ความสุขจากเรื่องเล่าของพี่สาว (ตัวชี้วัดหายไปใหน ?)


ตัวชี้วัดหายไปใหน ? แท้จริง เป็นเพียงอณูเล็กในการทำงานของเรา ... เท่านั้น
8 สิงหาคม 2553  ณ บ้านแม่อุ่นรัก 
อ.ภูเขียว
 
  ผมคิดถึงพี่ด๊อส (คุณชุติมา ชัยมณี) จังครับ 
เป็นพี่สาวที่น่ารักอย่างยิ่ง 
คนทำบุญด้วยกันชาติก่อน จึงมาได้เจอกันชาตินี้
รู้จักกันเมื่อไปประชุมกรุงเทพฯ ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง
แต่เหมือนรู้จักกันมาราวหนึ่งชาติ
พี่เก่งมากครับ  ขอคาราวะด้วยใจจริงครับ
 
ตัวชี้วัดหายไปใหน ?
ชุติมา  ชัยมณี 
โรงพยาบาลสันป่าตอง  อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
 
 
 
               "...หลักของการวางแผนงาน    นอกจากมีการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการทำงานแล้ว  ยังต้องมีการกำหนดตัวชี้วัด  เพื่อวัดผลการดำเนินงาน  ว่าดีหรือไม่เพียงใด  โดยมีการวัดผลการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรม  และวัดผลการดำเนินงานในภาพรวมของแผนทั้งหมด  
 
 
             ฉันเป็นพยาบาลที่พึ่งย้ายจากตึกคลอด   เพื่อมารับงานตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก     ถึงแม้ว่าจะไม่เคยผ่านงานชุมชนมาก่อน   แต่เพื่อให้งานบรรลุผลตามตัวชี้วัด 
 
 
ฉันและทีมงานเริ่มดำเนินงานทันทีหลังผ่านการอบรมเพียง 1 อาทิตย์  และหาวิธีรณรงค์ทุกรูปแบบ  เพื่อให้สตรีกลุ่มเป้าหมายมาตรวจคัดกรองให้มากที่สุด  เช่น ประสานผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสาย  ติดตามด้วยวิธี  อสม. / จดหมาย/ โทรศัพท์  และออกรณรงค์ให้ความรู้ในเวลากลางวัน   ซึ่งพบว่าได้ผลในระดับหนึ่ง  และส่วนใหญ่จะเป็นคนเดิมที่มีประวัติเคยได้รับการตรวจคัดกรองมาแล้ว 
 
 
แรกๆที่เริ่มดำเนินงานฉันคิดว่า  คนที่ไม่มาตรวจ  ไม่มีความตระหนัก  และเคยแอบบ่นเป็นบางครั้งว่า  “ถ้าไม่รักตัวเองก็ตามใจเถอะ ”  แต่ในขณะเดียวกันก็ยังปฏิบัติงานเต็มที่   ด้วยการออกรณรงค์ให้ความรู้ตอนเย็นหลังเลิกงาน 
 
 
            บ้านหนองปึ๋ง  เป็นหมู่บ้านแรกที่ออกรณรงค์ตอนเย็น   ฉันและทีมงานไปถึงสถานที่นัดหมายเวลาใกล้ค่ำ  พบ อสม.ยืนรอ 6-7 คน  “หมอรอซักกำเน้อ    เปิ๊นไป๋เยี๊ยะก๋านก่อสร้าง บ่มาง่ายเตื๊อ   เปิ๊นจะมากั๋นซัก 6 โมงแลง ” อสม.รีบบอก เมื่อทีมเราไปถึง   เวลาผ่านไป   “ฮั่นล้อเขามากั๋นแล้ว” อสม.ชี้ให้ดู   ฉันมองตาม   เมื่อรถแล่นมาถึงจึงโบกมือให้หยุด  มองเห็นสตรียืนแน่นด้านหลังรถบรรทุกขนาดเล็ก ฉันนับคร่าวๆ เกือบ 20 คน  แต่ละคนมีสีหน้าเหนื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งวัน  
 
 
ฉันชวนให้ทุกคนเข้าไปที่ศาลา แต่ถูกปฏิเสธด้วยน้ำเสียงแฝงด้วยความเกรงใจ ” กับข้าวลูกก็ยังบ่ได้เยี๊ยะ  น้ำก่ยังบ่ได้อาบเตื๊อ ซัก 8 โมงแลงจะมาได้ ก่หมอ? “  ฉันและทีมงานตอบตกลง   คืนนั้นกว่าจะเลิกประชุมประมาณ 5 ทุ่ม และ มีสตรีจำนวนหนึ่งลงชื่อปฎิเสธไม่มาตรวจเพราะยังไม่ว่าง (ซึ่งต่อมาก็จะพบเกือบทุกๆหมู่บ้านที่มีการรณรงค์) ดังนั้น การออกชุมชนด้วยการค้นหากลุ่มเป้าหมายจนถึงเรือนชาน   คือ วิธีที่ฉันคิดว่าน่าจะได้ผลดีกว่านี้   หากงานสำเร็จ   หมายถึงการได้เลื่อนขั้นเงินเดือนและความดีความชอบ 
 
 
            พี่เรียง คือคนงานในฝ่าย  และเป็นคนในพื้นที่   เมื่อออกชุมชนบางครั้งพยาบาลร่วมทีมติดธุระ   ฉันก็มีพี่เรียงไปเป็นเพื่อนช่วยให้อุ่นใจ  แต่ครั้งนี้  เมื่อฉันเล่าแผนการให้ฟัง  ตอนแรกพี่เรียงปฎิเสธ   เนื่องจากฉันไม่ใช่คนเชียงใหม่  แต่เป็นคนอีสานที่ย้ายติดตามสามีมา  ฉันต้องปะเหลาะพี่เรียงและบอกว่า  ฉันกลัวหลงทางเมื่อฉันชำนาญทางแล้วฉันสัญญาว่าจะไม่รบกวนอีก
 
 
  แต่หลังจากนั้น  พี่เรียงกลับเป็นฝ่ายขอฉันไปด้วยทุกครั้ง พร้อมกับบอกว่า “พี่ว่าง ”   เพราะการออกชุมชนครั้งนี้    ทำให้ฉันกับพี่เรียงเข้าใจมากขึ้น   ที่ว่าทำไมสตรีไม่มาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เช่น กรณีของ นางวิลัย   ที่เล่าให้ฉันกับพี่เรียงฟังว่า  “ ทุกวันนี้ก็หากิ๋นไปวันๆ เต้าอั้นนะก่ะคุณหมอ  ถ้าบ่ไป๋ย๊ะก๋านเจื่อ  เขาจะบ่จ้างเฮา   ต่อไป๋จะเอ๋าอะหยังกิ๋น  เฮียนหนังสือมาเต้าเอี๊ยะ ” วิลัยกลัวฉันไม่เชื่อ  รีบจูงมือฉันเข้าไปในบ้าน  และชี้ให้ดูที่มุมห้อง  มีชายร่างผอมนอนอยู่บนเสื่อเก่าๆ ใช้ ผ้าเก่าๆม้วนหนุนหัวแทนหมอน  
 
 
วิลัยเล่าต่ออีกว่า  มีสามีพิการ   มารดา อายุ 79  ปี  หลานอายุ 7 ปี  และ 3  ปี ทั้งหมด  คือ  ความรับผิดชอบ ที่ วิลัย ต้องออกไปทำงานก่อสร้างรายได้วันละ  140 บาท  ฉันยืนอึ้งพร้อมกับคิด   จริงสิ    เราลืมนึกถึงข้อนี้ไป  เราเคยเข้าใจว่า   มีการกำหนดนโยบายโดยอิงหลักวิชาการ    มีงบประมาณโดยมีผู้บังคับบัญชาสนับสนุน  มีการวางแผนและกำหนดกิจกรรมเป็นรูปธรรม     มีผู้ให้บริการที่มีทักษะเพราะเคยผ่านการอบรม  และ มีสูติแพทย์ให้การรักษาเมื่อตรวจพบความผิดปกติ   
 
 
ทุกอย่างพร้อมหมด  แต่เราลืมนึกถึงความพร้อมของสตรีที่จะมารับบริการจากเรา  และ  การเปิดโอกาสให้สตรีเหล่านี้มารับบริการจากเราได้โดยไม่เสียเวลา ทำมาหากิน   แล้วเคยตรวจมะเร็งปากมดลูกมั้ยคะ ” ฉันถาม “ ตรวจมาเมินหลายปี๋แล้ว  จำบ่ได้”  
 
 
วิลัยตอบ ฉันชวนวิลัยไปตรวจ โดยให้เหตุผลว่า ถ้าเป็นอะไรไป  ทุกคนในครอบครัวจะเดือดร้อน   ฉันถามว่าพรุ่งนี้ถ้าต้องตื่นเช้ากว่าเดิม เพื่อเตรียมอาหารให้คนในครอบครัว  และฉันจะมารับไปตรวจที่โรงพยาบาล    แล้วจะรีบมาส่งเพื่อให้ทันรถที่มารับไปทำงาน  จะทำให้วิลัยเดือดร้อนหรือไม่? วิลัยมีท่าทางดีใจรีบตอบตกลง      รุ่งเช้าฉันทำตามสัญญา   
 
 
 
 หลังจากนั้นผ่านไป 2 สัปดาห์  เมื่อได้รับรายงานผล Pap smear พบผลของวิลัย เป็น HSIL (รอยโรคที่มีความรุนแรงสูง)   ฉันและพี่เรียงไปบ้านวิลัยเพื่อแจ้งผลตรวจ      อธิบายขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและรักษา   และการตรวจติดตามผลของการรักษาซึ่งต้องใช้เวลานานในการติดตาม   
 
 
วิลัยมีสีหน้าวิตกกังวล        ตอนแรกฉันคิดว่าวิลัยกลัวเป็นมะเร็งปากมดลูก  จนต้องรีบอธิบาย   ว่า  เป็นเพียงความผิดปกติเริ่มแรกยังไม่ใช่มะเร็ง     แต่ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์      วิลัยรีบพูดสวนฉันทันที  ” บ่ใจ้กั๋วต๋าย แต่บ่มีสตางค์หื้อค่ารถ  กั๋วขาดงานโตย ก็เลย บ่ ไคร่ไป๋ฮักษา ”  พี่เรียงที่นั่งฟังข้างๆฉัน รีบเสนอเงื่อนไขทันที”ถ้าพวกปี้ ช่วยกั๋นฮอมสตางค์ค่ารถหื้อ  ตั๋วจะไป๋ก่? “
 
 
 วิลัยยกมือไหว้ และตอบตกลง  ครั้งนี้ฉันนัดคิวส่งต่อ และรายงานแพทย์เพื่อขอใบส่งตัวให้วิลัยโดยไม่ต้องให้ขาดงาน   พี่เรียงรับอาสานำใบส่งตัวไปให้วิลัยที่บ้าน     พร้อมกับเงินที่สมัครใจแชร์กันออกเพื่อมอบให้วิลัยเป็นค่ารถสำหรับเดินทาง    ตอนแรกฉันบอกว่าจะให้เองเพราะพี่เรียงเงินเดือนน้อยกว่าฉัน  แต่พี่เรียงให้เหตุผลว่า  “พี่อยากมีส่วนร่วม”  
  
 
หลังรักษา   วิลัยนำใบรายงานผลตอบกลับมาให้ฉัน  พบว่า มีผลเป็น HSIL   ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม     ครั้งนี้ฉันไม่เห็นวิลัยแสดงสีหน้าวิตกกังวล    แถมยังบอกกับฉันว่า      หมอที่นครพิงค์บอกให้นำผลการรักษากลับมาโรงพยาบาลสันป่าตอง   ซึ่งหลังรักษาต้องมีการตรวจติดตามผลทุก 6 เดือน เมื่อถึงวันนัดตรวจติดตามทุกๆ 6 เดือน    
 
 
 
ฉันรีบมาโรงพยาบาลแต่เช้า เพื่อเปิดโอกาส ให้วิลัยได้รับการตรวจก่อนไปทำงาน   ถึงแม้วิลัยจะได้รับการรักษาแล้ว   แต่ฉันยังต้องติดตามดูแลต่อไป เพราะสตรีที่เคยตรวจพบความผิดปกติมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก
 
 
 
              หลังตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พบความผิดปกติ จะต้องติดตามสตรีกลุ่มนี้มาฟังผลเพื่อส่งรักษา   แต่ พบสตรีจำนวนหนึ่งไม่มาตามนัด    นันทนา ก็เป็นหนึ่งในสตรีกลุ่มนี้      ฉันส่งจดหมายติดตาม 2  ครั้ง นันทนาก็ยังไม่มา  จึงประสานเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยให้ติดตาม  ได้รับคำตอบว่า  “ เดี๋ยวจะไป” 
 
 
 
ผ่านไป 1 เดือน  เมื่อนันทนาไม่มา   พี่เรียงเป็นฝ่ายชวนฉันเยี่ยมบ้าน “พี่ขี่รถไปส่งก็ได้ ”   บ้านของนันทนาอยู่ไกลนอกหมู่บ้าน  “พี่นั่งรออยู่ที่นี่แหละ เดี๋ยวผมไปตามมาให้”   น้องเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่มาส่งบอกเมื่อมาถึงบ้านนันทนา    ฉันและพี่เรียงนั่งรอที่ขอนไม้หน้าบ้าน  เวลาผ่านไปนาน  ทำให้เมื่อย  ฉันจึงลุกเดินไปรอบๆบ้าน    ได้ยินเสียงครางเบาๆ  ดังมาจากในบ้านจึงถือวิสาสะเดินเข้าไปดู  พบ หญิงชรา รูปร่างผอมบาง อายุประมาณ 70-80  ปี นอนงอตัวอยู่ที่แคร่ไม้เก่าๆ      ยกพื้นสูงขึ้นมาเล็กน้อย ฉันรีบไปนั่งข้างๆแล้วถาม  “ยายจะเอาอะไรคะ” 
 
 
 
เมื่อได้รับคำตอบว่า “ใคร่อยากกิ๋นน้ำ”    ฉันรีบรินน้ำและประคองยายลุกนั่ง  เพื่อ ให้ยายดื่มน้ำได้ถนัดขึ้น  และประคองให้นอนพร้อมกับห่มผ้าให้โดยที่ยังไม่ทราบว่าหญิงชราเป็นใคร ?
 
 
 
            เมื่อเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยขี่รถกลับมา พร้อมกับบอก “ผมตามมาให้แล้ว”   ฉันเห็นหญิงร่างผอมบาง ผิวคล้ำจากการกรำแดดนั่งซ้อนท้ายรถมาด้วย  ซึ่งก็คือนันทนานั่นเอง  ฉันแนะนำตัว  และถามว่า  “ได้รับจดหมายจากหมอมั้ยคะ” นันทนาพยักหน้ามีแววตาอมทุกข์   และมีสีหน้าเหมือนรู้สึกผิด   ฉันแจ้งผลตรวจ    อธิบายขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและรักษา    ซึ่งนันทนาจะถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์    และฉันนัดไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสันป่าตองเพื่อขอใบส่งตัว     
 
 
 
วันนัด    เมื่อฉันเดินออกมานอกคลินิก  พบนันทนายืนรีๆรอๆ  อยู่หน้าห้อง ฉันถาม “มานานหรือยังคะ”    ได้รับคำตอบว่ามาตั้งแต่เช้า “ แล้วทำไมไม่เข้าไปหาพยาบาล”  คำตอบที่ฉันได้รับคือสีหน้าแสดงความวิตกกังวล  และแววตาละล้าละลัง         ฉันจูงมือนันทนาเข้าไปในคลินิกเพื่อให้คำปรึกษาตรวจ Anti HIV (ก่อนส่งทำคอลโปสโคป )   แนะนำให้ไปตรวจเลือดที่ห้องแลป    ผ่านไป 1 ชั่วโมงฉันไปธุระ  และเดินผ่านหน้าห้องแลป     พบนันทนายังยืนถือบัตรทะเบียนประวัติผู้ป่วย   จึงแวะไปถาม “ตรวจเลือดหรือยังคะ ” คำตอบคือ   “กั๋วเปิ๊นว่า ก็เลยบ่กล้าเข้าไป๋ ”
 
 
ฉันก็เลยเป็นธุระจัดการให้    พร้อมกับคิด    ไปโรงพยาบาลนครพิงค์  นันทนาจะทำอย่างไร?   ดังนั้น ฉันจึงพานันทนากลับมาที่คลินิกอีกครั้ง   เพราะสังเกตพบสีหน้าวิตกกังวลของนันทนา       และฉันได้รับคำบอกเล่าว่า  ในครอบครัวมี 4 คน มารดาอายุ 82  ปี ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้   ลูกชายคนโตกำลังเรียน มัธยมศึกษาปีที่ 3  และลูกชายคนเล็ก อายุ 5 ปี ที่นันทนาบอกว่า“ เป็นห่วงไอ้ตั๋วหน้อย”   
 
 
 
ทุกวันต้องออกไปรับจ้างรายได้วันละ 70-100 บาท รายได้ต่อวันน้อยเพราะรับจ้างใกล้ๆบ้าน เนื่องจากกลางวันต้องกลับมาดูแลแม่ ” หากิ๋นทุกวันนี้ ก็ยังบ่พอกิ๋น “ และพูดอีกว่า  “บ่เคยไป๋ซักเตื้อ โฮงยานครพิงค์” ขณะพูดมีสีหน้าและแววตาหมอง  จนฉันต้องรีบพูดว่า “ไม่ต้องกังวลนะพยาบาลจะขอเปลี่ยนคิวนัดตรวจจากวันพุธมาเป็นวันอาทิตย์แทน      แล้วจะไปส่ง  เพราะพยาบาลจะไปทำธุระแถวนั้นพอดี ” นันทนายกมือไหว้และตอบตกลง
 
 
 
            วันนัด   ฉันนั่งรอที่สถานีอนามัย 1 ชั่วโมง   มาถึงนันทนารีบยกมือไหว้และขอโทษ   ที่มาช้าเพราะ ไปทำธุระให้ลูกชาย  เมื่อขึ้นนั่งบนรถ นันทนาเล่าต่อ  ลูกชายเรียนเก่งสอบทุนได้  จึงตัดสินใจส่งลูกเรียนต่อ ม.4  ขณะเล่ามีสีหน้ายิ้มแย้ม  นับเป็นรอยยิ้มแรกที่ฉันเห็น “ กินข้าวเช้าหรือยัง ” 
 
 
 
ฉันถามพร้อมกับเอี้ยวตัวไปด้านหลังเพื่อหยิบขนม  2  ชิ้น   และส่งให้ 1 ชิ้น    นันทนายกมือไหว้ก่อนรับเอาขนมไป  ฉันแกะขนมกิน พร้อมกับถาม  “ทำไมไม่กิน”    นันทนาไม่ตอบ   แต่ค่อยๆหย่อนขนมใส่กระเป๋าเสื้อ และพูดว่า  “จะเก็บไว้หื้อลูก ” 
 
 
 
ฉันนั่งอึ้ง  กลืนขนมแทบไม่ลง ทั้งที่กำลังหิว ถึงแม้จะเป็นคำพูดสั้นๆ แต่ฉันมองเห็นความรักและความห่วงใยที่แม่มีต่อลูกแฝงอยู่ในคำพูดนั้นอย่างชัดเจน    ฉันบอกนันทนาว่า  “กินเถอะ  ขากลับเราจะแวะตลาดแล้วค่อยซื้อขนมไปฝากลูก ” ได้ยินฉันบอกนันทนาจึงล้วงขนมออกจากกระเป๋าและแกะกินด้วยท่าทางเกรงใจ     
 
 
 
              รถแล่นมาได้ซักระยะ นันทนาได้เอ่ยสิ่งที่ทำให้ฉันประหลาดใจ ”คุณหมอเจ้าเปิ้นเยี้ยะถนนเป็นสองตางตั้งแต่เมื่อใด” “เขาทำมาได้เกือบสิบปีแล้ว”ฉันตอบ  เธอจึงเล่าว่า ไม่เคยเข้ามาในตัวเมืองนานนับ  10 ปี  เพราะมัวแต่ทำมาหากิน      เมื่อมาถึงโรงพยาบาลนครพิงค์  
 
 
 
ฉันทำหน้าที่เป็นญาติผู้ป่วย   วิ่งทำบัตร  ถ่ายเอกสาร  และฟังคำอธิบายจากพยาบาลที่นั่นเพื่อรับข้อมูลมาถ่ายทอดและอธิบายให้นันทนาทราบ    ขากลับ  เมื่อผ่านตลาด ฉันแวะซื้อขนมตามสัญญา  และฝากขนมให้ลูกนันทนาด้วย  ขณะนั่งรถกลับฉันให้ข้อมูลการตรวจติดตามผลของการรักษา  และจะประสานเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยให้ตรวจที่นั่นจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาโรงพยาบาล 
 
 
    นันทนาบอกว่า อีก 10 วันหมอนัดมาฟังผล และพูดต่อ   “ฮู้ตี้แล้ว บ่ต้องมาส่งเจ๊าก็ได้   เกรงใจหมอ”   ถึงแม้นันทนาจะช่วยเหลือตนเองได้    แต่ฉันจะต้องติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง   จนกว่านันทนาจะปลอดภัย
 
 
 
          เมื่อก่อนที่ฉันเคยคิดว่า  เราต้องทำงานให้บรรลุผลตามตัวชี้วัดที่ตั้งไว้  หากงานสำเร็จ  หมายถึง การได้รับความดีความชอบ   แต่สิ่งที่ฉันได้รับจากสตรีกลุ่มนี้  ก็คือ  ตัวชี้วัดที่ฉันตามหาไม่ใช่แค่เพียงตัวเลขหรือเปอร์เซ็นต์ในกระดาษที่แสดงให้เห็นถึงผลงานที่ฉันทำ   แต่  ”มันคือชีวิตที่มีความสำคัญต่อครอบครัว”         
 
 

          และ  ฉันก็ค้นพบคำตอบที่ทุกๆ คนพากันสงสัย ที่ว่า ทำไมสตรีไม่มาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก?   ไม่ใช่ไม่ตระหนัก  ไม่ใช่ไม่กลัวตาย   แต่ เป็นเพราะสตรีส่วนหนึ่งมีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว  ทำให้ยังไม่มีโอกาสไปรับบริการ  ทุกๆคำบอกเล่า และจากการสัมผัส ด้วยตา คือความจริง    ที่ฉันบันทึกไว้ในความรู้สึก ……
 
 

          ขอขอบคุณผู้บังคับบัญชาที่ไว้วางใจมอบหน้าที่ให้ทำ  ถ้าไม่มีหน้าที่ฉันคงไม่มีโอกาสได้ทำ      และ อาจารย์ VIA ทุกท่านที่กรุณาให้ความรู้เรื่องโรค  ทักษะ และเทคนิคของการตรวจคัดกรองที่มีคุณภาพ  รวมทั้งจิตสำนึกของการทำงานบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่ใช้จิตวิญญาณที่ดี  ในการทำหน้าที่เพื่อดูแลสตรีที่เป็นเพศเดียวกัน     
         ถึงแม้จะเป็นเพียงการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ต่อสตรีเหล่านี้  ที่บางคนอาจมองข้าม   แต่ทุกชีวิตก็มีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่สำหรับครอบครัวของพวกเขา   เพราะไม่เพียงแต่เป็นการรอดชีวิตของสตรีกลุ่มนี้เท่านั้น   แต่เป็นการมีชีวิตอีกต่อไปของอีกหลายๆชีวิตในครอบครัวเหล่านี้ด้วย   ซึ่งในลักษณะของสังคมไทยถือว่าแม่มีความสำคัญ ที่ไม่อาจเลือนหายไปจากครอบครัวได้    และที่ขาดไม่ได้ก็คือ
     ถือว่าแม่มีความสำคัญมาก  ที่ไม่อาจขาดหายไปจากครอบครัวได้
      
 
 
 “ ขอบคุณค่ะพี่เรียง”   ที่มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ของมนุษย์ที่พึงมีต่อมนุษย์ด้วยกัน...
 
 
******
 
หมายเลขบันทึก: 382816เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วเราคงได้เจอกันอีกนะครับ...พี่ด๊อส

พี่ต้องเรียกว่าคุณครู  แล้วค่ะ

เพราะเป็นผู้ที่กระตุ้นให้พี่  กล้าที่จะกระโดดเข้าสู่เวที

แห่งการเรียนรู้ เราคงได้พบกันอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท