มาตรการลดผลกระทบทางลบต่อสังคม....


ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 8 (3) ระบุว่า " ก่อนเริ่มดำเนินการ ส่วนราชการต้องจัดให้มีการวิเคราะห์ผลดีผลเสียให้ครบทุกด้าน กำหนดขั้นตอนการดำเนินการที่โปร่งใส มีกลไกตรวจสอบการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน ในกรณีใดที่มีผลการะทบต่อประชาชน ส่วนราชการต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับจากภารกิจนั้น"

นอกจากนี้ตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการภาครัฐ หมวด 1 การนำองค์กร กำหนดให้ส่วนราชการต้องกำหนดให้มีวิธีการหรือมาตรการในการจัดการผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นต่อสังคม อันเป็นผลมาจากการดำเนินการของส่วนราชการ รวมทั้งต้องนำวิธีการหรือมาตรการที่กำหนดไว้ไปปฏิบัติ โดยผลกระทบทางลบต่อสังคม หมายถึง ผลที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดในทางที่ไม่พึงประสงค์ของชุมชนและสังคม อันมีต้นกำเนิดมาจากการดำเนินงานของหน่วยงาน

สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 ได้กำหนดมาตรการในเรื่องนี้โดยดูจากภารกิจที่ดำเนินงานกับประชาชนเรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการคุณภาพน้ำลุ่มน้ำตาปี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยลักษณะโครงการเป็นการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและการตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้น มีการจัดกิจกรรมนักสืบสายน้ำให้กับเยาวชนบริเวณต้นน้ำ

มาตรการในการลดผลกระทบทางลบต่อสังคม

1. ชุมชน - มีการกำหนดเวลาการประชุมให้สอดคล้องกับอาชีพของคนส่วนใหญ่ในชุมชน ควรมีการบูรณาการกับโครงการอื่นๆ ที่เข้ามาดำเนินการ ตลอดจนให้ข้อมูลโครงการในวันประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน เพื่อลดการรบกวนวิถีชีวิตของชุมชน เช่น ชุมชนที่คนส่วนใหญ่ทำสวนยาง ก็จัดในช่วงที่งดการกรีดยางในช่วงเดือนพฤษภาคม - เมษายน

2. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น - ขอความร่วมมือในการกระจายข้อมูลให้กับทุกกลุ่มและให้ความสำคัญกับความเสมอภาคระหว่างชายหญิง นอกจากนี้ความผลักดันให้มีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเข้าสู่แผนพัฒนาตำบลเพื่อนำสู่การปฏิบัติต่อไป

3. โรงเรียน - มีการจัดกิจกรรมโครงการให้สอดคล้องกับปฏิทินการศึกษาของโรงเรียน

ท่านคิดว่ามาตรการเหล่านี้เพียงพอและครอบคลุมแล้วหรือยัง หรือมีความเห็นเรื่องผลกระทบทางลบต่อสังคมจากกิจกรรม/การดำเนินงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค อย่างไร ผู้รู้กรุณาโปรดให้คำแนะนำ

หมายเลขบันทึก: 381068เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2010 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ส่วนใหญ่ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าไม่กระทบกับตัวเองเข้าจังจังก็จะไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญ หรือให้ความสนใจเท่าไหร่ มาตรการลดผลกระทบต่อสังคม ในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถึงกระทบก็ไม่ถึงกับทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนในทันทีทันใด เห็นด้วยกับมาตรการทั้งสามข้อ

ในขั้นแรกมาตรการ 3 ข้อนี้ก็น่าจะครอบคลุม อยากให้เพิ่มวัดเข้ามาด้วย เพราะเห็นผ้าเหลืองแล้วดูขลัง คือมีคนศรัทธาเห็นด้วยมากกว่าคนธรรมดา วัดที่มีพระนักพัฒนา หลวงพ่อ หลวงพี่ก็จะชอบนะในเวทีรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม อย่างที่จ.น่าน พระท่านเอาจริงเอาจังเป็นแกนนำทั้งแม่น้ำ ป่า ชุมชนก็เอาด้วย เข้มแข็งมาก นอกจากนี้สำนักงานสิ่งแวดล้อมก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย เช่น มีการคัดแยกขยะ มีรายการขยะแลกไข่ให้ครึกครื้น มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน(กรณีห้องlab) มีคนมาดูงานด้วยยิ่งดี อาศัยสื่อสาธาณะ เช่น วิทยุ เช่ารายการหรือยิงspot ช่วยประชาสัมพันธ์กรอกหูบ่อยๆ ในเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การลด ละ เลิกการทิ้งขยะลงน้ำ ฯลฯ

มีความเห็นว่าผลกระทบเชิงลบที่จากกิจกรรมการอบรม เกิดผลกระทบคอ่นข้างน้อยในแง่รายได้หรือวิถีชีวิต สำหรับมาตรการขอแสดงความเห็นด้วยคนคะ ในเรื่องเนื้อหาการอบรม ถ้าเชื่อมโยงให้สัมพันธ์การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และแก้ปัญหาในพื้นที่น่าจะทำให้ชุมชนและโรงเรียนมี่ความยินดีและไม่เห็นเป็นผลลบในการเข้าร่วมกิจกรรม

- เห็นด้วยกับ คห.2 คือเพิ่มวัดเข้าไปด้วย ให้ความรู้พระเพื่อให้ช่วยเทศนาด้านสิ่งแวดล้อม(เป็นแก่นธรรมะ)

- พลักดันให้ทั้ง 4 กลุ่มมีกิจกรรมต่อเนืองจนเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่น

โครงการต่างๆ ที่สิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 ได้ดำเนินการขึ้นถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี

3มาตรการข้างต้นนั้นก็ถือว่าครอบคลุมแล้ว แต่อยากส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วยได้ เช่นกิจกรรมเก็บขยะคูคลอง การทำความสะอาดหมู่บ้าน การตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มที่ชุมชนของตนเองก่อน ให้ดูว่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แล้วจึงมาหาวิธีการแก้ไขอีกครั้ง และมีหน่วยงานเข้ามาเป็นคนคอยให้คำปรึกษา ชี้แนวทางแก้ไขที่ถูกต้อง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เมื่อทุกคนรู้ถึงผลเสียที่จะเกิดกับตัวเอง ก็จะต้องมีการคิดหาทางแก้ไขอย่างแน่นอน)

งานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นงานที่ยากในการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่แสดงผลกระทบที่เกิดขึ้นทีละน้อย เป็นปัญหาสะสมระยะยาวมากกว่า การที่จะจัดกิจกรรมให้เห็นเป็นรูปธรรมน่าจะเลียนแบบโครงการอื่นๆที่ผ่านมา เช่นแปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ลงไปทำกับชุมชนที่เข้มแข็งสักหนึ่งชุมชนเพื่อให้เป็นชุมชนสาธิตแบบอย่าง เริ่มจากกลุ่มเล็กๆดีกว่า และน่าจะเป็นแนวทางในการลดอคติด้านความคิดของประชาชนด้วยว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของฉัน เป็นสิ่งไกลตัว อาจเป็นข้อแนะนำเล็กๆเพื่อลดผลกระทบการดำเนินงานของสำนักงานฯอย่างนึงคะ

เห็นด้วยกับทั้ง 3 มาตรการค่ะ ยิ่งมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข่าวสารให้ทั่วถึงได้ยิ่งดี ถ้าสามารถทำกิจกรรมให้มีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอตลอดได้ยิ่งดี และสร้างให้เกิดชุมชนตัวอย่างขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธี

  • มาตรการน่าจะครอบคลุม ควรเน้นเรื่องรูปแบบการอบรมให้น่าสนใจ เน้นภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี มีตัวอย่างใกล้ตัวที่ทำได้จริง สอดคล้องกับบริบทของชุมชน
  • เก่งจัง...หาเจอได้ยังไงเนี่ย !!!
  • ฝากความคิดถึงไปยังคนเก่า ๆ ที่คุ้นเคยกัน พี่สุชาติ, ศักดา, อโณทัย, พี่ประทีป ฯลฯ (แก่แล้ว...จำไม่ค่อยได้)
  • มีภารกิจที่ชุมพร แจ้งข่าวคราวมาบ้างนะครับ จะได้ช่วยกัน
  • จะเข้ามาติดตามอ่าน Blog นี้บ่อย ๆ ครับ.

       พี่ต้าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท