อยุธยามรดกไทย มรดกโลก


รักษ์อยุธยา รักษามรดกโลก

           นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูซิเนีย เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๔  โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
  (iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

        “ความเป็นเอกลักษณ์ของนครประวัติศาสตร์แห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านภายภาพ ด้านประวัติศาสตร์ และด้านอารยธรรม จะหานครโบราณใดเทียบได้ในเอเซียหรือในโลกเป็นไม่มี” จากข้อความดังกล่าว จะเห็นได้ชัดว่านครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยานั้น ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก              

           สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ ๑,๘๑๐ ไร่ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา เขตเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือตามถนนสายเอเซีย  ระยะทางประมาณ ๗๕ กิโลเมตร  ลักษณะของเกาะเมืองอยุธยาเป็นไปตามสภาพของแม่น้ำที่กัดเซาะแผ่นดินมีรูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งมีผู้สันนิษฐานว่า มีลักษณะคล้ายน้ำเต้า
               กรมศิลปากร ได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๑๐๒ ลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ พื้นที่ ๑,๘๑๐ ไร่ และในปี พุทธศักราช ๒๕๔๐ กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่

คุณค่าแห่งความเป็นมรดกโลก
            นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน ยังคงปรากฏร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่   งดงาม   และทรงคุณค่า  สะท้อนให้รำลึกถึงภาพความโอ่อ่าสง่างามของปราสาท ราชวังวัดวาอาราม ป้อมปราการ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยาในอดีต นครประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นหลักฐานแสดงถึงความชาญฉลาดของชุมชนหนึ่ง นับตั้งแต่การเลือกที่ตั้งชุมชนขึ้น   ในบริเวณที่มีแม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน เพื่อให้เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งเกษตรกรรมอันอุดมสมบรูณ์ พร้อมไปกับเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึกศัตรูจากภายนอก นอกจากนั้นผลงานด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์ และวรรณกรรม ยังเป็นประจักษ์พยานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดของอารยธรรมแห่งชุมชนหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่    ๑๙-๒๔ อีกด้วย
              หลักฐานแห่งอารยธรรมของชาวกรุงศรีอยุธยาส่งผลให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร ได้รับการเชิดชูคุณค่าไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ด้วยหลักเกณฑ์มาตรฐานข้อที่ ๓ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กล่าวคือ
              “เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่งหรือเป็นพยานหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรม ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่หรืออาจสูญหายไปแล้ว”


มรดกโลก อยุธยา ในปัจจุบัน
           ปัจจุบันนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากำลังมีการขยายตัวทางกายภาพอย่างมาก โดยมีการขยายเมือง เพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยต่าง ๆ การสร้างอาคารที่บดบังทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นการทำลายคุณค่าของโบราณสถาน ตลอดจนการพัฒนาของถนนหนทางภายในเขตเมือง เพื่อรองรับการคมนาคมที่นักท่องเที่ยวต่างมาเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ ทำให้เขตพัฒนาเป็นไปอย่างไร้ทิศทางของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม เช่น  ปัญหาของขยะมูลฝอย การสร้างบ้านพัก ที่อยู่อาศัย บ้านจัดสรร อยู่โดยรอบโบราณสถาน และการถมคูคลองต่าง ๆ เป็นต้น
               ดังนั้นหากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจังจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะประชาชนทุกคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในฐานะเจ้าของมรดกไทยและมรดกโลกจะต้องมีความเข้าใจในการพัฒนาเมืองที่เป็นเมืองเก่า ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ และจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือทำลายคุณค่าของความเป็นเมืองเก่าที่ได้รับการยอมรับเป็นเมืองมรดกโลก ก็อาจจะทำให้เมืองเก่าแห่งนี้ถูกลดถอยความสำคัญในอนาคตได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 385871เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะอาจารย์

การขยายตัวทางกายภาพอย่างมาก โดยมีการขยายเมือง เพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยต่าง ๆ การสร้างอาคารที่บดบังทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นการทำลายคุณค่าของโบราณสถาน

เห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์ค่ะ  ไม่เฉพาะแต่พระนครศรีอยุธยาเท่านั้นนะคะ  สถานที่สำคัญของจังหวัดอื่น ๆ และวัด วา อาราม กลายเป็นตลาดนัดไปแล้วค่ะ

กระทรวงหรือสำนักที่รับผิดชอบต้องไม่เปลี่ยนแปลงผู้นำ  เพราะการเปลี่ยนผู้นำแต่ละครั้งหมายถึงการเปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนวิสัยทัศน์ไปด้วย

การประชาคมหรือประชาพิจารณ์ต้องกระทำกันอย่างจริงจัง  เพื่อการทนุบำรุงรักษาจากคนในท้องถิ่นและคนไทยทั้งชาติ  รวมไปถึงการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกในการเป็นคนไทย

ขอขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท