ตำรวจทำงานเดือนละ ๑๐ วันจริงหรือ (๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓)


สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา รายงานอีกครั้งครับผม

วันนี้วันอาทิตย์ขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ หลัง ปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๒๙ ตรงกับวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๓ ปี วันหยุดวันที่ ๒ ใน ๔ วันสำหรับพี่น้องหลายๆ คน พรุ่งนี้และวันมะรืนนี้จะถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาแล้ว ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านเข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ฟังธรรมในวันสำคัญยิ่งนี้โดยพร้อมเพียงกันอีกครั้งหนึ่งนะครับ

เหมือนเดิมครับวันนี้ผมจะขอนำเรื่องราวของตำรวจมาเล่าให้ฟังกันเช่นเคย เรื่องที่จะนำเสนอนั้นก็ตามจั่วหัว "ตำรวจทำงานเดือนละ ๑๐ วันจริงหรือ" ที่หลายๆ คนหลายๆ ท่านค้างคาใจ รวมถึงเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น อย่างเช่นคำพูดที่ผมเคยได้ยินมาบ่อยครั้ง "ตำรวจนี่สบายเนาะ ทำงานวันแล้วก็พักไปสอง เดือนหนึ่งมี ๓๐ วันเท่ากับทำงานแค่ ๑๐ วันส่วนอีก ๒๐ วันหยุด แหม สบายจริงๆ แบบนี้ไม่เอาเปรียบข้าราชการอื่นไปหน่อยหรือ" ครับ เท่าที่ได้ยินได้ฟังมาเป็นแบบนั้นจริงๆ จะโทษใครก็ไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้สัมผัสหรือรู้จักการทำงานของพวกเรามากนัก แต่จะปล่อยให้เข้าใจไปแบบนั้นโดยไม่มึการชี้แจงข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเลยหรือ น่าคิดเหมือนกัน แล้วสิ่งที่ผมจะนำมาพูดมาเล่าให้ฟังกันนี่ก็ไม่ใช่การแก้ตัวอะไรทั้งนั้น เพียงแต่อยากนำเสนอ "ความจริง" ว่าพวกเราทำงานเดือนละ ๑๐ จริงหรือไม่

ท่านที่รักครับ "ตำรวจทำงานเดือนละ ๑๐ วันจริงหรือ" ตามที่ผมจั่วหัวเรืองนั้น คำว่า "ตำรวจ" นี้ผมขอพูดเฉพาะตำรวจที่ทำงาน"โรงพัก" หรือ "สถานีตำรวจ" เท่านั้นเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะพูดจะเล่าโดยตรง และก่อนเล่าแจ้งแถลงไขก็ขอท้าวความก่อนนะครับว่างานที่ "โรงพัก" ของตำรวจเราเนี่ยะประกอบไปด้วยงานธุรการ,งานสืบสวน,งานสอบสวน,งานป้องกันปราบปรามและงานจราจร (ไม่รวมถึงานกิจการพิเศษอย่างเช่นโรงพักแถวๆ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้บางโรงพักนะครับซึ่งเขาจะมีงานเหล่านี้ตามสภาพของพื้นที่และเหตุการณ์หรือคำสั่งเฉพาะของผู้บังคับบัญชา) งานที่ผมพูดถึงนั้นถ้าไม่นับงานธุรการซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำงานคล้ายๆ กับข้าราชการทั่วไปคือทำงานตามวันและเวลาราชการตั้งแต่ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.แล้วงานอื่นๆ จะไม่เป็นแบบนั้น พวกเราทำงานตามตารางเวรที่กำหนดไว้หมุนเวียนกันไปตลอด ๒๔ ชั่วโมง และเรื่องที่จะนำมาพูดวันนี้ขอเป็นเรื่องงานป้องกันปราบปรามซึ่งจะเน้นเฉพาะ "งานสายตรวจ" เป็นหลักก่อนงานอื่นๆ ขอยกยอดไปเล่าในโอกาสต่อไป 

เรื่องที่เกี่ยวกับงานสายตรวจนี้ผมนำมาจากคู่มือการปฏิบัติในการจัดและควบคุมสายตรวจ (ฉบับปรับปรุงปี ๒๕๔๓) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดให้สถานีตำรวจทุกแห่งถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน โดยการจัดสายตรวจนี้จะต้องมีการจัดอย่างน้อยดังนี้
๑. สายตรวจรถยนต์
๒. สายตรวจรถจักรยานยนต์
บางโรงพักอาจจะมีการจัดสายตรวจประเภทอื่นอีกด้วยตามสภาพของพื้นที่โรงพักนั้นๆ แต่ที่แน่ๆ ก็คือสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต้องมี ไม่มีไม่ได้ แล้วการจัดสายตรวจทั้งสองประเภทนี้เป็นอย่างไร อาจจะไม่เหมือนกันทุกโรงพักครับตอบได้แบบนี้ แต่ส่วนใหญ่จะจัดสายตรวจรถยนต์แลรถจักรยานยนต์ไว้ ๓ ชุด แต่ละชุดอาจจัดเป็นหลายเขตตรวจตามสภาพพื้นที่น้อยใหญ่เพื่อให้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ตามคู่มือการปฏิบัติในการจัดและควบคุมสายตรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นในส่วนของสายตรวจรถยนต์กำหนดให้จัดสับเปลี่ยนกันผลัดละ ๒๔ ชั่วโมงคือวันละ ๑ ชุด ส่วนสายตรวจรถจักรยานยนต์ในแต่ละวันให้จัดเป็น ๓ ผลัดๆ ละ ๘ ชั่วโมงดังนี้
* ผลัดแรกตั้งแต่เวลา ๐๐.๐๐-๐๘.๐๐ น.
* ผลัดที่สองตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.
* ผลัดที่สามตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐-๒๔.๐๐ น.
ซึ่งสถานีตำรวจภูธรพานที่ผมรับราชการอยู่ในเวลานี้ก็ถือปฏิบัติแบบนี้โดยจัดสายตรวจรถยนต์จำนวน ๓ ชุด ส่วนรถจักรยานยนต์นั้นจัดไว้ ๔ ชุด

แล้วการทำงานของสายตรวจเราเขาทำกันแบบไหนนั้นผมจะเล่าให้ฟังต่อ เริ่มต้นที่ตั้งแต่ตอนเช้าของแต่ละวันเลยครับ ก่อนเวลา ๐๘.๐๐ น.เจ้าหน้าที่สายตรวจทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ผลัดที่จะปฏิบัติหน้าที่ต้องมาพร้อมกันบริเวณหน้าสถานีตำรวจจากนั้นเมื่อถึงเวลา ๐๘.๐๐ น.ก็จะเคารพธงชาติ,กล่าวคำปฏิญาณตนและอุดมคติตำรวจ



เสร็จแล้ว สวป.หรือนายตำรวจเวรหัวหน้าสายตรวจจะชี้แจงภารกิจและมอบหมายหน้าที่ปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่แล้วพวกเราก็จะออกปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ การปฏิบัติหน้าที่นั้นก็จะเป็นในเรื่องออกตรวจตามแผนการตรวจโดยลงลายมือชื่อในสมุดประจำที่ต่างๆ ที่กำหนด,การประชาสัมพันธ์เยี่ยมเยียนประชาชนเพื่อให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อทราบข้อมูล ข่าวสาร ปัญหาและความต้องการของประชาชน , สังเกต ตรวจตราบุคคลและยานพาหนะที่น่าสงสัย รวมทั้งสถานที่สำคัญหรือสถานที่ล่อแหลมต่อการเกิดเเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน, สืบเสาะหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบุคคลและข้อมูลท้องถิ่นในบริเวณที่รับผิดชอบที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ,การตั้งจุดตรวจตามสถานที่สำคัญ เป็นต้น

ต่อมาเมื่อถึงเวลา ๑๖.๐๐ น.สายตรวจรถจักรยานยนต์ผลัดนี้ก็หมดหน้าที่ผลัดใหม่ที่จะเข้าเวรตั้งแต่ช่วงนี้จนถึง ๒๔.๐๐ น.จะมาสับเปลี่ยน ส่วนสายตรวจรถยนต์ยังคงทำงานต่อไปจนกว่าจะถึงวันรุ่งขึ้น แล้วก็เหมือนเดิมครับก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ สวป.หรือหัวหน้าสายตรวจจะเรียกประชุมแถวมอบหมายและชี้แจงภารกิจก่อน สำหรับการเรียกประชุมแถวนั้นจะเป็นที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นที่โรงพักเสมอไป ในส่วนของ สภ.พานมักจะใช้การประชุมแถวผลัดนี้ในย่านชุมชนที่มีคนพลุกพล่านและพี่น้องประชาชนเห็นพวกเราได้อย่างชัดเจน เช่น บริเวณตลาดหรือแหล่งชุมชนเพราะเป็นจิตวิทยาในเรื่องการสร้างความอุ่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่พี่น้องนั่นเอง

หลังจากประชุมและมอบหมายภารกิจเสร็จแล้วพวกเราก็จะออกปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น.ซึ่งสายตรวจผลัดนี้งานค่อนข้างหนักหน่อยเพราะเป็นช่วงที่พี่น้องพักผ่อนหลับนอน แล้วก็มีช่วงความบันเทิงเริงใจอีกด้วยที่อาจจะมีการกระทำผิดเกิดขึ้นมากกว่าเวลากลางวัน

เสร็จภารกิจผลัดนี้แล้วผลัดต่อไปคือผู้ที่เข้าเวรเวลา ๐๐.๐๐-๐๘.๐๐ น.ก็จะมาเปลี่ยนซึ่งการปฏิบัติก็จะเหมือนๆ กับ ๒ ผลัดที่บอกข้างต้น นั่นก็คือการประชุมชี้แจงภารกิจของ สวป.หรือหัวหน้าสายตรวจก่อน



เสร็จแล้วก็ออกปฏิบัติหน้าที่จนถึงเวลา ๐๘.๐๐ น.

 

ต่อไปผมจะนำรายละเอียดในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สายตรวจเราโดยขอเน้นเฉพาะในส่วนของ สภ.พานเป็นหลัก (สภ.อื่นๆ ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงหรือเหมือนกัน) ว่าในแต่ละเดือน (ขอคิดเฉลี่ยว่าเดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน) พวกเราปฏิบัติงานกันจำนวนกี่วัน กี่ผลัด รวมแล้วเป็นเท่าไร ติดตามต่อได้เลยครับท่าน

* สายตรวจรถยนต์ซึ่งมีจำนวน ๓ ชุด แต่ละชุดปฏิบัติหน้าที่ผลัดละ ๒๔ ชั่วโมงหรือ ๑ วัน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะมีเวลาพัก ๒ วัน เท่ากับใน ๑ เดือนสายตรวจรถยนต์ปฏิบัติหน้าที่ ๑๐ วัน

* สายตรวจรถจักรยานยนต์ซึ่งมีอยู่ ๔ ชุดเมือคิดคำนวณแล้วแต่ละชุดจะมีการปฏิบัติดังนี้

๑. เข้าเวรผลัด ๐๐.๐๐-๐๘.๐๐ น.แล้วจะมีเวลาพัก ๑๖ ชั่วโมง
๒. เมื่อพักครบแล้วจะมาเข้าเวรผลัด ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.แล้วพักอีก ๑๖ ชั่วโมง
๓. พักครบ ๑๖ ชั่วโมงแล้วจะมาเข้าเวรผลัด ๑๖.๐๐-๒๔.๐๐ น.แล้วพัก ๒๔ ชั่วโมงหรือ ๑ วันเต็ม
๔. เสร็จแล้วก็จะกลับมาเข้าเวรลักษณะเดียวกันกับข้อ ๑.-๓. เช่นนี้อีก

เมื่อคำนวณจากเดือนหนึ่งซึ่งคิดเฉพาะ ๓๐ วันแล้วจะเห็นว่าสายตรวจรถจักรยานยนต์ต้องปฏิบัติหน้าที่เดือนละ ๒๓ ผลัดๆ ละ ๘ ชั่วโมงเท่ากับว่าใน ๑ เดือนต้องทำงาน ๑๘๔ ชั่วโมงโดยเฉลี่ย

ในส่วนการปฏิบัติของสายตรวจรถยนต์ซึ่งผมบอกกล่าวข้างต้นที่ว่าใน ๑ เดือนนั้นพวกเราทำงานกัน ๑๐ วันจริงๆ แต่คำว่า “วัน” หรือ “๑ วัน” นี้หลายคนมักละเลยที่จะพูดถึงว่า “๑ วัน” มีกี่ชั่วโมงโดยมองว่า ๑ วันของเราก็คือ “๑ วัน” ในการทำงานของข้าราชการประเภทอื่น การคิดวันทำการเหมือนข้าราชการอื่นนั้นไม่อาจใช้กับการทำงานของตำรวจ(ที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ธุรการ)ได้ เพราะพวกเราทำงานเป็นผลัดตามตารางเวรที่ผู้บังคับบัญชากำหนดหรือสั่งการไม่ใช่ทำงานเฉพาะวันเวลาราชการ ซึ่งจะเห็นว่าบางช่วงที่คนอื่นเขาทำงานแต่พวกเราได้หยุด หรือในกรณีกลับกันช่วงที่คนอื่นเขาหยุดแต่พวกเราต้องทำงาน เมื่อ ๑ วันมี ๒๔ ชั่วโมงและสายตรวจรถยนต์เราทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้น ใน ๑ เดือนพวกเราที่ทำงาน ๑๐ วันก็เท่ากับ ๒๔๐ ชั่วโมงมากกว่าสายตรวจรถจักรยานยนต์เสียอีก
ระยะเวลาการทำงานในแต่ละเดือนที่พูดถึงข้างต้นเป็นเพียงการทำงานตามวงรอบปกติเท่านั้นไม่รวมถึงการทำงานช่วงภารกิจพิเศษ เช่น ช่วงเทศกาลไม่ว่าจะเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่,เทศกาลสงกรานต์ หรือเวลาที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการอย่างอื่นซึ่งมีค่อนข้างบ่อยครั้งเข้าไปด้วย หากรวมช่วงพิเศษเหล่านี้แล้วเวลาในการทำงานของพวกเราจะเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร

กลับไปพูดถึงการทำงานของข้าราชการอื่นที่ทำงานเฉพาะวันและเวลาราชการโดยคิดฐานเฉลี่ยว่า ๑ เดือนมี ๓๐ วันนั้นจะพบว่าใน ๑ เดือนทำงาน ๒๒ วัน (นี่ยังไม่นับเดือนที่มีวันหยุดราชการมากเป็นกรณีพิเศษอย่างเช่นช่วงเข้าพรรษาปีนี้รวมไปด้วย) แล้วเวลาทำงานก็ตั้งแต่ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.ซึ่งเท่ากับ ๘ ชั่วโมงต่อวัน เมื่อคำนวณจำนวนชั่วโมงในการทำงานแล้วใน ๑ เดือนจะทำงาน ๑๗๖ ชั่วโมงซึ่งน้อยกว่าการทำงานของสายตรวจรถยนต์ ๖๔ ชั่วโมงและน้อยกว่าสายตรวจรถจักรยานยนต์ ๘ ชั่วโมงโดยเฉลี่ย

กล่าวสรุปการทำงานของตำรวจสายตรวจนั้นจะมากกว่าข้าราชการอื่นอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าพวกเราจะคิดว่าทำงานหนักกว่าคนอื่นนะครับเพราะระบบการทำงานมันไม่เหมือนกัน ซึ่งหากเราเป็นท่านเราก็ต้องทำเหมือนท่าน หรือหากท่านมาเป็นเราท่านก็ต้องทำเหมือนเรา

ครับ เรื่องที่ผมนำมาบอกมากล่าวให้ฟังในวันหยุดนี้ก็คือสิ่งที่อยากจะฝากแง่คิดไปยังหลายๆ ท่านว่าตำรวจ(สายตรวจ) เราทำงานวันเดือนละ ๑๐ วันจริงหรือไม่ได้คิดเอามาเปรียบเทียบว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบหรืองานใครหนักกว่ากันแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นขอให้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละท่านก็แล้วกันนะครับ

อนึ่ง สำหรับการทำงานของตำรวจโรงพักสายงานอื่นที่ไม่ใช่งานธุรการนั้นจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับงานสายตรวจนี้ซึ่งผมจะขอยกยอดไปพูดหรือเล่าให้ในโอกาสต่อไป

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

คำสำคัญ (Tags): #2503
หมายเลขบันทึก: 378525เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2010 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สนับสนุนเต็มที่ค่ะ

มีน้องชายเป็นตำรวจ

ปีใหม่ สงกรานต์ ไม่ได้ทำบุญใส่บาตร

ปิดทองฝังลูกนิมิต 9 วัน 9 คืน ไม่ได้พักเลย

เป็นความรู้มากคับ

อยากทราบถึงตำแหน่งพนักงานสืบสวนนะครับว่าภาระกิจต่างจากตำรวจสายงานอื่นยังไงบ้าง

และการเรียกตำแหน่ง สบ. นะครับ

หวังว่าจะได้รับความกระจ่างนะครับ...ขอบคุณครับ

ออกเวรแล้วไปตั้งด่านต่อหรือเปล่า ออกเวรแล้ว มาปล่อยแถวกวาดล้างหรือเปล่า เวรพักมาประชุมประจำสัปดาห์หรือเปล่า เวรพักมาฝึกแถวหรือเปล่า เวรพักต้องออกจับไห้ได้เป้าหรือเปล่า เวรพักมีคำสั่งให้ไปคุมงาน หรือเปล่า เวรพักให้ตั่งด่านงานสงกรานต์หรือเปล่า เวรพักให้ไปตั่งด่านปีใหม่หรือเปล่า เวรพักให้ไปตามเมียหนีไปกับชู้หรือเปล่า(ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ) ผมอยากรู้รายละเอียดเวลาทำงานของ ตร.ที่ถูกระเบียบที่สุด เพื่อเป็นบูณ ขอบคุณครับ

อยากย้ายข้ามกระทรวง ถ้าต้นสังกัดปล่อยนะ

ตำรวจทำงานเฉลี่ย 263 +ชม./เดือน ไม่นับรวม ประชุม ฝึก คฝ. รับเสด็จ คุมงาน

ขณะที่กระทรวงอื่นหักวันหยุดประจำปีออกทำงานเฉลี่ยแค่ 163ชม./เดือน (นับออกงาน16.00เป้ะนะเนี่ย)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท