กิจกรรมและเกมส์ Buddy : เพื่อ Intercultural-Interdisciplinary Integration Learning


ความเป็นชุมชนและความเป็นประชาคมของชุมชนวิชาการและชุมชนทางความรู้ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นสูงปริญญาเอกและปริญญาโท เพื่อปฏิรูปการศึกษาเรียนรู้ให้ต่างจากกระแสหลักของโลกที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว จิตสำนึกคับแคบ แข่งขันเอาตัวรอด ติดยึดความเป็นตัวกูของกู สู่การสร้างความสมดุลกันทั้งการสร้างความร่วมมือและการแข่งขัน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งทั้งต่อการพัฒนากระบวนการศึกษาเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย และต่อการที่จะสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้กับสังคมที่มีความรู้ความสามารถในขั้นสูง มีคุณธรรมต่อส่วนรวม มีความรอบด้าน มีภาวะผู้นำ มีสปิริตทางสังคม มีความเป็นพลเมืองผู้มีจิตสาธารณะ คำนึงถึงความเป็นส่วนรวม มุ่งประโยชน์สุขของสังคมให้มาก่อนตนเองและพวกพ้อง แสวงหาความสุขและคุณภาพแห่งชีวิตผ่านการสร้างสุขภาวะร่วมกับผู้อื่น

เมื่อจบการศึกษาไปแล้วก็ไม่จบสิ้นความเป็นผู้ทรงวิชาการ เป็นกำลังภูมิปัญญาของแผ่นดิน และดำรงความเป็นผู้ศึกษาเรียนรู้อยู่เสมอตลอดชีวิต อีกทั้งมีพื้นฐานในการพัฒนาเป็นเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์สิ่งดีและใช้ความรู้ชี้นำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่น สังคมไทย เครือข่ายนานาชาติ และสังคมโลก

ทว่า หากมุ่งสอนความรู้และเน้นกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน ก็เป็นการยากที่จะคาดหวังให้เกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังกล่าวแก่นักศึกษา เพราะสไตล์การศึกษาเรียนรู้ของนักศึกษามหาวิทยาลัยและการศึกษาในขั้นสูงนั้น นักศึกษาไม่ใช่เด็กและการศึกษาก็ไม่ใช่การนำเอาความรู้และการสั่งสอนมาเทกรอกให้แก่ผูเรียนเหมือนเป็นภาชนะอันว่างเปล่าแล้วก็จบออกไปพร้อมกับใบปริญญา

อีกทั้งเป็นศักยภาพและชนิดของการเรียนรู้ที่โน้มออกไปทางด้านความฉลาดทางสังคมและความฉลาดในการค้นพบตนเอง ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับชนิดการเรียนรู้ดังกล่าว จะมีลักษณะเป็นการสังเคราะห์บทสรุปเหมือนการเรียนรู้กฏ ซึ่งต้องเกิดจากการได้ชุดประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์จริงจากสังคมที่หลากหลาย จนสามารถเกิดความรอบด้าน สังเคราะห์ และสร้างวิจารณญาณปัญญาขึ้นได้ในตนเอง ดังนั้น ความสามารถเดินออกจากหนังสือและตำรา การเดินออกจากห้องเรียน ตลอดจนการเกิดประสบการณ์ทางสังคมที่มีความหมายเชิงวิชาการอย่างหลากหลาย จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพัฒนาบรรยากาศทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพการจัดการศึกษาและดำเนินการเรียนการสอนของหลักสูตรต่างๆในมหาวิทยาลัย

                        ภาพที่ ๑ คณาจารย์และทีมผู้บริหารหลักสูตรต่างๆของภาควิชาศึกษาศาสตร์ จากซ้าย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเดช ฉายอรุณ ประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย หัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์ คนปัจจุบัน และ ดร.นักรบ ระวังการณ์ อาจารย์ประจำและกรรมการบริหารหลักสูตร หลักสูตรการจัดการการศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)

                         ภาพที่ ๒ คณาจารย์และทีมผู้บริหารหลักสูตรต่างๆของภาควิชาศึกษาศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีแก่นักศึกษาที่จบการศึกษาจากทุกสาขา และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๓

ภาควิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ตระหนักและให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบดังกล่าวนี้เช่นกัน ทว่า ในภาควิชาก็มีการศึกษาขั้นสูงทั้งปริญญาเอกและปริญญาโทอยู่ถึง ๔ สาขา ในแต่ละสาขาก็ประกอบด้วยกลุ่มนักศึกษาหลายรุ่นและหลากหลายระดับ อีกทั้งมีกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งผสมผสานกันทั้งกลุ่มที่เข้ามาศึกษาในหลักสูตรปริญญาและในหลักสูตรการระยะสั้นเพื่อรับเพียงใบประกาศนียบัตร

  Buddy     : สานเวทีวิชาการและกิจกรรมสร้างปฏิสัมพันธ์ข้ามสาขาวิชาการ 

เพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางวิชาการและเพิ่มพูนโอกาสอันหลากหลายต่อการใช้ชีวิตทางวิชาการในมหาวิทยาลัยของนักศึกษา ให้เป็นโอกาสได้พัฒนาความเป็นผู้นำทางวิชาการขั้นสูงของสังคมที่มีความเป็นเลิศทั้งทางด้านวิชาการและความมีคุณธรรม ภาควิชาศึกษา ซึ่งดำเนินการจัดหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกในปัจจุบัน ๔ หลักสูตร คือ สาขาประชากรศึกษา สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา สาขาการจัดการทางการกีฬา และสาขา Educational Management(International Programme) จึงจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาต่างสาขาได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านต่างๆด้วยกัน คือ

  • เวทีการเสวนาทางวิชาการ เช่น การพัฒนาการวิจัย การนำเสนอบทความ
  • เวทีเสวนาของกลุ่มนักศึกษาข้ามสาขา
  • Buddy : กิจกรรมเพื่อสร้างเครือข่ายสังคมวิชาการ Peer-group และกลุ่ม Social Environmental Support เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมปฏิบัติและการปฏิสัมพันธ์แนวราบ (Horizontal Interactive Learning Through Practice) ทั้งในกลุ่มนักศึกษาไทยและนานาชาติ

                          ภาพที่ ๓ นักศึกษาจากประเทศจีนและศรีลังกา กับผู้ช่วยศาสตราจารย์วศิน ปลื้มเจริญ (เห็นด้านหลัง) สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา และดร.ภัทริยา กิจเจริญ สาขาการจัดการการศึกษา(หลักสูตรนานาชาติ) ร่วมเวทีเสวนาทางวิชาการข้ามสาขาของนักศึกษาและกลุ่มคณาจารย์

                         ภาพที่ ๔ คณาจารย์และกลุ่มตัวความสนใจจากนักศึกษาทุกสาขาร่วมพบปะ สังสรรรค์ แลกเปลี่ยนทรรศนะและเสวนาทางวิชาการ

   Buddy    : กระบวนการเรียนรู้เพื่อรักและเป็นที่รักของผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน  

การมีที่ปรึกษาหลากหลาย นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งที่ปรึกษาทางวิชาการและที่ปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์แล้ว กลุ่มที่ปรึกษาที่เป็นเพื่อนวิชาการทั้งในและต่างสาขา ก็นับว่ามีความสำคัญต่อชีวิตการศึกษาขั้นสูงในมหาวิทยาลัยตลอดระยะเวลาของการเข้ามาใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลในสาขาต่างๆของภาควิชาศึกษา ทั้งนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศ ดังนั้น ภาควิชาจึงพัฒนาเครือข่ายการช่วยเหลือและดูแลสนับสนุนกันของกลุ่มนักศึกษา ผ่านการทำกิจกรรม Buddy เพื่อพัฒนาเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อรักและเป็นที่รักโดยไม่หวังผลตอบแทน

                        ภาพที่ ๕ ดร.พรธิดา วิเศษศิลปานนท์ จากสาขาประชากรศึกษา เป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรมเวทีวิชาการของนักศึกษาข้ามสาขา

                         ภาพที่ ๖ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อริศรา เล็กสรรเสริญ อาจารย์ประจำหลักสูตรและประธานหลักสูตรการจัดการการศึกษา(หลักสูตรนานาชาติ) และรองหัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์ ร่วมเสวนาและเสริมกำลังใจแก่คณาจารย์และนักศึกษา

                         ภาพที่ ๗ นักศึกษาระดับปริญญาโทของไทยและจากประเทศมัลดีฟ นั่งสนทนาแลกเปลี่ยนทรรศนะต่างๆกัน

                         ภาพที่ ๘ กลุ่มนักศึกษาจากสาขาต่างๆทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ร่วมสนทนาสร้างความรู้จักคุ้นเคย และพัฒนาความเป็นเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน นักศึกษาไทยได้ฝึกฝนและสร้างประสบการณ์ในการใช้ภาษาอังกฤษกับชาวต่างประเทศ ขณะเดียวกัน นักศึกษานาชาติชาวต่างประเทศก็ได้ฝึกฝนประสบการณ์ในการใช้ภาษาไทย ซึ่งกลุ่มคณาจารย์จำนวนหนึ่งได้อาสาจัดสอนให้ด้วยความสมัครใจ

กิจกรรมดังกล่าว ริเริ่มขึ้นภายหลังที่ทีมอาจารย์ ซึ่งนำโดย ดร.พรธิดา วิเศษศิลปานนท์ อาจารย์จากสาขาประชากรศึกษา ได้จัดเวทีเสวนาทางวิชาการของนักศึกษาในทุกสาขา รวมทั้งนักศึกษานานาชาติ จากนั้น ก็จัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อนหรือ Buddy โดยกระบวนการคือ
        (๑) จัดกิจกรรมให้นักศึกษาทุกคนจับฉลากชื่อนักศึกษาที่ไม่ใช่ตนเองและไม่ใช่ในกลุ่มสาขาของตนเอง ๑ ชื่อ
        (๒) ทุกคนจะได้ชื่อเพื่อนที่ตนเองจะต้องเป็นผู้ให้การเอาใจใส่ดูแล ๑ คน 
        (๓) ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นผู้ได้รับการจับฉลากจากผู้อื่น ๑ คน ซึ่งจะเป็นผู้ให้การเอาใจใส่ดูแลกัน 
        (๔) ทั้งหมดจะไม่ทราบว่าใครเป็นเพื่อนที่ให้การเอาใจใส่ดูแลตนเอง แต่จะรับรู้ได้จากการได้รับการปฏิสัมพันธ์และได้รับสิ่งต่างๆ ผ่านมาทางผู้คนรอบข้าง ให้ตนเองเกิดความอุ่นใจได้ว่า ระหว่างการใช้ชีวิตศึกษาหาความรู้ในระยะที่มีกิจกรรมดังกล่าวนี้ ทุกคนมีเพื่อนคอยเอาใจใส่และช่วยเหลือกันทางวิชาการ
        (๕) ทุกคนจะต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลเพื่อนในโอกาสต่างๆ โดยกระทำผ่านผู้อื่นและผ่านวิธีการต่างๆที่จะไม่ให้เพื่อนที่ตนเองดูแลทราบว่าผู้ใดเป็น Buddy ของตน เช่น ดูแลเรื่องชีวิตการเป็นอยู่ ดูแลเรื่องการศึกษาค้นคว้าเอกสารวิชาการ การมีของเยี่ยม สิ่งของทักทายให้เป็นกำลังใจ บทความ เหล่านี้เป็นต้น
        (๖) เมื่อจบภาคการศึกษาหรือตามแต่ตกลงกัน จึงจะเฉลย โดยเฉลยในเวทีวิชาการหรือกิจกรรมทางวิชาการต่างๆที่ทุกสาขาวิชาจะได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมด้วยกัน

  การเรียนรู้    และแนวการสร้างประเด็นอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน 

                         ภาพที่ ๙ สื่อและการจัดสิ่งแวดล้อมทางวิชาการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับส่งเสริมบรรยากาศการสร้างสังคมทางวิชาการ รวมทั้งเป็นสื่อสร้างการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร (Flowing of information and interdiscipline knowlege ) เพิ่มพูนโอกาสให้นักศึกษาและกลุ่มคณาจารย์เกิดการสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์ ที่เอื้อต่อการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนทุกสาขา

เมื่อกิจกรรมต่างๆผ่านไป ทางภาควิชาคาดว่ากลุ่มนักศึกษาทุกสาขาจะมีประสบการณ์ของชุมชนทางวิชาการร่วมกันชุดหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของการใช้ชีวิตทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งเป็นวัตถุดิบสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจต่อสิ่งต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาทางด้านต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของการดำเนินการหลักสูตรและการเรียนการสอนในทางอ้อม ทั้งความเป็นผู้มีทรรศนะทางวิชาการที่ลุ่มลึกรอบด้าน ละเอียดอ่อนต่อความแตกต่างหลากหลาย มีความสะท้อนโลกทางวิชาการในบริบทท้องถิ่นและความเป็นนานาชาติ การสะท้อนวิธีคิดที่ผสมผสานกันระหว่างสาขา ทั้งด้านประชากร สิ่งแวดล้อม การกีฬา การพัฒนาการศึกษา ตลอดจนประเด็นการชี้นำทางวิชาการต่อสังคม

เมื่อจัดกิจกรรมสรุปบทเรียน ก็จะเป็นพื้นฐาน ที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีจิตวิญญาณของชุมชนทางวิชาการ มากยิ่งๆขึ้นต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 380426เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2010 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีจังเลยครับ เป็นโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ผมเองกำลังทำงานร่วมกับอาจารย์ต่างคณะเช่นเกษตร คณะศึกษาศาสตร์ครับ ได้เห็นแนวการทำงานที่หลากหลายทำให้ได้เรียนรู้มากขึ้นครับ...

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ขจิตครับ

  • นักศึกษาต่างประเทศชอบและประทับใจมากเลยครับ
  • บางทีกำลังนั่งฟังบรรยายอยู่ ก็มีนักศึกษาไทยขออนุญาตเดินเข้ามา แล้วก็บอกว่ามีเพื่อนของเขาฝากมาให้ ขอให้เขามีสุขภาพดีและมีความสุขในการศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทย เขาตื่นเต้นกันมากครับ
  • และทั้งหมดก็อยากรู้ว่า เมื่อเสวนาและสรุปบทเรียนตอนปลายภาคกันนั้น ใครเป็นเพื่อนที่คอยดูแลเขา และใครต่างเป็น Buddy ของใคร
  • ผมก็ได้เรียนรู้จากอาจารย์น้องๆไปด้วยครับ
  • ผมก็เคยนำกิจกรรมอย่างนี้มาบูรณาการกับกิจกรรมการประชุมและการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ต้องทำงานหนักๆหลายวัน ซึ่งน่าเบื่อแต่ทุกคนต้องทำงานให้ออกมาดีที่สุดและได้ความทรงจำที่ดีกลับไปทำงาน กิจกรรมสร้างเครือข่ายดูแลกันอย่างนี้ก็จะช่วยบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ให้ผลออกมาดีและทุกคนได้ความสุขครับ

สวัสดีค่ะ

ลูกสาวเล่าให้ฟังว่า ชอบการเล่น Buddy ในคณะมาก

แถมมี "บัดดี้เนียน" อีกด้วยค่ะ คือมีเพื่อนฝากของมาให้ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นบัดดี้กัน

แวะมาบ้านอาจารย์ทีไร ก็สบายใจออกไปทุกทีค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

  • ผมเห็นนักศึกษาเขาทำกิจกรรมกันอย่างมีชีวิตชีวาแล้วก็ประทับใจมากครับ ชื่นชมอาจารย์น้องๆที่ริเริ่มและเป็นพี่เลี้ยงให้นักศึกษาด้วยครับ
  • มานั่งนึกๆในใจก็ยิ่งชื่นชมว่าเขาเข้าไปจูงมือนักศึกษาเพื่อพาก้าวเดินออกจากจุดที่นักศึกษายืนอยู่ได้ดีกว่ามากจริงๆครับ
  • มีความสุขมากๆครับ
  • ทึ่งความคิดครับ คงตื่นเต้นกันน่าดู ว่าจะเป็นใคร? โดยเฉพาะผลที่น่าจะได้รับ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือบูรณาการของศาสตร์แต่ละสาขา หรือวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นไปตามธรรมชาติเสียด้วย เพราะเป็นการถ่ายทอดระหว่างเพื่อนสู่เพื่อน (กว่าจะเฉลยว่าเป็นใคร ความรู้สึกที่ดีคงให้กันและกัน จนน่าจะเป็นเพื่อนกันได้ทันที เมื่อรู้ว่าใคร)
  • นึกเลยครับ เอ! วิธีการเช่นนี้(Buddy) จะนำมาใช้กับนักเรียนมัธยมเราได้บ้างหรือไม่นะ แล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์ในเรื่องไหนดี หรือจะได้หลายเรื่องพร้อมๆกัน แล้วเด็กๆมัธยมที่เรารับผิดชอบนั้น จะจำกัดความรู้จักกัน ให้อยู่ในขอบเขต อยู่ในความพอเหมาะพอดีได้หรือเปล่า ภาพรวมๆที่จะเกิด จะดีหรือเสียกันแน่..คิดไปเรื่อยตามบันทึกอาจารย์ครับ
  • ขอบคุณความรู้ รวมทั้งขอบคุณอาจารย์ที่แวะไปเยี่ยมเยือนครับ

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ
ขอบคุณที่แวะเวียนมาเยือนและแบ่งปันความคิดกันครับ
กิจกรรมอย่างนี้ เป็นการทำให้มีกิจวัตรประจำวันที่จะต้องใส่ใจคนอื่นอยู่ตลอดเวลา และจะต้องมีการแสดงออกทางการปฏิบัติในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อตนเอง ทุกวัน อย่างน้อยก็ ๑ ครั้ง ซึ่งจะไม่เป็นภารกิจที่หนักและใช้เวลาจนกระทบต่อการศึกษาและการทำกิจกรรมวิชาการอื่นๆ

เงื่อนไขอย่างนี้ก็เลยเหมาะมากครับสำหรับกลุ่มที่มีช่องว่างระหว่างกันมากมาย ทั้งช่องว่างทางการสื่อสาร ช่องว่างทางสังคมวัฒนธรรม  เชื้อชาติ เพศ วัย และความต่างสาขา ทำให้เกิดเครือข่ายการเอาใจใส่ดูแลกัน ซึ่งหากใครเคยพลัดบ้านจากเมือง ไปทำงานและไปศึกษาไกลจากที่ของตนเอง ก็จะทราบว่าโรค Home Sick นั้นมีผลต่อการใช้ชีวิตในชุมชนการศึกษามาก ซึ่งก็จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาเรียนรู้ในทางอ้อม

ดัดแปลงให้ทำเล่นในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาของประเทศเดียวกันนั้น ก็คงจะทำได้ผลดีในบางสถานการณ์เหมือนกันนะครับ เช่น ในช่วงเวลาทำกิจกรรมค่าย ทำกิจกรรมต่างห้องเรียน ต่างโรงเรียน หรือในช่วงใกล้สอบ เคร่งเครียด นักเรียนและนักศึกษาต้องการความแข็งแกร่งทุกด้าน แล้วก็ทำในช่วงเวลาไม่นาน

อาจารย์มีความสุขนะครับ แวะเข้าไปดูศิลปะภาพถ่ายงามๆและงานเขียนที่ให้ความคิดดีๆของอาจารย์อยู่เสมอนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท