๓๗.เข๊าะจาพิธีกรรมสำคัญของลาหู่


            การประกอบพิธีกรรม        เป็นความเชื่อของกลุ่มคนที่มีความคิดเดียวกัน  รักและศรัทธาแบบเดียวกัน ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  เพื่อความสงบ และอยู่ร่มเย็นเป็นสุข  คนบางกลุ่มถือว่าการประกอบพิธีกรรมเป็นการขจัดสิ่งเลวร้าย ปกป้องภัยอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน   ซึ่งถือเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

          ชาวลาหู่ที่บ้านห้วยปลาหลด  มีพิธีกรรมที่ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ประจำปีคือ“เข๊าะจา” ซึ่งเป็นเทศกาลที่ชาวบ้านร่วมกันประกอบพิธีกรรมสำคัญในครอบครัวและทั้งหมู่บ้าน อันหมายถึงการเฉลิมฉลองความสำเร็จ ความอุดมสมบูรณ์ของการได้ผลิตผลในครัวเรือน  และขอขมาต่อสิ่งศักด์สิทธิ์  ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะต้อนรับกระบวนการผลิตในปีใหม่ที่จะถึงนี้  คล้ายกับเทศกาลปีใหม่ของชาวไทย

          ชาวบ้านทุกคนมีความสุขและตั้งใจเตรียมการเพื่อประกอบพิธีกรรมนี้  เป็นการล่วงหน้าประมาณ ๑ เดือน   สมาชิกในครอบครัวช่วยกันเตรียมตัดไม้ที่ผุพังมาทำฟืน  การตัดเย็บชุดใหม่สำหรับทุกคนในครอบครัว  การเร่งเก็บเกี่ยวพืชไร่  หากยังไม่แล้วเสร็จก็จะชะลอไว้ก่อนจนกว่าพิธีกรรมนี้จะผ่านไป

          วันสำคัญได้เริ่มขึ้นในวันแรม ๑๐ ค่ำเดือน ๑๒ พิธีกรรม “ค๊ะกวู” เพื่อเป็นการส่งเคราะห์ส่งผีของชาวบ้านทุกครัวเรือนต้องมาร่วมกันประกอบพิธี  โดยนำอาหารไปวางที่ “โค๊ะคาปิ” ทั้งสอง  แต่ทั้งนี้ปู่จารย์จะต้องเป็นผู้วางก่อนชาวบ้าน และทำพิธีไล่ผีมาตั้งแต่บ้านปู่จารย์ถึงลานจะคึ  ร่วมกับหมอผีอย่างน้อย ๒ คน  เมื่อปู่จารย์สวดเสร็จแล้ว ชาวบ้านที่เป็นผู้หาม โค๊ะคาปิ” ละ ๑ คู่  จะนำโค๊ะคาปิวิ่งวนลานดิน ๗ รอบ  และออกประตูแยกย้ายกันไปทางด้านทิศเหนือ ๒ คนและไปทางทิศใต้ ๒ คน เรียกว่า “นีอ่อคืว”  วันนี้ผู้ชายจะมารวมตัวกันฆ่าหมูที่บ้านปู่จารย์  ส่วนผู้หญิงช่วยกันทำเครื่องใน แยกขาหมูทั้งสี่และหางหมูไว้ต้มกินในวันรุ่งขึ้น

          วันถัดมาคือวันแรม ๑๑ ค่ำเดือน ๑๒ ชาวบ้านจะจัดเตรียมครกเพื่อตำข้าวปุ๊ โดยเป็นครกที่สะอาด มีฝาปิด  ไม่แตก ไม่มีผึ้งหรือนกเข้าไปทำรัง หรือแม้แต่สุนัขไปปัสสาวะรดก็ต้องห้าม  และครกจะต้องนำไปรอไว้ที่บ้านมีห้องผีเท่านั้น ห้ามเคลื่อนย้ายตลอด ๔ วันด้วย   นอกจากนี้ต้องช่วยกันไปหากาบไผ่สำหรับมารองวางข้าวปุ๊  ขณะที่ กำลัง “เป๊อะ” กาบไผ่อยู่บนหลังห้ามปัสสาวะโดยเด็ดขาด  ในวันนี้มีพิธีกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “เข๊าะ-ต่อ” ที่ลานจะคึ เพื่อเป็นการขอขมาในการกระทำผิดโดยไม่เจตนา  ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและอัปมงคลให้ออกไปจากหมู่บ้าน และไม่ให้ผีมารบกวนในวันทำพิธีกรรม   รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมต้อนรับปีใหม่และสิ่งดีงามที่จะก้าวมาถึงในไม่กี่วันข้างหน้า   

            ในวันนี้ปู่จารย์จะเรียกลูกบ้านมาประชุม  มีมติตกลงเรื่องการเก็บเงินเป็นค่าใช้จ่ายในพิธีกรรม   ส่วนแม่บ้านจะนึ่งข้าว  แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือเป็นเครื่องเซ่นไหว้ห้ามกินก่อนจนกว่าจะเสร็จพิธี และอีกส่วนหนึ่งสำหรับเลี้ยงชาวบ้านให้กินได้  นอกจากนี้แม่บ้านจะต้องฟั่นเทียน  เสร็จแล้วนำมาจับกันเป็นคู่ ๆ ๔ คู่ หรือ ๗ คู่เป็นสำคัญ  พ่อบ้านหรือผู้ชายทำหน้าที่ล้มหมูที่บ้านปู่จารย์เหมือนพิธีอื่น ๆ   และทำพิธีที่บ้านปู่จารย์ของแต่ละป็อก  นำหมูไปแจกจ่ายตามบ้านเรือนเพื่อนำไปต้มกินเป็นอาหาร    ตอนค่ำมีการเต้นจะคึจนกว่าเทียนที่เตรียมมาจะหมด

          เคล็ดลับในการจุดเทียนที่ลานจะคึในวันนี้   เริ่มแรกจุดเทียนจำนวน ๗ คู่ ๔ คู่  ต่อด้วย ๒ คู่  แล้วเต้นไปเรื่อย ๆ ก่อนจะเลิกต้องจุดเทียนเพียง ๔ คู่เท่านั้น  และเต้นวนกลับออกไปทางซ้าย ๗ รอบจึงหยุดเต้น

          วันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ก่อนจะถึงวันเริ่มเทศกาล ๒ วัน เช้าวันนี้จะมีพิธีกรรมที่บ้านปู่จารย์ พ่อบ้านจะไปช่วยกันล้มหมูที่บ้านปู่จารย์ แล้วก็แบ่งเนื้อหมูไปตามบ้านเรือนที่เป็นลูกบ้านของปู่จารย์ ลูกบ้านที่ได้รับหมูแล้วก็จะนำไปต้มแล้วนำไปประกอบพิธีกรรมที่ห้องผีภายในเรือน

          วันนี้ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะคั่วงา ตำข้าวปุ๊คลุกกับงา โดยตำที่นอกชานบ้านและนำไปปั้นที่หน้าห้องผีด้วย จะปั้นเป็นก้อนกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมหรือเป็นแบบแท่ง แล้วนำข้าวปุ๊ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านครอบครัวอื่น ซึ่งจะต้องเป็นครัวเรือนที่มีห้องผีเท่านั้น ตอนบ่ายจึงไปรวมกันที่ลานจะคึ

          วันรุ่งขึ้น วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ อาจมีการตำข้าวปุ๊ต่อ และตัวแทนในครัวเรือนจะนำฟืนไปมอบให้กับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนฟืนระหว่างครัวเรือนที่มีห้องผีด้วยเช่นกัน

          วันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นต้นไปตลอดทั้ง ๔ วัน จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาล “เข๊าะจา” ที่สำคัญที่สุด  ชาวบ้านจะไปช่วยกันซ่อมลานจะคึ  และเต้นจะคึในตอนบ่าย เต้นแบบโต้รุ่งไปถึงเช้าของวันใหม่

          วันแรม ๑๕  ค่ำเดือน ๑๒ แต่ละครอบครัวจะส่งสมาชิกในบ้านไปรดน้ำดำหัวเพื่อนบ้าน และไปร่วมกันเต้นจะคึ แบบโต้รุ่งเช่นเดียวกับคืนก่อน

          วันขึ้น ๑ เดือน ๑ ซึ่งเป็นวันที่สามของเทศกาลเข๊าะจา ช่วงเช้าจะก็เป็นการออกไปรดน้ำดำหัวเพื่อนบ้านแล้วไปรวมกันเต้นจะคึที่ลานเช่นเดียวกับวันก่อน แบบโต้รุ่งเช่นเดียวกับสองคืนที่ผ่านมา

          วันนี้มีพิธีที่สำคัญและสนุกสนานอีกพิธีหนึ่งคือ “จะบูถี” เป็นการขึ้นไปเต้นจะคึบนชานเรือนของชาวบ้านในหมู่บ้านที่มีความต้องการจะประกอบพิธีนี้ ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมพิธีนี้ ๒ – ๓ ครอบครัว โดยเป็นการเต้นแบบรุนแรง รวมพลังกันกระทืบเพื่อให้นอกชานพังทลายจึงจะหยุด เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าของบ้านมีพลังใจในการต่อสู้ทำมาหากินให้เจริญรุ่งเรือง  ภายหลังเมื่อเรือนพังแล้วเจ้าของบ้านจะทำการต้อนรับชาวบ้านที่มาร่วมพิธี โดยการกินหมู และซ่อมบ้านให้เสร็จในวันเดียวกัน

          เมื่อเสร็จพิธี “จะบูถี” ที่กำหนดไว้ทุกบ้านแล้ว จะพากันกลับไปเต้นจะคึแบบโต้รุ่งอีกวันหนึ่ง นับเป็นวันที่ ๓ ของการเต้นจะคึแบบโต้รุ่ง

          วันขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๑ จะเป็นวันสุดท้ายของเข๊าะจา ชาวบ้านจะมาทำพิธี “จะบูถี” กระทืบบ้านของปู่จารย์ในตอนเช้า เมื่อบ้านปู่จารย์พังเรียบแล้วก็จะไปเต้นจะคึที่ตลอดคืนสุดท้ายนี้จนถึงเช้าของวันใหม่

          เมื่อผ่านพ้นไปพิธีกรรมของทั้ง ๔ วันแล้ว ชาวบ้านจะพักผ่อนอยู่กับบ้านเรือนของตนเองอย่างมีความสุข เป็นอันสิ้นสุดพิธีในเทศกาลเข๊าะจา

           การเต้นจะคึในวันสำคัญ จะต้องแต่งกายประจำเผ่าเท่านั้น ไม่มีการเต้นโลดโผนแหวกแนวนอกรีต นอกรอย แกว่งเสื้อโยนผ้า ก่อกวน เตะขาเตะแข้งกัน  และไม่เคยปรากฏวีรกรรรมเกี่ยวกับอาวุธต้องห้ามใด ๆ   แม้ว่าจะเต้นจนโต้รุ่งก็ตาม แบบนี้น่าจะเรียกว่าเป็น "ความงดงามของวัฒนธรรม" และความมีระเบียบทางสังคมที่น่าชื่นชม

 ติดตามรายละเอียดต้นฉบับที่นี่ค่ะ http://gotoknow.org/blog/kgeneral/382803

 

หมายเลขบันทึก: 382949เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

เพิ่งกลับมาถึงบ้านครับ

ไปห้วยปลาหลดรอบหน้าจะเจาะลึก "จะบูถี" ครับ

  • จะคึ กระทืบให้นอกชานพัง แล้วไปเต้นต่อกันจนสว่าง(หลายคืน)..แปลกดีครับ
  • อยากบันทึกเรื่องแม่ เพื่อระลึกถึง เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วครับ
  • ขอบคุณพี่ครูคิมครับ

สวัสดีค่ะ

ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและการประกอบพิธีกรรมของชาวลาหู่ ครูคิมบันทึกได้ละเอียด เป็นระบบ  ขอบคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

ระลึกถึงครูคิมเสมอค่ะ

 

  • สวัสดีค่ะพี่คิม
  • พี่เล่าถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวลาหู่ได้อย่างละเอียดมากเลยค่ะ
  • นี่แหละค่ะสิ่งที่ควรคงไว้ให้เยาวชนได้สืบสานต่อ
  • ขอบคุณข้อมูลค่ะพี่

ติดตามอ่านตลอดค่าพี่คิม....

ได้รายละเอียดลึกเลยนะคะ

สวัสดีค่ะหนานเกียรติ

ต้องเข้ามาอ่านอีกรอบนะคะ เพราะมีการเขียนต่อท้าย ๆ ค่ะ  "จะบูถี" ยังต้องเรียนรู้อีกนะคะ

ขอขอบคุณกับต้นฉบับค่ะ ตกหล่นตรงไหนต่อเติมด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะน้องธนิตย์ สุวรรณเจริญ

ข้อสงสัยว่า "ทำไม" ยังไม่เป็นคำตอบที่ถูกต้องค่ะ ต้องไปเรียนรู้อีกหลาย ๆครั้ง  ภาษาออกเสียงยากค่ะ

สวัสดีค่ะน้องรักครูใจดี

พี่คิมรู้สึกเป็นห่วงน้องมากนะคะ  ขอให้ปาฏิหารย์มีจริง น้องจะได้หายขาดจากโรคภัยทุกอย่างนะคะ  สาธุค่ะ

พี่คิมพยายามมากในการเล่าบันทึกนี้ เราช่วยกันเล่ากับน้องหนานเกียรติด้วยค่ะ

ขอขอบคุณน้องที่มาติดตามอ่านค่ะ

สวัสดีค่ะน้องติ๋มKanchana

พี่คิมกับน้องหนานจับมือกันว่า...เราจะต้องทำงานของเราให้สำเร็จตามตั้งใจค่ะ  ขอขอบคุณน้องติ๋มที่มาติดตามอ่านค่ะ

นอนหลับฝันดีนะคะ  ลืมบอก..."พี่คิมมีข่าวดี" แล้วนะคะ

สวัสดีค่ะน้องkrugui Chutima

บันทึกนี้ยากค่ะ  เพราะไม่อยากเขียนเรื่องเดียวหลายตอนค่ะ  ยังมีเรื่องเล่าต่อไปอีกนะคะ  ขอขอบคุณกับแรงเชียร์ค่ะ

  • สวัสดีค่ะครูคิม
  • แวะมาอ่านเรื่องราวของเข๊าะจา พิธีกรรมที่สำคัญ
  •  ชื่นชมในความพยายามสรรหาเรื่องดีดีมาเล่าค่ะ

แอบมาอ่านเรื่องน่าสนใจยามดึกๆ

สงสัยเจ้าของบ้านหลับไปแล้ว ฝันดีนะคะ

สวัสดีค่ะพี่คิม

แวะมานี่ทีไร ได้รู้จักคำแปลกเยอะแยะทุกทีเลยค่ะ

ได้ความรู้ด้วย  พี่คิมสบายดีน่ะค่ะ..ที่โน้นฝนตกรึปล่าวค่ะ

ที่ระนองตกหนักมากๆๆๆๆๆเลยคะ

สวัสดีค่ะน้องเอื้องแซะ

ติดตามอ่านเพิ่มเติมจากบันทึกของน้องหนานเกียรติอีกนะคะ  พี่คิมถอดความรู้มาจากบันทึกของน้องหนานเกียรติ และเพิ่มเติมข้อมูลที่พอรู้ค่ะ

สวัสดีค่ะมนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

นอนดึกจังนะคะ  พี่คิมนอนไม่ดึค่ะถ้าเป็นวันทำงาน  เล่าเรื่องแบบนี้ยากนะคะ  กลัวสื่อไม่รู้เรื่อง และกลัวผิดพลาดจากความเป็นจริง ที่สำคัญอ่านลายมือตัวเองไม่ออก

น้องหนานเกียรติเรียบเรียงมาให้ก่อน  พี่คิมต่อเติมจากที่จดบันทึกมาค่ะ

สวัสดีค่ะน้องครูบันเทิง.com

น้องคงสบายดีกับการไปได้ไปอยู่โรงเรียนใหม่นะคะ  พี่คิมสบายดีค่ะ    ฝนตกทุกวันเหมือนกัน แต่ฝนหยุดอากาศก็ร้อนมากค่ะ

อันที่จริงดิฉันก็เป็นลาหู่ดำ แท้ๆเลยนะแต่ไม่ค่อยได้สนใจทหเวปอะไรแบบนี้แต่ก็ดีที่มีคนสนใจเว็ปของคนเผ่าจริงแล้วเขาะจ้าหมายถึงว่า เขาะหมายถึง ปี จ้าหมายถึงกิน คือสรุปแล้วหมายความว่า กินข้าวใหม้ หรือเฉลิมฉลองปีใหม่ หรือข้าวใหม่เพราะว่าช่วงเดือนตุลานั้นข้าวเริ่มเกี่ยวแล้วและไม่ใช่แค่ข้าวนะสามารถนำผักพริกสัตว์เลี้ยงที่ดีที่สุดถวายแด่พระเจ้าด้วย เมื่อก่อนก่อนจะรู้จักพระเจ้าอาจจะถวายให้พี่ แต่เมื่อมาเชื่อพระเจ้าเรารู้ว่ามีผู้สร้างจึงมาถวายพระเจ้าที่ทรงสมควรจะได้รับการถวาย ก็สนุกดีนะคะถ้ามีเวลาว่างก็ขอเชิญไปเที่ยวหมู่บ้านลาหู่ได้ เขาต้อนรับทุกคนแหละคะ ขอเยงแค่บอกว่า แช่ซาแช่หล้า แปลว่า สบายดีใหม ทุกคนนิสัยดีนะอยากเชิญชวนไปเที่ยวยิ่งช่วงนี้มีการถวายนพืชผลยิ่งสามารถไปได้เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท