หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

GTK Camp IV (ตอน ๑)


     GotoKnow Camp ครั้งล่าสุดจัดที่บ้านห้วยปลาหลด หมู่บ้านชาวลาหู่เฌเล ตั้งอยู่ในพื้นที่ดอยมูเซอ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก

     หมู่บ้านนี้แม้จะอยู่ไม่ไกลเมืองมากนัก คือห่างจากตัวเมืองราว ๔๐ ก.ม. แต่สภาพหมู่บ้านโดยรวมแล้วอาจเรียกว่าไกลปืนเที่ยงก็ย่อมได้ ระยะทางเข้าหมู่บ้านจากถนนลาดยางราว ๗ ก.ม. ตลอดเส้นทางเป็นทางดิน บางช่วงเป็นหินคลุกอัดแน่น บางช่วงเป็นหล่มโคลน ระยะสองสามปีมานี้ชาวบ้านช่วยกันปรับปรุงซ่อมแซมเส้นทางจนสามารถเดินทางเข้าออกหมู่บ้านได้สะดวกขึ้น สภาพดีถึงขั้นรถเก๋งสามารถคืบคลานเข้าสู่หมู่บ้านและกลับออกมาได้โดยไม่บุบสลายแม้แต่น้อย


VIOS ไปกลับได้ แม้ทุลักทุเล


ถ้าเป็นปิคอัพ...สะดวกสุด ๆ 

     ครัวเรือนทั้งหมดไม่มีไฟฟ้าใช้ มีเพียงแบตเตอรี่ที่สะสมพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาเซล ที่ให้พลังงานเพียงแสงสว่างเท่านั้น ในฤดูร้อนที่แดดจัดจ้าพลังงานอาจจะพอให้ชมโทรทัศน์ได้สักสองสามชั่วโมง แน่นอนว่าชาวบ้านจำนวนไม่น้อยดูละครทีวีแบบเดียวกับที่คนเมืองดู แต่ไม่คลั่งไคล้เท่า

     ในหมู่บ้านมีเพียงโรงเรียนขยายโอกาส ที่เป็นหน่วยงานราชการที่ตั้งอยู่ภายใน ไม่มีหน่วยงานอื่นที่พึงมีเหมือนหมู่บ้านทั่วไปเข้าไปตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสถานีอนามัย หรือหน่วยพัฒนาอื่น ๆ ของราชการ

     ที่หมู่บ้านห้วยปลาหลดมีสภาพเช่นนี้ เพราะหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น A1 ลุ่มน้ำย่อยห้วยปลาหลด ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำเมย ลุ่มน้ำหลักสาละวิน ซึ่งถูกขีดทับพื้นที่ทั้งหมดทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน ให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช หลังจากชาวบ้านโยกย้ายมาอยู่ที่นี่ก่อนหน้าหลายสิบปี มีความพยายามจะอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่ก็ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นเป็นต้นมาหมู่บ้านห้วยปลาหลดจึงถูกจำกัดการพัฒนาทุกประการจากทางราชการ

     ชาวบ้านต้องพึ่งตัวเองทุกวิถีทาง เส้นทางเข้าออกหมู่บ้านก็ต้องมือร่วมใจกันซ่อมแซมบำรุงรักษา โรงเรียนในหมู่บ้านก็สร้างเองโดยอาศัยเมตตาจากพระป่าที่เข้ามาจำพรรษาในหมู่บ้านจัดหาญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้ เจ็บป่วยก็รักษากันเอง เป็นหนักจึงจะพากันไปส่งโรงพยาบาล ฯลฯ

     เพราะความลำบากยากแค้นของชาวบ้านที่นี่ การต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาอุปสรรคต่างต่างนานา น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ชุมชนนี้เข้มแข็งเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนทั่วไป

     ผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับหมู่บ้านนี้อยู่พอสมควร...

     หลังจากชาวบ้านอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ไม่กี่ปี ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.ตาก ก็มาตั้งหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ในหมู่บ้าน และได้ส่งพ่อผมให้มาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ทำหน้าที่คล้าย ๆ นักพัฒนา ทั้งสอนหนังสือไทยให้ลูกหลานชาวบ้าน ส่งเสริมอาชีพ ให้ความรู้ด้านสาธารณสุข แหะ แหะ ที่สำคัญคือการดึงมาเป็นแนวร่วม มิให้ไปฝักใฝ่ฝ่าย ผกค.

     เมื่อสมัยยังเด็กก่อนเข้าโรงเรียน ผมอาศัยอยู่ที่นี่หลายปี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรที่บ้านห้วยปลาหลดพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ เมื่อปี ๒๕๑๗ ผมก็อยู่ในหมู่บ้านด้วย พ่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าทุกพระองค์อย่างใกล้ชิด พ่อเล่าให้ฟังว่าพ่อประหม่าพูดไม่ออกตอบไม่ถูกเมื่อถูกซักถามจากในหลวงและพระราชินี พระองค์ก็รับสั่งว่าให้พูดธรรมดาก็ได้ พ่อบอกว่าเดินตามในหลวงขึ้นลงบ้านเรือนชาวบ้านหลายหลัง ชาวบ้านที่มีโอกาสเข้าเฝ้าในครั้งนั้นหลายคนยังมีชีวิตอยู่เล่าความประทับใจให้ผมฟังเมื่อไม่นานนี้

     พ่ออยู่ที่หมู่บ้านนี้เรื่อยมา จนกระทั่งถูกกดดันให้ย้ายออกจากพื้นที่ หลังจากที่แม่ ผมและน้อง ๆ ย้ายมาอยู่ในบ้านพักเจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯ

     คราวนั้นอุทยานแห่งชาติต้นตะบากใหญ่ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นตากสินมหาราช) มีความพยายามอพยพชาวบ้านออกไปอยู่นอกพื้นที่ เมื่อไม่สำเร็จเพราะชาวบ้านไม่ยอมอ่อนข้อ คราวนั้นพ่อผมอยู่ต่อสู้เคียงข้างกับชาวบ้าน แม่เล่าให้ฟังว่าพ่อถูกลอบยิงจากเหตุการณ์นี้ถึงสองครั้ง แต่เหตุการณ์นี้ก็มิใช่สาเหตุที่ทำให้พ่อย้ายออกมา สาเหตุที่ย้ายออกมาเพราะศูนย์ฯ ทนแรงกดดันไม่ได้ต้องยุบหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ในหมู่บ้าน

     ก่อนหน้าที่อุทยานฯ จะเข้ามากดดันให้ชาวบ้านย้ายออกนั้น ไล่เลี่ยกันพระป่ารูปหนึ่งธุดงค์ผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน พ่อผมซึ่งทำงานอยู่ในหมู่บ้านได้นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาที่นี่ พ่อผมกับชาวบ้านร่วมกันสร้างกุฏิไม้ไผ่เป็นที่พักสงฆ์ที่ชายหมู่บ้าน ต่อมาก็หาที่จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ พระท่านก็อยู่จำพรรษาเรื่อยมา ต่อมาก็มีพระป่าแวะเวียนมาจำพรรษาอยู่ตลอดกระทั่งปัจจุบัน

     เมื่อสมัยที่ผมบวช พอพ้นพรรษาแรกซึ่งได้จำพรราอยู่ที่วัดในเมืองแล้ว ผมก็มาจำวัดอยู่ที่นี่ระยะหนึ่ง จำได้ว่าช่วงนี้ผมช่วยชาวบ้านขุดดิน ขนดินซ่อมเส้นทางเข้า-ออกหมู่บ้านเพื่อต้อนรับคณะญาติโยมที่จะมาทอดกฐินด้วย และอีกสองสามปีถัดมาเมื่อผมกลับมาจำพรรษาที่วัดในหมู่บ้านที่ดอยมูเซอ ผมก็ยังมีโอกาสได้นำชาวบ้านเดินทางมาร่วมเป็นแรงงานก่อสร้างอาคารเรียนด้วย

     ผมกลับมาหมู่บ้านนี้อีกคราวหลังจากลาสิกขาแล้ว ตอนนั้นมาในฐานะคณะทำงานรางวัลลูกโลกสีเขียวภาคเหนือ คราวนั้นผมเสนอหมู่บ้านนี้ให้เข้ารับรางวัลลูกโลกสีเขียว และเป็นคนทำข้อมูลนำเสนอจนหมู่บ้านห้วยปลาหลดได้รับรางวัล รางวัลนั้นทำให้ชาวบ้านพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเสี้ยวเล็ก ๆ ในความสำเร็จของชาวบ้านแต่ก็เป็นความภาคภูมิใจไม่น้อย

     จนผมตัดสินใจกลับมาลงหลักปักฐานที่ดอยมูเซอบ้านเกิดเมืองนอน ผมก็ย้อนกลับไปที่หมู่บ้านนี้อีกครั้ง เพราะเพื่อนผม – จะพือ มงคลคีรี เป็นผู้ใหญ่บ้านที่นี่ เราพูดคุยกันถูกคอและร่วมงานกันมาตั้งแต่การทำข้อมูลเพื่อเสนอรับรางวัลลูกโลกสีเขียว มีกิจกรรมหลายอย่างที่ผมและจะพือทำร่วมกัน รวมทั้งแผนที่จะทำเยอะแยะมากมายในอนาคตอันใกล้นี้

     เล่ามาตั้งเยอะ ยังไม่เข้าเรื่องค่ายฯเลยครับ บันทึกหน้าจะเล่าให้ฟังว่าเป็นมายังไงจึงมาจัดค่ายฯ ที่นี่ครับ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 381803เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2010 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

กูตูวือโป่ว..จะดะ

ฮา....พี่คิมถึงบันทึก "หวื่อซากูว" แล้ว  นางเอก นางโทยังไม่มีวี่แววว่าจะออก  เพราะโจทย์ยาวค่ะ

เยี่ยมราษฎรษ์......ราษฏร

ต้นตะบาก  หรือว่ากะบาก...หา

 

"ไม่ได้ไป ได้มาอ่าน ก็ซ่านจิต

หมู่มวลมิตร มากมาย ต่างหมายมุ่ง

ห้วยปลาหลด ไม่ได้มา เพราะงานยุ่ง

ต้องเข้ากรุง เตรียมการ งานเกษียณ......

สบายดีแล้วครับ

ว้าว เดี๋ยวนี้พี่คิม ทักทายด้วยภาษาต่างด้าวโตยนำ ชอบๆ ท่านหนานฯ เปิดบันทึกใหม่ สอนภาษา กูตูวือโป่ว..จะดะ เลยค่ะ จะขอเป็นลูกศิษย์ มาจองที่นั่ง เรียนขาประจำเลยค่ะ จริงๆ ;) แลลูที แล้ว ต้าบรือ ๆๆๆ

  • สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ
  • นานมากนะคะที่ไม่ได้มาทักทาย
  • ได้อ่านข้อมูลหมู่บ้านห้วยปลาหลดจากบันทึกพี่คิมบ้างแล้วค่ะ เห็นภาพการเดินทางอันทรหดอดทนน่าชื่นชมผู้ทำกิจกรรมค่ายมากเลย...
  • จะรอชมตอนต่อไปนะคะ

น่าสนใจๆๆๆจริง

รออ่านบันทึกต่อไปนะคะน้องหนานเกียรติ

สวัสดีค่ะคุณเกียรติ รออ่านตอนต่อไปอยู่นะคะ...จากอดีตครู gtx ค่ะ

  • ไม่เจอกันนานหลายครับท่านหนานเกียรติ
  • หลานเฌวาคงโตขึ้นมากแล้วนะครับ
  • ขอให้ท่านและครอบครัวอยู่ดีมีสุขหลาย ๆ
  • คิดฮอดคือเก่าครับ
  • อ่านเรื่องค่ายที่ห้วยปลาหลดจากบันทึกของพี่ครูคิมมาแล้วบ้าง แค่เห็นภาพการเดินทาง ก็ชื่นชมคณะมากๆแล้วครับ
  • ห่างจากgotoknowไปนานพอสมควร อาจเพราะงงๆและสรุปตัวเองไม่ได้ครับ(ฮา)
  • อยู่ตาก หรือ อยู่กรุงเทพมากกว่ากัน หรือ เดินทางเสียมากกว่า แต่คงสบายดีนะครับ
  • ขอบคุณหนานเกียรติที่แวะเยี่ยมเยียนครับ

สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ

* การต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาอุปสรรคต่างต่างนานา น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ชุมชนนี้เข้มแข็งเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนทั่วไป เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ

* นานมากเลยที่ครูใจดีไม่ได้เข้ามาที่ Gotoknow เกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะความเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา  แต่ก็รอด...ฮา แม้ว่าจะยังไม่หายดีนัก

* อ่านเรื่องราวของหมู่บ้านนี้จากบันทึกของคุณครูคิม  แล้วจะรออ่านการจัดค่ายนะคะ  ขอร่วมเป็นกำลังใจในการจัดกิจกรรมค่ะ....  3 วันนี้ 4-6 สค. ครูใจดีก็จัดกิจกรรมค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เหมือนกันค่ะ แต่บรรยากาศของค่ายของครูใจดีกับค่ายของหนานเกียรติคงต่างกันมากมายนะ....เอ๊า!... มันก็แน่นอนอยู่แล้วเน๊าะ....

* น้องเฌวาคงโตขึ้นมากนะคะ  ไม่ได้เห็นนานแล้ว  ฝากหอมแก้มสาวน้อยที่แสนน่ารักด้วยนะคะ   หวังว่า หนานและคุณแม่น้องเฌวาคงไม่ว่ากระไร 

* ด้วยความระลึกถึงค่ะ

 

สวัสดีค่ะ

สามีเคยไปออกหน่วยในหมู่บ้าน (นานหลายปีแล้วค่ะ) เล่าว่า พยายามหาหนทางเพื่อให้ชาวบ้านมีสุขภาพดี

แต่พอขอข้อเสนอจากชาวบ้านว่าต้องการอะไร ได้คำตอบว่า "ถนน"

เพราะถ้าไม่มีถนน ผลผลิตออกสู่ตลาดได้ยาก เจ็บไข้ได้ป่วยก็ออกไปหาหมอยาก

เลยไม่รู้ว่า อะไรควรเป็น "ความจำเป็นเร่งด่วน" สำหรับชุมชนกันแน่เลยค่ะ

สวัสดีครับ พี่ครูคิม 

แหะ แหะ แก้ไขแล้วครับ ส่วนต้นตะบาก เป็นต้นตะบากครับ เดิมอุทยานตากสินชื่ออุทยานต้นตะบากใหญ่ครับ
วันนี้ผมจะเร่งเขียนเทศกาลปีใหม่ลาหู่ให้เสร็จครับ

 

คารวะท่านผู้เฒ่า วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei—  ครับ

คงมีโอกาสดีสักวันที่ดอยมูเซอจะได้ต้อนรับท่านผู้เฒ่าครับ
ผมกำลังวางแผนเพื่อไปร่วมเดินกับทีมสันติปัตตานีครับ คาดว่าน่าจะเป็นต้นสัปดาห์หน้า แล้วจะเลยไปทำงานต่อจากคราวแล้วด้วยครับ

 

สวัสดีครับ คุณ poo 

พี่คิม “อิน” มากกับวัฒนธรรมของชาวลาหู่ที่ห้วยปลาหลดครับ
เรากำลังจะชวนกันไปเรียนรู้จากชาวบ้านอีกหลายรอบ สนใจไหมครับ

 

สวัสดีครับ คุณครู Kanchana 

การเดินทางรอบนี้สนุกและมีความสุขครับ
ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพียบเลย
พี่คิมก็ตื่นเต้นและมีความสุขไม่แพ้กันครับ
รออ่านบันทึกต่อไปนะครับ

 

สวัสดีครับ คุณครู krugui Chutima 

ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยมครับ
ขอบคุณอาหารเหนือที่ส่งมาให้ในค่ายฯ
อร่อยทุกอย่างเลยครับ พวกเราแบ่งให้เด็ก ๆ และชาวบ้านได้แบ่งปันความอร่อยด้วยครับ

 

สวัสดีครับ ครูสุ [IP: 118.174.77.133] 

ใครเอ่ย “ครูสุ” อยู่ศูนย์ไหน จังหวัดไหนครับ
งานศูนย์ GTX ระยะหลังเห็นว่าแผ่วลงไปมาก เสียดายที่เริ่มต้นมาดีแล้วมาลงเอยแบบนี้

 

สวัสดีครับ อาจารย์ กิตติพัฒน์ 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ
ยังคึดฮอดคือกันครับ
เฌวาสามขวบกว่าแล้วครับ ไปโรงเรียนมาพักใหญ่แล้ว
ดื้อและซนมาก ๆ ครับ  ตอนนี้ไปโรงเรียนครับ ราวบ่ายสามจึงจะไปรับ

 

สวัสดีครับ อาจารย์ ธนิตย์ สุวรรณเจริญ 

ช่วงนี้ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ ครับ พยายามใช้เวลาอยู่บ้านในแต่ละเดือนให้มากกว่าครึ่งนึงครับ แหะ แหะ แบบว่าติดลูกหนะครับ ออกจากบ้านไปไหนมาไหนก็คิดถึงลูก เลยไม่ค่อยอยากไปไหน
ค่ายที่ห้วยปลาหลดสนุกและมีความสุขมากครับ ตามอ่านบันทึกต่อ ๆ ไปนะครับ
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

 

สวัสดีครับ คุณครูครูใจดี 

บ้านห้วยปลาหลดเป็นหมู่บ้านที่น่าสนใจมาก ๆ ครับ มีมีงานเขียนเกี่ยวกับบ้านนี้หลายเรื่อง
ดีใจด้วยกับการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บผ่านมาได้ อย่างไรก็รักษาสุขภาพด้วยนะครับ
มีโอกาสอยากแวะไปเยี่ยนเยียนสักคราวครับ
เฌวาตอนนี้ ๓ ขวบ ไปโรงเรียนแล้วครับ ดื้อและซนมาก

 

  • ขนาดเก๋งขึ้นได้ อีกหน่อยก็ไม่ไกลปืนเที่ยงแล้วล่ะค่ะ
  • ถ้าถนนมา..รับรองหลายๆอย่างคงจะมีการเปลี่ยนแปลงกันยกใหญ่แน่ๆ
  • แต่การที่มีธรรมชาติแบบนี้ก็เป็นเสน่ห์มากๆค่ะ ^^

 

สวัสดีครับ พี่ ณัฐรดา 

เรื่อง “ถนน” บางทีก็จำเป็นครับ
แต่การไม่มี “ถนน” ที่สะดวกเกินไป ก็มีคุณค่าไปอีกแบบหนึ่งดังเช่นที่บ้านห้วยปลาหลด
ไม่ใช่เพราะจะให้หมู่บ้านดำรงไว้อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลงให้เราเข้าไปชื่นชมเท่านั้น
การมีถนนที่ไม่สะดวกนั้น ส่งผลให้ความเจริญจากภายนอกไหลเข้าไปได้ไม่เร็วนัก ทำให้ชาวบ้านมีเวลาตั้งตัวได้ทันครับ

สวัสดีเจ้า คุณครู พิชชา 

ถนนบ้านห้วยปลาหลดคงมีสภาพแบบนี้ไปอีกนานครับ เพราะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ
การเข้าออกเมืองของชาวบ้านทำได้ง่ายแต่ก็ไม่สะดวกนัก เช่นเดียวกับคนภายนอก
จริง ๆ แล้วชาวบ้านก็อยากมีถนนที่ดีกว่านี้ เพราะจะได้ขนสินค้าออกไปขายในเมืองได้สะดวกขึ้น
แต่การมีถนนที่ไม่สะดวกสบายมากนักก็เป็นปราการกั้นอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างไม่ให้ไหลมาเร็วเกินไป
มันทำให้ชาวบ้านมีเวลาตั้งตัวทันครับ
...
มาแอ่วสักเตื้อก่อครับ...

สวัสดีค่ะ

มาเยี่ยมชมบรรยากาศของหมู่บ้านชาวลาหู่เฌเล  เห็นเส้นทางแล้วสุดยอดจริงๆนะคะ 

การกดดันให้ชาวบ้านออกไปจากถิ่น เป็นเรื่องสร้างความขมขื่นตลอดมา..ทางออกที่ดีประการหนึ่งที่พี่เคยได้ทราบตามแนวพระราชดำริคือ..การปลูกป่าในใจคน..ให้คนรักป่า..ดูแลป่า..มีตัวอย่างแห่งความสำเร็จให้เห็นตามแนวทางนี้หลายพื้นที่..

...ขอส่งดอกไม้หน้าฝนจากสวนที่บ้านมาให้กำลังใจนะคะ..

 

 

สวัสดีครับ พี่กระแต - มาตายี

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ทางเข้าหมู่บ้านในช่วงสองสามปีหลังดีขึ้นเยอะมากครับ
หากเป็นเมื่อหลายปีก่อนจะแย่กว่านี้มาก อย่าว่าแต่รถเก๋งเลยครับ ปิคอัพก็เข้ายาก ต้องพันโซ่ครับ
มาเยือนสักครั้งนะครับ

 

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ - นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

ชาวบ้านที่นี่เดี๋ยวนี้เข้มแข็งมากครับ เป็บแบบอย่างให้หลายที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้
ตอนนี้กลุ่มเยาวชนอยู่ในระหว่างการสานงานต่อจากคนรุ่นก่อนด้วยครับ
การเข้าไปจัดค่ายฯ ก็ถือว่าเป็นการเสริมขีดความสามารถเยาวชนไว้รองรับการสานต่องานครับ

 

คิดถึงน้ำพริก ผักต้มจังเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท