ฝึกวิชาธรรมกาย ที่ไหนดี...?


ฝึกวิชาธรรมกาย ที่ สำนักไหนดี

ผมได้รวบรวมคำถามที่ตอบในเวปบอร์ดอื่นมาไว้ที่นี่  ขออธิบายเรื่องบางเรื่องที่มีบางท่านสงสัยและถามมานะครับ  ดังนี้...

๑. ถ้าท่านเห็นธรรมกายแล้ว  หรือท่านฝึกธรรมกายอยู่  ท่านอยู่ระดับไหน...?

๒. ถ้าท่านติดต่อกับพระพุทธเจ้าได้  ติดต่อกับหลวงพ่อวัดปากน้ำได้  ลองติดต่อโดยโทรมาผมจะง่ายกว่าไหม  แต่หาเบอร์โทรผมเองนะ...? 

๓. ถ้าท่านมีรู้มีญาณ  ท่านบอกเลขหวยรางวัลใหญ่ให้ผมได้ไหม...?



คำถามที่มีลักษณะเช่นนี้  แปลว่าผู้ถามมีเจตนาจะทดสอบแต่ขาดความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติวิชชาธรรมกายโดยสิ้นเชิง

นั่นเพราะผู้ถามมุ่งแต่จะพิสูจน์  แต่การพิสูจน์นั้นขาดความเข้าใจหลักปฏิบัติวิชชาธรรมกาย  สิ่งที่อยากพิสูจน์จึงเป็นเรื่องของคนละเรื่องเดียวกัน


ถามว่าการฝึกภาวนาวิชชาธรรมกายท่านรู้หรือไม่ว่ามีกี่ระดับ  กี่ขั้นตอน  ถ้าท่านไม่รู้ไม่ทราบมาเลย  ก็คงคุยกันไม่รู้เรื่อง  ผู้ปฏิบัติวิชชาธรรมกายเราต้องฝึกพัฒนาใจไปทีละขั้นตอน  ยกตัวอย่างกว้างๆ ดังนี้

- เริ่มต้นฝึกบริกรรมนิมิต  บริกรรมภาวนา ตามทางเดินของใจทั้ง ๗ ฐาน ให้ใจหยุดใจนิ่ง  จนกระทั้งเห็นดวงปฐมมรรค

- จากนั้นจึงต่อวิชชาจากดวงปฐมมรรคให้เห็นกายในกาย  จนกระทั่งเห็นกายในกายทั้ง ๑๘ กาย 

- แล้วฝึกเดินวิชชา ๑๘ กายอนุโลม-ปฏิโลมให้กายในกายใสสว่าง  เห็นชัดเจนเป็นวสีแคล่วคล่อง 

- จากนั้นจึงฝึกเดินวิชชาไปซ้อนกายสับกายเพื่อให้ธาตุธรรมชูช่วยให้กายใสยิ่งขึ้นอีก  ใจก็หยุดนิ่งได้ดีขึ้นอีก  นั่นคือฝึกซ้อนกายสับกายกับองค์ต้นธาตุ(หลวงพ่อวัดปากน้ำ) และเข้านิพพานไปซ้อนกายสับกายกับพระพุทธเจ้าบนอายตนะนิพพาน

- เมื่อฝึกได้เป็นวสีแคล่วคล่อง  ใจหยุด ใจนิ่ง  กายในกายใสสว่าง  เห็นชัดเจนดีแล้ว  จึงจะเริ่มฝึกความรู้ตามตำราของหลวงพ่อวัดปากน้ำต่อไป  คือ  ตามตำรา  คู่มือสมภาร  มรรคผลพิสดาร ภาค ๑  ภาค ๒  ถ้ามีวาสนาบารมีก็ฝึกยิ่งๆ ขึ้นไป



นี่คือขั้นตอนหลักๆ เป็นลำดับแบบกว้าง ๆ เพราะแต่ละขั้นตอนก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก  รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในการฝึกปฏิบัติของแต่ละท่าน  ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปสุดแล้วแต่วาสนาบารมี  ดังนั้นเมื่อเราลองนำคำถามทั้ง ๓ ข้อข้างบนมาตอบ  ก็พอจะได้คำตอบ   ดังนี้


๑. ถ้าท่านเห็นธรรมกายแล้ว  หรือท่านฝึกธรรมกายอยู่  ท่านอยู่ระดับไหน...?

จะอยู่ในขั้นใด  ระดับใด  โปรดดูขั้นตอนกว้างๆ ที่ผมนำเสนอ  ส่วนผู้ที่คุณถามเขาจะตอบอย่างไร  ก็เป็นคำตอบของแต่ละคนกันไปนะครับ  เพราะการฝึกพัฒนาใจ  เราพิจารณากันตรงที่  ความหยุด  ความนิ่ง  ของใจ  ไม่ได้วัดว่าเก่งแค่ไหน  อยู่ระดับสูงไหม  ละเอียดพิสดารแค่ไหน  เพราะนั่นเป็นเพียงคำพูดเอาไว้อวดกัน  แต่เมื่อท่านฝึกพัฒนาใจ  ต้องพิจารณาเฉพาะ  ความ  หยุด นิ่ง แน่น ใส ของใจเป็นพื้นฐานครับ  ไม่ควรสร้างค่านิยมว่าขั้นใดระดับใดเอามาอวดกันนะครับ


๒. ถ้าท่านติดต่อกับพระพุทธเจ้าได้  ติดต่อกับหลวงพ่อวัดปากน้ำได้  ลองติดต่อโดยโทรมาผมจะง่ายกว่าไหม  แต่หาเบอร์โทรผมเองนะ...? 

ผู้ถามแต่เดิมไม่ทราบขั้นตอนการฝึก  เมื่อได้อ่านข้อมูลที่ผมนำเสนอข้างบนแล้ว  ท่านจะทราบว่า  การเดินวิชชาซ้อนกายสับกายกับหลวงพ่อวัดปากน้ำ(องค์ต้นธาตุ)  และการเข้าอายตนะนิพพานไปซ้อนกายสับกายกับพระพุทธเจ้าทุกๆ นิพพาน ทั้งนิพพานกายธรรม  และนิพพานกายมนุษย์นั้น  เป็นขั้นตอนหนึ่งในการฝึก  เพื่อให้ธาตุธรรมของเราใสสะอาดยิ่งขึ้น  ใจก็หยุดนิ่งได้ดีขึ้น  ธาตุธรรมท่านก็มาชูช่วยในการฝึกภาวนาให้เราด้วย  หวังว่าท่านคงเข้าใจแล้วว่าใครที่ฝึกวิชชาธรรมกายก็ต้องทำตามขั้นตอนนี้ได้  เพราะถือว่าเป็นการฝึกขั้นเบื้องต้นในการแก้ไขให้ธาตุธรรมภายในใสสะอาดขึ้นนะครับ

ทีนี้ถามว่า  แล้วการหาเบอร์โทร  ตามที่ผู้ถามต้องการนั้น  ทำได้หรือไม่อย่างไร  ตอบว่า  อันนี้ไม่ทราบ  เพราะโดยหลักเหตุผลแล้ว  ไม่มีใครคิดทำกัน  เพราะเราฝึกพัฒนาที่ใจ  ให้ใจหยุด ใจนิ่ง  ใจสว่างใส  ไม่ใช่ฝึกเพราะมีพื้นฐานของการอยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง  ใจที่ฝึกดีแล้ว  หยุด นิ่ง ใสดีแล้ว  จะไม่พลุ่งพล่านไปตามอำนาจของกิเลส  อีกอย่างหนึ่งเรื่องรู้ญาณทัสสนะในการดูสิ่งต่างๆ ผู้ฝึกธรรมกายที่ดีจะระมัดระวังการสอดละเอียดของฝ่ายอื่นเสมอๆ ดังนั้นอะไรที่เป็นมูลที่จะทำให้กิเลสเข้าแทรกหรือสอดละเอียดเข้ามา  ก็ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว

ทีนี้ท่านต้องเข้าใจว่า  การเดินวิชชาในส่วนนี้เป็นเรื่องของธาตุธรรมส่วนละเอียด  อายตนะของธาตุธรรมเดียวกันก็จะดึงดูดกันได้ง่าย  พระพุทธเจ้า  หลวงพ่อวัดปากน้ำ  ท่านเป็นกายละเอียด  เรากำลังฝึกเดินกายในกายซึ่งเป็นเรื่องกายละเอียด  การดึงดูดหรือการเข้าถึงจึงเป็นเรื่องง่าย  และเป็นไปตามหลักสูตรของการฝึกปฏิบัติที่ต้องมีครูอาจารย์คอยตรวจสอบดูแลอยู่แล้ว


๓. ถ้าท่านมีรู้มีญาณ  ท่านบอกเลขหวยรางวัลใหญ่ให้ผมได้ไหม...?

เรื่องนี้แค่พูด  ก็ทราบแล้วว่าเกิดจากกิเลสเข้าดลจิตดลใจ  เป็นเรื่องของกิเลส  ถ้าผู้ฝึกธรรมกายใช้รู้ญาณทัสสนะไปทำเรื่องเช่นนี้  จะมีผลเสียหายต่อรู้ญาณทัสสนะของตนเอง  ใจจะหยาบกร้านขึ้น  แล้วถ้ามีความโลภหรือคิดเมตตาอยากช่วยเขาก็เป็นการช่วยผิดทาง  ทำให้กิเลสเขาได้ช่องสอดละเอียดเข้ามา  ผลเสียหายเกิดทั้งกับผู้ขอและผู้เป็นวิชชาทันที  เป็นการไปต่อยอดให้กิเลสเขาทำงานทั้งในใจของผู้ขอและผู้เป็นวิชชา   


ดังนั้นเรื่องของการฝึกพัฒนาใจ  เราต้องเข้าใจว่า  เราไม่ได้ฝึกเพื่อสนองกิเลส  ตัณหา  อุปาทาน  แต่เราฝึกเพื่อแก้ไขกิเลส  ตัณหา  อุปาทาน  ให้หลุดออกจากใจของเรา  ถ้าเราไปหลงผิด  ผลเสียหายร้ายแรงก็คือธาตุธรรมของเราก็เสียหาย  เพราะใจไม่เป็นกุศลเสียแล้วนั่นเอง


หวังว่าท่านผู้ถามคำถามเช่นนี้จะมีความเข้าใจมากขึ้น  เราฝึกเพื่อพัฒนาใจตามแนววิชชาธรรมกายเพื่อลดหรือทำลายกิเลส การฝึกภาวนาวิชชาธรรมกายนั้นไม่ใช่เพื่อเอามาอวดกัน  ทุกขั้นตอนทุกวิธีการฝึกปฏิบัตินอกจากจะต้องเป็นไปตามหลักสูตรอย่างถูกต้องแล้ว  เรายังจะต้องระวังการสอดละเอียดของธาตุธรรมภาคอื่นๆ เข้ามาอีก  ดังนั้นก็หวังว่าท่านผู้ถามปัญหาลักษณะนี้จักได้ความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นนะครับ...

หมายเลขบันทึก: 389744เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2010 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีบางท่านถามว่า...รู้ได้อย่างไรว่า สำนักไหน สอนวิชชาธรรมกาย ได้ดีที่สุด...?


ซึ่งผู้ถามคงต้องการคำตอบ  เพราะเห็นว่าถามในที่หลายๆ แห่ง


เรื่องนี้จะตอบอย่างไรดี  ก็ต้องถามย้อนทวนว่า  ถ้าแต่ละสำนักสามารถสอนให้คนทั่วไปเห็นธรรมกายได้  เช่น 
วันนี้มีคนใหม่มานั่งให้เราฝึก  ๑๐๐  คน  สำนักนั้นๆ ก็มุ่งสอนให้คนเหล่านั้นเข้าถึงธรรมกายได้ทันที  เช่น  มีร้อยคนก็เห็นธรรมกายได้  ๓๐ คนบ้าง ๕๐ คนบ้าง หรือมากกว่านั้น  หรือเห็นได้เกือบหมดทั้งร้อยคนภายในวันนั้นเลย   หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ก็แสดงตนว่าทำได้จริงๆ อย่างนี้จะถือว่าสำนักนั้นสอนเบื้องต้นได้ผลเป็นอย่างดีหรือไม่  ต่อให้มีคนเข้ามาฝึกเป็นพัน  เป็นหมื่นคนในวันนั้น  สำนักนั้นๆ ก็มีวิธีการสอนให้คนเห็นธรรมได้อย่างมีขั้นตอนชัดเจน ถ้าผลออกมาเช่นนี้  ท่านจะถือว่าสำนักนั้น  สอนได้ดีหรือไม่


เอาล่ะ  ถ้ารูปแบบการสอนวิชชาธรรมกายมุ่งตรงต่อการให้ผู้ฝึกปฏิบัติได้ผลเช่นนี้  ท่านว่าการสร้างพระในใจคนเช่นนี้มีระโยชน์กว่าการสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นๆ หรือไม่...


ผมเองไม่อาจเฉลยว่าสำนักใดสอนดีที่สุด  แต่ถ้าสำนักใดเห็นคุณค่าของการสร้างพระในใจคนเช่นนี้  ก็ถือว่าสำนักนั้นสอนดีทั้งนั้น 
ท่านก็ต้องไปค้นหาเอาเองว่าที่ใดที่มุ่ง...สร้าง  สร้าง  สร้าง  พระในใจคนจริงๆ



อีกประเด็นหนึ่ง  ถ้าการสอนวิชชาธรรมกายเป็นไปตามหลักสูตรที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว...คือ

๑. เริ่มต้นฝึกบริกรรมนิมิต  บริกรรมภาวนา ตามทางเดินของใจทั้ง ๗ ฐาน ให้ใจหยุดใจนิ่ง  จนกระทั้งเห็นดวงปฐมมรรค

๒. จากนั้นจึงต่อวิชชาจากดวงปฐมมรรคให้เห็นกายในกาย  จนกระทั่งเห็นกายในกายทั้ง ๑๘ กาย 

๓. แล้วฝึกเดินวิชชา ๑๘ กายอนุโลม-ปฏิโลมให้กายในกายใสสว่าง  เห็นชัดเจนเป็นวสีแคล่วคล่อง 

๔. จากนั้นจึงฝึกเดินวิชชาไปซ้อนกายสับกายเพื่อให้ธาตุธรรมชูช่วยให้กายใสยิ่งขึ้นอีก  ใจก็หยุดนิ่งได้ดีขึ้นอีก  นั่นคือฝึกซ้อนกายสับกายกับองค์ต้นธาตุ(หลวงพ่อวัดปากน้ำ) และเข้านิพพานไปซ้อนกายสับกายกับพระพุทธเจ้าบนอายตนะนิพพาน

๕. เมื่อฝึกได้เป็นวสีแคล่วคล่อง  ใจหยุด ใจนิ่ง  กายในกายใสสว่าง  เห็นชัดเจนดีแล้ว  จึงจะเริ่มฝึกความรู้ตามตำราของหลวงพ่อวัดปากน้ำต่อไป  คือ  ตามตำรา  คู่มือสมภาร  มรรคผลพิสดาร ภาค ๑  ภาค ๒  ถ้ามีวาสนาบารมีก็ฝึกยิ่งๆ ขึ้นไป



ผมว่าสำนักใดที่มีหลักในการสอนที่ชัดเจนตามแบบอย่างของวิชชาธรรมกายเช่นนี้  ก็น่าจะชื่อว่าเป็นสำนักที่  สร้าง  สร้าง  สร้าง  พระในใจคนจริงๆ
วิธีการที่ผมนำเสนอนั้นข้อที่  ๑ - ๔  ต้องทำได้ทุกคน  ส่วนข้อที่ ๕ นั้นสุดแต่วาสนาบารมีของแต่ละท่านเถิด...


ดังนั้นสำนักใดสอนได้อย่างนี้  ผมก็ว่าน่าจะถือว่าสอนได้ดีทีเดียวนะครับ...

มีบางท่านกรุณาถามและเสนอเพิ่มเติมมาว่า...


เมื่อคุณเข้าดวงปฐมมรรค คุณมีความสุขหรือไม่ หากเห็นจริงต้องมีความสุข
ปลื้ม จริง ๆ นะครับ หากไม่ปลื้ม อาจเป็นนิมิตรก็ได้ครับ  ทุกดวงบุญและทุกกาย เห็นแล้วต้องปลื้มด้วยครับ

ผมขออธิบายให้ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับ  ความสุขในการนั่งสมาธิ  ดังนี้...


พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า "นัตถิสันติปะรังสุขขัง"  สุงอื่นยิ่งกว่าความสงบของใจนั้นไม่มี  โดยปกติเราต้องเข้าใจเป็นขั้นตอนก่อนว่า ใจหยุด ใจนิ่ง นั่นคือความสงบเกิดแล้ว สุขเกิดจากความสงบต่างหาก และผู้ฝึกสมาธิวิชชาธรรมกายที่ถูกต้อง จะเข้าถึงความสงบคือเมื่อใจหยุดเห็นดวงปฐมมรรคความสุขจากใจสงบนั้นเกิดทันที แล้วจะไม่หลงกับความสุขเช่นนี้เลย เพราะหยุดในหยุดยิ่งหยุดยิ่งนิ่งยิ่งสงบก็ยิ่งสุข แต่เป็นความสุขที่ไม่ต้องปรุงแต่งนะครับเป็นธรรมชาติของความสงบ อย่าลืม นัตถิสันติปะรังสุขขัง นะครับ

การที่เราไปปรุงแต่งว่านั่งแล้วต้องมีความสุขนะ นึกถึงบุญที่เคยทำยิ่งมีความสุข นั่นเขาเรียกว่าปรุงแต่งจิต(สังขาร)ไม่ใช่สุขที่เกิดจากความสงบของสมาธิ สุขต้องเกิดจากความสงบจึงจะถือว่าใช้ได้แล้วไม่ต้องไปนั่งปรุงจิตให้สุข ใจหยุดใจนิ่งเมื่อไรสุขเกิดแล้วครับ

สำหรับเรื่องนิมิตกับการเห็นจริงนั้น เรื่องนี้ท่านไม่เคยมีประสบการณ์ท่านจะทราบได้อย่างไร  พิจารณาดังนี้ครับ ดวงใสที่เรานึก เมื่อใจหยุดนิ่งจนเห็นเป็นดวงปฐมมรรคนั้น ดวงปฐมมรรคต่างจากดวงใสในขั้นบริกรรมนิมิต ตรงที่ ดวงปฐมมรรคสว่างกว่าใสกว่าและมีรัศมีปรากฏ ที่สำคัญเมื่อใจหยุดจนเห็นดวงปฐมมรรค ความหยุดความนิ่งนี่แหละที่ทำให้เราเห็นดวงปฐมมรรค ก่อนหน้านี้เราบริกรรมนิมิตใจยังไม่หยุดจริงพอใจหยุดเท่านั้นดวงนิมิตเปลี่ยนเป็นปฐมมรรคแล้ว ใสสว่างกว่ากันมีรัศมีปรากฏ ถามว่าเราจะทราบได้อย่างไรว่านั่นไม่ใช่นิมิต ก็ใจของเราตอนนี้ต่างกับตอนที่ยังไม่เห็นดวงปฐมมรรคอย่างไร ใจหยุด ใจนิ่ง แล้วจึงเห็นดวงปฐมมรรคครับ นี่คือผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เฉพาะตนจริงๆ

อีกประการหนึ่ง เมื่อเราต่อวิชชาจนกระทั่งเห็นกายธรรม กายธรรมที่เราเห็น เราเห็นได้ทั้งข้างบนข้างล่างซ้ายขวาหน้าหลัง เห็นได้รอบตัว ไม่ใช่เห็นแบบส่องกระจกนั่นเห็นได้ด้านเดียว แต่นี่เห็นได้รอบตัว นี่ถ้าเห็นจริงก็จะทราบเองว่าเห็นรอบตัวคืออย่างไร เพราะโดยปกติเราเห็นรอบตัวทุกทิศทางไม่ได้ เข้าใจไหมครับ การวัดผล การพิสูจน์ว่าเห็นจริงหรือไม่ วิปัสสนาจารย์ที่ชำนาญเขาทราบดี แล้วท่านเคยได้ยินได้ฟังเช่นนี้มาก่อนไหมครับ

ผมถึงกล่าวว่า วิชชาธรรมกาย เรียนให้ถูกให้ตรงจริง ต้องมีเหตุมีผลกำกับทุกขั้นตอน ต้องวัดผลการปฏิบัติได้ทุกขั้นตอน เรื่องอย่างนี้หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนไว้หมดแล้ว ท่านเรียนมาอย่างนี้หรือเปล่าเท่านั้นเอง

 

บางท่านถามว่า  "วิชชาธรรมกาย"  ประโยคนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก...?


 ต้องเข้าใจคำว่า "วิชชาธรรมกาย" เป็นเพียงคำที่ใช้เรียกผู้ฝึกสมาธิแนว "ธรรมกาย" เพื่อให้เห็นกายในกายจนเข้าถึงธรรมกาย


ไม่ใช่ว่าเราต้องไปตามค้นหาว่า คำว่าวิชชาธรรมกายซึ่งไม่มีเลยในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา ในคัมภีร์โบราณ มีแต่คำว่า "ธรรมกาย" ไม่มีคำว่า "วิชชาธรรมกาย" เพราะคำว่า วิชชาธรรมกาย เป็นคำศัพท์ในภาษาไทยโดยเอาคำศัพท์บาลีสองคำมารวมกันคือคำว่า  "วิชชา" กับคำว่า "ธรรมกาย" มารวมกันเป็นคำว่า  "วิชชาธรรมกาย"  ไม่มีในบาลี เพราะแค่บ่งบอกว่า เป็นผู้ฝึกให้เห็น ธรรมกาย 


วิชชาธรรมกายรวมยอดเอาการฝึกปฏิบัติให้เข้าถึง วิชชา ๓  วิชชา ๖  วิชชา ๘  และส่วนแห่งวิชชา ๒ อย่าง คือ สมถะ และ วิปัสสนา  รวมอยู่ในธรรมกาย  เพราะธรรมกายเป็นผู้บอกปิฎกความรู้ทั้งปวงเหล่านั้น  ธรรมกายเป็นกายตรัสรู้ธรรม  ทุกคนมีธรรมกาย  ใครเข้าถึงธรรมกายได้ก็สามารถเจริญวิชชาและจรณะได้นั่นเอง  จึงเรียกรวบยอดว่า  "วิชชาธรรมกาย"

 

อย่าไปติดคำว่า  "วิชชาธรรมกาย" นะครับ  เป็นคำที่ประสมคำว่า  วิชชา+ธรรมกาย  ก็เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำเผยแผ่วิธีการฝึกปฏิบัติให้เห็นกายในกายจนกระทั่งเห็นธรรมกายนี่แหละ


ในพระไตรปิฏก  มีกล่าวถึงคำว่า ธรรมกาย  ดังนี้  

.....................................................................................................................................................


"ดูก่อน วาเสฏฐะ อันว่า คำว่า "ธรรมกาย" ก็ดี "พรหมกาย" ก็ดี "ธรรมภูต" ก็ดี ผู้ที่เป็นธรรมก็ดี หรือ "พรหมภูตะ" ผู้ที่เป็นพรหมก็ดี นี้แหละเป็นชื่อของเราตถาคต"


-->  ธรรมกายเป็นชื่อของเราตถาคต  การที่พระองค์จะได้ชื่อใดมานั้น  ต้องมีที่มาเสมอ  ก็คือผลของการปฏิบัติที่ทรงเข้าถึง  ธรรมกายคือชื่อของตถาคตก็แปลว่า  พระองค์ต้องเข้าถึงธรรมกาย  



"ข้าแต่พระสุคต รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันยังให้เติบโตแล้ว แต่ "พระธรรมกาย" อันน่ารื่นรมย์ของหม่อมฉัน พระองค์ให้เติบโตแล้ว"


-->  ประโยคนี้ พระนางปชาบดีโคตรมีเป็นผู้กล่าว  ก็แปลว่า รูปกายของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะพระนางเป็นผู้เลี้ยงดูให้เติบโต  ส่วนพระธรรมกายนี้  พระพุทธเจ้าทรงบอกวิธีการปฏิบัติจนกระทั่งพระนางได้เข้าถึงนั่นเอง  



"พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้สยมภู ทรงเป็นผู้มีธรรมะอันใหญ่ มี "ธรรมกาย" มาก"


-->  พระสูตรนี้ทำให้เราทราบว่าแม้พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เข้าถึงธรรมกาย  ธรรมกายเป็นผู้บอกปิกฎก  จึงว่ามีธรรมะอันใหญ่  ธรรมกายมีไปจนสุดหยาบสุดละเอียด  จึงชื่อว่า มีธรรมกายมาก



"บุคคลใดยัง "ธรรมกาย"ให้สว่างแล้วทั้งสิ้น อันเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งหลาย อันบุคคลทั้งหลายไม่มีผู้ใดจะทำร้ายได้ ใครเล่าเมื่อเห็นแล้วจะไม่ปลาบปลื้มยินดีนั้น ไม่มี"


-->  พระสูตรนี้บ่งชัดว่า  ต้องเห็น  และยังกล่าวอีกว่า  เมื่อเห็นธรรมกายต้องสว่าง  ใครเห็นก็ปลาบปลื้มยินดี


ปล. --> หลังเครื่องหมายนี้คือความเห็นของผู้เขียนเอง

......................................................................................................................................................


ทั้งหมดนี้  เราจะเห็นว่าธรรมกายเป็นเรื่องของการปฏิบัติทั้งสิ้น  ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่สามารถเข้าถึงได้  ไม่ใช่เป็นเพียงกองแห่งธรรมเฉยๆ เป็นแน่


แต่ทำไมไม่ปรากฏคำว่า  "วิชชาธรรมกาย" เลย  ตอบง่ายๆ ก็คือ  ธรรมกายเป็นบ่อเกิดของส่วนแห่งวิชชา 2 อย่าง(สมถะ+วิปัสสนา)  และเป็นบ่อเกิดของวิชชา3 วิชชา 6  วิชชา 8  เพราะการเข้าถึงกายในกายจนกระทั่งถึงธรรมกายเป็นอุปการะให้เห็นวิชชาเหล่านี้นั่นเอง  ท่านจึงเรียกรวมย่อว่า  "วิชชาธรรมกาย"

 

ขอให้ทำความเข้าใจกันด้วยใจเป็นกลางๆ ดังนี้...

พระพุทธเจ้าก็ดี  พระอรหันต์ก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี  เมื่อท่านบรรลุธรรมนั้น  ท่านเข้าถึงกายในกาย  จนกระทั่งถึงธรรมกาย  ธรรมกายเป็นผู้บอกปิฎกธรรมทั้งปวง  กายมนุษย์เพียงกายนี้กายเดียวความรู้มีไม่พอ  เพราะกายมนุษย์อยู่ในชั้นโลกียวิสัย  ใจก็ละเอียดไม่พอ  ตาก็ไม่มีรู้ญาณทัสสนะเพียงพอ  เพราะอยู่ในโลกียวิสัยไม่สามารถเห็นโลกุตตระวิสัย  ต้องเห็นกายในกาย( กายมนุษย์  กายฝัน  กายทิพย์  กายพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมหรือธรรมกาย)  จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย  คือกายโลกุตตระวิสัย
แม้ในชั้นพระโสดา  พระสกิทาคามี  พระอนาคามี  ก็ต้องเห็นกายในกาย  จนกระทั่งเห็นธรรมกาย  แม้ผู้ฝึกวิชชาธรรมกายในปัจจุบันก็ถือว่าเมื่อถึงธรรมกายก็จัดเป็นโคตรภูบุคคลเท่านั้น...  

แต่แรกเมื่อเห็นกายโลกีย์ท่านก็เห็นการเวียนเกิดเวียนตายของตนเอง(ปุพเพนุวาสานุสติญาณ)  และผู้อื่น(จุตูปปาตญาณ)  เมื่อเข้าถึงธรรมกายทำการสะสางธาตุธรรมภายใน(อาสวขยญาณ)กิเลสก็หลุดหมดไปจากขันธสันดาน  เมื่อธรรมกายตรัสรู้เป็นพุทธเจ้า  ก็เข้าถึงปิฎกธาตุปิฎกธรรมของธรรมภาคกุศล (84,000 พระธรรมขันธ์) วิชชาความรู้ต้องอาศัยธรรมกายเป็นผู้ต่อรู้ต่อญาณทัสสนะให้เห็นเข้าไปไม่สิ้นสุด  

วิชชาธรรมกาย  ไม่ใช่ของใหม่  เพียงแต่ท่านผสมระหว่าง 2 คำ คือ  วิชชา = ความรู้แจ้งใจ  กับ  ธรรมกาย  กายแห่งธรรมทั้งปวง  เมื่อผสม  วิชชา+ธรรมกาย  คือ  ธรรมกายเป็นผู้ให้เกิดรู้ญาณทัสสะให้เห็นความรู้อันแจ้งใจในธรรมทั้งปวง  วิชชา 3  วิชชา 6 วิชชา 8 ส่วนแห่งวิชชา 2 อย่าง  ล้วนต้องมาจากกายในกาย  จนกระทั่งถึงธรรมกายนั่นแหละ  ท่านจึงกล่าวว่า  ผู้ฝึกปฏิบัติให้เห็นกายในกาย  จนกระทั่งถึงธรรมกาย  คือผู้ฝึก  "วิชชาธรรมกาย"  นั่นเอง


ทีนี้ที่กล่าวว่า  ความรู้นี้สูญหายไป  เพิ่งกลับขึ้นมาใหม่  ท่านหมายเอา  การปฏิบัติให้เห็นกายในกายจนกระทั่งถึงธรรมกาย  แต่แรกเมื่อเห็นธรรมก็เห็นกายในกายจนกระทั่งเห็นธรรมกายด้วย  เป็นไปโดยธรรมชาติ  ไม่ต้องปรุงแต่ง  ไม่ต้องไปยึดมั่น  ไม่สาธารณะว่าอัตตาหรืออนัตตา  เพราะตรวจดูตามสภาวธรรมที่เป็นจริงได้ว่าเกิดแต่สังขตธาตุ  หรืออสังขตธาตุ  แต่พอหลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ 500 ปี ท่านว่าการปฏิบัติให้เห็นกายในกายขาดหายไป  โดยเฉพาะเมื่อผู้ปฏิบัติเข้าถึงมีน้อยลง  เหลือแต่นักปราชญ์บัณฑิตที่จารบันทึกความรู้ลงในพระไตรปิฎก  แล้วก็ศึกษาตามตัวอักษร  จนกระทั่งปฏิบัติย่อหย่อน  นักปฏิบัติก็ไม่ถนัดงานแต่งตำรา  นักตำราก็ไม่ถนัดปฏิบัติให้เข้าถึง  หนักเข้าหนักเข้าก็เหลือแต่พิจารณาสภาวะธรรมตามตัวอักษร  การเข้าถึงกายในกายอันเป็นอุปาการะแก่รู้ญาณทัสสนะ  คือการเห็นแจ้งเห็นวิเศษก็หมดไป  การเข้าถึงกายในกายจนกระทั่งถึงธรรมกายก็ไม่มีผู้เข้าถึงอีกต่อไป  หรือถ้าจะมีบ้างก็เป็นเฉพาะนักปฏิบัติจริงๆ อยู่ในป่าในเขา จนไม่ปรากฏร่องรอยการสืบต่อ  มีอยู่เพียงในชั้นจารึกซึ่งไม่ชัดเจนนัก  แม้แต่คำว่าธรรมกายอันเป็นภาวนามยปัญญาเกิดแต่การปฏิบัติ  ก็กลายเป็นสุตตมยปัญญา  แลจินตมยปัญญาเหลิอแต่อธิบายกันตามนักปราชญ์ท่านจะรจนา  กลายเป็นกองแห่งธรรมไป  ทั้งๆ ที่พุทธศาสนาเน้นที่การปฏิบัติให้เข้าถึง


ขอให้เข้าใจให้ถูกตรงว่า  คำว่า "วิชชาธรรมกาย"  คืออย่างไร  ไม่ใช่ไม่มีแต่ท่านไม่ได้หมายเอาว่า  คือวิชชาแบบ วิชชา 3  วิชชา 6  วิชชา 8  ส่วนแห่งวิชชา 2 อย่าง(สมถะ+วิปัสสนา)  แต่ท่านหมายเอาว่า  ธรรมกายนี่แหละที่เป็นอุปการะส่วนแห่งวิชชา 2  วิชชา  3 วิชชา 6  แล วิชชา 8 นั้นเทียว  จึงให้นามผู้ปฏิบัติให้เห็นกายในกายจนกระทั่งถึงธรรมกายว่า  ผู้ปฏิบัติ  "วิชชาธรรมกาย"

 

มีบางท่านให้ค่านิยมกับผู้เป็นธรรมกายว่า... 


ท่านที่เป็นธรรมกายจริง  จะต้องมีบุคลิกที่ต่างไปจากคนทั่วไป  เหมือนกึ่งๆ จะใกล้บรรลุอริยบุคคลประมาณนั้น 

ท่านผู้เป็นธรรมกายจริง  จะรู้ไปเสียหมด  มีรู้มีญาณรู้เห็นได้หมด

ท่านผู้เป็นธรรมกายจริง  จะต้องนิ่งๆ เงียบๆ ไม่พูดมาก

ท่านผู้เป็นธรรมกายจริง  จะต้องมีบุญบารมีมหาศาล



ผมจะลองช่วยไขความจริงเท่าที่พอมีประสบการณ์ให้ฟัง  และได้เห็นผู้เป็นธรรมกายจริงในระดับต่างๆ มามากมายหลายร้อยหลายพันคน...ดังนี้นะครับ



ท่านที่เป็นธรรมกายจริง  จะต้องมีบุคลิกที่ต่างไปจากคนทั่วไป  เหมือนกึ่งๆ จะใกล้บรรลุอริยบุคคลประมาณนั้น 

ผมกลับมองว่า  ผู้เป็นธรรมกายจริงจะมีบุคคลิกปกติเหมือนคนทั่วไป  ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก  เพราะผู้เป็นธรรมกายจริงท่านจะไม่คิดว่าต้องสร้างภาพพจน์อะไร  มีความเป็นอยู่ปกติ  ศีลก็ปกติ  นิสัยก็ปกติ  การพูดจาก็ปกติ บุคคลิกก็ปกติทั่วไปเพียงแต่ใจสงบระงับทำใจหยุด  ทำใจนิ่ง  อันเป็นการทำให้อารมณ์ของใจเข้าสู่ความสงบได้ง่ายแม้ต้องทำงานทางโลกวุ่นวายเพียงใดก็ตาม  และผู้เป็นธรรมกายจริงก็ไม่ใช่ว่าจะต้องคิดออกบวชเพียงอย่างเดียวนะครับ  อยู่เป็นฆราวาสก็ได้  คล่องตัวกว่านักบวชมากนัก  แต่ถ้าคิดจะออกบวชก็จะต้องสำรวมในวินัยสงฆ์ซึ่งเรื่องนี้ถ้าท่านเตรียมตัวมาดีก็ย่อมทำได้  แต่ถ้าท่านเข้าใจอะไรๆ ที่ลึกไปอีกขั้นผู้เป็นธรรมกายจริงท่านจะทราบดีว่าท่านควรอยู่ในเพศใด

การเข้าถึงธรรมกาย  หลวงพ่อวัดปากน้ำเคยกล่าวไว้ว่า  ผู้เป็นธรรมกายเหมือนกับได้บวชข้างใน  ถ้าเป็นพระก็ได้บวช ๒ ชั้น ถ้าเป็นผู้หญิงก็ได้บวชข้างในชั้นหนึ่งนี่แหละผู้หญิงที่เป็นธรรมกายจะสร้างบารมีทันผู้ชายก็เพราะได้บวชข้างในเพราะเข้าถึงธรรมกาย  ผู้ที่เข้าถึงธรรมกายและเดินวิชชาให้กายในกายขาวใสเนืองๆ ท่านว่าเป็น  โคตรภูบุคคล  คืออยู่ระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ  ถ้าเดินวิชชาก้าวหน้าต่อไปก็ถือว่าถูกทางมรรคผลนิพพาน  นิพพานเป็นอันหวังได้

การปฏิบัติจนได้ธรรมกายถือว่าเป็นบุญใหญ่เป็นอานิสงค์ใหญ่  ไม่มีบุญบารมีอะไรจะมาเทียบได้  เพราะการเข้าถึงธรรมกายเป็นการเข้าถึงวิชชาและจรณะ  เข้าถึงปิฎกธาตุปิฎกธรรมของภาคขาว  เพียงแต่เราจะขวนขวายให้ยิ่งๆ ขึ้นไปหรือไม่  ถ้ายิ่งปฏิบัติก็ยิ่งเพิ่มพูนปรมัตถบารมีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น


ดังนั้น...สรุปก็คือ   ท่านที่เข้าถึงธรรมกายจริง  และเดินวิชชาให้ขาวใสเนืองๆ ยังทรงธรรมกายคือเห็นขาวและใสเนื่องๆ ได้  ถือว่า  ท่านเป็นโคตรภูบุคคล  ยังรองจากพระโสดาบันด้วยซ้ำ  ขนาดพระโสดาบันผู้อยู่ในกระแสมรรคผลเที่ยงแท้แล้ว  ท่านยังมีลูกมีเมียเสพกามได้เลย  ท่านยังมีกิเลสที่ยังต้องละอีก  แล้วประสาอะไรกับ  โคตรภูบุคคล  ที่ยังขึ้นๆ ลงๆ วันไหนเดินวิชชาได้ขาวใส  หยุดนิ่งได้ดี  ก็บันเทิงอารมณ์ใจก็หยุดนิ่งสว่างใส  แต่วันไหนเดินวิชชายังไม่ค่อยดีก็มีอารมณ์ฟุ้งๆ บ้าง  ตามประสา  โคตรภูบุคคล  เพียงแต่เรามีที่พึ่งคือการเข้าถึงธรรมกาย  พอที่จะช่วยแก้ไขตนเอง  เดินวิชชาเนืองๆ เพื่อให้วิชชาธรรมกายมากำจัดทุกข์  กำจัดภัย  กำจัดโรค  และกำจัดอวิชชาให้แก่ตัวเองได้บ้างมากน้อยตามสมควรนั่นเอง


ดังนั้น...ขอท่านโปรดพิจารณาและให้ค่านิยมที่ถูกต้องด้วยนะครับ 



ท่านผู้เป็นธรรมกายจริง  จะรู้ไปเสียหมด  มีรู้มีญาณรู้เห็นได้หมด

ข้อมูลนี้ไม่จริงเสมอไป   ท่านผู้เป็นธรรมกายจริง  แปลว่าท่านเห็นกายในกาย  จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย  แล้วเดินวิชชาให้ขาวใสเนืองๆ ใจก็หยุด นิ่ง แน่น ใส กับวิชชาที่เราปฏิบัติอยู่  ไม่ได้แปลว่าผู้เป็นธรรมกายจะเก่งทางรู้ญาณทัสสนะทุกคน  ถ้าจะเก่งต้องมี ๒ ส่วน  ก็คือ  เป็นความถนัดหรือบุญบารมีเก่าทางนี้  กับ  ต้องขวนขวายทางวิชชาจนได้เหตุได้ผลในเรื่องของญาณทัสสนะ  ดังนั้นเรื่องการรู้เห็นด้วยญาณทัสสนะของผู้เป็นธรรมกายนั้น  เราต้องเอาหลักวิชชามาจับเสมอๆ ถ้ารู้เห็นอะไรไปร้อยแปดแต่ความรู้พื้นฐานทางวิชชายังอ่อนอยู่อย่างนี้เชื่อไม่ได้ต้องตรวจสอบ  ต่อให้มีบุญบารมีเก่าทางนี้ท่านก็ต้องจับหลักวิชชาในเรื่องรู้ญาณทัสสนะได้  ไม่เช่นนั้นสิ่งที่รู้เห็นก็เชื่อไม่ได้  แม้ว่า  จะถูกต้องตรงเปะก็ตาม  เรื่องนี้มีชั้นเชิงทางวิชชาอยู่ 

การรู้เห็นอะไรต้องรู้ตามหลักการทางวิชชา  และที่ว่าเมื่อเป็นธรรมกายแล้ว  จะเกิดมีความรู้เองเห็นเอง  กายในหรือธรรมกายจะบอกวิชชาเองจะให้ความรู้เอง  สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ก็กล่าวไม่หมดความ  เพราะถ้ากายในกายจะบอกความรู้ให้เราได้  แปลว่าเราต้องเดินวิชชาถูกต้องและเข้าใจหลักวิชชาจริงๆ ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าทางหลงรู้หลงญาณทัสนนะได้  แปลว่าถ้าไม่ได้เรียนระดับประถม  มัธยม  จู่ๆ จะบอกว่าผมจบอุดมศึกษาปริญญาตรีแล้ว  แต่พอขอดูวุฒิสมัยประถม  มัธยมกลับบอกว่าไม่ได้เรียนมา  อ้าวแล้วจะกระโดดมาปริญญาตรีได้ยังไง  อุปมาเช่นนี้นะครับ 



ท่านผู้เป็นธรรมกายจริง  จะต้องนิ่งๆ เงียบๆ ไม่พูดมาก

คำกล่าวนี้ก็ไม่จริง  เพราะเรื่องพูดมากพูดน้อยเป็นเรื่องของบุคคลิกภาพส่วนตัว  บางท่านรู้แต่พูดไม่เป็นอธิบายไม่ได้ท่านก็ไม่พูดเพราะเรื่องมันยากแก่การอธิบาย  ถ้าท่านไม่ถนัดในการทำของยากให้ง่ายแล้วสื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจถ้าท่านทำไม่ได้ท่านก็อาจจะไม่อยากพูด  แต่เรื่องแบบนี้อาจจะง่ายสำหรับท่านที่มีหัวใจของผู้ให้  ท่านก็มุ่งที่จะพูดเพื่อให้ความรู้เป็นธรรมทาน

บางท่านกล่าวว่า  ผู้รู้ไม่พูด  ผู้พูดไม่รู้จริง  อันนี้ก็ไม่ถูก  เพราะถ้าผู้รู้ไม่พูด  เราก็จะไม่มีผู้รู้  เพราะท่านไม่พูดว่าท่านรู้  ท่านบอกความรู้เราไม่ได้  แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านรู้  เราถามท่านๆ ไม่ตอบ  แต่ท่านบอกว่าท่านรู้แต่มันเป็นเรื่องละเอียดท่านไม่ตอบ  แล้วเราก็บอกว่านี่ไงผู้รู้ไม่พูด  แล้วคนที่พูดเราก็คิดไปว่าเขารู้จริงหรือ  อันนี้อย่าไปติดใจที่ตัวบุคคล  แต่ให้พิจาณาที่เนื้อความรู้นะครับ  แล้วเรื่องนี้จะยุติได้เอง


ยุคนี้หมดยุคของ  ผู้รู้ไม่พูดแล้ว  เพราะยุคนี้วิชชาเปิดแล้ว  เพียงแต่จะพูดอย่างไรให้คนฟังเข้าใจตามได้  แล้วต้องพูดด้วยเจตนาที่ดีต่อกัน  หวังให้ความรู้ไม่ใช่เอามาอวดกัน  และที่สำคัญ  เราต้องจับหลักความรู้ให้ถูกตรงให้ได้ นี่คือสิ่งที่ผู้รู้ทุกคนต้องช่วยกันพูดครับ



ท่านผู้เป็นธรรมกายจริง  จะต้องมีบุญบารมีมหาศาล

เรื่องนี้คิดมากเกินไปก็ป่วยการ  เราทุกคนมีบุญบารมีติดตัวมากันทั้งนั้น  จะมากจะน้อยตอนนี้เราบอกไม่ได้  แต่ทุกคนสามารถฝึกปฏิบัติแล้วเข้าถึงธรรมกายได้  ผมกล้ายืนยันเช่นนี้  ดังนั้นเรื่องต้องมีบุญบารมีมากๆ จึงจะเข้าถึงธรรมกายได้นั้น  อย่าไปคิดเช่นนั้นเลย  ท่านตั้งใจปฏิบัติให้ตรงตามหลักของวิชชาธรรมกาย  ท่านทำได้ทุกคน   เพราะบุญบารมีตัวจริงและมหาศาลของจริงก็คือเราต้องเข้าถึงธรรมกายให้ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้  ในชาตินี้อย่าไปรอชาติหน้า  ชาตินี้เกิดมาเจอวิชชาธรรมกายแล้ว  ไปรอชาติอื่นมันไม่แน่นอน  เอากันให้เป็นวิชชากันในชาตินี้แหละ  อย่าไปสร้างเงื่อนไขให้กับตนเอง  แล้วก็มัวไปสร้างบารมีพื้นๆ บารมีตัวจริงก็คือเพียรปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกายเอากันในชาตินี้แหละจะช้าจะเร็วก็เอากันชาตินี้  คิดอย่างนี้  ปฏิบัติอย่างนี้  นี่คือคนจริง  คนจริง  คิดจริง  ทำจริง  สำเร็จทุกคน...


ฝากไว้เป็นข้อคิดนะครับ...

มีผู้สนใจได้กรุณาถามปัญหาเพิ่มเติมมาอีก ๑๐ ข้อ  ผมจึงขอแสดงความเห็นช่วยคิดพิจารณาให้โดยถ้าท่านไม่ถือถูกถือผิดจนเกินไป  ผมก็จะลองช่วยคิดร่วมด้วย  ดังนี้...

 

1.พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ที่เข้าพิพพาน บุญ บารมี ที่สั่งสมมา มีวันหมดไหมครับ  ถ้าไม่หมด เพราะเหตุใด ครับ

ไม่หมดครับ  บุญบารมีของพระองค์ต้องยิ่งเพิ่มพูลซีครับ  เพราะการตรัสรู้ธรรมก็คือเราต้องมีบารมีเต็มส่วน  เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้วเราก็ได้บารมีเพิ่มขึ้นอีกเพียงแต่เป็นบารมีจากการตรัสรู้ธรรมที่เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาวเป็นไปเพื่อสิ้นทุกข์  บุญบารมีต้องมีไม่สิ้นสุดครับ  เป็นอุปการะแก่การตรัสรู้ในตรัสรู้  แต่ถ้าจะพูดให้ถูกเมื่อบรรลุธรรมแล้ว  ก็เป็นเรื่องของการเข้าถึงความเป็นธาตุธรรมภาคขาวแล้ว  อยู่ในระดับปกครองแล้ว  ถ้าพูดถึงขั้นนี้ก็คือบารมีระดับธาตุธรรมแล้วและก็ต้องค้นเข้าไปในหยุดในนิ่งไม่สิ้นสุด


วิชชาธรรมกาย  กล่าวลำดับการสร้างบารมีสายภาคขาวตั้งต้นที่  บุญ  บารมี  รัศมี  กำลัง  ฤทธิ์  อำนาจ  สิทธิ  สิทธิเฉียบขาด  สมบัติ  คุณสมบัติ  ความสำเร็จ  ตลอดสายเช่นนี้

เพื่อเป็นอุปการะให้เกิด  ทาน  ศีล  ภาวนา  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  อธิศีล  อธิจิต  อธิปัญญา  ปฐมมรรค  มรรคจิต  มรรคปัญญา  โคตรภู  โสดา  สกิทาคา  อนาคา  อรหัต  ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  เข้านิโรธ  ตรัสรู้ในนิโรธ  เดินหน้าต่อไปไม่ถอยหลังกลับ...

ศัพท์ทางเทคนิกอาจฟังเข้าใจยากสักหน่อย  เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่า  ทุกอย่างมีไปเป็นลำดับอย่างไรเท่านั้น



2.ตอนฟัง เสียงหลวงพ่อสด นำนั่งสมาธิ จนถึงกายธรรมอรหัต ( อะ - ระ - หัด ) หรือควรอ่านว่า  กายธรรมอรหันต์ ( อะ - ระ - หัน ) ที่ถูกต้องอ่านแบบไหนครับ  ผมฟังเป็น  อะ - ระ - หัด หรือความหมายต่างกันครับ

อ่านว่า  กายธรรม พระ - อะ - ระ - หัด  ครับ  ความหมายทางศัพท์เทคนิกก็ถือว่าต่างกัน  ถ้าเป็นพระอรหันต์แปลว่าหมดกิเลสไปทุกกายจนสุดหยาบสุดละเอียด  แต่ถ้าเราเดินวิชชา ๑๘ กาย จนกระทั่งถึงกายธรรมพระอะ - ระ -หัด แปลว่ากายนี้เป็นกายละเอียดสุดไม่มีกิเลสเฉพาะกายนี้ คือกายธรรมไม่มีดวงทุกข์-สมุทัย ถ้าเราทำใจหยุดใจนิ่งกับกายธรรมพระอรหัตเราก็จะได้รับรู้อารมณ์ของผู้หมดกิเลสเพียงแต่เรายังไม่หมดจริง  พอออกจากการเดินวิชชาถ้ารักษาความหยุดความนิ่งของใจได้  เห็นกายธรรมเนืองๆ ก็ทรงอารมณ์ของโคตรภูบุคคลไว้ได้เท่านั้น

 

ขอเพิ่มเติมข้อ 2 อีกนิดนึงนะครับ

การเดินวิชชา ๑๘ กายนั้น เมื่อเราทำใจหยุดนิ่งได้ดีจริง แล้วเอา เห็นจำคิดรู้ ของกายมนุษย์หยาบซ้อน เห็นจำคิดรู้ ของแต่ละกายที่เราเดินวิชชาลำดับกายไปถึง  เราจะรับรู้ถึงคุณสมบัติและความรู้สึกของกายนั้นๆ ตามชื่อกายได้  เช่น

มาถึงกายทิพย์ทั้งหยาบและละเอียด พอเราซ้อนเห็นจำคิดรู้ได้สนิทดี เราจะรับรู้อารมณ์และคุณสมบัติของกายทิพย์ได้  กายทิพย์ท่านชายบ่งบอกความเป็นเทพบุตร ท่านหญิงบ่งบอกความเป็นเทพธิดา  ใส่เครื่องทรงสวมชฎาเหมือนตัวละครในเรื่องรามเกียรติขาวใส

มาถึงกายพรหมทั้งหยาบและละเอียดเราก็จะรับรู้อารมณ์และคุณสมัติประจำกายพรหม  กายรูปพรหมไม่บ่งบอกความเป็นหญิงเป็นชาย ใส่เครื่องทรงสวมชฎาเหมือนตัวละครในเรื่องรามเกียรติขาวใส  ที่ก้นกายเราจะเห็นเป็นแผ่นฌาณซ้อนกัน ๔ แผ่นเรียงจากละเอียดไปหาหยาบ  แปลว่ากายรูปพรหมนั่งอยู่บนแผ่นฌาณ ๔ ถ้าเราฝึกเดินฌาณไปด้วย  เราจะได้รับรู้อารมณ์ฌาณ ๔ ได้ครบ  อารมณ์ตรงกับที่ตำราเขียนไว้ทุกประการ

มาถึงกายอรูปพรหมทั้งหยาบและละเอียดเราก็จะรับรู้อารมณ์และคุณสมบัติประจำกายอรูปพรหม  กายอรูปพรหมไม่บ่งบอกความเป็นหญิงเป็นชาย  ใส่เครื่องทรงสวมชฎาเหมือนตัวละครในเรื่องรามเกียรติขาวใส  ที่ก้นกายเราจะเห็นแผ่นอรูปฌาณและรูปฌาณซ้อนกันจากละเอียดไปหาหยาบครบทั้ง ๘ แผ่น นั่นก็คือ ฌาณ ๘ ถ้าเราฝึกเดินฌาณ ๘ เราก็จะได้รับรู้อารมณ์ฌาณได้ครบถ้วนตรงตามตำราเขียนไว้ทุกประการ

มาถึงกายธรรมหรือธรรมกาย  ตั้งแต่กายธรรมโคตรภู  กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคามี  กายธรรมพระอนาคามี  และกายธรรมพระอรหัต ทั้งหยาบและละเอียด  แต่ละกายนั้นก็มีคุณสมบัติต่างๆ กัน ตามลำดับของกิเลสที่เบาบางลง  จนกระทั่งถึงกายธรรมพระอรหัตซึ่งไม่มีกิเลสเลย  แต่เมื่อเราเดินวิชชามาถึงกายธรรมแล้วแปลว่าเราเข้าสู่ภูมิอริยะแล้ว  แต่เป็นเพียงตทังควิมุตติคือหลุดพ้นชั่วคราวขณะเดินวิชชามาถึงกายธรรมเท่านั้น  ยังไม่เป็นสมุเฉทประหารนั่นเอง


จะเห็นได้ว่า  เพียงแค่เราเดินวิชชา ๑๘ กายได้  เราก็ได้รับรู้ความลึกซึ้งของโลกียวิสัยและโลกุตตระภาวะได้แล้ว  นี่แหละที่หลวงพ่อวัดปากน้ำกล่าวว่า  คนที่ได้ธรรมกายและเดินวิชชา ๑๘ กายได้คล่องแคล่วนี่ถือว่าเป็นโคตรภูบุคคล  ขาหนึ่งอยู่ฝั่งโลกียะ  ขาหนึ่งอยู่ฝั่งโลกุตตระ  อยู่ที่ว่าจะก้าวหน้าต่อไปหรือไม่  มรรคผลนิพพานเป็นอันหวังได้นั่นเอง...

 

 

ขอเพิ่มเติมประเด็นนี้อีกหน่อยนะครับ...ความจริงแล้วไม่ว่าคนพิการจะแบบเหลือครึ่งตัวหรือเหลือครึ่งซีก  ถ้ายังไม่ตาย  ยังมีลมหายใจอยู่  ยังมีสติดีอยู่  ประสงค์จะฝึกภาวนาวิชชาธรรมกายย่อมทำได้  ถ้าเรามีปัญหาว่าแล้วจะลำดับฐานอย่างไร  ก็มีอีกวิธีหนึ่งก็คือฝึกแบบอานาปานัสสติ  โดยกำหนดลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าไปสุดที่ใด และ ลมหายใจออกเริ่มจากตรงไหน  ตรงนั้นแหละคือศูนย์กลางกาย  เมื่อพิจารณาลมหายใจจนกระทั่งเกิดสติเช่นนี้แล้ว  รู้ว่าลมเข้าสุดตรงไหน  ลมออกตั้งต้นที่ใด ก็ไม่เอาใจไปวิ่งตามลม  เอาใจนิ่งไว้ตรงที่สุดของลมเข้าหรือจุดเริ่มต้นของลมออกนั่นก็คือศูนย์กลางกาย  เมื่อลมหายใจเข้าออกยาวเท่ากัน  เราจะเห็นดวงปฐมมรรคตรงนั้น ตรงที่สุดของลมเข้าหรือจุดเริ่มต้นของลมออกนั่นเอง  แปลว่าถ้ามนุษย์ยังมีลมหายใจอยู่ก็ฝึกธรรมกายได้ทุกคน  สามารถเห็นดวงปฐมมรรคและเข้ากายในกายได้  ผมมีประสบการณ์สอนคนเป็นอำมพาตขยับได้แต่ใบหน้า  เขาก็ยังทำได้เลย  ถึงแม้จะไม่ได้พิการ  แต่ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ 

ดังนั้น  อานาปานัสสติตามที่พระพุทธองค์ทรงประทานมานั้นก็สามารถเข้าถึงกายในกายจนกระทั่งเข้าถึงธรรมกายได้นะครับ  เพราะพระพุทธเจ้าก็ทรงหมดกิเลสโดยการเข้ากายในกายสะสางธาตุธรรมภายในนั่นเอง... 
 

 

3.บารมี มีขีดจำกัดไหมครับ.....ถ้าจะสร้างบารมีไปเรื่อยๆ อยู่ในวัฎสงสาร ไปนานๆ ไม่ให้เต็มขีดจำกัด ได้ไหมครับ

ในทางปฏิบัติเมื่อเราสร้างบารมีเราก็ต้องมีอธิษฐานบารมีกำกับ  มันต้องตั้งโปรแกรมให้ตนเองว่าจะสร้างบารมีไปถึงระดับไหนนะครับ  เช่น  ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า  นิพพานกายธรรมก็อย่างหนึ่ง  นิพพานกายมนุษย์ก็อย่างหนึ่ง  เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพระอรหันต์  นี่คือเป้าหมายแล้วก็ลงมือสร้างบุญบารมีเรื่อยไปจนเข้าเกณฑ์ตามที่ปรารถนา  สร้างไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทิศทางก็เหมือนเรือแล่นไปโดยไม่มีหางเสือ จะไปเหนือไปใต้อย่างไรก็ไม่รู้  แล้วมันจะสมปรารถนาได้อย่างไร


4.ถ้าไม่มี ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เช่น คนมีครึ่งตัว ตั้งแต่ ศีรษะ ไปจนถึงเหนือสะดือ 3 นิ้วมือ แต่ยังไม่ตายดำเนินชีวิตต่อไปได้...จะสามารถนั่งสมาธิจนได้ 18 กาย ได้ไหมครับ

ได้ครับ  คำว่าศูนย์กลางกาย  หมายเอาระดับเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือตัวเราเอง  คนครึ่งตัวก็มีศูนย์กลางกาย  อย่าไปเข้าใจผิดว่าต้องกลางตัวคือไปวัดตั้งแต่หัวจรดเท้าแล้วก็หาร 2 ก็คือตรงกลาง  อย่างนั้นไม่ถูกนะครับ  ศูนย์กลางกายคือระดับเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือตัวเราเองอยู่ในท้องของเรา

คนพิการเขาพิการเพียงกายหยาบกายเดียว  กายในกายของเราไม่พิการนะครับ  มีอวัยวะครบถ้วน  ขนาดสัตว์ต่างๆ กายนอกเป็นกายสัตว์แต่กายในตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด(กายฝัน)เขาก็เป็นกายคนนะครับ

 



5.ถ้ามีคนเป็น แบบ แฝด อินจัน ที่เดินได้มีตัวติดกัน จะนั่งสมาธิจนได้ 18 กาย ได้ไหมครับ แล้ว ศูนย์กลางกายฐานที่ 7เขาจะอยู่ที่เดียวกันไหมครับ

ถ้าเขาทำใจหยุดใจนิ่งได้ก็เห็น ๑๘ กายได้ครับ  ทำ ๑๘ กายได้เหมือนกัน  พิจารณาให้ดีนะครับ  ศูนย์กลางกายหมายเอาเหนือสะดือตัวเราเองขึ้นมา ๒ นิ้วมือในท้องของเรา แฝดอิน-จันเขาแค่มีเนื้อบางส่วนติดกันแต่กายเขาแยกกันอยู่แล้วครับ  ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่าทำใจหยุดใจนิ่งได้ไหม  ถ้าทำได้ก็เห็นกายในกายได้นะครับ  ถ้าเดินใจตามฐานต่างๆ ได้เวลาเห็นก็เห็นที่ศูนยกลางกายนั่นแหละ


6.นั่งสมาธิ ถึง กายไหน จึงจะ ระลึกชาติได้ ( อยากไปดูตัวเองในอดีตชาติ )

ถ้าพูดตามหลักวิชชา  เราต้องเดินกายในกายได้ทั้ง ๑๘ กายเป็นพื้นฐานก่อน  เมื่อฝึก ๑๘ กายจนคล่องแคล่วเป็นวสี  จึงเลื่อนชั้นไปฝึกความรู้ในตำราคู่มือสมภาร มีอยู่บทหนึ่งที่ฝึกการระลึกชาติของตัวเราและของผู้อื่น เราก็ไปฝึกกับครูท่าน  ท่านจะได้ช่วยคุมวิชชารู้ญาณทัสสนะจะได้ไม่ติดขัด  เรื่องนี้เป็นเรื่องอีกขั้นตอนหนึ่งนะครับ


7.นั่งสมาธิได้ 18 กาย ต้องมี บุญ บารมี เก่า มาก่อนไหมครับ....หรือ ไม่เกี่ยวกับ บุญ บารมีเก่า...หรือ ทำได้ทุกคนที่ปฎิบัติตาม

อย่าไปคิดมากอย่างนั้นเลย  ทุกคนสามารถเข้าถึง ๑๘ กายได้ครับ  บุญบารมีของคนยุคนี้ทำได้ครับ  เพียงแต่ท่านไปฝึกกับวิปัสสนาจารยให้ท่านช่วยแนะนำแล้วก็จะประสบผลได้เอง  บุญบารมีให้เข้าถึง ๑๘ กาย ทุกคนทำได้หมดครับ ก็เพียงทำใจให้หยุดให้นิ่งซึ่งเป็นการปฏิบัติภาวนาเบื้องต้น  แค่เบื้องต้นเราต้องทำได้กันทุกคนนะครับ



8.เมื่อได้ 18 กาย แล้วต้องทำหน้าที่อะไรต่อ...เผยแผ่วิชาธรรมกาย...หรือ ทำอะไรต่อถึง จะถูกทาง ถูกเป้าหมายที่แท้จริง

เมื่อได้ ๑๘ กายแล้วเราก็เดินวิชชาให้กายในกายของเราขาวใสเนืองๆ แล้วก็ฝึกเพิ่มเติมในระดับต่อไปโดยต้องมีครูอาจารย์คอยแนะนำนะครับ  ฝึกเองก้าวหน้ายากครับ  การเผยแผ่วิชชาธรรมกายนี่คือบุญบารมีตัวจริงของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย  คนที่จะทำได้ต้องมีบารมีพุทธภูมิทีเดียว  แต่ทุกอย่างฝึกฝนเรียนรู้กันได้ครับ  เป้าหมายของคนที่ได้ธรรมกายแล้วเดินวิชชาขาวใสจริงๆ ต้องทำ ๒ อย่างควบคู่กันไป 

๑.ฝึกฝนพัฒนาวิชชา  เรีกว่าฝึกส่วนตัวแต่ต้องมีอาจารย์คุม
๒.ฝึกฝนผู้อื่นให้เขาเข้าถึงธรรมกายได้  เรียกว่าฝึกส่วนรวม  ให้ธรรมเป็นทาน

ต้องทำทั้ง ๒ อย่างควบคู่กันไปนะครับ  เรียกว่าเกิดมาแล้วได้ทั้งขึ้นทั้งร่องทั้งตัวเองและผู้อื่น  นี่คือวิถีทางของพระโพธิสัตว์ภาคขาวครับ


 

9.วิชาธรรมกาย ทำวิชาปราบมาร ได้ วิชาเดียวใช่ไหมครับ...หรือ มีวิชาอื่นอีกแต่ยังไม่มีผู้ค้นพบ

คงจะเข้าใจอะไรผิดแล้วล่ะครับ  วิชชาธรรมกายมีขั้นตอนการเรียนรู้อย่างไรขอให้ไปอ่านในตำราคู่มือสมภารและมรรคผลพิสดารเถิดครับ  อย่าไปติดคำว่า  วิชา  เดี๋ยวจะคิดไปเหมือน วิชาเลข วิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษ จะเรียนวิชาไหนดี มีวิชาอื่นไหม  ไม่ใช่อย่างนั้น  เขาอ่านว่า   "วิชชา"  แปลว่า   ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ

เช่น  วิชชา ๓ คือ ๑.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ได้ระลึกชาติได้ ๒.จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๓.อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น; วิชชา ๘ คือ ๑.วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา ๒.มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ๓.อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ๔.ทิพพโสต หูทิพย์ ๕.เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้ ๖.ปุพเพนิวาสานุสติ ๗.ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (=จุตูปปาตญาณ) ๘.อาสวักขยญาณ

วิชชาเหล่านี้ก็มีอยู่ในวิชชาธรรมกายทั้งหมด  ไปดูได้ในตำราคู่มือสมภารและตำรามรรคผลพิสดารเถิดครับ
http://www.crystalmind.org/library/index.asp


 


10.นั่งสมาธิ แล้วได้ บุญ บารมี เยอะมากไหมครับ...แล้ว ถ้านั่งแล้ว...ไม่เห็นอะไรได้บุญไหมครับ..ถ้านั่งแล้วเห็นดวงปฐมมรรค..ถ้านั่งเห็นกายครบ 18 กาย..แต่ละระดับ ได้บุญ ต่างกันมากไหมครับ แล้วได้ บุญ บารมี ด้านใดบ้าง จะได้บารมีเหล่านี้ครบทุกด้านไหมครับ คือ...ทานบารมี...ศีลบารมี...เนกขัมมบารมี...ปัญญาบารมี...วิริยบารมี...ขันติบารมี...สัจจะบารมี...อธิษฐานบารมี...เมตตาบารมี...อุเบกขาบารมี.....แล้ว บารมีขั้นต้น บารมีขั้นอุปบารมี บารมีขั้นปรมัตถบารมี...ถ้านั่งแล้วได้ในขั้นไหนบ้างครับ

อืม...ถามเหมือนกับว่าจะหาบุญรวบยอด  ผมสรุปให้ฟังง่ายๆ นะครับ  การฝึกธรรมกายได้บุญรวบยอดจริง  เพียงแต่อยู่ที่ระดับการเข้าถึง  และความเพียรชอบ  เป็นการเติมเต็มบารมีทั้ง ๑๐ อย่าง ๓ ระดับได้ตรงที่สุด

มีคำถามเพิ่มเติมจากบางท่าน ตั้งข้อสงสัยมาอีกว่า...

 

ถาม : ช่วยแสดงความเห็นหน่อยนะครับว่า  ในการสอนทำวิชชาชั้นสูง ถ้าอยู่ในที่สาธารณะ จะเหมาะสมหรือไม่ และจะมีผลดี หรือผลเสียอย่างไร

 

การที่เรา ยังไม่ถึงธรรมชั้นสูง ยังนั่งมืดตื้อมืดมิด ดวงยังไม่โผล กายยังไม่เห็น แต่ไปนั่งฟัง เขาสอนทำวิชชาชั้นสูง มันจะมีผลดี หรือ ผลเสียอะไรกับเราไหมครับ
เหมาะไม่เหมาะ ควรไม่ควร ที่เราจะไปนั้งกับเขา ฟังวิชชาชั้นสูง(ทั้งๆที่ฟังไม่รู้เรื่อง)

 

 

ตอบ :ไม่ทราบว่า ไปนั่งฟังที่ไหนนะครับ



ประเด็นมันแค่น่าจะมองต่างมุมกัน



ความรู้ส่วนความรู้  ต้องตักตวงอย่างฉลาด  การปฏิบัตินั้นกำลังฝึกอยู่



ถ้าวันนี้เราบอกว่า เราไม่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ระดับควอนตัมเลย  เราอย่าไปนั่งฟังเขานะ  อย่าไปเรียนรู้นะ  เพราะเราไม่ได้จบมาทางนี้  ก็แปลว่าชาตินี้เราจะไม่มีทางรู้จักความรู้แขนงนี้เลย



มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนเพื่อรู้เพื่อเข้าใจให้ถูกต้อง  เราฟังเขาบรรยายแล้วเราอาจเกิดปัญญา  เกิดความวิริยะ  ที่จะเรียนรู้  เมื่อเราเรียนรู้อย่างจริงจังอยู่  เรามีคำถามก็ถามผู้รู้เหล่านั้น  ก็เกิดธรรมทานยิ่งขึ้นแก่กันและกัน  ปัญญาบารมีก็เกิดตามมา  รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร  ไม่มีผลเสียดอกครับ  ถ้าเราใฝ่รู้ใฝ่เรียนกันอย่างบัณฑิตจริงๆ



ประเด็นมันอยู่ที่เราทำไมไม่เรียนรู้ให้มาก  ไม่สนใจให้จริง  ไม่ว่าจะอยู่เพียงขึ้นสนใจ  แต่ยังทำไม่ได้ ก็ตามเถิด  ในสมัยพุทธกาลมีบางคนยังไม่บรรลุพระอรหันต์ ไปเห็นคนนั้นคนนี้ได้อรหัตผลก็เกิดปีติปราโมทใจ  ปรารถนาทำความเพียรเพื่ออย่างนั้นบ้าง  และในที่สุดก็ได้บรรลุอรหัตผลได้



การอธิบายความรู้ชั้นสูงถ้าอธิบายเพื่อธรรมทาน และมีความถูกต้องชัดเจนจริง ถือว่าเป็นธรรมทานที่เลอเลิศที่สุด  ความรู้อย่างนี้เราเกิดอีกกี่ร้อยชาติโกฏิชาติก็ไม่มีทางได้รับรู้  แล้วชาตินี้ได้รับรู้แล้ว  ทำไมไม่ตักตวงเพื่อให้เกิดปัญญาบารมีล่ะครับ


สำคัญที่สุดก็คือ  ท่านเรียนเพื่อรู้อย่างถูกต้อง  หรือเรียนเอามันส์  ท่านใฝ่รู้ใฝ่เรียนจริงๆ หรือว่าอยากจะรู้ตระบันมันทุกเรื่อง  แต่ไม่สนใจที่จะนำความรู้นั้นไปปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริงเลย


อะไรที่ภาคมารเขาปกปิด  เมื่อภาคพระมาเปิดเผย  บัณฑิตที่ใฝ่ธรรมก็น่าจะเอียงโสตมาสดับบ้างมิใช่หรือ  เพื่อปัญญาบารมีติดตัวไปทุกภพทุชาติน่ะครับ


อันนี้ผมแสดงความเห็นในฐานะที่ได้รับรู้เรื่องราวชั้นสูง  ตั้งแต่ผมยังไม่เป็นประสาเลย  แต่ก็เป็นแรงผลักดันส่งเสริมให้ผมฝึกฝนเรียนรู้จนแจ้งใจได้ในระดับหนึ่งนะครับ  ถ้าท่านเรียนแบบผมท่านอาจจะเก่งกว่าและรู้คุณค่าของวิชชาธรรมกายมากกว่าผมก็ได้

คำถามและคำตอบที่หน้าสนใจอื่นๆ สามารถเข้าไปอ่านได้ที่เวบ http://khunsamatha.fix.gs/index.php

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท