โรคติดอินเทอร์เน็ต


อินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์

โรคติดอินเทอร์เน็ต

..กมล แสงทองศรีกมล

กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

โรคติดอินเทอร์เน็ตอาจไม่คุ้นหูใคร หลายคนนะครับ แต่เชื่อว่าหลายครอบครัวคงพบปัญหาชวนสงสัยว่าลูกหลานใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไปหรือไม่ โรคติดอินเทอร์เน็ต (Internet Addiction Disorder)นั้นจัดเป็นกลุ่มอาการทางจิตใจอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในการเสพข้อมูลหรือข่าวสารมากเกินไป และหากเปรียบเทียบกับการติดดูโทรทัศน์หรือการติดอย่างอื่นๆ แล้วอินเทอร์เน็ตจะมีข้อแตกต่างกับสื่ออื่นๆ ก็คือ ความสามารถโต้ตอบกับผู้ที่เข้ามาใช้คนอื่นๆ ได้ทันที (Real Time)

ซึ่งทำให้โลกของอินเทอร์เน็ตมีความเสมือนเป็นเหมือนโลกอีกโลกหนึ่งที่ผู้ใช้สามารถ มีตัวตนในโลกนั้นได้ โดยปราศจากกฎเกณฑ์ และไร้ขอบเขตในการเดินทาง และสร้างตัวตนในโลกอินเทอร์เน็ตตามที่ตัวเองต้องการได้ ซึ่งหากผู้ใช้ยึดติดกับสังคมในโลกของอินเทอร์เน็ต จนแยกไม่ออกว่าโลกของความจริงและโลกเสมือน อาจจะนำมาซึ่งสาเหตุของเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ตได้

ตัวอย่างของบริการอินเทอร์เน็ตที่มีลักษณะการสร้างเป็นสังคมเสมือน (Virtual - Community) ได้แก่ ห้องแช๊ตรูม เว็บบอร์ด ที่เราคุ้นเคยกันมากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่ง เกมส์ออนไลน์ ที่เด็กๆนิยมเข้าไปเล่นกันมากมาย ซึ่งโรคติดอินเทอร์เน็ตนั้นก็คล้ายๆ กับการติดสิ่งเสพติดต่างที่สร้าง ปัญหาให้เกิดกับ ระบบร่างกาย และกระทบต่อการเรียน สภาพสังคมของคนๆนั้น

โรคติดอินเทอร์เน็ตถูกพูดถึงครั้งแรกในปีค.. 1995 โดย ด.. อีวาน โกลเบิร์ค ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ที่เสนอให้นำกลุ่มอาการติดการพนันเข้าไปไว้เกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวชศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา (DSM-IV) อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้โรคติดอินเทอร์เน็ตยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงความมีอยู่จริง รวมถึงเกณฑ์ในการวินิจฉัย จึงต้องการการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

 

อาการโรคติดอินเทอร์เน็ต

ลองมาดูกันนะครับว่าอะไรเป็นสิ่งที่บอกว่าลูกหลานหรือตัวเราเองเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ตหรือไม่ นักจิตวิทยาชื่อ

คิมเบอร์ลี เอส ยังได้วิเคราะห์ว่า บุคคลใดที่มีอาการดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 4 ประการ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แสดงว่าเป็นอาการติดอินเทอร์เน็ต

* รู้สึกหมกมุ่นกับอินเทอร์เน็ต แม้ในเวลาที่ไม่ได้ต่อเข้าระบบอินเทอร์เน็ต

* มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานขึ้นอยู่เรื่อยๆ

* ไม่สามารถควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตได้

* รู้สึกหงุดหงิดเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตน้อยลง หรือหยุดใช้

* คิดว่าเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว ทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น

* ใช้เป็นอินเทอร์เน็ตในการหลีกเลี่ยงปัญหา

* หลอกคนในครอบครัว หรือเพื่อน เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตของตนเอง

* มีอาการผิดปกติเมื่อเลิกใช้อินเทอร์เน็ต เช่น หดหู่ กระวนกระวาย

รูปแบบและลักษณะของการติดอินเทอร์เน็ต

มีได้หลากหลายรูปแบบเช่น

1. Cyber Sexual Addiction

การติดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศ เช่นการดูเว็บโป๊

2. Cyber-Relationship Addiction

การคบเพื่อนจากห้องแช๊ตรูม,เว็บบอร์ด นำมาทดแทนเพื่อนหรือครอบครัวในชีวิตจริง

3. Net Compulsion

การติดการพนัน, การประมูล สินค้า, การซื้อ-ขายทางอินเทอร์เน็ต

4. Information Overload

การติดการรับข้อมูลข่าวสาร จนไม่สามารถยั้บยั้งได้

5. Computer Addition

การใช้คอมพิวเตอร์ ในลักษณะที่ไม่สามารถยับยั้งใจได้ เช่น การเล่นเกมส์ออนไลน์

 

ปัญหามากน้อยแค่ไหน

อุบัติการณ์ของโรคติดอินเทอร์เน็ตขึ้นอยู่กับความจริงที่ว่าอินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ เปลี่ยนแปลงการรับรู้และระดับความวิตกกังวลของเรา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคติดอินเทอร์เน็ต ซึ่งคนกลุ่มนี้ติดอินเทอร์เน็ตภายใน 6 เดือน ถึงร้อยละ25 ได้รายงานความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากคอมพิวเตอร์ว่าเป็นความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจและเบิกบานใจที่สามารถควบคุมเทคโนโลยีได้ มีการเรียนรู้การใช้โปรแกรมต่างๆอย่างรวดเร็วโดยผ่านประสาทสัมผัสทางตา ความรู้สึกเบิกบานใจตรงกับการที่ผู้ติดอินเทอร์เน็ตมักบรรยายความรู้สึกของตนเองว่า รู้สึกโล่ง จิตใจโปร่ง ความคิดกว้างไกล ภูมิใจในความเฉลียวฉลาดของตัวเองและรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการติดคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลแมคลีนในมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดพบว่าผู้ใช้บริการท่องอินเทอร์เน็ตร้อยละ 5-10 มีปัญหาต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตจนขาดไม่ได้ และร้อยละ6 ของคนที่ใช้ ยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตมีผลกระทบต่อชีวิตของตนเอง ด.. เดวิด กรีนฟิลด์ แห่งศูนย์พฤติกรรมอินเทอร์เน็ต เชื่อว่าบริการบางอย่างในอินเทอร์เน็ตส่งผลกระทบทางจิตวิทยาทำให้เกิดการบิดเบือนของเวลา สร้างความพึงพอใจ กรีนฟิลด์อ้างว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ การพนัน ซื้อสินค้าออนไลน์ล้วนมีผลกระทบทางอารมณ์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่าหากคนทั่วไปออนไลน์แล้วเกิดปัญหา ไม่ควรเรียกภาวะนี้ว่าเสพติด แต่ควรเรียกว่าภาวะที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ เช่นภาวะควบคุมตนเองไม่ได้ในการพนันหรือซื้อของ ( compulsive gambling or shopping ) ซึ่งเราอาจเรียกว่าภาวะควบคุมตนเองไม่ได้ในการใช้อินเทอร์เน็ต

คิมเบอร์ลี เอส ยัง นักวิจัยของศูนย์บำบัดโรคติดอินเทอร์เน็ต ผู้สนับสนุนแนวคิดว่าภาวะติดอินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นโรค เป็นความผิดปกติกล่าวว่า คนที่ติดอินเทอร์เน็ตต้องทนทุกข์ทรมานจากปัญหาทางจิตใจเช่นภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และมักจะใช้โลกแห่งจินตนาการของอินเทอร์เน็ตเพื่อช่วยให้ตนเองพ้นไปจากความรู้สึกและสถานการณ์ที่เครียด กว่าร้อยละ60 ของคนที่มารับการบำบัดโรคติดอินเทอร์เน็ตกล่าวว่ากิจกรรมทางเพศออนไลน์ที่เขาเคยทำนั้น ไม่สมควร เช่นหมกมุ่นกับการเปิดดูภาพลามกอนาจาร หรือพูดคุยสนทนาเรื่องทางเพศแบบออนไลน์ นอกจากนี้มากกว่าครึ่งของคนเหล่านี้ยังเสพติดแอลกอฮอล์ ยาเสพติด บุหรี่ อีกด้วย มีผู้เสนอว่าภาวะติดอินเทอร์เน็ตควรระบุว่าเป็นโรคหรือความผิดปกติ เนื่องจากกว่าร้อยละ 86 ของผู้ที่มีอาการโรคติดอินเทอร์เน็ตจะมีความผิดปกติทางจิตเวชร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยในปีค..2009 พบว่าผู้ที่เสพติดอินเทอร์เน็ต มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง

..โกลเบิร์ค จิตแพทย์ ได้ให้ความรู้ว่า แม้ว่าโรคติดอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ใช่การเสพติดที่แท้จริง แต่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับพฤติกรรมซ้ำๆที่ไม่สามารถควบคุมได้อื่นๆ ตัวอย่างเช่น การที่คนบางคนใช้เวลาพูดคุยโทรศัพท์กับผู้อื่นนานมาก เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่ไม่พึงพอใจ ก็อาจเรียกว่าโรคติดโทรศัพท์ ซึ่งก็คล้ายกับคนที่สนทนาทางอินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุผลเหมือนกัน อย่างไรก็ตามการที่คนหนึ่งใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไปหรือไม่เหมาะสมอาจเป็นอาการแสดงของความผิดปกติอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือเสพติดการพนัน โรคติดอินเทอร์เน็ตมักถูกเปรียบเทียบกับภาวะกินอาหารมากผิดปกติซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำให้ตัวเองดีขึ้นจากภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล มากกว่าจะเป็นเสพติดการกินอาหารจริงๆ

จากการสำรวจในประเทศเกาหลีใต้ พบว่าเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึงร้อยละ30 หรือประมาณ 2.4 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ต ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศจีน เมื่อปีค..2006 พบว่า ประชาชนกว่า 123 ล้านคนออนไลน์ และร้อยละ14.9 เป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า18ปี มีรายงานจากไต้หวันว่าอุบัติการณ์ของการติดอินเทอร์เน็ตในเด็กมัธยมเท่ากับ ร้อยละ 5.9 และพบว่าร้อยละ10.6 ของเด็กมัธยมเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ต มีรายงานจากผู้พิพากษาของปักกิ่งว่าในปีค..2005 กว่าร้อยละ90 ของอาญชากรรมในเด็กวัยรุ่นเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต องค์กรเอกชนของจีนอ้างว่าในปีค..2007 กว่าร้อยละ17 ของประชากรจีนที่อายุระหว่าง13-17 ปี นั้นเสพติดอินเทอร์เน็ต

 

วิธีการป้องกันและรักษาจากโรคติดอินเทอร์เน็ต

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าภาวะติดอินเทอร์เน็ตสามารถหายไปเองได้ แต่หลายคนก็จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ด..อีวาน โกลเบิร์ค จิตแพทย์ ผู้ค้นพบโรคติดอินเทอร์เน็ต ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันและช่วยเหลือกับผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นหรือกำลัง จะเป็นโรคนี้ว่า ก่อนอื่นต้องรู้ว่าตัวคุณเองใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไปหรือไม่ ในระดับไหน และรูปแบบลักษณะของการใช้ไปในรูปแบบใดเสียก่อน ร่วมกับวิธีการอื่นๆเช่นการใช้โปรแกรมเพื่อควบคุมเนื้อหาของอินเทอร์เน็ต การให้คำปรึกษา และพฤติกรรมบำบัด

ในประเทศจีนนั้นมีการจัดให้ครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่นใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป ได้มาเข้าแคมป์ฝึกฝนเพื่อช่วยลูกให้ลดการใช้อินเทอร์เน็ตลง ส่วนในสหรัฐอเมริกาก็มีศูนย์บำบัดผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไปชื่อว่า รีสตาร์ท (ReSTART) ซึ่งจัดหลักสูตร โดยให้ผู้รับการบำบัดพักอาศัยที่ศูนย์นาน45 วัน และสามารถให้การช่วยเหลือผู้รับการบำบัดได้จำนวนหนึ่ง

 

อินเทอร์เน็ตกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคม เพิ่มความสะดวกสบายมาสู่การดำเนินชีวิตมากขึ้น นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังช่วยเปิดโลกทัศน์และสังคมของผู้คนให้กว้างขึ้นด้วย ในทางกลับกัน อินเทอร์เน็ตเพิ่มความสะดวกสบาย สร้างความบันเทิง จนอาจเกิดปัญหาได้ เรามาช่วยกันดูแลและควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของลูกหลานเราให้เหมาะสมกันเถอะครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 389620เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2010 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

แรก ๆ เคยติด เพราะตื่นเต้นค่ะ  ที่ดูเหมือนว่าเราก็สามารถเรียนรู้และทำได้กับสิ่งใหม่ ๆ

อันต่อมา  รู้สึกว่าเสพข้อมูลได้เร็วกว่า สามารถติดต่อใช้บริการสินค้า และธนาคารได้สะดวกและสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ เขียนเรื่องราวให้คนอื่น โต้ตอบและมีกัลยาณมิตรทั้งในจอและนอกจอ

ที่สำคัญสามารถรวมกลุ่มกันไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้  อย่างเหนี่ยวแน่น

ระยะหลังได้เรียนรู้ว่า  บางอย่างก็น่าสนใจน้อยลง  จึงเบา ๆลงและไม่รู้สึกอ้างว้างหรือขาดหายอะไรไปค่ะ เป็นปกติ  แต่ไปทำกิจกรรมอื่นแทนเช่นอ่านหนังสือค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอกมล

สบายดีนะคะ คุณหมอห่างหายไปนานมากๆ เกือบขึ้นปีที่ ๒ แล้วนะคะ หลังจากที่ช่วงนั้นได้ร่วมกิจกรมหนังสือดีๆ

ดูสิคะ แล้วปูก็ยังติดเน็ต ติดโกทูโนอยู่นานมากๆ เลย ;) ขอบพระคุณความรู้ใหม่ๆ ดีๆ ค่ะ

-มาดูอาการนิตเนตครับ ผมก็เริ่มติดอีกรอบสอง

-เลิกเล่นปีหนึ่ง ปีนี้มาติด GTK

--ขอบคุณบทความดีๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท