภาพ แต่กลับผลักภาระให้ความสำเร็จของงานไปขึ้นกับศักยภาพของบุคคลอื่น โดยลืมไปว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้บุคคลอื่นพัฒนาศักยภาพมากขึ้นในขณะที่ตนเองกลับถูกทิ้งให้เดินตาหลังผู้อื่นแต่อย่างเดียว


ประการที่ 6 ทัศนคติด้านตรรกะ ในการแก้ปัญหา 

ทัศนคติด้านตรรกะในการแก้ปัญหา เป็นทัศนคติซึ่งคนส่วนใหญ่มี และใช้อยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่มีปัญหาเข้ามาในชีวิต โดยตรรกะในการทัศนคติที่ดีในการแก้ปัญหาในที่นี้ คือ การที่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราสามารถแก้ได้เพียงใด การสาวหาเหตุปัจจัยที่เป็นที่มาของปัญหา บ่อยครั้งที่คนเรามักมองสาเหตุแห่งปัญหาผิดจุด คือ การมองสาเหตุของปัญหาจากจุดไกลมายังจุดใกล้ มองจากภายนอกเข้ามาภายใน ซึ่งที่จริงแล้วการหาเหตุแห่งปัญหาที่ง่ายและเป็นแนวคิดที่ดี ควรเริ่มจากการมองดูที่ตัวเองก่อนว่าเป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดปัญหานั้นขึ้นหรือไม่ แทนที่พยามหาว่าอะไร หรือใครเป็นสาเหตุแห่งปัญหานั้น อีกทั้งในบางครั้งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าตนเองเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหรือ ความผิดพลาดนั้นๆขึ้น แต่ก็กลับไม่ยอมรับความจริง ว่าตนผิดพลาดและควรเร่งพัฒนาศักยภาพของตน แต่กลับครุ่นคิดวกวนความผิดพลาดนั้นจนท้อแท้ และไม่เดินต่อไปยังจุดหมายที่ตั้งใจ 


ทัศนคติดังกล่าวข้างต้น ทั้ง 6 ประการ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของทัศนคติที่ดี หรือแนวคิดเชิงบวกพื้นฐานต่อตนเอง และต่อสังคมรอบข้างที่อย่างน้อยทุกคนควรต้องมีและต้องพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้มีทัศนคติที่ดีด้านอื่นๆ ให้มีมากขึ้นตามลำดับต่อไป

หมายเลขบันทึก: 378456เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2010 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Positive Thinking = สัมมาทิฏฐิ

ขอบคุณครับ

การมีทัศนคติในด้านความคิด เราก็ต้องคิดในแง่บวกไว้ก่อนถึงจะดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท