สื่อพื้นบ้านสร้างเยาวชน


สื่อพื้นบ้านสร้างสุข

 

 

น้องฟลุค  เพชรเม็ดงามที่ค้นพบ

 “พ่ออุ้ยแม่ใหญ่ใส่ใจลูกหลานสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอำเภอสอง"

                 หลังจากโครงการพ่ออุ้ยแม่ใหญ่ฯที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสสส.ร่วมกับม.มหิดลได้ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง เป็นระยะเริ่มต้น เกิดปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับมือกลองของกิจกรรมดนตรีพื้นเมืองไม่มีคนเล่น เนื่องจากเยาวชนชั้นมัธยมมักมีกิจกรรมของโรงเรียนในวันหยุด ทำให้เยาวชนชั้นมัธยมได้เรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง เป็นปัญหาให้ต้องเปลี่ยนมือกลองเป็นประจำ

                    

                วันหนึ่ง คุณหมอพรพรรณ ตะคุนะ จากโรงพยาบาลสองได้มาเยี่ยมชมการเรียนของเยาวชน และเลี้ยงไอติมเด็กๆ ขณะกำลังแจกไอติมกันอยู่ มีเด็กน้อยคนหนึ่ง ตัวเล็กๆ ผิวคล้ำ ได้ถือเงินมาซื้อไอติม ซึ่งคุณหมอพรพรรณก็บอกว่า “หนูไม่ต้องซื้อหรอกลูก อาเลี้ยง” เด็กน้อยบอกว่า”ผมซื้อเองก็ได้ ผมไม่ได้เป็นสมาชิกเพราะตัวเล็ก” คุณหมอเลยชวนให้เป็นสมาชิกและชวนให้ลองตีกลองดู ซึ่งเด็กน้อยยังอิดเอื้อนไม่ค่อยแน่ใจ แต่แอบอยู่หลังเก้าอี้ใกล้ๆที่เรียน ขณะที่ผู้ใหญ่มัวแต่คุยกันอยู่ข้างนอก พักเดียวได้ยินเสียงตีกลอง จังหวะหนักแน่นมาก พ่ออุ้ยสมนึก (วิทยากรตีกลอง)ได้ลองให้เด็กน้อยตีกลองดู พอสอบถามพ่ออุ้ยว่าเป็นยังไง ใช้ได้ไม๊ พ่ออุ้ยบอกว่าเอาคนนี้เลย  ตั้งแต่นั้นมา   วงดนตรีพื้นเมืองของกลุ่มเยาวชนก็ได้มือกลองคนใหม่ ชื่อ”น้องฟลุค” ด.ช.ชุติวัต  ใจเอื้อ เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่อย่างสมบูรณ์

                ทุกๆวันเสาร์ซึ่งเป็นวันที่เด็กๆเยาวชนจะมาเรียนรู้สื่อพื้นบ้านกัน น้องฟลุคจะชวนพี่ๆเพื่อนๆ บ้านใกล้เคียงกัน เช่น น้องเพชร น้องตูน น้องดรีม น้องวี มาขอกุญแจจากพ่ออุ้ย เปิดเข้าไปฝึกตีกลอง สีสะล้อ หรือดีดซึง ในศาลาการเปรียญซึ่งเป็นที่เรียน ก่อนวิทยากรจะเข้ามาสอน และจะง่วนอยู่บริเวณนั้น ตั้งแต่เช้าจรดเย็น แม้ครูที่สอนเลิกแล้ว แต่กลุ่มเด็กๆยังไม่เลิก  บางครั้ง น้องฟลุคชวนพี่ๆเพื่อนๆเล่นตีฆ้องตีกลองกัน (เจ้าตัวบอกว่าจัดคอนเสริต)  โดยเอาฆ้องที่ใช้ประกอบการรำมองเซิงซึ่งมีอยู่ 7 ลูกวางคว่ำเรียงกันไว้รอบตัวแล้วตีเป็นเพลง  มีพี่ๆเพื่อนๆช่วยกันตีกลอง ตีฉิ่งช่วยเป็นที่สนุกสนาน ครูต้องบอกว่าเอ้า...ให้เวลา 10 นาที บ้าง 5 นาทีบ้าง เพราะเฝ้าพวกเขาอยู่จนเบื่อ พ่ออุ้ย แม่ใหญ่ไม่ได้พักผ่อน ซึ่งเด็กๆก็จะเชื่อฟังโดยดี พอครูบอกว่าหมดเวลา ก็จะช่วยกันเก็บสัมภาระ ปิดประตูหน้าต่าง กลับบ้าน

                 แม่และเพื่อนบ้านของน้องฟลุคเล่าว่า เมื่ออยู่ที่บ้าน ข้องฟลุคจะทำกลองที่ใช้ยางในของรถจักรยานมาขึงบนกระป๋องนม มีไม้ มีฉิ่งเต็มทั้งมือ ทั้งเท้า       เล่นคอนเสริตของเขา มีเพื่อนบ้านมาช่วยเชียร์เป็นที่สนุกสนาน  นอกจากนั้นมีกิจกรรมอีกอย่างที่น้องฟลุคชอบทำ คือการรำดาบ ซึ่งท่าต่างๆเขาจะคิดของเขาเอง บางครั้งมีท่าเอามีดเหลาของตา (มีดจริงๆ) มาทำท่าปาดคอก็มี ซึ่งแม่ของน้องฟลุคจะห้ามไม่ให้เล่น เพราะหวาดเสียว

            

ก่อนจะจัดให้มีการแสดงผลงานของกลุ่มเยาวชน เพียงไม่กี่วัน(จัดร่วมกับงานแห่เทียนพรรษาของเทศบาลตำบลสอง) กลุ่มเยาวชนทั้งหมดได้ทำการฝึกซ้อมการแสดง ทั้งรำมองเซิง รำคล้องช้าง รำคองก้า เล่าค่าว จ้อย ซอพื้นเมือง และดนตรีพื้นเมือง ญาติของน้องฟลุคได้มาคุยกับครูว่า ไม่ลองเอาน้องฟลุครำดาบโชว์บ้างเหรอ ครูถามว่า อ้าว .น้องฟลุครำดาบได้ด้วยเหรอ ถ้างั้นลองมารำให้ดูซิ  น้องฟลุคแสดงการรำดาบให้ดูเป็นที่ประทับใจ ครูเลยตกลงให้น้องฟลุคแสดง         การรำดาบเพิ่มขี้นอีกรายการหนึ่ง แต่เกรงว่าท่ารำที่เด็กคิดขึ้น จะไม่ถูกต้อง จึงขอร้องให้อาจารย์สอนรำดาบของโรงเรียนสองพิทยาคมและพี่ๆที่รำอยู่มาช่วยสอนให้ โดยให้น้องฟลุคไปขอเรียนและขึ้นครูกับอาจารย์  ซึ่งน้องฟลุคก็เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ก่อนการแสดง           เมื่อขึ้นแสดง ซึ่งเจ้าตัวแสดงเกือบทุกรายการ  เป็นที่ชื่นชมและประทับใจแก่ผู้ชมมาก น้องฟลุคได้รับรางวัลมากมาย ซึ่งเจ้าตัวภาคภูมิใจและมีความสุขมาก

    

                            

เพชรเม็ดนี้คงจะเปล่งประกายเจิดจ้าอยู่อีกนานเท่านานตราบใดที่มีผู้นำมาเจียระไน และส่งเสริมสนับสนุน เพราะน้องฟลุคเพิ่งจะเรียนอยู่ชั้นป. 3เท่านั้น มีโอกาสที่จะเรียนรู้และแสดงความสามารถอีกนาน  .....นี่คือเรื่องของน้องฟลุค เพชรเม็ดงามที่ค้นพบจากโครงการ “พ่ออุ้ยแม่ใหญ่ใส่ใจลูกหลานสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอำเภอสอง” ซึ่งสสส. ร่วมกับม.มหิดลได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสรรสร้างให้เพชรเม็ดนี้เปล่งประกายจรัสแสงอยู่ร่วมกลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอำเภอสองต่อไป และถ้าไม่มีโรงพยาบาลสองมาช่วย โครงการนี้คงไม่ทราบความสามารถของเด็ก เพชรเม็ดนี้คงจมโคลนตมอยู่อย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

 

                                                                           ครูสุนีย์  ใจเอื้อ

                              ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอำเภอสอง

                                                                           พัชรินทร์  เวียงทอง

ผู้ประสานงานโครงการสื่อพื้นบ้าน  กลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอำเภอสอง

หมายเลขบันทึก: 382207เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2010 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สื่อพื้นบ้านสร้างสุข....

กับ....น้องฟลุค  เพชรเม็ดงามที่ค้นพบ

ช่างเป็นอะไรที่ให้ความสุข....ประทับใจและอิ่มเอมใจ

ทั้งผู้ให้และผู้รับจริงจริง....

 

ดีนะ ขออนุโมทนาที่มีความตั้งใจของเด็ก ๆ และขออนุโมทนาคุณครูอละคุณหมอที่เสียสละเวลาอันมีค่าของท่าน ได้เอาใจใส่ส่งเสริม ให้เด็ก ๆ ได้ทำในสิ่งที่เป้นประโยชน์ ขอให้เจริญๆๆๆๆๆ ยิ่งๆๆๆๆ ขึ้นไปเทอญ พระครูสุรศักดิ์ วัดท่งน้าว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท